รถยนต์ไฟฟ้ากับอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย

อัปเดตล่าสุด 22 มี.ค. 2562
  • Share :
  • 12,129 Reads   

อุตสาหกรรมรถยนต์ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานาน โดยมีส่วนสำคัญทั้งในด้านการลงทุน การสร้างมูลค่าเพิ่ม การจ้างงาน และการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ฯลฯ สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยและคนไทยเป็นจำนวนมากตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันทิศทางและแนวโน้มของอุตสาหกรรมรถยนต์กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Pass Through) จากรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine : ICE) ไปสู่รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ซึ่งการเปลี่ยนผ่านนี้จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อตัวอุตสาหกรรมรถยนต์เอง และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องต่างๆ ดังนั้น

ประเทศไทยในฐานะที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนฯ ที่สำคัญแแห่งหนึ่งของโลก จึงควรเร่งเรียนรู้การตั้งรับและปรับตัวเพื่อรองรับความท้าทายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นี้ ไม่เพียงแต่ค่ายรถยนต์รายใหญ่ข้ามชาติเท่านั้น แต่หมายรวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบรายย่อยที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงเช่นเดียวกัน ซึ่งหากไทยไม่เร่งพัฒนาเทคโนโลยีหรือขาดการปรับตัวเตรียมความพร้อมให้เท่าทันเทรนด์ของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เป็นไปได้ว่าไทยอาจก้าวไม่ทันคู่แข่ง และอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันที่มีมานานก็เป็นได้ 

ทั้งนี้คาดว่าเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตรวดเร็วมากในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ลดลงอย่างรวดเร็ว จากความก้าวหน้าในด้านการวิจัยพัฒนาต่างๆ โดยเฉพาะต้นทุนของการผลิตแบตเตอรี่ และจะส่งผลให้ความแตกต่างของราคา (Price Difference) ระหว่างรถยนต์ ICE กับรถยนต์ EV แคบลง จนผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดย JPMorgan Chase ประมาณการว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะมีส่วนแบ่งสูงถึง 35% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ทั่วโลก ในปี 2025 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 48% ในปี 2030 

ประมาณการสัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าต่อยอดขายรถยนต์โลกปี 2025 และปี 2030 

 


จากรายงานฉบับล่าสุดของ International Energy Agency : IEA (รายงานเรื่อง Global EV outlook 2017) พบว่า ปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2016 ทั่วโลกมีปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าบนท้องถนน (Stock) จำนวน 2.01 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.52 (%yoy) และมียอดการจดทะเบียนใหม่ (ยอดขาย) จำนวน 7.53 แสนคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.66 (%yoy) ทั้งนี้ประเทศที่มีปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าสะสมสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น นอร์เวย์ และเนเธอร์แลนด์ โดยมีปริมาณอยู่ที่ 6.49, 5.64, 1.51, 1.33 และ 1.12 แสนคันตามลำดับ ขณะที่ประเทศที่มีอัตราการขยายตัวของ

ปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าสะสมสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ สวีเดน สหราชอาณาจักร และแคนาดา โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 107.43, 88.40, 84.35, 78.15 และ 65.46 (%yoy) ตามลำดับ 

ขณะที่สถานการณ์รถยนต์ไฟฟ้าของไทยในปัจจุบันเริ่มมีทิศทางชัดเจนมากขึ้นว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมจะพึ่งพารถยนต์ไฮบริด (HEV) เป็นตัวส่งผ่าน ส่วนความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากการตื่นตัวด้านโครงสร้างพื้นฐานในการประจุไฟฟ้า (Charging Infrastructure) หรือสถานีชาร์จไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (EGAT), การไฟฟ้านครหลวง (MEA), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ที่ทยอยเปิดตัวสถานีชาร์จไฟฟ้าออกมาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น โครงการ EA anywhere ของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ที่เซ็นข้อตกลง MOU ร่วมกับ กฟน. โดยมีเป้าหมายสถานีชาร์จไฟฟ้าเป็น 1,000 สถานี ทั้งนี้แนวทางข้างต้นถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีของไทยในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตรถยนต์ในอนาคต  

ผลกระทบต่ออุตสาหกรรม รถยนต์และภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง 
เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นวงกว้าง ตั้งแต่ ผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบ ไปจนถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งหากผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องไม่ปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง อาจเผชิญปัญหาการผลิตสินค้าไม่ตรงความตอ้งการของตลาด และขาดทุนจนต้องปิดกิจการลงได้ 

ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมรถยนต์  

ผู้ผลิตรถยนต์

จะได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคจะเปลี่ยนจากรถยนต์ใช้น้ำมันไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ดังนั้นขนาดตลาดของรถยนต์ใช้น้ำมันจะเล็กลง ในขณะที่ขนาดตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้สำหรับประเทศไทยคาดว่าผู้ผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออก จะได้รับผลกระทบก่อน เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตในตลาดต่างประเทศที่มีความพร้อมในการรองรับสูงก่อน ส่วนผู้ผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายภายในประเทศจะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป เนื่องจากไทยยังคงมีข้อจำกัดในการพัฒนาอยู่ รวมถึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการสร้าง Demand รถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศอีกสักระยะ  

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและส่วนประกอบ

จะได้รับผลกระทบในระดับสูงเช่นเดียวกับผู้ผลิตรถยนต์ เนื่องจากเทคโนโลยี รถยนต์ไฟฟ้าใช้ชิ้นส่วนและส่วนประกอบที่เปลี่ยนรูปแบบไปจากรถยนต์ใช้น้ำมันไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะตลาดชิ้นส่วนประกอบ (OEM) อย่างระบบส่งกำลัง (Powertrain) หรือเครื่องยนต์ (Engine) ที่จะถูกทดแทนอย่างสมบูรณ์ ด้วยระบบมอเตอร์ไฟฟ้า (E-Motor) ทั้งหมด ขณะที่ตลาดชิ้นส่วนอะไหล่ทดแทน (REM) ได้รับผลกระทบจาก แนวโน้มการซ่อมแซมรถยนต์ที่มีน้อยลง เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะปลอดภัยจากอุบัติเหตุมากกว่ารถยนต์ใช้น้ำมัน (ระบบไฟฟ้ามีโอกาสพัฒนาไปพร้อมกับระบบขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ซึ่งจะปลอดภัยมากขึ้น) รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า มักจะถนอมการใช้งานมากกว่า โอกาสที่ชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ จะชำรุดเสียหายจึงมีลดลง อย่างไรก็ตามชิ้นส่วนบางประเภทที่สามารถใช้ร่วมกันได้ระหว่างรถยนต์ไฟฟ้ากับรถยนต์ใช้น้ำมัน เช่น โครงรถและตัวถัง (Body) และระบบช่วงล่าง (Suspension) ฯลฯ อาจไม่ได้รับผลกระทบเหมือนชิ้นส่วนและส่วนประกอบประเภทอื่น 


ผลกระทบต่อภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง 

เชิงบวก

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 

ถูกมองว่าจะได้รับประโยชน์โดยตรงหากตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแพร่หลาย เนื่องจากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สารกึ่งตัวนำ (Semiconductor) และแผงวงจรรวม (Printed Circuit Board : PCB) ฯลฯ เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อีกทั้งเทรนด์เทคโนโลยีอนาคตที่อาจถูกต่อยอด เพิ่มเติมจากเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า เช่น รถยนต์อัจฉริยะ รถยนต์ไร้คนขับ ล้วนจำเป็นต้องมีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้แนวโน้มความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน แบตเตอรี่และแร่ลิเธียม จะกลายมาเป็นแหล่งพลังงานแห่งใหม่ของโลก เนื่องจากเป็นหัวใจสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าในแง่ของการเป็นแหล่งกักเก็บพลังงานหลัก โดยความต้องการใช้งานแบตเตอรี่จะเพิ่มสูงขึ้น ตามการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และจะส่งผลต่อเนื่องไปยังความต้องการวัตถุดิบหลักในการผลิตแบตเตอรี่ซึ่งได้แก่ แร่ลิเธียม (Li) และโคบอลต์ (Co) ให้มีมากขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ประเทศที่มีปริมาณลิเธียมสำรอง (Reserve) สูงที่สุด 3 อันดับแรก คือ โบลิเวีย อาร์เจนติน่า และชิลี ส่วนประเทศที่ผลิตลิเธียมได้มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ออสเตรเลีย ชิลี และอาร์เจนติน่า ขณะที่ประเทศที่มีปริมาณสำรองและผลิตโคบอลต์ สูงที่สุด คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

เชิงลบ

อุตสาหกรรมปิโตรเลียม

โดยเฉพาะน้ำมันจะได้รับผลกระทบในระดับสูง เนื่องจากปริมาณการใช้น้ำมันทั่วโลกในแต่ละวัน ส่วนใหญ่เป็นการใช้ในรถยนต์ประเภทต่างๆ ซึ่งหากเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนรถยนต์เหล่านี้ เปลี่ยนขั้วไปเป็นเชื้อเพลิงไฟฟ้า ความต้องการน้ำมันในส่วนนี้จะหายไปทันที โดย Barclays ประมาณการว่าความต้องการน้ำมันสำหรับรถยนต์จะหายไปสูงถึง 3.5 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในปี 2025 อย่างไรก็ตามยัง ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ธุรกิจน้ำมันจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้ เนื่องจากการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ายังอยู่ในช่วงแรกเริ่ม ดังนั้นโลกในอีก 10-20 ปีข้างหน้ายังคงต้องพึ่งพาการใช้น้ำมันอยู่ เพียงแต่ในระยะยาวความสำคัญอาจค่อยๆ ลดบทบาทลง 
 

ภาคแรงงาน 

จะได้รับผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่สั้นลง โดยรถยนต์ไฟฟ้ามีชิ้นส่วนและส่วนประกอบเพียง 20 ชิ้น ขณะที่รถยนต์ที่ใช้น้ำมันหรือก๊าซในปัจจุบันมีชิ้นส่วนและส่วนประกอบมากถึง 2,000 ชิ้น ประกอบกับแนวโน้มการใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ที่ต่อไปจะเข้ามาแทนที่แรงงานคนมากขึ้นในอนาคต ซึ่งจากปัจจัยคุกคามต่างๆ เหล่านี้หากแรงงานไม่ปรับปรุงหรือพัฒนาศักยภาพของตัวเองอาจถูกเลิกจ้างจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนได้ โดยในเยอรมันมีการประเมินว่าแรงงานจำนวนกว่า 600,000 ตำแหน่งเสี่ยงที่จะตกงาน หากในปี 2030 เยอรมันสามารถยกเลิกการผลิตรถยนต์ ICE สำเร็จ

ผลกระทบในมิติอื่นๆ  

จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของโลก มีห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้มแข็ง อีกทั้งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศกำลังอยู่ในช่วงการเติบโตอย่างรวดเร็วจนมียอดการขายรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศสูงที่สุดในโลก ทั้งนี้คาดว่าในอนาคตเมื่อโลกเข้าสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มที่ จีนจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพพอที่จะเป็นหนึ่งในฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าของโลกได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องโดยตรงมาถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของไทย เนื่องจากมีข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนและจีน (ASEAN-China Free Trade Agreement : ACFTA) ทำให้ประเทศไทยมีข้อผูกพันในการนำเข้ารถยนต์นั่งไฟฟ้า อุปกรณ์เสริม แบตเตอรี่ และเครื่องอัดประจุ ฯลฯ จากจีน ในอัตราอากรขาเข้า 0% ทั้งนี้หากรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเข้ามาในไทยแบบไม่มีกำแพงภาษีอาจกดดันและคุกคามเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของไทยได้ โดยเฉพาะด้านความพยายามผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนฯ ที่สำคัญของโลกและระดับภูมิภาค     


บทสรุปอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าไทย

เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามาแทนที่รถยนต์ใช้น้ำมันในอนาคตข้างหน้าอย่างแน่นอน และการเปลี่ยนผ่านนี้จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อทั้งระบบห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมรถยนต์ ไปจนถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย เนื่องจากโครงสร้างการผลิตและความต้องการชิ้นส่วนจะเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ความต้องการเครื่องยนต์จะเปลี่ยนไปเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า ความต้องการชิ้นส่วนรถยนต์กว่า 2,000 ชิ้น จะลดลงเหลือเพียง 20 ชิ้น ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงนี้จึงเปรียบเหมือนการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งสำคัญครั้งหนึ่งเลยก็ว่าได้ ทั้งนี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไทยตระหนักดีถึงภัยคุกคามนี้จึงเริ่มมีการออกนโยบาย ในการส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศออกมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามแม้ว่าปัจจุบันดูเหมือนว่าไทยกำลังเดินไปในทิศทางที่ควรจะเป็น แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะนิ่งนอนใจได้ โดยเฉพาะในช่วงระยะแรกเริ่มของการพัฒนาเช่นนี้ ดังนั้นไทยในฐานะผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง นอกจากจะต้องพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องแล้ว อาจยังต้องพยายามมองหาแนวทางในการสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้ารูปแบบใหม่อยู่เสมอ รวมถึงเฝ้าระวังภัยคุกคามต่างๆ ที่อาจเข้ามากระทบและขัดขวางการพัฒนาอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะสร้างห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่แข็งแกร่ง และมั่นคงเหมือนกับที่ไทยเคยทำได้มาแล้วกับอุตสาหกรรมรถยนต์ใช้น้ำมัน