มาแน่…อุปกรณ์เสมือนจริง (Virtual Future)

อัปเดตล่าสุด 28 มิ.ย. 2562
  • Share :
  • 721 Reads   

ปี 2020 Headset ของอุปกรณ์เสมือนจริงจะพบเห็นอยู่ทั่วไปเปรียบเหมือนกับที่เราเห็นรีโมททีวีในห้องนั่งเล่นที่ทุกบ้านต้องมีเลยทีเดียว มีการประมาณการว่าจากนี้เป็นต้นไปยอดขายของอุปกรณ์ดังกล่าวและพวกเกมส์ที่พัฒนาขึ้นมารองรับการใช้ VR Headset จะเพิ่มเป็น 2 เท่าทุกๆ ปี จนถึงปี 2021 จากตัวเลขบริษัท IDC บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยทางด้านเทคโนโลยีมีการคาดการณ์ในปี 2021 ยอดขายของอุปกรณ์ดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ 92 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 10 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2016 ยังมีการคาดการณ์ว่าจะมีความต้องการอุปกรณ์นี้เพื่อเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานในออฟฟิตและโรงงานโดยจะเพิ่มขึ้นมากในอีก 8 ปีข้างหน้าด้วย เมื่อถึงตอนนั้นบริษัทที่มีบริการจัดฝึกอบรมหลักสูตรพัฒนาทักษะแบบที่เราคุ้นกันปัจจุบันก็มีหนาวหนาวกันไม่มากก็น้อย แต่ถ้าจะลงทุนตอนนี้ทั้งความสามารถของอุปกรณ์ที่ยังมีโอกาสพัฒนาอยู่ตลอดเวลาโอกาสที่เทคโนโลยีจะล้าสมัยหรือเมื่อพัฒนามาระดับหนึ่งกลับถูกอีกเทคโนโลยีอื่นเข้ามาแทนที่ก็มีโอกาสเป็นไปได้อย่างมาก รวมถึงราคาที่ยังสูงอยู่นั้น ก็อาจทำให้ยากในการตัดสินใจลงทุนในขณะนี้

 

แต่เขามาแน่ เพราะอุปกรณ์เสมือนจริงสามารถตอบโจทย์การสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้าในมุมของอุตสาหกรรม 4.0 ที่รัฐได้กำหนดเป็นแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เรารู้จักกันดีในชื่อ 10 อุตสาหกรรม  S-Curve และด้วยความช่วยเหลือของผู้ช่วยดิจิทัลอย่าง SIRI ที่ผู้ช่วยส่วนตัวที่อยู่บนระบบ iOS หรือ Cortana ผู้ช่วยส่วนตัวบนระบบคลาวด์ของ Microsoft จะทำให้อุปกรณ์เสมือนจริงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเราได้เริ่มเห็นเทคโนโลยีนี้ในธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจบริการก่อนธุรกิจอื่น ตัวอย่างในเรื่องนี้คือหุ่นยนต์ของ Japan’s SoftBank Group Corp ที่ชื่อว่า PEPPER ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ในสนามบิน คอยพูดโต้ตอบและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้โดยสารรวมถึงการฉายภาพเสมือนจริงผ่านจอมอนิเตอร์ที่หน้าอก แสดงพื้นที่ภายในสนามบินรวมถึงข้อมูลพื้นฐานอื่นๆ นอกจากนี้ยังสามารถจับมือทักทายรวมถึงการถ่าย selfie ได้อย่างเป็นมิตรด้วย ในรายละเอียดไม่ได้กล่าวถึงการส่งข้อมูลป้อนกลับแบบ Real Time เพื่อรับฟังข้อแนะนำ คำติชมต่างๆ ของผู้โดยสารซึ่งเป็นข้อมูลที่มีคุณค่าที่จะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่หรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการเดิมให้ดีขึ้นเพื่อสร้างประสบการณ์การใช้สินค้าและบริการ (Customer Experience) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญตามแนวคิดของอุตสาหกรรม 4.0 แต่ก็เชื่อว่าด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน การรับข้อมูลดังกล่าวสามารถทำได้ในระดับที่เป็นปัจจุบันได้อย่างแน่นอน ข่าวล่าสุดตอนนี้คือเจ้า PEPPER ได้เดินทางถึงสหรัฐอเมริกาแล้วและได้งานทำที่ Hawking Beer ในฐานะพนักงานเชียร์เบียร์ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์สนามบิน

ในแวดวงการทำงาน อุปกรณ์เสมือนจริงจะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการทำงานตั้งแต่การสัมภาษณ์งานจนถึงการพัฒนาทักษะของพนักงานผ่าน Virtual Reality โดยที่ผู้สมัครสามารถ Showcase ที่เกี่ยวกับทักษะและสมรรถนะของตนเองได้เพื่อเป็นข้อมูลให้บริษัทง่ายต่อการตัดสินใจรับเข้าทำงานโดยสามารถสื่อสารติดต่อกันและกันได้หากบริษัทต้องการข้อมูลเพิ่มเติมแต่คาดว่าเทคโนโลยีนี้จะเกิดขึ้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันก็มีบางบริษัทอย่าง McDonalds ที่มีการใช้ Snapchat ให้เราสามารถส่งรูปหรือวิดีโอสั้นๆ แนะนำตัวเองไปพร้อมกับใบสมัคร ซึ่งเราสามารถแสดงตัวตนของเราผ่านฟิลเตอร์สนุกๆ หรือเขียนตัวหนังสือลงในรูปภาพก่อนจะส่งออกไปได้ ในส่วนของการพัฒนาทักษะนั้น อุปกรณ์เสมือนจริงจะเป็น Trainer ที่ดีในสถานการณ์ที่ไม่สามารถฝึกปฏิบัติได้ในเวลาปรกติ เช่น ในร้านสะดวกซื้อที่มีลูกค้าเข้าร้านตลอดเวลา การให้บริการของโรงพยาบาล 24 ชั่วโมง งานที่มีอันตราย งานที่เสี่ยงกับชีวิตของมนุษย์ เช่น การใช้ VR ฝึกผ่าตัดสมอง รวมถึงงานที่ต้องข้องเกี่ยวกับเครื่องจักรราคาแพงหรือเครื่องจักรที่มีความซับซ้อนในการซ่อมบำรุง มีงานวิจัยที่สนับสนุนประโยชน์ของการใช้ VR ว่าจะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มระดับการเรียนรู้ให้มีความเข้าใจมากขึ้น ลดความผิดพลาดและอุบัติเหตุต่างๆ ได้ ดังนั้นการใช้ VR Training จะเป็นคำตอบที่ดีในการพัฒนาทักษะของเราในอนาคตเพื่อให้เรามีทักษะที่สูงกว่าการตอบโจทย์งานในระดับที่เป็น Basic Customer Care ซึ่งคุณ PEPPER ที่มีความจำดีกว่า เขาทำได้ดีกว่าเรา


สนับสนุนบทความโดย: สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ www.ftpi.or.th