ลุ้นนโยบายหาเสียงพลิกเศรษฐกิจ สานต่อEEC – แก้เกมสงครามการค้า

อัปเดตล่าสุด 3 มี.ค. 2562
  • Share :
  • 623 Reads   

เอกชนจับตา “นโยบายหาเสียงด้านเศรษฐกิจ” ส.อ.ท.หวังสานต่อ EEC – รับมือเทคโนโลยีดิสรัปชั่น-สงครามการค้า ด้านหอการค้าไทย เตรียมเปิดเวทีดีเบตใหญ่ 6 พรรคใหญ่กลางเดือน มี.ค.นี้ ด้านสภาผู้ส่งออกอยากเห็นนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ


ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปีของไทยจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 พรรคการเมืองต่าง ๆ ได้เริ่มจัดทำแคมเปญนโยบายหาเสียงออกมาอย่างคึกคัก หลายฝ่ายต่างติดตามจุดขายโดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยคาดหวังว่าจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งอย่างไร และจะสานต่องานด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปูทางไว้หรือไม่

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการติดตามนโยบายของพรรคการเมืองแต่ละพรรคในขณะนี้ ส่วนใหญ่ยังคงมุ่งเป้าเรื่องของการเมือง ยังไม่มีพรรคใดมุ่งชี้ชัดนโยบายเรื่องเศรษฐกิจที่ชัดเจนนัก

อย่างไรก็ตาม เอกชนมองว่าไม่ว่าพรรคใดจะชนะการเลือกตั้งแล้วจัดตั้งขึ้นมาเป็นรัฐบาล สิ่งสำคัญคือการที่ยังคงต้องคงนโยบายและโครงการเดิมที่มีความสำคัญเอาไว้ เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ได้อยู่ระหว่างดำเนินงานอยู่นั้น จะต้องไม่มีการยกเลิกนโยบาย โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานและ 5 โครงการใหญ่ที่กำลังอยู่ระหว่างประมูล PPP เพราะพื้นที่ EEC แห่งนี้สามารถดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก ส่งผลให้ประเทศไทยเกิดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ และมีการพัฒนา สร้างมูลค่าที่สูงขึ้น รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อมาพัฒนาประเทศ ให้พ้นกับดักรายได้ปานกลาง

แก้เทคโนโลยีดิสรัปชั่น-เทรดวอร์

อย่างไรก็ตาม เอกชนคาดหวังว่านโยบายเศรษฐกิจใหม่จะต้องมองให้รอบด้านครอบคลุมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สงครามการค้า เพราะผลที่ตามมาหากไม่ปรับตัวตั้งรับมันจะเกิดการย้ายฐานการผลิตเป็นสิ่งที่น่ากลัว

ขณะเดียวกัน แม้เศรษฐกิจไทย GDP ที่ผ่านมาจะโต 4.1% แต่การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐยังไม่เป็นไปตามเป้า จึงมีความเป็นห่วงว่าเมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาจะยิ่งทำให้การเบิกจ่ายที่ยากขึ้น ดังนั้น สิ่งสำคัญคือโรดแมป ระบบคมนาคม ต้องเร่งทำให้เร็วที่สุด

ขอเอกชนมีส่วนร่วมแก้ปัญหา

นางกนิษฐ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม ส.อ.ท. กล่าวว่า ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะเข้ามาเป็นรัฐบาลควรคงนโยบายสำคัญเอาไว้ รวมถึงควรให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเพื่อดำเนินนโยบายให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงกับสิ่งที่เอกชนต้องการอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างเช่น ร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. … ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับฟังความคิดเห็นเอกชนน้อยมาก จนจะส่งผลกระทบต่อทั้งระบบการบริหารจัดการซากทั้งหมด อาทิ ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ซาเล้ง เป็นต้น

หอการค้าเปิดเวทีดีเบต

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ภาคเอกชนยังมองภาพนโยบายเศรษฐกิจที่แต่ละพรรคไม่ชัดเท่าไรนัก ทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จึงเตรียมจัดเวทีให้ 6 พรรคการเมืองใหญ่อภิปราย (ดีเบต) เปิดนโยบายด้านเศรษฐกิจในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ โดยจะดึงหอการค้าจังหวัดที่เป็นสมาชิกทั่วประเทศเข้าร่วมสอบถามแลกเปลี่ยนมุมมองในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศควรที่จะเดินหน้าไปอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องการเตรียมพร้อมผลักดันการส่งออกถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในการประชุมประเมินสถานการณ์การส่งออกไตรมาส 1 ปี 2562 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางเอกชน ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ยังคงประเมินภาพการส่งออกทั้งปีโตเฉลี่ย 3-5% เพราะยังเป็นห่วงปัจจัยเสี่ยงเรื่องค่าเงินบาท ค่าแรงขั้นต่ำ และผลกระทบจากสงครามการค้า จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลอย่างใกล้ชิด

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และรองประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออก) กล่าวว่า นโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังเน้นนโยบายดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ยังไม่เห็นความชัดเจนในส่วนของนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศว่าจะมีแนวทางอย่างไร อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังเอกชนต้องให้ผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลสานต่อนโยบายที่มีประโยชน์ต่อไป เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับประเทศ

ขณะที่ภาพรวมการส่งออกไทยในปีนี้ จะมีการทบทวนเป้าหมายการส่งออกอีกครั้งจากที่ประเมินไว้ 5% โดยสภาผู้ส่งออก จะเข้าพบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 4 มี.ค.นี้เพื่อหารือถึงปัจจัยเสี่ยงค่าเงินบาทแข็งค่า