AI ยกระดับการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

AI ยกระดับการผลิต ได้จริงหรือ?

อัปเดตล่าสุด 9 เม.ย. 2562
  • Share :
  • 988 Reads   

AI เป็นเพียง "เครื่องมือ" ไม่ใช่ "เป้าหมาย"

ในการจัดหาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) นั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการมีเป้าหมายที่ชัดเจน ว่าจะนำ AI มาใช้ในกระบวนการทำงานส่วนใด และนำมาใช้เพื่ออะไร ซึ่งแม้จะฟังดูเป็นเรื่องที่ทุกคนน่าจะทราบอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริง มีบริษัทจำนวนมากที่จัดหา หรือพัฒนา AI ขึ้นใช้เอง โดยไม่มีเป้าหมายชัดเจน คิดเพียงว่าจะช่วยให้การผลิตดีขึ้นเท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น การนำ AI มาใช้ในการพัฒนาสายการผลิตเดิมให้เป็นระบบอัตโนมัติ สิ่งแรกที่ต้องคำนึงคือ สายการผลิตนั้น จะใช้ในการผลิตอะไร จะให้ส่วนใดของสายการผลิตเป็นระบบอัตโนมัติ ส่วนใดไม่อัตโนมัติ และส่วนที่นำมาใช้จะทำงานอย่างไร

ในกรณีนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ การนำข้อมูลเดิมที่มีในมือมาตัดสินใจว่าจะพัฒนาระบบส่วนไหน ทำให้มองข้ามผลลัพธ์ไปได้โดยง่าย นำมาซึ่งระบบอัตโนมัติที่ไม่คุ้มค่าแก่การลงทุนเท่าที่ควร เนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่ อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้มองเห็นภาพหลังการติดตั้งระบบอัตโนมัติได้ชัดเจน 

ด้วยเหตุนี้เอง การกำหนดเป้าหมายและความต้องการเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม และมีความสำคัญมากกว่าข้อมูลที่มีอยู่ในมือ เนื่องจาก Machine Learning สามารถช่วยให้การทำงานของระบบแม่นยำขึ้นได้ในภายหลัง และหากมีแนวทางชัดเจนแล้ว ยังทำให้การปรับผังพนักงานสามารถทำได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้อย่างมากที่ในช่วงแรกของการนำ AI มาใช้ การทำงานจะไม่ราบรื่นเท่าที่ควร แต่หากค่อย ๆ ปรับแต่งการทำงานให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ผลลัพธ์ปลายทางก็จะคุ้มค่ากว่าการนำมาใช้โดยไม่เต็มประสิทธิภาพอย่างแน่นอน ซึ่งสิ่งที่ควรตระหนักไว้ก็คือ "AI เป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น"

การกำหนดเป้าหมายของการใช้ AI

เป้าหมายในการนำ AI มาใช้นั้น แม้ภาพรวมคือ “การยกระดับการผลิต” แต่อันที่จริง ควรจะเจาะจงเป้าหมายให้ชัดเจน เช่น นำมาใช้ลดขั้นตอนการทำงาน, ใช้เพิ่มความเร็วในการผลิต, หรือกระทั่งใช้เพื่อโปรโมทบริษัท ซึ่งหากกำหนดไว้ชัดเจนแล้ว ขั้นตอนการนำมาใช้ก็จะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น

นอกจากนี้ การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน อาจทำให้ค้นพบแนวทางการแก้ปัญหาอื่น ๆ ตามมา ซึ่งอาจรวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยไม่จำเป็นต้องใช้ AI ก็เป็นได้ ซึ่งในกรณีเช่นนี้เอง การแก้ไขปัญหาได้โดยไม่ใช้ AI ยอมเป็นเรื่องน่ายินดี เนื่องจากไม่จำเป็นต้องเสียเวลาและงบประมาณเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การจัดหา AI ยังมีประเด็นที่ควรพึงระวังอีกมาก เช่น ในกรณีที่นำ AI มาใช้แทนที่พนักงาน สิ่งที่ต้องคำนึงคือ สามารถแทนที่พนักงานได้กี่คน มีพนักงานที่เกี่ยวข้องในการทำงานส่วนนี้กี่คน จะคุ้มค่าในระยะยาวหรือไม่ แล้วจะมีปัญหาอื่น ๆ ตามมาหรือไม่

อีกสิ่งสำคัญคือการตัดสินใจ ซึ่งการจัดหา AI นั้น ผู้ตัดสินใจไม่ควรเป็นฝ่ายบริหาร หรือผู้มีอำนาจเท่านั้น เนื่องจากการจัดหา AI นั้น ไม่ใช่เพียงการลงทุนเพื่อพัฒนาสายการผลิต แต่เป็นการปรับเปลี่ยนส่วนหนึ่งของการผลิต ซึ่งมีผลกระทบต่อหลายฝ่าย

ยกตัวอย่างเช่น หากตัดสินใจโดยไม่มีผู้เชี่ยวชาญ สิ่งที่อาจตามมาคือความต้องการ AI ที่ “ทำได้ทุกอย่าง” ซึ่งเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากความเป็นจริงเป็นอย่างยิ่ง ในทางกลับกัน หากให้พนักงานในสายการผลิตตัดสินใจกันเอง ก็จะทำให้มองไม่เห็นภาพรวมในระยะยาว อาจนำมาซึ่ง AI ที่มีประโยชน์แค่ในการผลิตล็อตนั้น ๆ หรือหากตัดสินใจโดยไม่มีฝ่ายทรัพยากรบุคคลมาร่วมด้วย ก็อาจนำมาซึ่งการปลดพนักงานโดยไม่มีเหตุอันควร และทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อบริษัทได้เช่นกัน