แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน รถยนต์ไฟฟ้า

แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน มีผลต่ออุตสาหกรรมการผลิตอย่างไรในอนาคต ?

อัปเดตล่าสุด 19 ม.ค. 2563
  • Share :
  • 1,733 Reads   

ศาสตราจารย์ Akira Yoshino หนึ่งในผู้รับรางวัลโนเบลจากการพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เผยวิสัยทัศน์  “แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมีผลต่ออุตสาหกรรมการผลิตอย่างไรในอนาคต? และภาคอุตสาหกรรมควรปรับตัวอย่างไร?” 

AIEV, การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม, AI, และ IoT


iPhone 11 (สนับสนุนภาพโดย Apple)

เป็นที่ทราบกันในภาคอุตสาหกรรม IT ว่า แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน คือตัวแปรหลักที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติวงการครั้งใหญ่ ด้วยขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และชาร์จไฟซ้ำได้ นำมาซึ่งความแพร่หลายของเทคโนโลยีขนาดเล็ก โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของหลายคนในที่สุด

ปัจจุบัน แบตเตอรี่ชนิดนี้ ถูกใช้งานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, โทรศัพท์มือถือ, IT, และยานยนต์เป็นหลัก ซึ่งล้วนแล้วแต่มีการเติบโต และปริมาณการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งรัฐบาลจีนได้ผลักดันนโยบายรถพลังงานใหม่ (New Energy Vehicle : NEV) กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่อย่างก้าวกระโดด และมีค่ายรถที่ตัดสินใจยกเทคโนโลยีนี้ให้เป็นหนึ่งในแผนธุรกิจระยะยาวของบริษัท เช่น Volkswagen และ Toyota

ด้วยเหตุนี้เอง แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ จึงส่งผลดีต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนอย่างแท้จริง โดยผู้บริหารบริษัทเคมีภัณฑ์รายหนึ่ง รายงานว่า “ต้องเพิ่มกำลังผลิตทุกปี ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถผลิตให้พอความต้องการได้”


รถยนต์ไฟฟ้า จะเข้ามาปฏิวัติการคมนาคมอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ Akira Yoshino แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ภาคอุตสาหกรรม ไม่ควรให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles: EV) และแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว แต่ควรมองถึงการนำไปใช้ในมุมที่กว้างขึ้น และเล็งเห็นว่า Industry 4.0 นี้เอง ที่เป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีอย่างแท้จริง พร้อมคาดการณ์ว่า การนำแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ไปใช้ในอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และ IoT คืออนาคตหลังจากนี้

ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ ศาสตราจารย์ Akira Yoshino ได้เสนอแนวคิด “AIEV” ยานพาหนะแนวทางใหม่ซึ่งเกิดจากการรวม AI และรถยนต์เข้าด้วยกัน โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องซื้อรถเป็นของตัวเอง และเรียกใช้รถยนต์ไร้คนขับได้ตามความต้องการ ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้สูงกว่าการมีรถยนต์เป็นของตัวเอง และแก้ปัญหาราคารถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นกำแพงขวางกั้นให้ไม่เป็นที่นิยมได้

และแนวคิดนี้จะเกิดขึ้นจริงได้ ก็ต้องมาพร้อมกับระบบโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ ทั้งเครือข่ายเน็ตเวิร์ค ระบบชาร์จไฟที่เข้าถึงง่าย และคุณสมบัติในการตัดสินใจของยานยนต์ ซึ่งแม้จะยังเป็นเทคโนโลยีที่ห่างไกล แต่หากสำเร็จแล้ว ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดภาระด้านมลพิษของโลกได้เป็นอย่างดี

แบตเตอรี่ = แหล่งพลังงาน ทำให้เป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย หากมองในมุมนี้แล้ว แบตเตอรี่จะกลายเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลก หรือรักษาสิ่งแวดล้อมได้ ไม่ต่างจากเมื่อครั้งปฏิวัติวงการ IT อย่างแน่นอน และสิ่งนี้เอง ที่เป็นสาเหตุให้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนได้รับรางวัลโนเบลในปีนี้”

ด้วยเหตุนี้เอง ศาสตราจารย์ Akira Yoshino จึงคาดการณ์ว่า การพัฒนาเทคโนโลยีที่มีแบตเตอรี่เป็นส่วนประกอบ จะกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ผลิตอย่างแน่นอน

ต้องพร้อมทั้งต้นน้ำ และปลายน้ำ

หากพิจารณาจากภาคอุตสาหกรรมแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะมองว่าญี่ปุ่นคือผู้นำในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน นับตั้งแต่ปี 1991 ที่ Sony เป็นบริษัทแรกที่ผลิตออกวางจำหน่าย อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง อุตสาหกรรมนี้ในญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ขาลง และไม่ใช่ผู้นำตลาดอีกต่อไป

ผู้นำด้านแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนตัวจริงในปัจจุบันคือ Contemporary Amperex Technology และ BYD Auto จากประเทศจีน ซึ่งมีปริมาณการจัดส่งแบตเตอรี่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และลำดับถัดมาคือ LG และ Samsung จากเกาหลีใต้ ซึ่งอัดฉีดงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และสำหรับศาสตราจารย์ Akira Yoshino แล้ว ทั้งจีน และเกาหลีใต้ มีศักยภาพสูงกว่า Panasonic และ Tesla เสียอีก

ศาสตราจารย์ Akira Yoshino กล่าวแสดงความเห็นว่า “เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่า ไม่ได้หมายถึงชัยชนะทางธุรกิจเสมอไป และหากแพ้ทางธุรกิจแล้ว ก็จะแพ้ทางเทคโนโลยีตามไปด้วย” พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่าปัจจุบัน อุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นยังแข็งแรงอยู่ได้เพราะผู้ผลิตต้นน้ำ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของบริษัทระดับโลกหลายราย เช่น MLCC, Image Sensor, จอผลึกเหลว (LCD), ฟิล์ม, OLED, และอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม หากวันใดมีผลิตภัณฑ์อื่นเข้ามาทดแทนได้ ก็จะทำให้สูญเสียรายได้เป็นอย่างมาก ดังนั้นจะเป็นการดีที่สุดหากอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศนั้น มีความสมบูรณ์ทั้งต้นน้ำ และปลายน้ำ


ศาสตราจารย์ Akira Yoshino