006-ส่งออกไทย-2562-อุตสาหกรรม-เศรษฐกิจ

ส่งออก’62 ต่ำสุดรอบ 4 ปี ปัจจัยลบเพียบ ตลาดหลักร่วงยกแผง

อัปเดตล่าสุด 6 ม.ค. 2563
  • Share :
  • 1,484 Reads   

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า การส่งออกไทยในปี 2562 จะปิดบัญชี “ติดลบ” เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี นับจากปี 2558 ที่เคยส่งออกได้ 214,309 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 5.78% เพราะล่าสุดใน 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) 2562 ส่งออกได้ 218,081 ล้านเหรียญ ติดลบแล้ว 2.77% แม้ว่าในเดือนสุดท้ายธันวาคมจะส่งออกได้ถึง 20,000 ล้านเหรียญ ก็ยังทำให้ส่งออกในปี 2562 ติดลบ 2% อยู่ดี ห่างไกลจากเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้ 3% มูลค่า 260,184 ล้านเหรียญ

โดยหากเทียบมูลค่าการส่งออกในรูป “เงินบาท” จะพบว่า การส่งออก 11 เดือนมีมูลค่า 7,054,237 ล้านบาท ติดลบถึง 5.61% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือรายได้การส่งออกรูปเงินบาทหายไปถึง 419,000 ล้านบาท

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญมาจากภาวะการค้าโลกชะลอตัวลงจากผลพวงสงครามการค้าสหรัฐ-จีนที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อจากราคาน้ำมันดิบที่ทรงตัวในระดับต่ำกระทบสินค้าส่งออกที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน และสำคัญที่สุดก็คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเกินกว่า 6% ทำให้ไทยสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน

ตลาดส่งออกร่วงยกแผง

ในช่วง 11 เดือนแรกได้เกิดปรากฏการณ์ ตลาดส่งออกสินค้าไทย “ร่วงยกแผง” ไล่เรียงมาตั้งแต่ ตลาดญี่ปุ่น ลบ 1.3% สหภาพยุโรป (15) ลดลง 7% อาเซียนลด 8.5% จีนลดลง 4.7% เอเชียใต้ลดลง 7.7% ฮ่องกงลดลง 6.8% เกาหลีใต้ลดลง 5.4% ไต้หวันลดลง 0.4% ออสเตรเลียลดลง 3.9% ตะวันออกกลางลดลง 2.9% แอฟริกาลดลง 10.9% รัสเซีย/CIS ลดลง 12% “ยกเว้น” ตลาดสหรัฐที่ขยายตัว 11.4% แคนาดา 1.3% และสวิตเซอร์แลนด์ แหล่งส่งออกทองคำที่บวก 145%

หากแยกรายสินค้าพบว่า สินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งมีสัดส่วน 80% ของการส่งออกทั้งหมด ติดลบ 1.86% โดยสินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ ยานพาหนะและส่วนประกอบ, อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก, วัสดุก่อสร้าง, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, เคมีภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป

ส่วนสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 16.4% ของการส่งออกติดลบ 2.36% โดยสินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว, ยางพารา, มันสำปะหลัง, กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และน้ำตาลทราย

ขยายตัว 3% ความท้าทายปี”63

มองไปถึงการส่งออกในปี 2563 ถ้ากระทรวงพาณิชย์ยังมีเป้าหมายการส่งออกแบบ “โหน” เหมือนในปี 2562 อีก โอกาสที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นจะต้องเผชิญกับความยากลำบากจากปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่องมาจากปี 2562 ไม่ว่าจะเป็น ค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าต่อ ด้วยความกังวลอาจจะหลุดกรอบ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ การขยายวงของสงครามการค้าสหรัฐ-จีนลุกลามไปยังสหภาพยุโรป ผลการเจรจาระหว่างสหรัฐ-จีน ระยะที่ 2 จะเชื่อมโยงถึงเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทรงตัวต่ำ การเจรจาเพื่อขอให้สหรัฐพิจารณา “ทบทวน” ให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับสินค้าไทย 573 รายการ ก่อนจะตัดในเดือนเมษายน 2563 ภัยแล้งกระทบการผลิตสินค้าเกษตร และผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ

“แม้การส่งออกสินค้าไทยปรับตัวลดลง แต่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับทั่วโลก แนวโน้มการส่งออกปี 2563 อาจพลิกมาเป็นบวกได้ โดยเตรียมหารือกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.พาณิชย์) ประเมินว่าหากส่งออกเฉลี่ยได้เดือนละ 21,279 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้ทั้งปี 2563 ขยายตัว 3% คิดเป็นมูลค่า 250,000 ล้านเหรียญ” นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าว

จุรินทร์เดินสาย 16 ตลาด

นายจุรินทร์กล่าวว่า จะกำหนดเป้าหมายการส่งออกปี 2563 หลังการประชุมทูตพาณิชย์สิ้นสุดลง และจะมุ่งส่งเสริมการส่งออก โดยจะนำคณะภาครัฐและเอกชนไปเปิดตลาด 16 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย, ญี่ปุ่น, แอฟริกาใต้, ฮ่องกง, จีน, เวียดนาม, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, ตะวันออกกลาง, รัสเซีย, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ติมอร์เลสเต, เกาหลีใต้, บังกลาเทศ, มัลดีฟส์ และกัมพูชา เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า

พร้อมทั้งเร่งเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ยังคั่งค้าง เพื่อลดภาษีและใช้สร้างโอกาสการส่งออก โดยเฉพาะ FTA ไทย-ตุรกี ให้เสร็จภายในกลางปีหน้า, ปากีสถาน, ศรีลังกา และจะเริ่มต้นการเจรจากับสหภาพยุโรป, อังกฤษ, ฮ่องกง และสานต่อการเจรจากับสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) และเพิ่มรูปแบบการเจรจารายรัฐ-รายมณฑลในจีนและอินเดีย ถกทูตพาณิชย์ประเมินสถานการณ์

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สอ.) กล่าวถึงโอกาสที่การส่งออกปี 2563 จะกลับมาเป็นบวกจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เริ่มผ่อนคลาย กรณีอังกฤษแยกตัวจากสหภาพยุโรป(เบร็กซิต) เริ่มชัดเจนขึ้น ส่วนเรื่องค่าบาทอาจจะกระทบบ้างแต่เป็นโอกาสเพิ่มศักยภาพการผลิต

โดยในเดือนมกราคม 2563 กรมจะประชุมกับผู้ประกอบการ 10 อุตสาหกรรมสำคัญ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย-สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินสถานการณ์แต่ละสินค้า จากนั้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 รมว.พาณิชย์จะประชุมผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) เพื่อประเมินสถานการณ์ และวางแผนผลักดันสินค้าและบริการเป้าหมาย

“กรมจะเน้นการพัฒนาช่องทางตลาด นำคณะผู้แทนเยือนตลาดสำคัญ ขยายความร่วมมือกับห้างค้าปลีก การพัฒนาผู้ประกอบการ เจาะกลุ่มเป้าหมาย เช่น ผู้สูงอายุ startup กลุ่มชาติพันธุ์ การพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ สร้างแบรนด์ไทย และเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ”

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดการณ์การส่งออกปี 2563 จะขยายตัว 0-1% จากอัตราแลกเปลี่ยนระดับ 30.5 บาทต่อเหรียญ ส่วนปัจจัยบวกต่อการส่งออกนั้น “ยังมองไม่ชัดเจนนัก” ด้านปัจจัยเสี่ยงสำคัญยังเป็นเรื่องสงครามการค้า เศรษฐกิจชะลอตัว ค่าเงินบาทแข็งค่า สรท.ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องนี้ และลดต้นทุนการผลิตและโลจิสติกส์

มองหาโอกาสในวิกฤต

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) เห็นว่า นโยบายพื้นฐานด้านเงินและการคลังจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ในปี 2563 คาดว่าจะยังคงไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือปรับขึ้นลำบาก และรัฐบาลหลายประเทศ เช่น อียู ญี่ปุ่น เตรียมอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทำให้ปริมาณเงินทุนไหลมาฝั่งเอเชียจะกระทบอัตราแลกเปลี่ยนทันที แต่ไทยควรมองวิกฤตค่าเงินเป็นโอกาสที่จะลงทุนเสริมขีดสามารถในการแข่งขัน

“ปัญหาสงครามการค้านั้นเปรียบเหมือนการแย่งชิงอำนาจเหนือภาวะเศรษฐกิจโลก ด้วยการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของจีน-สหรัฐ ซึ่งไทยและกลุ่ม CLMVT ต้องผนึกกำลัง เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า-การลงทุนให้ได้”

ประเด็นที่น่าห่วงต่อเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะมาจากการก่อหนี้สะสมของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3 เท่า หากเทียบกับปี 2008 ต้องจับตาว่าจะกระทบต่อการค้าอย่างไร