สร้างความได้เปรียบ การวิเคราะห์แรงขับเคลื่อนที่สำคัญ

สร้างความได้เปรียบ จากการวิเคราะห์แรงขับเคลื่อนที่สำคัญ (ตอนที่ 1)

อัปเดตล่าสุด 28 พ.ค. 2562
  • Share :
  • 891 Reads   

เราอยู่ในช่วงเวลาที่สรรพสิ่งเปลี่ยนแปลงได้ง่ายอย่างรวดเร็ว มีการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่อยู่ตลอดเวลา บางเทคโนโลยียังใช้ได้ไม่เท่าไร ความล้าสมัยก็มาเป็นเงาตามตัว ยกตัวอย่างเช่น เครื่องพิมพ์สามมิติ หรือ 3D Printing ยังไม่ทันแพร่หลาย 4D Printing ก็ออกมาแล้ว เทคโนโลยีในโลกเสมือนอย่าง Augmented Reality หรือ เทคโนโลยีเสมือนจริงอย่าง Virtual Reality ก็กำลังถูกทดแทนด้วย Digital Twin

เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในเวลานี้ มาจากการทำลายเทคโนโลยีเก่า ไม่ใช่การต่อยอดเหมือนในอดีต โลกกำลังถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ประเทศที่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้และนำไปสู่การกำหนดทิศทางที่ถูกต้อง ส่วนที่สองคือ ประเทศที่ยังมองไม่เห็นหรือยังไม่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลง มีความคลุมเครือและมีความไม่แน่นอนในทิศทางที่กำลังมุ่งไป

องค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย หรือ Asian Productivity Organization ได้ออกรายงานรายปักษ์ชื่อ The Future is Now เพื่อมองหาแรงขับเคลื่อนที่สามารถสร้างความแตกต่างและส่งผลต่อผลิตภาพ หรือ Productivity ของแต่ละประเทศสมาชิก ซึ่งจะส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันในท้ายที่สุด โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ได้กล่าวถึงแรงขับเคลื่อนที่สำคัญไว้ถึง 12 ตัว  เริ่มจากเมื่อโลกให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ Big Data เกิดความต้องการในอาชีพ Data Scientist อย่างมากในขณะนี้ คนที่เลือกเรียนเรื่องนี้เมื่อ 4-5 ปีที่แล้วกำลังเนื้อหอมสุด ๆ ไปเริ่มเรียนตอนนี้อาจจะไม่ทันเพราะกว่าจะจบอาจจะมีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยทำ Big Data Analytic โดยไม่ต้องง้อคน

Exascale Supercomputing ที่มีพลังในการประมวลผลที่เร็วกว่าคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันถึง 100 ล้านเท่าและมีราคาถูกกว่า กำลังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในปี 2020 ในยุคนี้การประมวลผลข้อมูลระดับเทราไบต์หรือหนึ่งล้านล้านไบต์ ก็หรูแล้ว แต่ Exascale Supercomputing อย่าง Quantum Computer ทำได้ระดับ Yottascale หรือหนึ่งล้านล้านล้านล้านไบต์ เร็วกว่าเรากระพริบตา ปัจจุบันการกด enter เพื่อประมวลผล 1 ครั้ง ความเร็วที่ทำได้เร็วที่สุดอยู่ที่ 2.5 วินาที ทั้งนี้จะต้องสอดคล้องกับความสามารถของระบบ Network ด้วย รัฐบาลกลางจีนได้ทุ่มงบประมาณเพื่อให้ Exascale Supercomputing สามารถทำงานได้ทันทีในปีหน้า ก่อนปี 2020 ที่มีการประมาณการว่ามูลค่าของอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงแอพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องจะมีมูลค่าสูงถึง 210 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

Hybrid Social Production เป็นอีกแรงขับเคลื่อนที่ APO ให้ความสำคัญ เป็นระบบการผลิตที่มนุษย์ทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ แต่ไม่เหมือนอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน ในปี 2029 ความเข้มข้นของระบบกลไกในการแก้ไขความถูกต้องด้วยตัวเองในงานที่มีความซับซ้อนจะพบเห็นได้โดยง่าย ซึ่งปัจจุบันเราจะเห็นการใช้ระบบโรบอทในงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะสูงหรือเป็นงานที่ทำซ้ำ ๆ ประจำวัน

สำหรับบทบาทของมนุษย์จะอยู่ในรูปของ Augmented Human โดยคนจะต้องใส่อุปกรณ์ต่างๆ ที่ช่วยในการติดต่อสื่อสารที่เราเรียกว่าเป็นเทคโนโลยีโลกเสมือนหรือ Augmented Reality Technology หน้าตาจะคล้ายๆ กับคนเหล็กในภาพยนต์ Terminator ที่หลายคนเคยดู อุปกรณ์จะส่งสัญญาณเพื่อโต้ตอบกับหุ่นยนต์ทำให้หุ่นยนต์เข้าใจคำพูด การแสดงออกทางสีหน้า รวมถึงการแสดงท่าทางของคนเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันที่มีประสิทธิภาพ ผลิตภาพจะสูงมากเพราะหุ่นยนต์เองจะมีความแม่นยำในหลักการที่ถูกป้อนโปรแกรม มีข้อมูลที่ตรวจสอบความถูกต้องและคุณภาพของผลิตภัณฑ์อย่างปราศจากข้อผิดพลาด สามารถผลิต ณ จุดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและเต็มกำลังความสามารถของเครื่องจักร รวมถึงได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของลูกค้า ในขณะที่คนจะสามารถควบคุมจาก Production Center ที่อยู่ห่างไกลจากสถานที่ผลิตแต่ยังรักษาการทำงานที่มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตโดยรวมได้ นอกจากนี้ Hybrid Production Model ยังให้ความสำคัญกับตลาดและลูกค้า โดยข้อมูลจะถูกเก็บและถูกป้อนกลับอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะมีการตัดสินใจผลิต เครื่องจักรจะส่งข้อมูลผลิตภัณฑ์ใหม่ที่พัฒนาจากข้อมูลความต้องการของลูกค้ากลับไปยังลูกค้าอีกครั้งเพื่อการขออนุมัติ (Approval) เกิดมุมมองในเรื่องของการนำเทคโนโลยีและสังคมมาผสมผสานกับระบบการผลิตทำให้เครื่องจักรจะมีมุมมองเชิงสังคมมากขึ้นหรือเรียกว่า Socialized Machined อย่างไรก็ตาม การจัดสรรทรัพยากรต้องถูกกระจายอย่างมีประสิทธิภาพโดยต้องสร้างสมดุลระหว่างการออกแบบผลิตภัณฑ์และความชอบของลูกค้าด้วย

Supercalifragilisticexpialidocious Material เรียกและแปลไม่ถูกเลยทีเดียว ศัพท์คำนี้มาจากวรรณกรรมเยาวชน Marry Poppins เรื่องดังของอังกฤษ แปลว่า สิ่งมหัศจรรย์ วัตถุดิบที่มีคุณลักษณะมหัศจรรย์นี้กำลังส่งผลต่อผลิตภาพของวงการอุตสาหกรรมโลกในอนาคตอันใกล้นี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวทางที่เราใช้ในการเพิ่มผลิตภาพจะแตกต่างจากในอดีต เพราะชีวิตเราทุกวันนี้ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต (Internet of everything) ไม่ว่าจะเป็น Wearable Devices, Application และสมาร์ทโฟน เครื่องมือที่ใช้ในการเพิ่มผลิตภาพจะต้องสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังทำให้เกิดการพัฒนาวัตถุดิบที่เราจะใช้ในอุตสาหกรรมในอนาคต วัสดุนี้จะมีองค์ประกอบพื้นฐานของคาร์บอน มีชื่อเรียกว่า ฟลูเลอรีน (Fullerene) เพิ่งค้นพบเมื่อในปี1995 ผู้ที่ค้นพบได้รับรางวัลโนเบลในปีถัดมา ฟลูเลอรีนมีโครงสร้างของคาร์บอนเชื่อมต่อกันเป็นลักษณะรูปทรงกลมคล้ายลูกฟุตบอล ซึ่งเป็นโครงสร้างที่คล้ายคลึงกับเพชรที่เป็นอัญมณีที่มีความแข็งที่สุดในโลก ฟลูเลอรีนยังสามารถรองรับและถ่ายเทแรงภายในโครงสร้างได้เป็นอย่างดี มีคุณสมบัติเป็น Superconductor หรือสภาพตัวนำยิ่งยวดหมายความว่ากระแสไฟฟ้าจะไหลในวงจรอย่างไม่จำกัดโดยไม่มีการสูญเสียกำลังเลยแม้แต่น้อย นอกจากนี้ยังมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้วัสดุมหัศจรรย์นี้ใช้ในการสร้างลิฟท์ในอวกาศและมีการคาดการณ์ว่ากำลังจะถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอย่างแพร่หลายในอนาคตอันใกล้นี้ อย่างไรก็ตาม แรงขับเคลื่อนที่จะส่งผลต่อผลิตภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันนี้ข้างต้นสามารถเป็นได้ทั้งโอกาสและอุปสรรคขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับมือและการฉกฉวยโอกาสของแต่ละประเทศ การมองเห็นโอกาสและทำให้เกิดขึ้นโดยเร็วจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเหมือนอย่างที่รัฐบาลจีนที่ได้ส่งเสริมผลักดันให้  Exascale Supercomputing เกิดขึ้นโดยเร็วก่อนที่ประเทศอื่นจะพัฒนาได้ทัน  สำหรับแรงขับเคลื่อนที่เหลืออีก 9 ตัว คลิกอ่านต่อ

สนับสนุนบทความโดย: สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ www.ftpi.or.th