นโยบายและหลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุน บีโอไอ ตามยุทธศาสตร์ ปี 2566 – 2570  เศรษฐกิจใหม่ ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย

บีโอไอ เผย 2 กลุ่มพื้นที่เป้าหมาย ส่งเสริมการลงทุนปี 2566-2570 มุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่

อัปเดตล่าสุด 15 ก.พ. 2566
  • Share :

นโยบายและหลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ของบีโอไอ ตามยุทธศาสตร์ ปี 2566 – 2570 ระบุ 2 กลุ่มพื้นที่เป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุนเพื่อมุ่งสู่ “เศรษฐกิจใหม่” (New Economy) 

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ (BOI) เผยยุทธศาสตร์ใหม่ในระยะ 5 ปีข้างหน้า (ปี 2566 – 2570) คือการมุ่งส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่” (New Economy) ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

หัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน คือการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ถือเป็นกลยุทธ์ที่บีโอไอให้ความสำคัญมาโดยตลอด โดยนโยบายและหลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ บีโอไอได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ดังนี้
 

1. พื้นที่เป้าหมายศักยภาพสูง ซึ่งจะมีส่วนในการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ได้แก่

  • เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและบริการใหม่ๆ
  • นิคมหรือเขตอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวของโรงงานอุตสาหกรรมและเกิดบริหารจัดการที่ดีในภาคอุตสาหกรรม
  • เขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งรองรับการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ (Space Krenovation Park: SKP) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of innovation: EECi) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology: AIT) และย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี รวมถึง Digital Park & Digital Valley เพื่อขับเคลื่อนไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) 

2. พื้นที่เป้าหมายอื่นๆ ที่มีส่วนสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ ได้แก่

  • เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับภาคและระดับพื้นที่อย่างทั่วถึง โดยสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ทั้งในส่วนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 จังหวัด และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค
  • พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และเมืองต้นแบบ เพื่อสนับสนุนให้มีการลงทุนมากขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเกิดการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ
  • พื้นที่ 20 จังหวัด ที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ เพื่อกระจายรายได้และลดความยากจนข้ามรุ่น รวมถึงเมืองรองด้านการท่องเที่ยว เพื่อกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ
ทั้งนี้ ในช่วง 5 - 8 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2558 - 2565) บีโอไอได้ให้การส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมายรวม 4 พื้นที่ ดังนี้
 
เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตั้งแต่ปี 2560 – 2565  มีการขอรับการส่งเสริมในพื้นที่ EEC จำนวน 150 โครงการ มีมูลค่า 205,450 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า สมาร์ทอิเลกทรอนิกส์ และดิจิทัล เป็นต้น
 
เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ตั้งแต่ปี 2558 – 2565 มีการขอรับการส่งเสริม จำนวน 105 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุน 28,900 ล้านบาท โดยการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมเบา และกิจการโลจิสติกส์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจการ ที่จ้างแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน
 
พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2558 – 2565 มีการขอรับการส่งเสริมจำนวน 71 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุน 20,374 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าและอุตสาหกรรมการเกษตร
 
ส่วนพื้นที่ 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ ตั้งแต่ปี 2558 – 2564 มีการขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น 313 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุน 73,885 ล้านบาท โดยจังหวัดสระแก้ว มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมมากที่สุด รองลงมา คือ จังหวัดบุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ สกลนคร มุกดาหาร และอุบลราชธานี ตามลำดับ
 
 
สำหรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค เป็นการส่งเสริมการลงทุนในลักษณะคลัสเตอร์ในแต่ละภาค โดยบีโอไอจะนำเสนอสิทธิประโยชน์ที่สอดคล้องกับศักยภาพและอุตสาหกรรมเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ ดังนี้
  • ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ หรือ Northern Economic Corridor: NEC ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูนและจังหวัดลำปาง เป็น เพื่อพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศอย่างยั่งยืน หรือ Creative LANNA
  • ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Northeastern Economic Corridor: NeECครอบคลุมพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย เพื่อพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bioeconomy) แห่งใหม่ของประเทศด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต
  • ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง - ตะวันตก หรือ Central - Western Economic Corridor: CWEC ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี และ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำ ด้านอุตสาหกรรมเกษตร การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไฮเทคมูลค่าสูง เชื่อมโยงกับ กทม. และพื้นที่โดยรอบ และ EEC
  • ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ Southern Economic Corridor: SEC ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ และภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน (BIMSTEC) เป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปเกษตรมูลค่าสูง และเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่นานาชาติ

 

จะเห็นได้ว่าการส่งเสริมการลงทุนตามพื้นที่เป้าหมาย ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของบีโอไอในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศ โดยส่งเสริมให้เกิดการกระจายการลงทุนไปสู่ภูมิภาค เกิดการขับเคลื่อนทางกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อลดช่องว่างด้านรายได้ของคนในประเทศ รวมถึงเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงรูปแบบธุรกิจใหม่ๆที่จะช่วยสนับสนุนการสร้างเศรษฐกิจใหม่ เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืนในอนาคต

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH