019-อาร์เซ็ป-อินเดีย-ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน

เฉลยเหตุ RCEP สรุปแค่ 15 ประเทศ “อินเดีย” ขอเคลียร์ปมเปิดตลาดต่อ คาดพร้อมลงนาม ก.พ. ปี 63

อัปเดตล่าสุด 6 พ.ย. 2562
  • Share :

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 พ.ย.2562 ว่า การประชุมครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในฐานะเจ้าภาพและประธานการประชุมอาร์เซ็ป ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ไทยได้ทำงานร่วมกับสมาชิกอย่างหนักและผลักดันให้การเจรจาคืบหน้าจนในวันนี้ผู้นำสามารถร่วมประกาศความสำเร็จสรุปผลการเจรจาอาร์เซ็ปทั้ง 20 บท และการเจรจาเปิดตลาดได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
 
“ในการประชุมผู้นำอาร์เซ็ปครั้งนี้ ผู้นำได้ร่วมออกแถลงการณ์ร่วมระบุว่า “สมาชิกอาร์เซ็ป 15 ประเทศสามารถปิดการเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ปทั้ง 20 บท และการเจรจาเปิดตลาดในส่วนที่สำคัญทุกประเด็นได้แล้ว และมอบให้คณะเจรจาไปเริ่มขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย เพื่อลงนามความตกลงอาร์เซ็ปในปี 2563 โดยในส่วนของอินเดียยังมีประเด็นคงค้างที่จะต้องเจรจาต่อ สมาชิกอาร์เซ็ปจะทำงานร่วมกัน เพื่อหาข้อยุติในประเด็นคงค้างของอินเดียต่อไป”
 
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนและประธานการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ปในปีนี้ ไทยได้แสดงบทบาทนำอย่างต่อเนื่องในการเป็นตัวกลางประสานระหว่างประเทศ จากเมื่อต้นปีสำเร็จแค่ 7 บทจาก 20 บท เมื่อไทยรับไม้ต่อเป็นประธานอาเซียนได้เร่งขับเคลื่อนการเจรจาให้จบในปีนี้สำเร็จได้เพิ่มอีก 13 บท ทำให้จบทั้ง 20 บทได้ในปีที่ไทยเป็นประธาน ซึ่งได้รับเสียงตอบรับและการสนับสนุนจากสมาชิกอื่นมาตลอดทั้งปี และหากความตกลงอาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้จะถือเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับล่าสุดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบันเท่าที่มีมา อีกทั้งจะมีความทันสมัยที่ครอบคลุมประเด็นทางการค้ายุคใหม่ทั้งเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการแข่งขัน เป็นต้น
 
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในแถลงการณ์อินเดียก็ร่วมแถลงด้วย แต่ 15 ประเทศ ที่ได้ข้อสรุปการจัดทำความตกลง 20 บท และการเปิดตลาด จากนี้จะดำเนินขัดเกลาถ้อยคำทางกฏหมายเพื่อลงนาม ปี 2563
 
ส่วนอินเดีย มีประเด็นที่อินเดียยังปิดการเจรจาไม่ได้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเจรจาเปิดตลาดจึงไม่พร้อมที่จะประกาศสรุปการเจรจาร่วมกับ 15 ประเทศ ต้องทำงานต่อ เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป
 
สำหรับขั้นตอนต่อไปของ 15 ประเทศ ที่ประกาศจบแล้ว จะเข้าสู่การขัดเกลาถ้อยคำทางกฏหมายของความตกลง เพื่อให้ลงนามกันได้เบื้องต้น ตั้งเป้าว่าประมาณกุมภาพันธ์ หรือมีนาคม 2563
 
ทั้งนี้ ความตกลงอาร์เซ็ป ประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ คือ ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ รวมทั้งไทย และประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ที่มีประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคน หรือเกือบครึ่งของประชากรโลก มีมูลค่า GDP กว่า 27.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 32.3% ของ GDP โลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 29.3% ของมูลค่าการค้าโลก โดยเริ่มเจรจากันมาตั้งแต่เดือน พ.ค.2556 จนถึงปัจจุบันใช้เวลาไปแล้วกว่า 7 ปี ซึ่งการเจรจาได้บรรลุผลสำเร็จในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้