ทรัมป์ - สี จิ้น ผิง เจรจารุดหน้า พาณิชย์ประเมินส่งผลบวกต่อการส่งออกไทย

อัปเดตล่าสุด 4 ธ.ค. 2561
  • Share :
  • 301 Reads   

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึง
ความคืบหน้าการเจรจายุติข้อขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในการประชุมหารือนอกรอบ G20 ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา โดยสหรัฐฯ ตกลงเลื่อนการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มเติมจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25 (ครอบคลุมตั้งแต่สินค้าเกษตร ประมง และเทคโนโลยี) จากกำหนดเดิมในวันที่1 ม.ค. 2562 และขยายเวลา 90 วัน เพื่อเปิดทางให้ทั้งสองฝ่ายเดินหน้าเจรจายุติข้อพิพาทการค้าระหว่างกัน ซึ่งในระหว่างนี้สหรัฐฯ จะยังคงเก็บภาษีสินค้าจากจีนที่ร้อยละ 10 ทั้งนี้ แถลงการณ์จากทำเนียบขาวระบุว่า หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าระหว่างกันได้หลังจากครบก าหนด 90 วันแล้ว สหรัฐฯ จะเดินหน้าการเก็บภาษีสินค้าจีนเพิ่มในอัตราร้อยละ 25

ความคืบหน้าการเจรจาในครั้งนี้ เป็นผลสำคัญมาจากการที่จีนยอมรับข้อเสนอของสหรัฐฯ ในเรื่องหลักๆ คือ (1) ตกลงที่จะซื้อสินค้าเกษตร พลังงาน อุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากสหรัฐฯ โดยจะซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ทันที เพื่อลดปัญหาความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างสองประเทศ (2) จีนตกลงที่จะก าหนดให้ Fentanyl ซึ่งเป็นยาระงับปวดประสิทธิภาพสูง เป็นสารควบคุมและห้ามส่งออกไปยังสหรัฐฯ โดยหากฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษสูงสุดตามกฎหมายของจีน และ (3) ยอมรับที่จะเริ่มการเจรจากับสหรัฐฯ ในประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ อาทิ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถ่ายโอนเทคโนโลยี (technology transfer) การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property protection) อุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff barriers) การบุกรุกทางไซเบอร์ และการโจรกรรมทางไซเบอร์ (cyber intrusions and cyber theft) การเจรจาด้านการค้าบริการและการเกษตรภายในระยะเวลา 90 วัน ทั้งนี้จีนยังระบุด้วยว่าจะมีการทบทวนพิจารณาอนุมัติการลงทุนแก่บริษัท Qualcomm- NXP ซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยี และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากสหรัฐฯ ที่ต้องการเข้าไปลงทุนในจีน

นางสาวพิมพ์ชนก ให้ความเห็นว่า ความคืบหน้าการเจรจาระหว่างทั้งสองประเทศ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกและการส่งออกสินค้าของไทย โดยสามารถลดบรรยากาศความตึงเครียดที่เกิดขึ้นจากผลของสงครามการค้า อีกทั้งยังช่วยให้เสถียรภาพทางด้านการค้าและการลงทุนกลับมาดีขึ้น ช่วยลดความผันผวนในตลาดทุน และตลาดเงิน ซึ่งเศรษฐกิจโลกที่มีเสถียรภาพมากขึ้น จะสนับสนุนให้การค้าโลกขยายตัวและเป็นผลบวกต่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าขั้นกลาง (intermediate goods) อาทิ สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ในห่วงโซ่อุปทานของจีน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสงครามการค้าหากปัญหาความขัดแย้งคลี่คลายก็จะช่วยให้การส่งออกสินค้าดังกล่าวปรับตัวดีขึ้นและสนับสนุนให้การส่งออกไทยขยายตัวได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 8

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีความก้าวหน้า เป็นสัญญาณที่ดีว่าสงครามค้ามีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ผอ. สนค. ระบุว่ายังคงมีความกังวลในประเด็นการขึ้นภาษีสินค้ากลุ่มยานยนต์  และชิ้นส่วนของสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนตามมาตรการปกป้องการน าเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure) กับทุกประเทศ ว่าสหรัฐฯ จะชะลอหรือเดินหน้าบังคับใช้มาตรการดังกล่าว เพราะประเทศที่เข้าข่ายอาจโดนมาตรการฯ ไม่ได้มีเพียงประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไปโดยเฉพาะในระยะ 90 วัน ตามกำหนดเวลา