สร้างความได้เปรียบจากการวิเคราะห์แรงขับเคลื่อนที่สำคัญ (ตอนที่ 2)

อัปเดตล่าสุด 29 พ.ค. 2562
  • Share :

จากบทความครั้งที่แล้วได้เกริ่นถึง 3 แรงขับเคลื่อนที่ทางองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย หรือ APO ได้ทำการสรุปไว้เป็นแนวโน้มสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งได้แก่ Exascale Supercomputing, Hybrid Social Production, และ Supercalifragilisticexpialidocious Materials สำหรับครั้งนี้จะขอลุยต่ออีก 9 แรงขับเคลื่อน ดังนี้

Frontiers of Market Efficiency กล่าวถึง การจัดการกับความแปรปรวนทางเศรษฐกิจที่ทำให้ตลาดมีความซับซ้อน ในอนาคตความก้าวหน้าของ Quantum Computing จะสามารถเขียน Algorithms หรือชุดคำสั่งให้ไปจับสัญญานผิดปกติของตลาด ปัจจัยความเสี่ยงและความแปรปรวนทั้งหลายเพื่อสร้างบริบทให้ตลาดมีประสิทธิภาพสูงสุดหรือเป็น “Superefficient Market” ซึ่งจะชี้ความเป็นไปได้ที่ดีที่สุดในการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ในบริบทที่แตกต่างกัน

The Awakening of a New Sentient Being จากความเชื่อที่ว่ามีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่มีความฉลาดและมีอารมณ์ที่ซับซ้อน แต่ความเชื่อดังกล่าวถูกท้าทายจากปัญญาประดิษฐ์ (Artificial General Intelligence: AGI) โดยมีการคาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีนี้ จะเกิดมุมมองใหม่ในวงการกฎหมายเมื่อมีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในการตัดสินคดีที่มีความซับซ้อน ปัจจุบันศาลในสหรัฐฯ กำลังใช้ AI Legal-tec Program และ Legal Technology System เป็นเครื่องตรวจจับระดับความเป็นไปได้ของความผิด ปัจจุบันมีบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีนี้อยู่ประมาณ 1500-2000 บริษัทในสหรัฐฯ รวมถึงงานอื่นๆ ที่ต้องใช้ความรู้และความเป็นมืออาชีพอย่างวงการแพทย์ ซึ่ง AGI สามารถทำงานได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องการความช่วยเหลือจากมนุษย์

Avant-Garde Society สังคมที่ล้ำสมัย สังคมที่หลุดจากกรอบเดิม เป็นสังคมที่มีการเสริมกำลังระหว่างความฉลาดของมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงทำให้มนุษย์เรามีความฉลาดระดับที่เรียกว่าเป็น Superhuman สังคมใหม่นี้จะทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ลดความไม่เท่าเทียมและความยากจน รวมถึงขจัดกิจกรรมต่างๆ ที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

Sine-Natio Sphere เป็นโลกใหม่ที่ผู้ปกครองรัฐอยู่ในโลกเสมือนจริง โดย US National Intelligence Council ได้วาดภาพเหตุการณ์จำลองอนาคตในปี 2030 ไว้ว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้รัฐบาลกลางสามารถกระจายอำนาจและความรับผิดชอบไปให้พื้นที่โดยรอบ โดยในแต่ละพื้นที่สามารถมีโครงสร้างทางสังคม กฎระเบียบ กฎหมายของตัวเองเรียกว่าเป็น para-state รัฐบาลกลางสามารถดำเนินการผ่านการใช้ Virtual Digital Technology Platform นั่นหมายความว่าการดำเนินการของรัฐบาลกลางจะอยู่ในโลกเสมือนจริง ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดรัฐบาลกลางที่เป็นเชิงโครงสร้างที่เราคุ้นเคยกัน

Economic of Agility เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นสูงและมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาซึ่งเป็นแนวคิดของเศรษฐกิจที่เรียกว่า EOA   หรือ Economic of Agility มีการเกิดและดับธุรกิจอย่างรวดเร็ว จะต้องมีความยืดหยุ่นสูงมาก การสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจคือความเร็วในการจับความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าที่ถูกต้องในสภาวะตลาดที่มีความแปรปรวนสูง หลายบริษัทในสหรัฐฯ พยายามประยุกต์แนวคิดนี้ แต่ก็มีไม่น้อยที่ล้มเหลวเพราะแนวคิดนี้ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวและนั่นคือความท้าทายของผู้นำองค์กร

The Rise of Gerontocracy เมื่อโลกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเพิ่มขึ้นของระบบที่ผู้ปกครองหรือผู้นำสูงวัยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต มีการคาดการณ์ว่าในปี 2030 ประชากรในภูมิภาคเอเซียที่มีสัดส่วนประมาณ 60% ของประชากรโลกมีสัดส่วนลดลง 2% การสร้างความขัดแย้งทางสังคมเพิ่มขึ้นเมื่อกลุ่ม Young Generation ที่เป็นคนสร้างคุณค่าให้กับประเทศมากกว่ากลุ่มผู้สูงวัยมีความเห็นว่ากลุ่มผู้สูงวัยจะต้องทุ่มเทให้กับประเทศมากกว่านี้

AI Legal Framework หาก AI สร้างความเสียหายใครจะเป็นคนรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นรวมถึงการชดเชยค่าเสียหายต่างๆ ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นเกิดจากการขาดความรู้และการมีข้อมูลที่เหมาะสมในการจัดการทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัยซึ่งจะทำให้เกิดการชะลอตัวในการพัฒนา AI ได้ สถาบัน IEEE (The Institution of Electrical and Electronic Engineers) ได้ออกหลักจริยธรรมเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับระบบอัตโนมัติและระบบอัฉริยะโดยเป็นหลักการที่อยู่บนพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันและสร้างคุณค่าให้กับมนุษย์

Preteurship Economy เป็นระบบเศรษฐกิจที่เราสามารถเช่าในสิ่งที่เราต้องการโดยเราไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของ (Lendership) เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิด Sharing Economy บน   Digital Technology Platform ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด การเช่าในที่นี้ไม่ได้อยู่ในรูปของอสังหาริมทรัพย์ที่เราคุ้นเคยกัน แต่สามารถเช่าแรงงาน เช่น แรงงานภาคเกษตรที่ว่างงานหลังฤดูเพาะปลูก เพื่อสร้างคุณค่าให้กับระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ปัญหาทางสังคม และลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้

Shatternet หลายๆ ประเทศได้จำกัดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในอินเทอร์เน็ตในลักษณะที่กำหนดเป็นพื้นที่หรือเชื้อชาติเพื่อปกป้องพลเมืองของตัวเอง มีการแอบสร้าง Dark Web ขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นข้อกังวลหรือข้อห้ามของรัฐ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเลวร้ายมากยิ่งขึ้น การที่ประเทศต่างๆ หันมาสร้างเกราะ เข้มงวดในกฎระเบียบการแบ่งปันข้อมูล และจำกัดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น จะเป็นการกีดกั้นการแลกเปลี่ยนแนวคิดที่เป็นประโยชน์สำหรับคำตอบต่างๆ ที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม การแก้ไขปัญหาสังคม และการปฏิวัติด้านดิจิทัลที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงผลิตภาพ และนั่นคือ 12 แรงขับเคลื่อนที่ทาง APO ชี้ว่าจะส่งผลต่อผลิตภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสมาชิก จึงเป็นความท้าทายของผู้นำในการเลือกดำเนินการ ซึ่งทำได้ 2 แนวทาง คือ เป็นเชิงรุกหรือตั้งรับเพราะแนวโน้มที่เกิดขึ้นดังกล่าวกำลังจะเข้ามากระทบเราเร็วกว่าที่เราคิดไว้อย่างแน่นอน


สนับสนุนบทความโดย: สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ www.ftpi.or.th