กรมเจรจาฯ เผยผลจากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี ที่เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี 2553 ทำให้การค้าไทย-เกาหลีใต้ขยายตัวกว่าร้อยละ 17.9

อัปเดตล่าสุด 4 เม.ย. 2562
  • Share :
  • 471 Reads   

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การค้าระหว่างไทยและสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ในช่วงที่ผ่านมายังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2561 การค้าระหว่างสองประเทศมีมูลค่าสูงถึง 13,766 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวกว่าร้อยละ 17.9 เมื่อเทียบกับมูลค่า 11,671 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2553 ที่ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี เริ่มมีผลใช้บังคับ เกาหลีใต้ไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยจำนวน 11,927 คิดเป็นร้อยละ 90.9 ของรายการสินค้าทั้งหมด ยังคงเหลือกลุ่มสินค้าที่ยังไม่ลดภาษี จำนวน 1,130 รายการ หรือร้อยละ 9.1 ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น ไม้อัด ข้าวโพดหวาน มันสำปะหลังแช่แข็ง และมันสำปะหลังอัดเม็ด เป็นต้น ขณะที่ไทยไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจำนวน 8,455 รายการ คิดเป็นร้อยละ 88 ของรายการสินค้าทั้งหมด โดยยังคงเหลือกลุ่มสินค้าที่ยังไม่ลดภาษี จำนวน 1,155 รายการ หรือร้อยละ 12 ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น ส่วนประกอบวิทยุ/โทรทัศน์ แผ่นเหล็กรีดร้อน และส่วนประกอบยานยนต์ เป็นต้น ทั้งนี้ ไทยและเกาหลีใต้อยู่ระหว่างหารือความเป็นไปได้ในการทบทวนความตกลงฯ เพื่อเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมในสินค้าที่ยังไม่ได้ลดภาษีระหว่างกัน

จากการติดตามสถิติการค้าระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ พบว่า เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 10 ของไทย และคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 5 ของอาเซียน โดยในปี 2561 มูลค่าการค้าระหว่างไทย-เกาหลีใต้ อยู่ที่ 13,766 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 8.76 แบ่งเป็นการส่งออก 4,888.9 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องคอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น และนำเข้า 8,877.4 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เหล็ก เคมีภัณฑ์ แผนวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรไฟฟ้า และเครื่องจักรกล เป็นต้น

ทั้งนี้ ไทยส่งออกไปเกาหลีใต้โดยใช้สิทธิเอฟทีเออาเซียน-เกาหลี มูลค่า 3,045.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 62.3 ของมูลค่าการส่งออกรวม โดยสินค้าส่งออกของไทยที่มีการใช้สิทธิเอฟทีเออาเซียน-เกาหลี สูงเป็นอันดับต้น เช่น น้ำตาลที่ได้จากอ้อย แผ่นไม้อัด น้ำมันปิโตรเลียม น้ำมันจากแร่บิทูมินัส เครื่องปรับอากาศ และยางธรรมชาติ เป็นต้น ขณะที่ไทยนำเข้าจากเกาหลีใต้โดยใช้สิทธิเอฟทีเอ มูลค่า 2,448.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 27.6 ของมูลค่าการนำเข้ารวม โดยสินค้านำเข้าของไทยที่มีการใช้สิทธิเอฟทีเออาเซียน-เกาหลี สูงเป็นอันดับต้น เช่น แผ่นเหล็กไม่เจือรีดเย็น น้ำมันดิบ แผ่นเหล็กชุบ/เคลือบ แผ่นเหล็กรีดเจือ และยางสังเคราะห์ เป็นต้น จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังคงใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอไม่เต็มที่ จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการไทยเร่งใช้ประโยชน์จากสิทธิเอฟทีเอที่มีการยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรระหว่างกันแล้ว หากผู้ประกอบการต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถิติการค้า อัตราภาษีนำเข้า-ส่งออก กฎระเบียบทางการค้าการลงทุนของประเทศเกาหลีใต้ หรือข้อมูลเกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรี