ค่ายรถฝืดดิ้นรีดไขมัน กำลังซื้อดิ่งตลาดติดลบ 4% เปิดโครงการจำใจจาก

อัปเดตล่าสุด 30 ก.ค. 2562
  • Share :
  • 523 Reads   

กำลังซื้อทรุด-มู้ดจับจ่ายซบเซา ตลาดรถยนต์เดือน มิ.ย. หดตัวครั้งแรกในรอบ 30 เดือน เตือนอุตฯ รถยนต์ครึ่งปีหลังกระทบหนัก “บิ๊กโตโยต้า” ลั่นตลาดรวมปีนี้ติดลบ 4% ส่งออกดิ่งเซ่นสงครามการค้าจีน-มะกัน ค่ายรถเร่งเกมโรดโชว์เคาะประตูบ้านลูกค้า พร้อมแผนลดกำลังผลิต-รีดไขมันฝั่งโรงงาน “ฟอร์ด-มิตซูบิชิ-นิสสัน” เปิดโครงการจำใจจาก ผู้ผลิตชิ้นส่วนเจ็บตัวประกาศลดเวลาทำงาน-หยุดกิจการชั่วคราว หลังคำสั่งซื้อชิ้นส่วนลดลง

แหล่งข่าวผู้ประกอบการธุรกิจรถยนต์รายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน รวมถึงภาวะค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนของประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ซึ่งเห็นสัญญาณชัดจากข้อมูลการผลิตและยอดขายรถยนต์ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งมีการปรับลดลงทั้งตลาดในประเทศและส่งออก โดยเฉพาะกำลังซื้อในประเทศเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ติดลบครั้งแรกในรอบ 30 ปี ซึ่งมีการชะลอในทุกระดับ รวมทั้งกลุ่มตลาดรถหรู แม้ว่าลูกค้ากลุ่มนี้จะมีกำลังซื้อ แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจก็ทำให้ไม่มีมู้ดการจับจ่าย

ยอดขายวูบในรอบ 30 เดือน
รายงานข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) แจ้งว่า เดือนมิถุนายน 2562 ยอดผลิตรถยนต์ทั้งสิ้น 172,878 คัน ลดลง 8.52% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และลดลง 4.66% จากเดือนพฤษภาคม 2562 ขณะที่ยอดขายในประเทศ ทำได้ 86,048 คัน ลดลง 2.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลง 2.3% จากเดือนพฤษภาคม ถือเป็นยอดขายติดลบครั้งแรกในรอบ 30 เดือน

สำหรับยอดผลิตเพื่อส่งออกเดือนมิถุนายน 2562 อยู่ที่ 84,226 คัน ลดลง 11.86% จากมิถุนายน 2561 ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปช่วง 6 เดือนแรกอยู่ที่ 559,861 คัน ลดลง 0.37% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 285,204.20 ล้านบาท ลดลง 1.96% จากช่วงเดียวกัน

ทั้งนี้ ยอดผลิตรถยนต์ 6 เดือนแรกปีนี้ (มกราคม-มิถุนายน 2562) อยู่ที่ 1,065,945 คัน เพิ่มขึ้น 0.89% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยประเมินว่าทั้งปีประเทศไทยจะมียอดผลิตรถยนต์ 2.15 ล้านคัน ลดลง 0.82% แบ่งเป็นการขายในประเทศ 1.05 ล้านคัน และส่งออก 1.1 ล้านคัน ลดลง 3.7%

โตโยต้าลั่นทั้งปีตลาดหดตัว 4%
นายมิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจทั้งของโลกและในประเทศ ทำให้ค่ายรถยนต์ต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ตลาดและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้วางแผนการผลิตให้สอดคล้องตลาดรถยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยวางเป้าการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและเพื่อการส่งออกอยู่ที่ 577,000 คัน ลดลง 2% เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่ผ่านมา

“การส่งออกครึ่งปีแรกลดลงอย่างเห็นได้ชัด สืบเนื่องจากความต้องการในภูมิภาคอเมริกากลาง อเมริกาใต้ และโอเชียเนียลดลง” นายซึงาตะกล่าว

ปัจจัยลบที่เกิดขึ้น ทำให้โตโยต้าพยายามวางแผนการผลิตรถยนต์ให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงของตลาด และประเมินว่าตลาดรถยนต์รวมในประเทศจะทำได้แค่ 1 ล้านคัน ลดลง 4.0% จากปี 2561 (1,039,158 คัน) แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 387,229 คัน ลดลง3.1% รถเพื่อการพาณิชย์ 612,769 คัน ลดลง 4.6% อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีแรกที่มียอดขาย 523,770 คัน เติบโต 7.1%

นายซึงาตะกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากจะเฝ้าระวังผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจเพื่อรับมือแล้ว กลยุทธ์การทำตลาดคงต้องเน้นเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น ทั้งโรดโชว์ เข้าร่วมงานอีเวนต์ขายรถยนต์ คลอดแคมเปญต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าเป็นเจ้าของรถโตโยต้าง่ายขึ้น รวมถึงเน้นการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าให้ครบถ้วนทุกเซ็กเมนต์

ทั้งนี้ โตโยต้าประเมินว่ายอดขายของโตโยต้าปี 2562 น่าจะทะลุ 330,000 คันขายเพิ่มขึ้น 4.7% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 115,950 คัน โต 3.2% รถเพื่อการพาณิชย์ 214,050 คัน โต 5.6% ขณะที่ครึ่งปีแรกทำได้ 171,502 คัน โต 20.8% (ส่วนแบ่งตลาด 32.7%) แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 60,350 คัน โต 12.8% (ส่วนแบ่งตลาด 29.2%) รถเพื่อการพาณิชย์ 111,152 คัน โต 25.6% (ส่วนแบ่งตลาด 35.0%)

มิตซูฯห่วงขึ้นค่าแรงต้นทุนพุ่ง 
เช่นเดียวกับ นายโมริคาซุ ชกกิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลาดรถยนต์ครึ่งปีแรกอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังเป็นห่วงครึ่งปีหลังจากปัจจัยลบหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะปัจจัยที่จะมากระทบต้นทุนการผลิต อย่างเช่น นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท หากรัฐบาลทยอยปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีโอกาสปรับลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อีกปัจจัยสำคัญอัตราแลกเปลี่ยนถือว่าสำคัญมาก เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาขายรถยนต์ หรือไม่ก็ยอมลดกำไรลง

ผู้สื่อข่าวสอบถามเรื่องกระแสการปรับลดพนักงาน โดยเฉพาะฝั่งด้านโรงงานของมิติซูบิชิ นายชกกิกล่าวว่า ปัจจุบันมิตซูบิชิมีพนักงานในประเทศไทยทั้งสิ้น ประมาณ 7,000 คน และไม่มีนโยบายลดจำนวนพนักงานแต่อย่างใด โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้พยายามปรับตัวและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยนำระบบออโตเมชั่นเข้ามาใช้งานมากขึ้น ซึ่งไม่เฉพาะบริษัทแต่เชื่อว่าค่ายรถต่าง ๆ พยายามทำตรงนี้

อุตฯ รถยนต์โหมรีดไขมัน
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ผลกระทบจากตลาดส่งออกรถยนต์และยอดขายในประเทศที่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้แต่ละค่ายทยอยปรับลดกำลังผลิต และปรับลดต้นทุนด้านต่าง ๆ และกระแสล่าสุดคือ กรณีค่ายนิสสันประกาศลดจำนวนพนักงานราวหมื่นตำแหน่งทั่วโลก ทำให้โลกโซเชียลมีการพูดถึงการปรับลดจำนวนพนักงานของค่ายรถยนต์ในประเทศหลายราย โดยในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศโครงการสมัครใจลาออก เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานได้เปลี่ยนสายอาชีพ

โดยคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการต้องเป็นพนักงานประจำที่มีอายุตั้งแต่ 45-54 ปี และต้องมีอายุงาน 10 ปีขึ้นไป บริษัทให้เงินชดเชยดังนี้ คือ

1. อายุงาน 10-14 ปี ซึ่งมีอายุระหว่าง 45-50 ปี รับเงินชดเชย 16.5 เดือน, อายุระหว่าง 51-54 ปี รับเงินชดเชย 17 เดือน

2. อายุงาน 15-19 ปี ซึ่งมีอายุระหว่าง 45-50 ปี รับเงินชดเชย 17.5 เดือน, อายุระหว่าง 51-54 ปี รับเงินชดเชย 18 เดือน

3. อายุงาน 20-24 ปี ซึ่งมีอายุระหว่าง 45-50 ปี รับเงินชดเชย 22.5 เดือน, อายุระหว่าง 51-54 ปี รับเงินชดเชย 23.34 เดือน และ 4.อายุงาน 25 ปีขึ้นไป ซึ่งมีอายุระหว่าง 45-50 ปี รับเงินชดเชย 26.84 เดือน, อายุระหว่าง 51-54 ปี รับเงินชดเชย        27.34 เดือน

ทั้งนี้ พนักงานที่มีคุณสมบัติข้างต้นสามารถรับใบสมัครที่ฝ่ายบุคคลตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.-30 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยพนักงานที่ผ่านการอนุมัติจะปฏิบัติงานถึงวันที่ 31 ก.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวสอบถามเรื่องดังกล่าวไปยังผู้บริหาร บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ได้คำตอบว่า เป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานที่มีความประสงค์และต้องการปรับเปลี่ยนสายอาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มพนักงานที่มีอายุค่อนข้างมาก และไม่ต้องการทำงานในสายการผลิต และต้องการเงินสักก้อนไปตั้งตัวเพื่อประกอบธุรกิจอื่น ๆ แทน
ซึ่งนโยบายของบริษัทไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องมีการลดจำนวนพนักงานเป็นจำนวนเท่าใด แต่เป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานมากกว่า ซึ่งบริษัทได้ทำโครงการดังกล่าวต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 2-3 ปีแล้ว

ฟอร์ด-มาสด้าชดเชย 24 เดือน
เช่นเดียวกับบริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือเอเอที ผู้ผลิตรถยนต์ฟอร์ดและมาสด้า เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้ประกาศเปิดโครงการโอกาสสานฝันสู่อาชีพทางเลือก เพื่อให้พนักงานที่สนใจจะเปลี่ยนสายอาชีพได้สมัครใจลาออก ภายใต้เงื่อนไขของผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ คือ

1. เป็นพนักงานประจำ ระดับรายชั่วโมง (hourly employees)
2. ไม่อยู่ระหว่างการทำงานตามสัญญาทำงานเพื่อชดใช้ทุนการศึกษา
3. ไม่เป็นพนักงานที่บริษัทได้พิจารณาส่งให้ไปฝึกงานต่างประเทศใน 1 ปีที่ผ่านมา หรืออยู่ระหว่างการฝึกอบรม

โดยบริษัทจะชดเชยให้ตามอายุงาน ดังนี้ 1.น้อยกว่า 1 ปี รับเงินชดเชย 8.67 เดือน 2.อายุงาน 1 ปี แต่น้อยกว่า 3 ปี รับเงินชดเชย 11.67 เดือน 3.อายุงาน 3 ปี แต่น้อยกว่า 6 ปี รับเงินชดเชย 14.67 เดือน 4.อายุงาน 6 ปี แต่น้อยกว่า 10 ปี รับเงินชดเชย 17.67 เดือน 5.อายุงาน 10 ปี แต่น้อยกว่า 20 ปี รับเงินชดเชย 8.67 เดือน และ 6.อายุงาน 20 ปี รับเงินชดเชย 24.01 เดือน และทุกระดับอายุงานบวกเงินช่วยเหลือพิเศษอีก 26,700 บาท

นิสสันไทยยันไม่กระทบ
ด้านผู้บริหารจากบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ยืนยันกับ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ขณะนี้บริษัทแม่จะประกาศแผนงานเตรียมลดพนักงาน 10,500 คน ทั่วโลกภายในปี 2565 แต่ไม่ได้ส่งผลต่อพนักงานและฐานการผลิตของนิสสันในประเทศไทย เนื่องจากไทยถือเป็นตลาดและฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของนิสสัน จะมีเพียงแต่ในส่วนของโครงการให้พนักงานตัดสินใจเกษียณก่อนกำหนด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มพนักงานที่มีอายุค่อนข้างสูง และต้องการไปประกอบอาชีพอื่น เช่นเดียวกับผู้ผลิตค่ายอื่น ๆ ที่เปิดโครงการให้กับพนักงานเป็นประจำทุกปี ส่วนนโยบายลดคนขอยืนยันว่ายังไม่มีแน่นอน

ชิ้นส่วนเลิกกิจการชั่วคราว 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ไม่เฉพาะผู้ผลิตรถยนต์เท่านั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนก็ประสบปัญหาหนัก โดยล่าสุดบริษัท วาลีโอ คอมฟอร์ท แอนด์ ไดร์ฟวิ่ง แอสซิสแทนซ์ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ประกอบยานยนต์และเครื่องยนต์ ได้ประกาศเรื่องการหยุดกิจการชั่วคราวในไตรมาส 3/2562 โดยนายเอจิ เซนิทานิ ผู้จัดการทั่วไป ระบุในประกาศว่า สืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมทั่วโลกเกิดภาวะชะงัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่มียอดผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัท เพราะลูกค้ามีคำสั่งซื้อสินค้าน้อยลงตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้า low runner ที่มียอดสั่งซื้อลดลงไปมาก ส่งผลกระทบต่อพนักงานที่ทำงานในกลุ่มสินค้าดังกล่าว ทำให้พนักงานไม่มีการทำงานล่วงเวลา (โอที) และไม่มีงานทำประมาณ 2-3 วันต่อสัปดาห์ของวันทำงานปกติ โดยบริษัทให้หยุดงานและจ่ายค่าจ้าง 75% ในวันที่หยุดงานตั้งแต่เดือน ส.ค. 2561 เป็นต้นมา

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น บริษัทได้พยายามบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อให้มีผลกระทบต่อรายได้ของพนักงานน้อยที่สุด อาทิ งดทำงานล่วงเวลาบางหน่วยงาน, การคืนพนักงานชั่วคราวทั้งหมด แต่ด้วยปัญหาดังกล่าวยังส่งผลกระทบกับค่าใช้จ่ายของบริษัท เนื่องจากยอดการสั่งซื้อชิ้นส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดบริษัทได้ขอใช้สิทธิตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 โดยจ่ายเงิน 75% ของค่าจ้างให้แก่พนักงานที่อยู่ในหน่วยงานที่ไม่มีการผลิต รวมทั้งพนักงานในหน่วยงานสนับสนุนการผลิตทุกคนหยุดงานในวันที่ 15 และ 25 ก.ค., วันที่ 9 และ 23 ส.ค., วันที่ 13 และ 23 ก.ย. โดยได้รับค่าจ้าง 75% ในวันหยุดดังกล่าว เป็นต้นไปจนกว่าการผลิตสินค้าของบริษัทจะเข้าสู่ภาวะปกติ หรือสามารถหาผลิตภัณฑ์สินค้าที่ลูกค้าสั่งซื้อมาผลิตทดแทนได้