011-แนวโน้มเศรษฐกิจ-2563-ไวรัสโคโรนา-หอการค้าญี่ปุ่น

“หอการค้าญี่ปุ่น” ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทย 63 ดีขึ้น แต่หวั่น “ไวรัสโคโรนา” ปัจจัยลบไม่คาดฝัน

อัปเดตล่าสุด 7 ก.พ. 2563
  • Share :
  • 441 Reads   

หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (เจซีซีบี) เปิดเผยผลสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ประจำครึ่งปีหลัง พ.ศ. 2562 ซึ่งได้ทำการสำรวจในเดือน พ.ย. – ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมา โดยมีบริษัทญี่ปุ่นที่เป็นสมาชิกเจซีซีบีร่วมตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 595 ราย จากทั้งหมด 1,750 ราย โดยบริษัทส่วนใหญ่ระบุว่าสภาพธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง พ.ศ. 2562 ปรับตัวแย่ลงจากหลายปัจจัย แต่มีแนวโน้มว่าสภาพธุรกิจในช่วงครึ่งปีแรก พ.ศ. 2563 จะปรับตัวดีขึ้น

นายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) และประธานคณะวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ผลการสำรวจของเจซีซีบีใช้ดัชนีแนวโน้มทางเศรษฐกิจ (ดีไอ) ซึ่งเป็นดัชนีที่แสดงการเปรียบเทียบสภาพธุรกิจในช่วงระยะเวลา 6 เดือนกับช่วงระยะเวลา 6 เดือนก่อนหน้านั้น ซึ่งดัชนีดีไอของบริษัทญี่ปุ่นในไทยอยู่ในแดนลบมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2562 โดยในครึ่งปีแรก พ.ศ. 2562 มีดัชนีอยู่ที่ -19

ขณะที่ครึ่งปีหลัง พ.ศ. 2562 ดัชนีดีไอตกลงมาอยู่ที่ -38 เป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาท โดยภาคอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรที่ใช้ในการขนส่งหรือยานยนต์ของไทยซบเซาอย่างมาก มีดัชนีดีไอลดลงจาก -48 ในช่วงครึ่งปีแรกเป็น -78 ในช่วงครึ่งปีหลัง และยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่าง อุตสาหกรรมเหล็ก เคมีภัณฑ์ และชิ้นส่วนยานยนต์ด้วย

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์แนวโน้มดัชนีดีไอในช่วงครึ่งปีแรก พ.ศ. 2563 มีแนวโน้มที่สภาพธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้น แต่จะยังคงอยู่ในแดนลบที่ -18 เป็นผลมาจากปัจจัยบวกอย่างสงครามการค้าสหรัฐและจีนที่ผ่อนคลายความตึงเครียดลง ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงด้วย โดยจากการสำรวจของเจซีซีบีพบว่า ผู้ประกอบการญี่ปุ่นส่วนใหญ่ได้ปรับเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ใช้ในการวางแผนธุรกิจในครึ่งปีแรก พ.ศ. 2563 อยู่ที่ 30.5-31.0 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากการสำรวจครั้งก่อนหน้านี้ที่ส่วนใหญ่ใช้อัตรา 32.5-33.0 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในแง่ของการส่งออก บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยมองว่าตลาดส่งออกจากไทยที่มีศักยภาพในอนาคต อันดับ 1 คือเวียดนาม (46%) รองลงมาคือ อินเดีย (32%) อินโดนีเซีย (29%) เมียนมา (24%) และญี่ปุ่น (18%) โดยมีบริษัทราว 24% ที่ระบุว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรก พ.ศ. 2563 จะฟื้นตัวดีขึ้นในภาพรวมเมื่อเทียบกับการส่งออกตลอดทั้งปี 2562

การสำรวจของเจซีซีครั้งนี้ บริษัทญี่ปุ่นในไทยยังได้แสดงความกังวลในหลายด้านทั้ง การแข่งขันกับบริษัทอื่นที่รุนแรง ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศของไทยที่ซบเซาได้กลายเป็นความกังวลของบริษัทญี่ปุ่นในไทยมากขึ้น ส่งผลให้หลายบริษัทต้องการให้รัฐบาลไทยส่งเสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และปรับปรุงระบบและการบังคับใช้ระบบศุลกากรและพิธีการศุลกากรด้วย

บริษัทญี่ปุ่นยังได้แสดงความคิดเห็นต่อนโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีบริษัทที่ระบุว่าสนใจลงทุนในพื้นที่อีอีซีราว 23% แต่บริษัทที่ไม่สนใจลงทุนมี 38% สาเหตุมาจากการที่บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังคงต้องการลงทุนพื้นที่ที่มีผู้บริโภคจำนวนมากอย่าง กรุงเทพฯ หรือลงทุนในพื้นที่ที่บริษัทมีฐานการผลิตสินค้าอยู่แล้วอย่าง อยุธยาและเชียงใหม่ ทั้งนี้บริษัทญี่ปุ่นต้องการให้มีการปรับปรุงนโยบายอีอีซีในหลายด้าน ทั้งเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี การเพิ่มความรวดเร็วในกระบวนการนำเข้า/ส่งออก และการผ่อนปรนกฎระเบียบมากขึ้น

นายทาเคทานิระบุด้วยว่า การสำรวจครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทำให้ยังไม่มีการใช้ข้อมูลดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งในการคาดการณ์แนวโน้มดัชนีดีไอในช่วงครึ่งปีแรก พ.ศ.2563 แต่ระบุว่าสถานการณ์ไวรัสจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน ทั้งในแง่ลบอย่างจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงและการส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบหนัก ส่วนในแง่บวกอย่างการอ่อนค่าของเงินบาท อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวยังคงไม่แน่นอน ผลกระทบทางเศรษฐกิจจึงจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาของการแพร่ระบาด ซึ่งเจซีซีบีจะการสำรวจต่อไป