E-fuels คืออะไร? จะทำให้ยานยนต์ไม่ปล่อยคาร์บอนจริงหรือ?

E-fuels คืออะไร? จะทำให้ยานยนต์ไม่ปล่อยคาร์บอนจริงหรือ?

อัปเดตล่าสุด 5 ธ.ค. 2566
  • Share :
  • 9,542 Reads   

รู้จักกับ E-fuels เชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่อาจจะเป็นข่าวดีสำหรับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป ICE และรถดีเซล ซึ่งเยอรมันบรรลุข้อตกลงกับอียูในการใช้เชื้อเพลิงชนิดนี้

ในปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรป (EU) ได้บรรลุข้อตกลงการยุติการจำหน่ายรถยนต์ใช้น้ำมันในปี 2035 อย่างไรก็ตาม เยอรมนีได้มีการเปลี่ยนแปลงท่าทีโดยในต้นเดือนมีนาคม สื่อหลายรายรายงานว่ารัฐบาลเยอรมันได้ขอเปลี่ยนแปลงมาตรการก่อนการลงมติครั้งสุดท้าย เสนอให้ละเว้นการแบนรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปที่ใช้ “e-fuels” และกลายเป็นที่จับตาของรัฐบาลประเทศอื่น ๆ และค่ายรถเป็นอย่างมาก 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2023 นาย Frans Timmermans รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้เปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ว่า อียูได้บรรลุข้อตกลงกับเยอรมนีในการใช้ e-fuels แล้ว และจะดำเนินการออกมาตรการด้านก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในยานยนต์ให้เร็วที่สุด

ความเคลื่อนไหวนี้กลายเป็นที่วิจารณ์จากองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก แต่ก็ทำให้คำว่า “e-fuels” ได้รับความสนใจมากขึ้นเช่นเดียวกัน

E-fuels คืออะไร 

E-fuels หรือ Electrofuels คือ เชื้อเพลิงสังเคราะห์ (Synthetic fuel) ชนิดหนึ่งที่ผลิตจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกกักเก็บ และก๊าซไฮโดรเจรที่ได้จากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกใช้ในการผลิต e-fuels มีปริมาณเทียบเท่ากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยสู่อากาศเมื่อ e-fuels เกิดการเผาไหม้ ทำให้เป็นเชื้อเพลิงที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยรวมต่ำ

ซึ่งข้อดีของ efuels ไม่จำกัดอยู่ที่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น แต่ยังสามารถใช้งานในเครื่องยนต์สันดาปที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อีกด้วย อีกทั้งการจัดส่งยังสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วได้เช่นเดียวกัน ซึ่งฝ่ายผู้สนับสนุนแสดงความเห็นว่า e-fuels เป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภค แทนที่การเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า

Advertisement

ปัจจุบัน แม้รถยนต์ไฟฟ้าจะกระตุ้นให้ค่ายรถมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาแบตเตอรี่ แต่มีผู้ผลิตยานยนต์หลายรายที่อยู่ระหว่างการพัฒนา e-fuels ยกตัวอย่างเช่น Audi ซึ่งประกาศพัฒนา “e-benzin” หรือ “e-gasoline” เมื่อปี 2018 ซึ่งมีจุดเด่น คือ ผลิตจากชีวมวล (biomass) โดยเริ่มจากการผลิตก๊าซไอโซบิวทิลีน (isobutene: C4H8) จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นไอโซออกเทน (isooctane: C8H18) ด้วยการเติมไฮโดรเจน ได้เป็นเชื้อเพลิงปราศจากสารกำมะถันและเบนซิน เมื่อเผาไหม้จึงเกิดมลพิษต่ำ

Porsche เป็นอีกบริษัทที่ได้พัฒนา “eFuels” ซึ่งผลิตจากน้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และใช้ไฟฟ้าพลังงานลม โดยประกาศเปิดโรงงานผลิตที่ประเทศชิลีเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2022 ซึ่งบริษัทฯ ระบุว่าเป็นโรงงานผลิต e-fuels แบบ commercial plant แห่งแรกของโลก 

อีกรายหนึ่ง คือ BMW ซึ่งได้เข้าลงทุนในบริษัท Prometheus Fuels บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกันผู้พัฒนา e-fuels จากไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม

นาย Michael Steiner สมาชิกคณะกรรมการบริหารเพื่อการพัฒนาและการวิจัย บริษัท Porsche กล่าวว่า eFuels มีศัยภาพมาก เนื่องจากปัจจุบันยังมีรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในกว่า 1.3 พันล้านคันทั่วโลก ซึ่งรถเหล่านี้จะยังคงอยู่บนถนนอีกหลายทศวรรษ ซึ่ง eFuels จะเป็นตัวเลือกสำหรับเจ้าของรถเหล่านี้

ไม่เพียงแต่ยานยนต์เท่านั้น แต่ยังมี e-fuels สำหรับยานพาหนะอื่น ๆ อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น Norsk e-Fuel ผู้ผลิต e-fuels สำหรับอากาศยาน เป็นต้น

แต่ในทางกลับกัน ก็มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ e-fuels เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น วารสาร Nature Climate Change ซึ่งระบุว่า การใช้ e-fuels ในยานยนต์นั้นต้องใช้พลังงานหมุนเวียนมากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าถึง 5 เท่า

ด้านสภาระหว่างประเทศว่าด้วยการขนส่งที่สะอาด (ICCT) ชี้ว่ากระบวนกระบวนการผลิต e-fuels สูญเสียพลังงานเกือบ 50% ของพลังงานที่ใช้ ทำให้รถอีวียังประหยัดพลังงานมากกว่ารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วย e-fuels ประมาณ 4 เท่าอีกด้วย อีกทั้งปัจจุบันยังไม่มีการผลิต e-fuels ในรูปแบบเชิงพาณิชย์ ทำให้ต้นทุนการผลิตเชื้อเพลิงชนิดนี้สูงถึง 7 ดอลลาร์สหรัฐต่อลิตร

Transport & Environment (T&E) หน่วยงานเอกชนที่ทำงานส่งเสริมการขนส่งอย่างยั่งยืนในยุโรป วิเคราะห์ว่า E-fuels อาจทำให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ในอียูในปี 2050 ต่ำกว่าเป้า 26 - 46 ล้านคัน ซึ่งหมายถึงการไปไม่ถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ตั้งเอาไว้ นอกจากนี้ สำนักข่าวเดอะการ์เดียนยังอ้างอิงนาย Alex Keynes ผู้จัดการฝ่ายยานยนต์สะอาดจาก T&E ว่า ผู้บริโภคจะต้องจ่ายเงินให้ e-fuels มากกว่าการใช้เชื้อเพลิงทั่วไปถึงปีละ 782 ยูโร (842 ดอลลาร์สหรัฐ)

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมีความเห็นว่า e-fuels สามารถนำไปใช้ในภาคส่วนอื่น ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ The Verge ซึ่งอ้างอิงความเห็นจากนาย Roland Dittmeyer ผู้อำนวยการสถาบัน Micro Process Engineering จาก Karlsruhe Institute of Technology (KIT) และนาง Stephanie Searle ผู้อำนวยการ ICCT ว่า การนำ e-fuels ไปใช้งานที่ดีที่สุด คือ การใช้ในอุตสาหกรรมการบิน เนื่องจากเทคโนโลยีแบตเตอรี่ไฟฟ้านั้นยังมีน้ำหนักมากเกินกว่าจะใช้ในอากาศยานได้ 


ข้อมูลอ้างอิงจาก
https://www.audi-mediacenter.com/en/press-releases/audi-advances-e-fuels-technologynew-e-benzin-fuel-being-tested-9912
https://newsroom.porsche.com/en/2022/company/porsche-highly-innovative-fuels-hif-opening-efuels-pilot-plant-haru-oni-chile-synthetic-fuels-30732.html
https://www.reuters.com/business/autos-transportation/what-are-e-fuels-can-they-help-make-cars-co2-free-2023-03-07/
https://theicct.org/e-fuels-wont-save-the-internal-combustion-engine/
https://theicct.org/sites/default/files/publications/CO2-based-synthetic-fuel-EU-assessment_ICCT-consultant-report_14112017_vF_2.pdf
https://www.theverge.com/2023/3/8/23630413/efuel-car-ev-gas-price-engine-cars

 

#Efuels #เชื้อเพลิงสังเคราะห์ #ยานยนต์ #Mreport #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH