AI ที่เรารู้จัก

อัปเดตล่าสุด 18 มี.ค. 2562
  • Share :
  • 1,058 Reads   

เหมือนปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แม้แต่ Smart Phone ในปัจุบันยังมีฟังก์ชันกล้อง AI ที่สามารถจัดและออกแบบรูรับแสง ไอเอสโอ และความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสมกับรูปที่เราถ่ายได้เองอัตโนมัติ ทำให้เริ่มเป็นห่วงกล้อง DSLR หรือ กล้อง Full Frame ที่ถือเป็นกล้องระดับเทพของตากล้องจะสูญพันธุ์เหมือนกับกล้องฟิล์มหรือไม่ นอกจากนี้เรายังได้ยินว่าธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่งเริ่มมีการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้แอพพลิเคชันของพวกอินเตอร์เน็ตแบงกิ้งมากขึ้น  มีการวิเคราะห์รายการธุรกรรมทางการเงินที่มีการใช้บ่อยและ AI มีการแนะนำธุรกรรมที่ผู้ใช้มีความสนใจแบบเราก็ไม่รู้ตัวมาก่อนว่าเราแอบสนใจอยู่ หรือแม้แต่ในการเทรดหุ้นก็จะมีการพัฒนา AI ขึ้นมาแทนเทรดเดอร์หรือเจ้าหน้าที่หลักทรัพย์ ความฉลาดของ AI สร้างความได้เปรียบทางธุรกิจอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น ณ เวลานี้ดูเหมือนทุกวงการไม่จำกัดในแวดวงอุตสาหกรรม เทคโนโลยี AI กลายเป็นฟีเจอร์หลักในสินค้าและบริการไปแล้ว ซึ่งในอนาคตอีกไม่เกิน 5 ปี เทคโนโลยีนี้จะกลายเป็นความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นต้องมีและไม่ถือเป็นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอีกต่อไป

องค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย หรือ APO ได้วิเคราะห์แนวโน้มอนาคตไตรมาสสามของปีนี้ โดยได้มีการให้น้ำหนักแนวโน้มอนาคตที่จะมีผลกระทบสูงต่อผลิตภาพของประเทศสมาชิก โดยการให้น้ำหนักหรือการให้คะแนนนี้จะใช้เกณฑ์ในการพิจารณาอยู่ 4 ประเด็นคือ กรอบระยะเวลาที่จะเกิดขึ้น ถ้าเกิดภายใน 1-5 ปีจะให้น้ำหนักมาก ถ้าเกิดภายใน 30 ปีจะให้น้ำหนักน้อยสุด และถ้าไม่มีโอกาสเกิดขึ้นจะไม่ให้น้ำหนักเลย เกณฑ์ตัวที่สองคือ ขอบเขตที่จะเกิดขึ้นต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ถ้าส่งผลในวงกว้างทั่วโลกจะให้น้ำหนักมากสุด ถ้าส่งผลแค่ระดับองค์กรจะให้น้ำหนักน้อยสุด และถ้ากระทบเกิดขึ้นในระดับบุคคลจะไม่ให้น้ำหนักเลย เกณฑ์ตัวต่อไปคือ ระดับความสำคัญหรือความแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้น ถ้าหากเกิดขึ้นแล้วเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญจะให้น้ำหนักสูงสุด

ประเด็นสุดท้าย คือโอกาสหรือความน่าจะเป็นที่จะเกิดผลกระทบนั้นต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ถ้ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดแนวโน้มอนาคตนั้นมากกว่า 93% จะให้น้ำหนักสูงสุด ถ้าโอกาสที่จะเกิดน้อยกว่า 30% จะให้น้ำหนักน้อยมาก ซึ่งผลรวมของเกณฑ์การให้น้ำหนักทั้ง 4 ตัวจะช่วยในการตัดสินใจในเรื่องของการรับมือในระดับต่างๆ เริ่มจากต้องดำเนินการโดยด่วน ต้องบริหารจัดการ ต้องเฝ้าระวัง และต้องคอยติดตามอยู่เสมอ ซึ่งในไตรมาสที่ 3 นี้ APO ให้ความสำคัญกับ AI อย่างมาก โดยตั้งชื่อหัวข้อนี้ “AI for Everyone Everywhere” ลองจินตนาการดูว่า เมื่อเราตื่นนอนขึ้นตอนเช้า เตรียมตัวจะไปทำงาน เราพูดกับ Smart Home ในขณะที่เรากำลังแต่งตัว ให้เอารถมาจอดหน้าประตู สตาร์ทอุ่นเครื่องไว้และเปิดแอร์ให้เรียบร้อย ระหว่างเดินทางไปทำงาน สั่งให้สแกน email ใน inbox ระบบได้ทำการตอบ email เตรียมไว้แล้ว ถ้าเราไม่ได้เห็นต่างจากที่ระบบตอบไว้ให้แล้วก็แค่กดปุ่ม send ถ้าเชื่อใจระบบมากขึ้น ในครั้งหน้าเราสามารถตั้งส่งอัตโนมัติได้ ระบบก็จะทำหน้าที่แค่รายงานผลสำเร็จของการส่ง email เท่านั้น เราไม่ต้องขับรถเองเพราะรถของเราเป็นระบบอัตโนมัติแบบเต็มรูปแบบ ราวกับมีคนขับรถที่ขับรถนุ่มและปลอดภัยมากที่สุด แถมยังมีความรู้มากมายในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว ไม่พูดมาก ไม่แสดงความคิดเห็นเกินความจำเป็น ทำให้ระหว่างการเดินทางเราสามารถทำงานหรือเตรียมการประชุมได้ ถ้าเราทำงานเกี่ยวการให้คำปรึกษาทางการลงทุน หน้าที่เราแค่สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า พูดคุยรายละเอียดการลงทุนโดยการแปล การบริหาร portfolio ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของ realtime robot-advisors ให้กับลูกค้าทราบ ตลอดทั้งวัน AI จะอยู่กับเราเปรียบเหมือนกับเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่เราต้องใส่ทุกวัน สิ่งที่พูดมาไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ วันนี้เราอาจจะจินตนาการไม่ค่อยออก แต่ภายใน 5 ปี ภาพนี้จะเป็นสิ่งที่เราคุ้นชิน ด้วยเทคโนโลยี AI ที่เรียกว่า general-purpose technology (GPT) ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ในทุกภาคธุรกิจ เปรียบเหมือนกระแสไฟฟ้าที่ใครๆ ก็ใช้ได้ ไม่ว่าจะยากดีมีจน และ GPT นี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั่วโลก

แม้ว่าสถานภาพปัจจุบันของ AI จะอยู่ในอุตสาหกรรมไฮเทคและกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ แต่ผู้เล่นสำคัญในตลาดตอนนี้ อาทิเช่น Amazon, Google, และ Microsoft ที่พยายามพัฒนาการเข้าถึง AI และ Machine Learning ผ่านระบบ Cloud ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการต่อยอด AI ไปสู่ภาคธุรกิจอื่นๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์โรคต่างๆ ของผู้ป่วย และโอกาสการเกิดการโรคระบาดในแวดวงทางการแพทย์ การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการเป็นอาชญากรหรือการกระทำผิดกฏหมาย เพื่อช่วยผู้พิพากษาตัดสินซึ่งมีความถูกต้องมากกว่า 90% การควบคุมการจราจรและลดการแออัดของยานพาหนะ การแบ่งบันการขนส่งและยานพาหนะในการบริหารโลจิสติกส์ ที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล การตรวจสอบการทุจริตและป้องกันการฟอกเงิน การคาดการณ์ความต้องการของลูกค้าเพื่อออกแบบการโฆษณาและการตลาด การบริหารห่วงโซ่อุปทานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การตราจสอบข้อผิดพลาดในกระบวนการผลิตเพื่อปรับแก้ไขโดยอัตโนมัติ ในทุกวันจะมีการพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI และนับจากนี้เราคงจะเห็นบทบาทของ AI มากขึ้น ตราบใดที่เราเป็นผู้ควบคุมและได้ประโยชน์จากการใช้ AI ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น แต่การพัฒนาที่เกินขอบเขต ขาดจริยธรรมและไร้ความรับผิดชอบต่อส่วนรวมก็จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เราคงยากที่จะปฏิเสธกระแสเทคโนโลยี AI จากทั่วโลก เมื่อเราไม่สามารถหลีกพ้นได้ เราจะสร้างความได้เปรียบจากเทคโนโลยี AI ที่เหมาะสมกับบริบทประเทศไทยได้อย่างไรจะกลายเป็นโจทย์สำคัญของประเทศ ไม่เช่นนั้นจากความได้เปรียบจะกลายเป็นข้อจำกัดได้เช่นกัน

สนับสนุนบทความโดย: สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ www.ftpi.or.th