“น้ำมันหล่อเย็น” ทำไมต้องสะอาด
น้ำมันหล่อเย็น (Coolant Cutting Fluid) มักถูกละเลยจนทำให้เกิดปัญหามากมายในการตัดเฉือน CNC ของคุณ ลามไปจนเกิดปัญหากับผิวสำเร็จของชิ้นงาน และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของช่างกลึงและช่างเครื่องจักรได้
“น้ำมันตัดกลึงคุณภาพสูงจะมีกลิ่นที่น่าพึงพอใจ แต่ถ้าไม่ดูแลรักษาหรือทำความสะอาด สักพักน้ำมันตัดกลึงก็มีกลิ่นเหม็นได้ ซึ่งจะทำให้ทั้งช่างกลึงหรือแม้แต่ช่างเครื่องจักรที่ต้องสูดดมกลิ่น และในที่สุดก็อยากจะให้ถึงเวลาเลิกงานเร็ว ๆ”
Advertisement | |
หากคุณต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และขณะเดียวกันยังปกป้องเครื่องจักรซึ่งเป็นทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดของโรงกลึง ต่อไปนี้คือเหตุผลหลักในการทำให้น้ำมันตัดกลึงและตัวกรองของคุณสะอาด พร้อมคำแนะนำวิธีจัดการ
1. น้ำมันหล่อเย็นอาจทำให้เกิดผื่นและโรคผิวหนังได้
ในความจริงแล้ว แม้แต่น้ำหล่อเย็นที่ผสมเสร็จใหม่ ๆ ก็มีส่วนประกอบจากสารเคมีหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสารฆ่าเชื้อ อิมัลซิไฟเออร์ สารยับยั้งการเกิดสนิม สารลดฟอง และอื่น ๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ผื่น ไปจนถึงอาจทำให้ผิวหนังอักเสบ ซึ่งหากไม่มีการดูแลรักษาน้ำมันคูลแลนท์ที่ดี สารเคมีพวกนี้ก็อาจสะสมมากจนเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ หากมีการบำรุงรักษาที่ไม่เหมาะสม บ่อพักน้ำเสียของเครื่องจักรอาจกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคได้อีกด้วย
เพราะจุลินทรีย์จำพวกแบคทีเรียสามารถเติบโตได้ในน้ำมันที่มีความเข้มข้นต่ำ ทำให้ค่า pH ลดลงจนอาจเกิดสนิมในเครื่องจักรได้ และแบคทีเรียเหล่านี้ยังสามารถทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวไปจนถึงทำให้บาดแผลเกิดการระคายเคืองได้ ซึ่งในกรณีน้ำมันที่มีความเข้มข้นมากเกินไปก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ น้ำหล่อเย็นที่ใช้งานแล้วก็เป็นไปได้ที่จะมีเศษตัดผสมอยู่ หากเป็นเศษขนาดใหญ่ก็อาจทำให้เกิดบาดแผลได้ แต่หากเป็นเศษตัดขนาดเล็กที่มาพร้อมกับน้ำหล่อเย็นที่กระเซ็นออกมา ชางกลึงก็จะใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดผิวหนัง ซึ่งเศษตัดเล็ก ๆ เหล่านี้จะถูกผ้าลากไปตามผิวหนังจนเกิดรอยแตกขนาดเล็กซึ่งอาจมองไม่เห็นและเข้าใจว่าเป็นแค่การระคายเคืองผิว
ดังนั้น การทำความสะอาดน้ำมันหล่อเย็นออกจากผิวต้องใช้ความระมัดระวัง เริ่มจากล้างมือด้วยสบู่อ่อน ๆ ที่ไม่มีฤทธิ์กัดกร่อน ใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ให้ผิวชุ่มชื่น ป้องกันการดูดซับสารเคมี สวมถุงมือไนไตรหรือถุงมือใช้แล้วทิ้งหากเป็นไปได้ และหลีกเลี่ยงการใช้ตัวทำละลายในการทำความสะอาด เนื่องจากตัวทำละลายจะขจัดน้ำมันตามธรรมชาติบนผิว ทำให้ผิวหนังไม่ได้รับการปกป้อง
2. ละอองน้ำมันขนาดเล็กเป็นอันตรายต่อระบบหายใจ
เยื่อหุ้มปอดมีความไวต่อการระคายเคืองมากกว่าผิวหนัง ซึ่งจะเป็นอันตรายมากหากคุณต้องทำงานกับเครื่องจักรไฮสปีด หรือเครื่องที่ใช้สปินเดิลรอบหมุนสูง เพราะจะก่อให้เกิดละอองน้ำมันขนาดเล็กที่สามารถเข้าไปในระบบหายใจได้ง่าย และที่เลวร้ายกว่านั้นคือ ผลกระทบจากละอองน้ำมันต่อระบบหายใจนั้นไม่สามารถสังเกตได้จนกว่าจะผ่านไปอีกหลายปี
คำแนะนำคือ หากเครื่องจักรไม่ได้ติดตั้งเครื่องกำจัดละอองน้ำมันที่มีประสิทธิภาพและมีขนาดเหมาะสมแล้ว คุณควรใส่หน้ากากระหว่างการทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานกับน้ำมันตัดกลึงเป็นประจำ
3. รักษาความสะอาดน้ำมันคูลแลนท์ และเครื่องจักร CNC
โดยทั่วไปแล้ว น้ำมันที่ใช้ในงานโลหะมักมีความเป็นด่าง และมีค่า pH ประมาณ 8.6 หรือสูงกว่า ซึ่งช่วยป้องกันการกัดกร่อนของพื้นผิวโลหะ ควบคุมจุลินทรีย์ และลดการระคายเคืองต่อผิวหนังเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม น้ำมันที่มีความเป็นด่างมักจะกัดสีและซีลยาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเครื่องจักรรุ่นเก่าที่ไม่ได้ออกแบบไว้ให้ทนต่อน้ำมันคูลแลนท์
เมื่อคราบน้ำมันผสมเข้ากับน้ำหล่อเย็นจะทำให้น้ำมันข้นและหนืดขึ้น กลายเป็นอาหารของแบคทีเรีย และเมื่อบ่อพักน้ำเวียนในเครื่องจักรเต็มไปด้วยเศษตัด ก็ทำให้การบำรุงรักษาเครื่องจักรทำได้ยากขึ้นไปอีก
ดังนั้น คุณจึงควรทำความะอาดเครื่องจักรหลังใช้งานและตรวจซอบซีลเป็นประจำ รวมถึงติดตั้ง Oil Skimmer หรือเครื่องแยกคราบน้ำมัน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหล่อเย็นกลายเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรีย
นอกจากนี้ สิ่งที่คุณอาจคิดไม่ถึงคือเศษตัดและตะกอนสามารถเข้ามาแทนที่น้ำมันคูลแลนท์ได้ ทำให้ปริมาณของน้ำมันไม่คงที่ แต่ในทางกลับกัน หากดูแลบ่อพักน้ำเสียในเครื่องเป็นประจำ ก็จะทำให้การควบคุมน้ำมันคูลแลนท์เป็นไปได้ง่ายขึ้น
คำแนะนำคือ ควรหมั่นตรวจสอบค่า pH ของน้ำมันคูลแลนท์เป็นประจำสัปดาห์ละครั้ง หากพบว่าค่า pH ลดลง ก็เป็นไปได้มากว่าจะมีความผิดปกติ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าถึงเวลาทำความสะอาด หรือเปลี่ยนน้ำมันคูลแลนท์แล้ว
4. น้ำหล่อเย็นที่สกปรกอาจทำให้อายุการใช้งานของเครื่องจักรลดลง
น้ำมันคูลแลนท์มีบทบาทในการหล่อลื่นและระบายความร้อนออกจากการกัดชิ้นงาน อย่างไรก็ตาม เมื่อน้ำหล่อเย็นแตกตัวก็จะได้เป็นกำมะถัน คลอรีน และสารประกอบความดันสูงอื่น ๆ ส่งผลให้เครื่องมือและเครื่องจักรมีอายุการใช้งานต่ำลง และอาจทำให้เกิดสนิมในตัวเครื่องจักรได้ นำมาซึ่งปัญหาด้านความแม่นยำและคุณภาพของชิ้นงาน
น้ำมันคูลแลนท์ที่สกปรกทำให้ต้องเปลี่ยนฟิลเตอร์ใหม่ แม้จะมีบางคนคิดว่าสามารถถอดฟิลเตอร์ออกแทนได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากถอดฟิลเตอร์ออก คูลแลนท์ก็จะสร้างความเสียหายให้กับชิ้นส่วนอื่น ๆ ในเครื่องจักรที่มีราคาสูงกว่าแทน ส่วนในกรณีที่ใช้ทูลโฮลเดอร์ที่มีท่อน้ำมันหล่อเย็น ก็จำเป็นต้องดูแลไม่ให้เกิดการรั่วไหลด้วย
ข้อแนะนำคือ การบำรุงรักษาให้น้ำมันคูลแลนท์สะอาดอยู่เสมอนั้น นอกเหนือจากการกรองด้วยฟิลเตอร์และใช้ Oil Skimmer แยกคราบน้ำมันแล้ว ควรตรวจสอบความเข้มข้นของน้ำมันตัดกลึงด้วยอุปกรณ์วัดความเข้มข้น (Refractometer) อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และปรับสภาพน้ำหล่อเย็นด้วยการเติมน้ำมันเข้าไปในสัดส่วนที่เหมาะสม นอกจากนี้ อีกวิธีที่จะบรรลุผลได้คือการใช้อุปกรณ์ปรับสัดส่วนอัตโนมัติที่อยู่บนถังพัก ทำให้สามารถหมุนเปอร์เซ็นต์ของเหลวที่จำเป็นเพื่อให้ถังเก็บกลับสู่ความเข้มข้นที่ถูกต้องได้
5. การบำรุงรักษาและการกำจัดน้ำมันเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจเลี่ยงได้
การบำรุงรักษาและการกำจัดน้ำมันย่อมมีค่าใช้จ่าย แต่อย่างไรเสีย ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ยังถูกกว่าเครื่องจักรไม่สามารถใช้งานได้ ดังนั้น การยืดอายุการใช้งานของน้ำมันคูลแลนท์จึงเป็นอีกทางเลือกที่ควรพิจารณา และสำหรับโรงงานที่มีเครื่องจักรหลายเครื่องก็อาจพิจารณาตั้งหน่วยงานรีไซเคิลน้ำมันหล่อเย็นได้
กุญแจสำคัญในเรื่องนี้ก็ยังเป็นการบำรุงรักษาน้ำมันหล่อเย็นให้สะอาดอยู่เสมอ ด้วยการกรองและแยกคราบน้ำมัน ตรวจสอบความเข้มข้น ไม่ใช้น้ำมันที่เข้มข้นเกินจำเป็น
สำหรับการกัดชิ้นงานทั่วไป ความเข้มข้นที่เหมาะสมคือ 10% ในขณะที่การกัดวัสดุที่ทนทานอย่างไทเทเนียมและซูเปอร์อัลลอยอาจต้องใช้ความเข้มข้นสูงกว่านี้
น้ำเองก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน และควรลงทุนเครื่องกำจัดไอออนหรือระบบรีเวิร์สออสโมซิสหากเป็นไปได้ หลีกเลี่ยงการใช้น้ำอ่อน หรือน้ำที่ถูกกรองความกระด้างออกไป เนื่องจากน้ำมันตัดกลึงที่ไม่อ่อนเกินไปจะเหมาะกับการตัดเฉือนโลหะมากกว่า
#Coolant Cutting Fluid #Coolant #Cutting Fluid #น้ำมันหล่อเย็น #น้ำหล่อเย็น #น้ำมันตัดกลึง #น้ำมันคูลแลนท์ #ช่างกลึง #ช่างเครื่องจักร #โรงกลึง #โรงงานผลิตชิ้นส่วน #ชิ้นส่วนโลหะ #เครื่อง CNC #มลพิษโรงงานอุตสาหกรรม
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH