4 ข้อเข้าใจผิด เทคโนโลยี Additive Manufacturing

4 ข้อเข้าใจผิด เทคโนโลยี Additive Manufacturing

อัปเดตล่าสุด 4 พ.ย. 2564
  • Share :

Additive Manufacturing (AM) หรือ 3D Printing เป็นเทคโนโลยีการผลิตรูปแบบใหม่ที่กำลังแพร่หลายมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถรองรับการผลิตด้วยวัสดุที่หลากหลาย ทั้งพลาสติก โลหะ วัสดุผสม เซรามิก และอื่น ๆ ทำให้มีอิสระในการออกแบบชิ้นงานมากกว่าที่แล้วมา 

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้อีกมาก รวมถึงการประเมินค่าเทคโนโลยีนี้ที่อาจจะสูงหรือต่ำเกินไป ทางสมาคมเครื่องจักรกลแห่งยุโรป หรือ CECIMO ได้จัดทำรายงานหัวข้อ “ความเข้าใจผิดที่พบบ่อยที่สุดเกี่ยวกับ Additive Manufacturing” ซึ่งมีสาระที่น่าสนใจที่จะช่วยเปิดมุมมองให้เราเข้าใจเทคโนโลยี AM ได้ดียิ่งขึ้น

1. Additive Manufacturing จะเข้ามาแทนที่การผลิตแบบดั้งเดิม

AM จะไม่เข้ามาแทนที่การผลิตแบบดั้งเดิม แต่จะถูกนำมาใช้ร่วมกันเพื่อยกระดับการผลิตชิ้นงานให้ดีกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากข้อดีของการผลิตด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ หรือ 3D Printer มีจุดเด่นที่ให้ความอิสระในการออกแบบ

ด้วยเหตุนี้เอง เทคโนโลยี Additive Manufacturing จึงได้รับความสนใจจากภาคอุตสาหกรรมยุโรปเป็นอย่างมาก มีการจดทะเบียนธุรกิจอย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นการผลิตชิ้นส่วน, การผลิตเครื่องจักรกล, และงานบริการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสำนักงานสิทธิบัตรยุโรป (EPO) รายงานว่า ในปี 2020 มีผู้จดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตแบบ Additive Manufacturing มาจากประเทศสมาชิกอียูมากถึง 47%

นอกจากนี้ ยังพบว่า หลายอุตสาหกรรมมีการใช้งาน 3D Printer ที่คืบหน้าไปอย่างมาก ไม่ได้ถูกจำกัดไว้แค่เพียงการผลิตชิ้นงานต้นแบบหรือแบบจำลองเท่านั้น แต่เริ่มมีการนำมาใช้ผลิตชิ้นงานจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอากาศยาน, เครื่องมือทางอุตสาหกรรม, ทูลส์, และอื่น ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีการใช้งาน AM เพิ่มขึ้นตลอดซัพพลายเชน 

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจว่าจะนำ 3D Printer มาใช้หรือไม่ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการใช้งาน ต้นทุน วัสดุที่ใช้ ทักษะของพนักงาน และอื่น ๆ ซึ่งพอจะสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

  • Additive Manufacturing เหมาะสำหรับการผลิตชิ้นงานที่มี Lead Time สูง เนื่องจากสามารถพิมพ์ชิ้นส่วนที่ซับซ้อนได้ภายใน 24 ชั่วโมง
  • เหมาะสำหรับการนำมาใช้ผลิตชิ้นส่วนหรือวัสดุที่มีโครงสร้างรูปแบบใหม่ ๆ ที่ช่วยให้ชิ้นงานนั้นมีคุณภาพสูงขึ้น
  • ช่วยยกระดับการออกแบบผลิตภัณฑ์ และลดการใช้งานวัสดุในกระบวนการออกแบบ
  • เหมาะสำหรับการผลิตชิ้นส่วนที่ซับซ้อน หรือชิ้นส่วนทีสั่งทำเป็นพิเศษ
  • ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนจากวัสดุที่ Machining ได้ยาก เช่น Superalloys

2. Additive Manufacturing เหมาะสำหรับการผลิตชิ้นงานขนาดเล็กเท่านั้น

ในความเป็นจริง เทคโนโลยี AM ไม่จำกัดแค่ชิ้นงานขนาดเล็ก แต่สามารถใช้ผลิตชิ้นงานขนาดใหญ่ได้ ยกตัวอย่างเช่นการใช้ผลิตชิ้นส่วนปีกอากาศยานที่มีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมาก จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนาดใหญ่ อีกทั้งยังมีความลำบากในการจัดส่ง ซึ่ง Additive Manufacturing สามารถช่วยให้การผลิตชิ้นงานขนาดใหญ่ทำได้ง่าย ช่วยลดเวลาประกอบ ไปจนถึงทำให้ชิ้นงานเบาลงได้ผ่านการออกแบบ 

อย่างไรก็ตาม การใช้ 3D Printer ผลิตชิ้นงานขนาดใหญ่ยังเป็นเรื่องที่ใหม่มาก เนื่องจาก

  • มีต้นทุนสูง
  • ภาคธุรกิจส่วนมากยังไม่ทราบว่าสามารถนำวิธีการพิมพ์แบบ 3 มิติมาใช้ผลิตได้ หรือหากนำมาใช้แล้วจะเกิดผลดีอย่างไร
  • เครื่องพิมพ์ต้องมีขนาดใหญ่กว่าชิ้นส่วน
  • นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมอื่นที่มีแนวคิดการนำ 3D Printer มาใช้ เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งมีหลายบริษัทอยู่ระหว่างการทดลองผลิตบ้านจาก 3D Printer แต่ก็ยังเป็นเพียงขั้นเริ่มต้นเท่านั้น

3. ชิ้นงานทุกแบบผลิตผ่าน 3D Printer ได้

แม้ว่า 3D Printer จะรองรับการผลิตชิ้นส่วนที่มีรูปทรงซับซ้อน แต่ไม่ใช่ทุกสิ่งจะสามารถผลิตผ่าน 3D Printer ได้ เนื่องจากในความเป็นจริงยังมีข้อจำกัดอีกมาก เช่น

  • ต้นทุนการผลิตโดยรวม
  • ต้นทุนค่าวัสดุ
  • ลักษณะของชิ้นส่วน เช่น ชิ้นส่วนที่มีรูปทรงยื่นขนาดใหญ่
  • ทักษะของพนักงาน ทั้งการใช้งาน 3D Printer และการทำ Post Process
  • ชิ้นงานที่มีรูปทรงซับซ้อนจะมีพื้นผิวบางส่วนที่ไม่สามารถทำงานต่อ หรือทำงานต่อได้ยาก หากชิ้นงานที่ผลิตจำเป็นต้องมีการปรับแต่งพื้นผิวในจุดเหล่านี้ การผลิตผ่าน 3D Printer ก็จะไม่เหมาะสม

ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้เอง ที่เป็นการยืนยันว่า 3D Printer ไม่สามารถใช้ผลิตชิ้นงานได้ทุกชนิดอย่างที่หลายคนเข้าใจผิดกันมานาน 

4. Additive Manufacturing จะทำให้ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญารุนแรงยิ่งขึ้น

การที่เครื่องพิมพ์ 3D มีราคาถูกลง และเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าถึงง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ใช้ทั่วไป ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า AM จะทำให้การละเมิดลิขสิทธิ์รุนแรงขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น เนื่องจากพบว่า 3D Printer มีการเติบโตในกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปช้ากว่าในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีการปรับตัวเพื่อรองรับปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง เช่น

  • การฝัง QR Code ลงไปเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์
  • การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อป้องกันให้ไม่สามารถนำชิ้นงานไปสแกนเป็นไฟล์ดิจิทัล
  • การนำบล็อกเชนเข้ามาช่วยป้องกันการเข้าถึงไฟล์ต้นฉบับและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

สมาคมเครื่องจักรกลแห่งยุโรปแสดงความเห็นว่า อีกเทคโนโลยีที่มีหลายฝ่ายกังวลว่าจะก่อให้เกิดปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาคือเครื่องสแกน 3  มิติ (3D Scanner) เนื่องจากในปัจจุบันเครื่องสแกนมีราคาถูกลง เข้าถึงได้ง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพการประมวลผลและการบันทึกข้อมูลสูง และมีประสิทธิภาพการสแกนชิ้นงานที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก 

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว เทคโนโลยีการสแกน 3 มิติที่ก้าวหน้านี้ ก็ยังห่างไกลในการสแกนเพื่อจำลองแบบออกมาผลิตชิ้นงานนั้น ๆ ให้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ และยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ไม่อาจลอกเลียนแบบชิ้นงานได้ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุของชิ้นงาน เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต และอื่น ๆ

 

3D Printing

 

#3D Printing #3D Printer #เครื่องพิมพ์ 3 มิติ #การพิมพ์ 3 มิติ #3D Printing #Additive Manufacturing #AM #อุตสาหกรรมการผลิต #เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ #3D printing technology #Metalworking  #M Report #mreportth #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH