ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจสาหัส งบปี’63ลากยาว ฉุดกำลังซื้อ-ลงทุน
เศรษฐกิจออกอาการขาลง จัดตั้งรัฐบาลใหม่ลากยาว งบประมาณรายจ่ายช้า 4 เดือน “สมคิด” กุมขมับรับมือเศรษฐกิจทรุดดึงเงินเหลือจากทุกบัญชีอัดฉีด การบริโภคอืด ยอดขายฟาสต์ฟู้ดหดตัว ครึ่งปีหลังฝืดหนัก หลัง ก.ย. 62 รัฐมีงบฯ บริหารแค่ 50% สหพัฒน์ชี้กำลังซื้อระดับล่างวูบ ธุรกิจกัดฟันลอนช์แคมเปญ-โปรดักต์ใหม่ตามแผน
รัฐบาลใหม่โดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยู่ในระหว่างการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะมีการแถลงนโยบายรัฐบาล “ประยุทธ์ 2/1” ช่วงปลายเดือน ก.ค. และเริ่มเข้าทำงานในกระทรวงประมาณต้นเดือน ส.ค. 2562 ขณะที่การผลักดันร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งปกติต้องประกาศบังคับใช้ตั้งแต่วันแรกของปีงบประมาณใหม่ คือ วันที่ 1 ต.ค. 2562 ล่าช้าออกไปด้วย กระทบการเบิกจ่ายและการลงทุนภาครัฐ ทำให้ความเชื่อมั่นในการบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชนที่ชะลอตัวอยู่แล้วย่ำแย่ลงอีก ประกอบกับการส่งออกประสบปัญหาจากเศรษฐกิจโลกและสงครามการค้า ส่วนภาคการท่องเที่ยวขยายตัวลดลง เนื่องจากลูกค้าหลักนักท่องเที่ยวจีนเจอพิษเศรษฐกิจ บวกกับเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก
ยื้อตั้งรัฐบาล งบฯช้า 4 เดือน
สำหรับปฏิทินงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 จะเลื่อนไปจากปกติประมาณ 4 เดือน โดยจะมีการกำหนดรายได้และนำไปสู่การกำหนดนโยบายภายในเดือน ก.ค. และเสนอให้ ครม.ใหม่เห็นชอบในเดือน ส.ค. แล้วส่งให้สภาผู้แทนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ในช่วงเดือน ก.ย. โดยสภาจะต้องพิจารณาวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการ ก่อนปิดการประชุมสภาสมัยสามัญในวันที่ 18 ก.ย.นี้ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการแปรญัตติ และในเดือน พ.ย. เมื่อเปิดการประชุมสภาสมัยสามัญ ครั้งที่ 2 จะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 ขั้นแปรญัตติรายมาตรา และวาระ 3 ขั้นตอนเห็นชอบให้เป็นกฎหมาย แต่เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า กว่างบฯรายจ่ายประจำปี 2563 จะเริ่มต้นใช้ได้คงเป็นเดือน ม.ค. 2563 จากปกติเริ่มใช้ในเดือน ต.ค. 2562 โดยรัฐบาลเก่าใช้ไปพลางก่อนประมาณ 50% เท่านั้น
“สมคิด” กุมขมับรับมือ ศก.ทรุด
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สมัยที่ 1 และสมัยที่ 2 กล่าวว่า “ภาวะเศรษฐกิจปลายปีน่าเป็นห่วง” ขณะนี้อยู่ในระหว่างการวางแผนการบริหารเศรษฐกิจ และการหาวงเงินงบประมาณเหลือใช้จากรายการต่าง ๆ เพื่อนำมาอัดฉีดการใช้จ่ายภาครัฐ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2562 (ก.ค.-ก.ย. 2562) แต่รัฐบาลใหม่ที่จะมีทีมเศรษฐกิจหลัก ๆ จากพรรคร่วมรัฐบาลจาก 3 พรรค 3 ทีม อาจทำให้การบริหารจัดการล่าช้า และยุ่งยาก
งบฯลงทุน 7-8 หมื่น ล.สะดุด
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ล่าช้าไป 1 ไตรมาส สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ งบฯลงทุนใหม่จะเบิกจ่ายไม่ได้ วงเงินราว 7-8 หมื่นล้านบาท แต่งบฯประจำยังสามารถเบิกจ่ายได้ ดังนั้น หากจะให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในระดับที่ไม่ต่างไปจากเดิมมากนัก ก็ต้องเร่งเบิกจ่ายงบฯ ประจำแบบฟรอนต์โหลด โดยจะต้องพิจารณาว่า สามารถเร่งได้บ้าง เช่น งบฯอบรมสัมมนา เป็นต้น โดยต้องดึงงบฯที่เบิกได้ให้มาลงในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.-ธ.ค.) ส่วนงบฯลงทุนรัฐวิสาหกิจสามารถลงทุนได้ตามแผนอยู่แล้ว
ชง รมว.คลังกระตุ้นบริโภค
ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีนี้ ทาง สศค.จะจัดเตรียมไว้เสนอ รมว.คลังคนใหม่พิจารณา ที่สามารถทำได้คือ การกระตุ้นด้านการบริโภค เพราะให้ผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจได้ทันที
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษก สศค. กล่าวว่า การเบิกจ่ายในช่วงที่งบฯปี 2563 ล่าช้า จะมีงบฯส่วนที่ใช้ได้ก็คือ งบฯประจำ กับงบฯลงทุนที่มีการผูกพันสัญญาไว้แล้ว โดยทางสำนักงบประมาณจะออกกฎเกณฑ์ในการใช้เงินปีงบประมาณ 2562 เบิกจ่ายไปพลางก่อน
ทั้งนี้ สศค.จะปรับปรุงตัวเลขประมาณการอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจปี 2562 ใหม่เดือน ก.ค.นี้ จะทำให้เห็นว่า เซ็กเตอร์ไหนเป็นอย่างไรบ้าง และต้องกระตุ้นเซ็กเตอร์ไหน
1.15 ล้าน ล.ไม่หายจากระบบ
ขณะที่นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้ประชุมเจ้าหน้าที่สำนักงบฯเพื่อรวบรวมรายจ่ายงบประมาณที่ต้องจ่ายตามสัญญาต่าง ๆ ช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2562 เพื่อกำหนดวงเงินงบประมาณที่จะอนุมัติให้ส่วนราชการเบิกจ่ายได้ ในช่วงที่งบฯปี 2563 ล่าช้า ได้ข้อสรุปว่า มีวงเงิน 1.15 ล้านล้านบาท ที่สามารถเบิกจ่ายใช้งบฯไปพลางก่อนได้ ไตรมาสแรกของปีงบฯ 2563 โดยจะจัดทำเป็นมาตรการเสนอ ครม.เห็นชอบภายเดือน ก.ย.นี้
แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 1.1 ล้านล้านบาท เป็นงบฯเงินเดือน ค่ารักษาพยาบาล และจะให้มีการเบิกจ่ายแบบฟรอนต์โหลดสำหรับงบฯอบรม สัมมนา เร่งเบิกจ่ายในไตรมาสแรกได้ 50% จากฐานของงบฯรายการเดียวกันของปีงบฯ 2562 ทั้งปี ส่วนรายจ่ายลงทุนมีวงเงินที่เบิกจ่ายได้ 4.2 หมื่นล้านบาท เป็นโครงการที่ผูกพันตามสัญญาไว้แล้ว
ยักษ์ฟาสต์ฟู้ดยอดขายร่วง 6%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วน บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MINT ผู้บริการธุรกิจร้านอาหารแบรนด์ต่าง ๆ อาทิ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เล่อร์, แดรี่ ควีน, เบอร์เกอร์ คิง และเดอะ คอฟฟี่ คลับ เป็นต้น เปิดเผยว่า ไตรมาสแรกที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหารในไทยมียอดขายต่อร้านลดลงถึง 6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการบริโภคชะลอตัว โดยเฉพาะต่างจังหวัดซึ่งสร้างแรงกดดันต่อการเติบโตของยอดขายทุกแบรนด์
นอกจากนี้ การชะลอตัวต่อเนื่องของนักเท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามาในไทย ยังสร้างแรงกดดันต่อผลการดำเนินงานของร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว
คอมมาร์ตลุ้นแรงกระตุ้นภาครัฐ
นายพรชัย จันทรศุภแสง ผู้อำนวยการธุรกิจสื่อไอทีและดิจิทัล บมจ.เออาร์ไอพี ผู้จัดงานคอมมาร์ต เปิดเผยว่า งานคอมมาร์ตต้นปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จกว่าที่คาด มีเงินสะพัดกว่า 3,000 ล้านบาท มากกว่าที่ประเมินไว้เดิม 2,700 ล้านบาท การจัดงานครั้งนี้ วันที่ 4-7 ก.ค.นี้ ทั้งแบรนด์และผู้ค้าปลีกจึงมาออกบูทครบทุกราย คาดว่าเงินสะพัดน่าจะใกล้เคียงกัน ส่วนงานช่วงปลายปีต้องรอดูว่าจะมีการเปิดตัวสินค้าใหม่ ๆ ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อได้แค่ไหน
นายกิตติณัฐ ทีคะวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่นกล่าวว่า บริการด้านไอทีโทรคมนาคมกลายเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือย จึงไม่น่าได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัวมากนัก
สินค้าลุยต่อไม่รอตั้งรัฐบาล
ด้านนายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า ช่วง 2-3 เดือนที่ยังไม่จัดตั้งรัฐบาล เศรษฐกิจไม่ค่อยดี กำลังซื้อระดับล่างหายไปชัดเจน จากค่าครองชีพที่สูงขึ้นและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้ากว่านี้จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนในระยะยาวด้วย พรรคการเมืองจึงต้องเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม รีบจัดตั้งรัฐบาลเร็วที่สุด เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
สำหรับทิศทางสหพัฒน์จากนี้ไปยังเดินหน้าพัฒนาธุรกิจต่อเนื่อง จะนำนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า พร้อมทั้งขยายธุรกิจเจาะกลุ่มบีทูบี หรือลูกค้าองค์กรสร้างรายได้มากขึ้น
“ตอนนี้ให้บริษัทในเครือลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป เตรียมที่ดินใหม่ ๆ รองรับการลงทุนของเครือสหพัฒน์ในอนาคตด้วย พร้อมทำสมาร์ทซิตี้ในนิคมอุตสาหกรรม ศรีราชา เพื่อควบคุมการผลิต ขนส่ง ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจในเขต EEC ด้วย เป็นการลงทุนสร้างการเติบโตในอนาคต”
สอดรับกับแหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทวางแผนและซื้อขายโฆษณารายใหญ่ให้มุมมองว่า ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ลูกค้า (แบรนด์) เผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเมืองต่อเนื่อง ทำให้ลูกค้าตระหนักว่าถ้ายังรอประเมินสถานการณ์ทางการเมือง ธุรกิจจะเดินต่อไม่ได้ ไม่โต และโดนคู่แข่งเบียดแย่งตลาด ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา กลุ่มสินค้าต่าง ๆ จึงเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ ทั้งออกสินค้าใหม่ จัดแคมเปญและโปรโมชั่นกระตุ้นการขาย ทำให้ยอดขายครึ่งปีที่ผ่านมามีทิศทางที่ดีขึ้น ช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ สินค้าหลายกลุ่มทั้งอุปโภคบริโภค สื่อสาร รถยนต์ ก็ยังลอนช์แคมเปญการตลาดควบคู่กับการจัดโปรโมชั่นต่อ
รับเหมาชี้ครึ่งปีหลังมีทรงกับดีขึ้น
ในส่วนวงการรับเหมาก่อสร้าง นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า และเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ไม่ทัน ไม่มีผลต่อบริษัทมากนัก เนื่องจากมีงานในมือ (แบ็กล็อก) อยู่กว่า 1 แสนล้านบาท จะกระทบเศรษฐกิจโดยรวมแต่ไม่มาก เพราะงานประจำข้าราชการเดินหน้าอยู่ อาจมีล่าช้าไปบ้าง แต่ไม่น่าห่วง
ส่งออก 5 เดือนแรกติดลบ 4.5%
นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเดือน พ.ค. 62 ชะลอตัวลงจากเดือนที่ผ่านมา จากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีการบริโภคภาคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ การลงทุนภาคเอกชนหดตัว -2.6% ส่งออกหดตัวต่อเนื่องที่ -7.2% เมื่อหักทองคำจะหดตัวอยู่ที่ -6.1% ส่งผลให้ยอดการส่งออก 5 เดือนแรกหดตัวลง -4.5% คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังเป็นไปตามเป้าหมาย ไตรมาสแรกจีดีพีขยายตัว 2.8% และครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้น ทำให้ทั้งปีขยายตัวได้ 3.3% ตามเป้าส่งออกในไตรมาส 2 ยังคงขยายตัวติดลบ หลัง 5 เดือนแรกติดลบ 4.5% แต่ครึ่งหลังจะปรับตัวดีขึ้น ทำให้ทั้งปีขยายตัวอยู่ที่ 0% ตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนมูลค่านำเข้าสินค้า หดตัว -0.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการนำเข้าทองคำที่หดตัวสูง หากหักทองคำจะขยายตัวที่ 1.1%
ยอดนักท่องเที่ยว ตปท.หด
ส่วนภาคท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างประเทศกลับมาหดตัว -1.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากนักท่องเที่ยวจีน ยุโรป รัสเซีย เยอรมนี ที่ลดลงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.15% ชะลอเล็กน้อยจาก 1.23% ในเดือนที่ผ่านมา ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อยที่ -0.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการขาดดุลครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2557 มาจากดุลการค้าเกินดุลลดลง และดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลตามฤดูกาลส่งกลับกำไร และเงินปันผลของธุรกิจต่างชาติในส่วนการแข็งค่าของค่าเงินบาท เป็นผลมาจากค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้า และเดือน มิ.ย.มีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น
คงจีดีพี 3.8%-ส่งออกโต 3%
ไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 2.8% โดยเดือน เม.ย. เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีตามอุปสงค์ในประเทศที่เติบโตต่อเนื่อง และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนมูลค่าส่งออกหดตัว -2.9% จากเดือน มี.ค.ที่หดตัว -4.2% คาดว่าการส่งออกไตรมาส 2 จะขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ซึ่ง ธปท.จะทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบวันที่ 26 มิ.ย. แต่คาดว่าการส่งออกทั้งปีนี้จะขยายตัว 3% และเศรษฐกิจเติบโตอยู่ที่ 3.8%
ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 การลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การบริโภคภายในประเทศ จะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนและพยุงเศรษฐกิจให้ขยายตัว แทนภาคการส่งออกที่ชะลอตัว ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ที่คาดว่าจะมีความล่าช้าไป 1 ไตรมาส จะไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลยังสามารถดูแลได้ โดยเบิกจ่ายงบประมาณปี 2562 เพื่อดำเนินการได้