พายุ 4.0 กับ บ้านหลังเก่า
ภายใต้สถานการณ์ที่ทั่วโลกเรียกว่า การปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หลาย ๆ โรงงานพบว่า การปรับโรงงานและกระบวนการผลิตนั้นเกิดคำถามหลายอย่าง เช่น จำเป็นไหมที่ต้องปรับเปลี่ยนและต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง ต้องเริ่มอย่างไร ใช้เวลาเท่าไร มีผลกระทบอย่างไรกับใครบ้าง ซึ่งผู้ให้บริการต่างก็นำเสนอโซลูชันใหม่ ๆ ให้กับโรงงานตามความเชี่ยวชาญของบริษัทตนเอง ทำให้ผู้บริหารหรือผู้เกี่ยวข้องตัดสินใจได้ยากว่า ต้องทำอย่างไรกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ (2010-ปัจจุบัน)
อะไร คือ สิ่งที่ปฎิวัติใน 4.0 แล้ว 3.0 คืออะไร
ในยุค 1970-1980 ประเด็นการแข่งขันอยู่ที่ "ต้นทุนการผลิต" เป็นสำคัญ เราจึงปรับปรุงพัฒนาระบบการผลิตหรือโรงงานบนแนวคิดของการผลิตแบบ TOYOTA Systems หรือ Lean Manufacturing ที่เน้นการลดความสูญเปล่าและการไหลอย่างต่อเนื่องของกระบวนการ หลังจากพัฒนาโรงงานมาจนถึงประมาณปี 1990 ก็พบว่า ต้นทุนในการผลิตที่สำคัญ คือ "ค่าแรงงาน" จึงเกิดการคิดลดต้นทุนแรงงานโดยการจ้างผลิตในประเทศที่ต้นทุนต่ำ แต่ประเทศที่ต้นทุนต่ำมักมีปัญหาเรื่องการด้อยทักษะของแรงงาน ทำให้เกิดปัญหาคุณภาพและการจัดส่ง ทำให้การย้ายฐานการผลิตอาจไม่คุ้มค่าอย่างที่ได้คิดไว้
เพื่อแก้ปัญหาดังที่กล่าวมา ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และการประสานระบบในโรงงานจึงเป็นคำตอบที่เหมาะสม (ยุค 3.0) เพราะทำให้สามารถย้ายฐานการผลิตไปยังที่ใดก็ได้ ไม่ต้องพึ่งพาแรงงานทักษะสูงมากเพื่อทำงาน จึงทำให้ต้นทุนต่ำลงได้จริง ปัญหาคุณภาพและการจัดส่งก็เกิดขึ้นน้อยในปริมาณที่ยอมรับและควบคุมได้ บริษัทต่าง ๆ จึงได้มีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำ low-cost countries (LCC) เช่น เอเชียใต้ จีน อินเดีย
ต่อมาช่วงปี 2000 เป็นต้นมาก็พบว่า ประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำ low-cost countries (LCC) มีการหดตัวของปริมาณแรงงานและค่าแรงไม่ได้ต่ำอย่างที่คาดหวัง และปัญหาทัศนคติแรงงานต่องานเปลี่ยนไปมองงานในกระบวนการผลิตเป็นงานที่ซ้ำ ๆ มีทางเลือกของอาชีพมากกว่าเดิม แรงงานรุ่นใหม่จึงเข้าสู่ระบบแรงงานน้อยลง ผนวกกับประเด็นในการแข่งขันทางธุรกิจเปลี่ยนไป
ปัจจุบันประเด็นการแข่งขัน อยู่ที่ เวลาการเข้าสู่ตลาดของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม และการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันเวลา แบบถูกสถานที่ ถูกเวลา ถูกรสนิยม จึงให้ความสำคัญที่ความรวดเร็วเป็นสำคัญ ซึ่งการจะแข่งขันในประเด็นเวลาและการตอบสนองนั้น ความเร็วในการรับข้อมูล การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลจึงเป็นแกนหลักในการแข่งขัน รวมถึงการแปรข้อมูลและส่งกลับให้แก่ผู้ใช้ข้อมูล เป็นมูลค่าความได้เปรียบที่แตกต่างกัน (ยุค 4.0) ผู้ประกอบการลดการพึ่งพาแรงงานหันมาใช้เครื่องจักรที่ทำงานแบบอัตโนมัติ และใช้ระบบปฎิบัติการเพื่อควบคุมแทน
สำรวจองค์กรของตนเองในปัจจุบัน โดยเราแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 เมื่อเรามองกลับไปในองค์กรและแบ่งองค์กรเป็น 2 ระดับ คือ ระดับการดำเนินธุรกิจและโรงงานผลิต เราจะพบว่า ในระดับการดำเนินธุรกิจได้เริ่มเปลี่ยนวิธีการไป เพราะการเข้ามาของเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ตั้งแต่กระบวนการเลือกและสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้า การสั่งซื้อและนำเข้าวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ การขายและการขนส่งสินค้า การจ่ายเงิน จนถึงการให้บริการหลังการขาย อินเตอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างมาก (IoT) บางองค์กรดำเนินการในบางกระบวนการ หรืออาจจะทั้งหมดทุกกระบวนการ
ส่วนที่ 2 เมื่อมองมาในระดับโรงงานผลิตยังพบว่า มีหลายรูปแบบในการบริหารจัดการความสามารถของโรงงานผลิตและกระบวนการ ยกตัวอย่าง เช่น
1. การผลิตที่ตัวสินค้าถูกผลิตป้อนงานหรือเคลื่อนย้าย การตรวจสอบและควบคุมงานใช้แรงงานเป็นผู้ลงมือทำ การจัดเก็บ รวบรวม วิเคราะข้อมูลการวางแผนต่าง ๆ สั่งการด้วยแรงงาน
2. การผลิตที่ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติในการผลิต และยังต้องพึ่งพาแรงงานเพื่อป้อนงานหรือเคลื่อนย้าย การตรวจสอบและควบคุม การจัดเก็บ รวบรวม ไว้ในคอมพิวเตอร์ วิเคราะข้อมูลการวางแผนต่าง ๆ สั่งการด้วยแรงงาน
3. การผลิตที่ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติและใช้ระบบป้อนงานอัตโนมัติ พึ่งพาแรงงานเพื่อตรวจสอบและควบคุม ข้อมูลต่าง ๆ ใช้คอมพิวเตอร์จัดเก็บและรวบรวม วิเคราะห์ ด้วยซอฟต์แวร์สำเร็จรูปเฉพาะด้าน สั่งการด้วยแรงงาน
4. การผลิตตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสิ้นสุดกระบวนการเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด ไม่มีแรงงานในกระบวนการ ข้อมูลต่าง ๆ ใช้คอมพิวเตอร์จัดเก็บและรวบรวม วิเคราะห์ด้วยซอฟต์แวร์ทั้งระบบ สั่งการด้วยคอมพิวเตอร์
เพราะฉะนั้นการที่จะเชื่อมโยงระบบการผลิตเข้ากับกระบวนการธุรกิจ เพื่อให้ได้ความสามารถในการแข่งขันกับประเด็นเวลาการเข้าสู่ตลาดของผลิตภัณฑ์ และการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันเวลานั้น ทำได้ยากง่ายแตกต่างกัน และมีการลงทุนที่แตกต่างกัน ระยะเวลาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับระบบการดำเนินการเดิมและระบบใหม่ที่ต้องการนั้นมีช่องว่างมากน้อยพียงใด
คำถาม คือ เราต้องปรับเปลี่ยนองค์กรอย่างไร จึงทำให้องค์กรผ่านสถานการณ์ดังกล่าว และมีความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจของตนเองได้ การดำเนินการนั้น หากเป็นการลงทุนใหม่สามารถวางระบบทั้งหมดให้สอดคล้องกันได้ไม่ยากตั้งแต่เริ่มต้น แต่หากเป็นการเปลี่ยนผ่านระบบการทำงานเดิมไปสู่ระบบใหม่นั้น มีความซับซ้อนพอสมควรจากปัจจัยเหล่านี้
คน ในทุกระดับ
- ระดับปฎิบัติการ สัดส่วนการคงอยู่ในระบบและรูปแบบงานที่เปลี่ยนไป ความรู้ ทักษะที่ต้องการในระบบการทำงานใหม่ที่ต้องมี
- ระดับบริหารจัดการ เช่นเดียวกันคือสัดส่วนการคงอยู่ในระบบและรูปแบบงานที่เปลี่ยนไป ความรู้ ทักษะที่ต้องการในระบบการทำงานใหม่ที่ต้องมี อาจเข้าใจผิดว่าการเข้ามาของระบบใหม่เกิดผลกระทบเฉพาะแรงงาน เมื่อระดับปฎิบัติการปรับเข้าสู่ระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ จะทำให้การบริหารจัดการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่ต้องใช้ซอฟท์แวร์และคอมพิวเตอร์ในการจัดเก็บ รวบรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์ สั่งการ เช่น ระบบการซื้อและขาย การจ่ายเงิน ระบบปัญญาประดิษฐ์ที่เข้ามาแทนที่ พัฒนาให้เรียนรู้งานจนมีความสามารถเชื่อถือได้ในการดำเนินการ
สถานที่ทำงานดิจิทัล
- ระบบการแชร์องค์ความรู้
- การบริหารงานบุคคลด้วย ดิจิทัล
- การควบคุมทางบัญชี ด้วยระบบดิจิทัล
- ขีดความสามารถของระบบสารสนเทศ
เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม ที่พัฒนาให้มีการเชื่อมต่อกับระบบ
เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม ที่พัฒนาให้มีการเชื่อมต่อกับระบบอื่น ๆ ได้อย่างสมบูรณ์ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล การรับคำสั่งและทำงานร่วมกันจากระบบควบคุมกระบวนการในจุดเดียว และเข้าได้ทุกช่องทาง ทั้งการติดตามกระบวนการ การควบคุม การรายงาน การให้คำแนะนำ จากสถานที่ควบคุมเอง หรือ จากระยะไกลผ่านอุปกรณ์มือถือหรืออุปกรณ์ติดตามตัวต่าง ๆ
การประสานการดำเนินงาน ทั้งแนวดิ่งและแนวราบของโรงงาน
ในแนวดิ่ง คือ ประสานข้อมูลการดำเนินการตลอดสายให้สามารถติดตามและควบคุม หรือ แลกเปลี่ยนข้อมูลได้แบบเรียลไทม์
- การบริหารจัดการวงจรอายุผลิตภัณฑ์
- เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ Machine automation
- ระบบการดำเนินการและควบคุมการผลิตด้วยคอมพิวเตอร์ MES
- การจัดการการใช้งานสินทรัพย์ที่ได้ลงทุนไว้ให้เกิดประสิทธภาพ และเกิดคุณค่าต่อองค์กร โดยสามารถติดตามและปรับได้อย่างยืดหยุ่น Advance asset management
ในแนวราบ การแชร์ทรัพยากรร่วมกันในแต่ละสถานที่
- การประสานการวางแผนกับการตอบสนองต่อแผนแบบเรียลไทม์
- การแสดงผลและติดตามระบบการขนส่ง
- การวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทาน
- การจัดซื้อจัดหาด้วยระบบดิจิทัล
- คลังสินค้า Smart warehouse
- การจัดการชิ้นส่วนอะไหล่ Smart spare part management
งานการตลาดและการขาย
- งานบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้าด้วยดิจิทัล
- การหลอมรวมทุกช่องทางการขายเข้าด้วยกัน ทั้ง ออนไลน์ และ ออฟไลน์
- ช่องทางในการให้บริการตนเองของลูกค้า
- การกำหนดราคาแบบตอบสนองต่อตัวแปรทางการตลาด
- การขายแบบเฉพาะราย
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นกลุ่มงานหรือส่วนที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง คำถามหากไม่เปลี่ยนจะเป็นเช่นไร การเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมครั้งนี้ใช้คำว่าปฎิวัติ ซึ่งมีผลกระทบในกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นวงกว้าง การไม่ปรับองค์กรอาจจะมีความเข้ากันไม่ได้ในระบบธุรกิจ ต้องเสียโอกาส ยกเว้นเป็นสินค้าหรือบริการที่ เฉพาะกลุ่มหรือสถานที่ อีกประเด็นการเปลี่ยนแปลงของพฤฒิกรรมของผู้บริโภคที่ จะสร้างแรงกดดันในการเปลี่ยนแปลงองค์กรมาจากภายนอกเช่นกัน ทั้งการจับจ่ายออนไลน์ กระแส ความต้องการเฉพาะกลุ่ม ฯลฯ โดยหลายองค์กรจะปรับขนาดองค์กรให้คล่องตัวมากขึ้น จับจ้องที่ความเร็ว และการตอบสนองต่อลูกค้าเป็นหลัก โดยที่กล่าวมา จะมีระยเวลา ในช่วง 3-5 ปีถัดจากนี้ไป เพื่อเปลี่ยนผ่าน ปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรต่างๆที่ต้องการเปลี่ยนผ่านคือ
- ปัญหาประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงกระบวนการกับข้อมูลเพื่อดึงคุณค่าของทรัพยากรต่าง ๆ ออกมา
- ปัญหาการเลือกผู้ให้บริการหรือผู้ทำระบบที่ไม่สนองตอบต่อแนวคิดทางธุรกิจได้
- ปัญหาการสรรหาบุคลากรยุค 4.0
- ปัญหาการเลือกการเลียนแบบและเป็นผู้ตาม ไม่สามารถสร้างสรรค์ความได้เปรียบในการแข่งขันจากแนวคิดขององค์กรเองได้ การออกแบบใหม่ทั้งความคิดและการดำเนินการ
บทสรุป ของสถานการณ์พายุ 4.0 นี้ คือ บ้านหลังเก่า (องค์กรหรือโรงงาน) ต้องมีความสามารถในการวินิฉัยปัญหาขององค์กรที่ตรงประเด็น เรียนรู้และปรับตัวขององค์กร ไม่ให้พังทลายลง การเลือกอย่างเชื่อมโยงทั้งตัวแปรภายนอกและภายใน ความร่วมือเพื่อเสริมความแข็งแรงขององค์กร การสร้างคุณค่าจากข้อมูลที่มีได้มากกว่าคู่แข่งเพื่อให้ได้แนวคิดหรือเทคนิคใหม่ที่แตกต่าง (คู่แข่งที่ไม่ใช่แค่ในสถานที่ตั้งขององค์กร คือ คู่แข่งระบบเศษฐกิจของโลก) การเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีได้อย่างเต็มความสามารถ สิ่งเหล่านี้คือ สิ่งจำเป็นในการผ่านสถานการณ์นี้ไปได้
ผู้เขียน
ชัยรัตน์ บรรเทาทุกข์ วิศวกรอวุโส หุ่นยนต์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีเครื่องจักร |