ผู้ส่งออกยางครึ่งปีแรกเดี้ยง รง.ล้อยางทิ้งไทยหันซื้อ‘แอฟริกา-ละติน’

อัปเดตล่าสุด 4 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 1,026 Reads   

บาทแข็งดีมานด์ตก ทุบส่งออกยางธรรมชาติครึ่งปีแรกเดี้ยง 5.97% มูลค่าวูบ 10% โดน “แอฟริกา-ละตินอเมริกา” ส่งยางราคาถูก บุกชิงมาร์เก็ตแชร์ตลาดโลก คู่แข่ง “จีน” ไล่บี้อัพเกรดลุยอุตสาหกรรมถุงมือยางขึ้นแท่นท็อป 10 จี้รัฐเร่งเจรจา FTA อียู-CPTPP ฉุดส่งออกด่วน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ภาพรวมการส่งออกสินค้ายางพาราของไทยในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) มีปริมาณ 1.66 ล้านตัน ลดลง 5.97% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าการส่งออกมี 2,177 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 10.39% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนไทยที่แข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรง จนทำลายสถิติสูงสุดในรอบ 6 ปี ประกอบกับภาวะสงครามการค้าทำให้ดีมานด์ความต้องการใช้ยางในตลาดโลกชะลอตัวลง โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดสัดส่วน 11.7% ของการส่งออกยาง ยอดส่งออกครึ่งปีแรกมูลค่า 14,637 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 10.10%

นายวีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA กล่าวว่า ขณะนี้จีนยังเป็นตลาดหลักในการใช้ นอกจากจะนำเข้าจากอาเซียนแล้ว ก็ยังมีนำเข้ายางจากแอฟริกาด้วย เพราะราคาถูกกว่า นำไปผลิตยางล้อ ซึ่งจะเห็นว่ายางจากแอฟริกาเติบโตเร็วมาก มีการขยายโรงงานหลายแห่งและส่งเข้าไปขายในตลาดจีนเพิ่มขึ้น

“แม้ว่ายางแอฟริกาและอเมริกาใต้จะมีคุณภาพ และขนส่งสู้ไทยไม่ได้ แต่รวมแล้วราคาก็ยังถูกกว่าไทยจูงใจมาก ผู้ผลิตล้อยางของโลกหลายรายที่เคยได้พูดคุยด้วยก็พร้อมจะซื้อ เพราะเค้ามีการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นยางจากแหล่งใดก็สามารถนำไปผลิตเป็นล้อยางที่มีคุณภาพได้”

สำหรับภาพตลาดยางโลกตอนนี้ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม รวมกันมาเป็นอันดับ 1 ครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 70% แต่ล่าสุดมีแอฟริกาและอเมริกาใต้ที่เริ่มมีการส่งออกยางมากขึ้นโดยมีสัดส่วน 10% ของโลก ขณะที่ฝั่งอินเดียและจีนทางใต้ 20% อย่างไรก็ตามราคายางไทยถือว่าสูงที่สุด ด้วยคุณภาพน้ำยาง รองลงมาคืออินโดนีเซีย ส่วนน้องใหม่อย่างเมียนมายังมีราคาต่ำ เพราะเป็นยางคนละเกรด แต่แนวโน้มตลาดดี เห็นจากศรีตรังฯมีโรงงานยางแท่งของศรีตรังฯที่เมียนมาขายดีมาก ค่อนข้างเนื้อหอม ขนาดโรงงานเล็กแต่ใช้กำลังการผลิต 95% ซึ่งในอนาคตเมียนมาก็อาจจะขยายตัวได้ส่วนการผลิตถุงมือยางในตลาดโลก

ขณะนี้ท็อป 10 ผู้ผลิตถุงมือยางธรรมชาติเป็นมาเลเซีย มาร์เก็ตแคปมูลค่า 1 แสนล้านบาท มีศรีตรังฯซึ่งเป็นบริษัทไทยอยู่ในอันดับ 5 แต่ขณะนี้จีนก็เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมนี้จนกลายเป็นรายใหญ่ของโลกแล้ว มีประมาณ 3-4 ราย เช่น Bluesail และ Intco Gloves ซึ่งในจำนวนนี้มี 2 รายที่เริ่มติดท็อป 10 ผู้ผลิตถุงมือยางสังเคราะห์ของโลก ซึ่งเทียบแล้วมีขนาดเล็กกว่าศรีตรังฯไม่มากนัก

“ประเด็นที่น่าห่วงของอุตสาหกรรมยางไทย คือ เรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น เรื่องส่งออกค่าบาท หรือเรื่องนโยบายภายใน ที่เมียนมาหรือประเทศเพื่อนบ้าน ไม่มีกองทุนเซสทำให้ราคายางเมียนมาต่ำกว่า และตอนนี้มาเลเซียซึ่งเคยเป็นผู้ปลูกยางมากที่สุด แต่โค่นยางไป 80% เหลือ 20% เปลี่ยนไปปลูกปาล์ม เขาภูมิใจ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียประกาศในงานถุงมือยางว่า การโค่นยาง 80% ของประเทศไป เราไม่เสียใจเลย เพราะโฟกัสออนแอปพลิเคชั่นในการเป็นผู้ผลิตถุงมือยางที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่เหลือ 20% ไม่พอใช้ผลิตเขาต้องอิมพอร์ตจากไทย นอกจากนี้ ความท้าทายจากการลดพื้นที่ปลูกยางน่าจับตามอง มีชาวสวนหันไปปลูกทุเรียนมากขึ้นระดับแสนไร่ แม้ว่าจะไม่มากหากเทียบกับพื้นที่ปลูกยาง 23 ล้านไร่ แต่พื้นที่ปลูกยางไม่เพิ่มขึ้นเลย”

นายวีรสิทธิ์กล่าวว่า รัฐบาลควรเร่งรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนช่วยให้ผู้ประกอบการเข้ามาแข่งขันได้ ระดับ 31-32 บาท และเร่งเจรจาความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เพราะมาเลเซียคู่แข่งก็อยู่ใน CPTPP ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งจะทำให้ความสามารถแข่งขันของไทยลดลงไปอีก และควรต่อสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) ในปลายปีหน้า ทั้งตลาดยุโรปและสหรัฐ ซึ่งไทยได้สิทธิโดยตรง 3% หากไม่สามารถต่อได้จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

แหล่งข่าวจากวงการยางกล่าวว่า ประเด็นความร่วมมือในกลุ่มผู้ปลูกยางอาเซียน 3 ประเทศ อินโดนีเซีย ไทย และมาเลเซีย ที่จะจำกัดการส่งออกนั้น ในส่วนของอินโดนีเซียและมาเลเซีย สิ้นสุดในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่วนไทยจะสิ้นสุดในเดือนกันยายนนี้ ขณะที่เวียดนามผู้ผลิตยางอันดับ 3 ของโลก แต่ไม่เข้าร่วมความร่วมมือนี้ เพราะว่าการอยู่นอกความร่วมมือทำให้เวียดนามได้ประโยชน์มากกว่า

เช่น ปีที่ไทยกำหนดโควตาทำให้ยอดส่งออกเวียดนามโตขึ้น 30% ขณะที่ไทยลดลง 30% ทุกครั้งที่ 3 ประเทศมีมติแก้ปัญหาร่วมกัน เวียดนามจะโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งหากนับรวมปริมาณการผลิตของเวียดนาม จีนใต้ แอฟริกา และอเมริกาใต้ก็มีสัดส่วน 40% ก็มีผลต่อตลาดโลก