004-แบงกชาติ-เศรษฐกิจ-เลิกจ้าง-บริษัทจำกัด

แบงก์ชาติชี้ศก.ครึ่งหลังเสี่ยงสูง ธุรกิจก่อหนี้เพิ่ม-กำไรบจ.ทรุด จับตาสัญญาณเลิกจ้าง!!

อัปเดตล่าสุด 2 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 491 Reads   

แบงก์ชาติชี้ ศก.ไทยยังเสี่ยงสูง-วางใจไม่ได้ ผลกระทบสงครามการค้าจะรุนแรงขึ้น เดือนก.ค.สัญญาณจ้างงาน “เกษตร-รถยนต์” หดตัว”เงินบาท” ยังแข็งค่า เดินหน้าเพิ่มปริมาณพันธบัตรระยะยาว ป้องกันต่างชาติเก็งกำไรบอนด์สั้น ขณะที่ครึ่งปีแรก กำไร บจ.ทรุดฮวบ 17% ภาคธุรกิจมีหนี้สินต่อทุนเพิ่มขึ้น 
 
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 จะฟื้นตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 และไตรมาส 4 จะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น โดยไตรมาส 2 เศรษฐกิจขยายตัว 2.6% น่าจะต่ำสุดของปีนี้แล้ว ซึ่งจากภาวะเศรษฐกิจในเดือน ก.ค. ขยายตัวดีขึ้นกว่าเดือนที่ผ่านมา จะต้องติดตามผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจว่าส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญคือต้องติดตามสงครามการค้า ที่ยังมีผลกระทบรุนแรงกว่าช่วงที่ผ่านมา หากยังยืดเยื้อก็จะเป็นผลลบต่อเศรษฐกิจไทย โดย ธปท.ประมาณการว่า เศรษฐกิจไตรมาส 3 จะขยายตัวกว่า 3.5% ซึ่งต้องประเมินใหม่อีกครั้ง

“แม้ว่าเศรษฐกิจเดือน ก.ค.จะดูดีขึ้น ขณะที่ในเดือน ส.ค.มีมาตรการภาครัฐมาสนับสนุน แต่ระยะต่อไปความเสี่ยงของเศรษฐกิจก็ยังถือว่าค่อนข้างสูง ไม่สามารถไว้วางใจได้ มาตรการรัฐที่ออกมาก็เป็นการประคับประคอง กรณีเติมเงินบัตรสวัสดิการก็คงเห็นผลทันที แต่ถ้าเป็นพวกสินเชื่อก็ต้องใช้เวลา รวมถึงมาตรการท่องเที่ยวก็ยังต้องรอการทำระบบ” นายดอนกล่าว

จับตา “เลิกจ้าง” อุตฯยานยนต์

นายดอนกล่าวอีกว่า ในระยะข้างหน้ายังต้องติดตามแนวโน้มอัตราการว่างงานที่เดือน ก.ค. เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.1% จากเดือนก่อนอยู่ที่ 0.9% เนื่องจากการจ้างงานภาคเกษตรที่ลดลง รวมถึงการชะลอตัวของการจ้างงานทั้งในภาคการผลิต การค้า และก่อสร้าง โดยต้องจับตาอุตสาหกรรมยานยนต์ที่การจ้างงานมีการชะลอตัวมา 2 เดือนต่อเนื่อง ตามภาวะส่งออกรถยนต์ที่ไม่ค่อยดี รวมถึงยอดจำหน่ายในประเทศซึ่งติดลบมา 2 เดือนติดต่อกัน ทั้งนี้ ธปท.อาจต้องทบทวนปรับลดยอดขายรถยนต์จากเดิมที่คาดไว้ 1.04 ล้านคัน

“แม้อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ทิศทางยังไม่น่าไว้ใจมาก หากการจ้างงานลดลง ความสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบต่อไปก็คือ การบริโภคภาคเอกชน ก็จะจับจ่ายใช้สอยได้ลำบาก” นายดอนกล่าว

ส่งออก Q3 ฟื้น/Q4 เป็นบวก

นายดอนกล่าวอีกว่า แนวโน้มการส่งออกในเดือน ส.ค.น่าจะติดลบน้อยลง และมองว่าส่งออกไทยน่าจะถึงจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยช่วง 7 เดือนแรกหดตัวไป -3% ซึ่งมองไปข้างหน้าจะมีการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เพิ่มขึ้นจากผลการย้ายฐานการผลิต และวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่น่าจะทรงตัวแล้ว รวมถึงอาจมีการเร่งส่งออกก่อนจะมีการปรับขึ้นภาษีตามที่สหรัฐขู่ไว้

“การส่งออกไตรมาส 3 น่าจะดีขึ้นเทียบกับไตรมาส 2 และเชื่อว่าไตรมาส 4 จะเป็นบวกได้เพราะฐานปีก่อนที่ต่ำ แต่ทั้งปียังไม่แน่ใจว่าจะเป็นบวกได้ ส่วนการท่องเที่ยวในไตรมาส 3 น่าจะติดลบน้อยลง” นายดอนกล่าว

ขณะที่สถานการณ์ค่าเงินบาทเดือน ก.ค.อ่อนค่าลง เนื่องจาก ธปท.มีมาตรการออกมาดูแล แต่เมื่อเทียบกับคู่ค้า คู่แข่งแล้ว ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ถือว่าแข็งค่ากว่าสกุลหลัก โดยเฉพาะค่าเงินยูโร ค่าเงินปอนด์ และค่าเงินเยน ขณะที่เดือน ส.ค. เงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นจากปัจจัยภายนอกที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง โดยในเดือน ก.ย. ธปท.มีการเพิ่มปริมาณพันธบัตรระยะยาวมากขึ้น เพื่อดึงเงินทุนต่างชาติที่จะเข้ามาให้ไปลงทุนบอนด์ระยะยาว แทนที่จะเข้ามาลงทุนในบอนด์ระยะสั้นเพื่อดูแลป้องกันการเก็งกำไร

CIMBT หั่นเป้าจีดีพี 2.8%

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มติดลบต่อเนื่อง จากผลกระทบของสงครามการค้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้การลงทุนจากภาคเอกชน การบริโภค และการจ้างงานในประเทศลดลงต่อไป

“นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐจะช่วยประคองเศรษฐกิจไม่ให้ย่ำแย่ไปมากกว่านี้ นโยบายที่จะกระตุ้นภาคการลงทุนมีความจำเป็นอย่างมาก ในช่วงครึ่งหลังของปี” นายอมรเทพกล่าว

นายอมรเทพกล่าวอีกว่า มีโอกาสจะได้เห็นมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดยคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในไตรมาส 4 ปีนี้ เพื่อประคองเศรษฐกิจ ซึ่งจะลดภาระค่าใช้จ่ายภาคเอกชน อีกทั้งจะช่วยประคองผู้ส่งออก และกดค่าเงินบาทให้อ่อนลงด้วย

ทั้งนี้ ซีไอเอ็มบี ไทย ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2562 ลงเหลือ 2.8% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 3.3% ส่วนค่าเงินบาทมองว่ามีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากปัจจุบัน เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะปรับลดดอกเบี้ยลงอีกแค่ 3 ครั้ง ขณะที่ตลาดคาดว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลงถึง 4 ครั้ง และคาดว่าค่าเงินบาทช่วงปลายปีจะอยู่ที่ 30.9 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

บจ.ไทยครึ่งปีกำไรลดลง 17.1%

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปีอ่อนตัวลงมาก ผลการดำเนินงานในงวดครึ่งแรกปี 2562 หลักทรัพย์จดทะเบียนมียอดขายรวม 5.53 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.5% ขณะที่กำไรจากการดำเนินงาน 4.24 แสนล้านบาท ลดลง 21.5% และกำไรสุทธิ 3.73 แสนล้านบาท ลดลง 17.1% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยในไตรมาส 2/2562 ยอดขายรวม 2.78 ล้านล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 0.8% และกำไรสุทธิ 1.65 แสนล้านบาท ลดลง 20.7% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน

ในด้านความสามารถการทำกำไรของหลักทรัพย์จดทะเบียนไทยในช่วงครึ่งปีแรก มีอัตรากำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 7.7% ลดลงจาก 9.9% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 6.7% เมื่อเทียบกับ 7.9% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลกระทบนี้ทำให้หลักทรัพย์จดทะเบียนไทยมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนสูงขึ้น ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 2/2562 อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 1.36 เท่า จากช่วงเดียวกันในปีก่อนที่ 1.26 เท่า

นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในปี 2562 มีโอกาสติดลบที่ประมาณ 2% เมื่อเทียบกับปี 2561 หรือราว 7.89 แสนล้านบาท คาดว่าช่วงไตรมาส 4 หลายเซ็กเตอร์จะกลับมาฟื้นตัว ทั้งกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่จะได้รับอานิสงส์จากการเร่งลงทุนของภาครัฐและเอกชน และกลุ่มธนาคารที่ได้รับแรงหนุนจากยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ ประกอบกับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ