5G การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ตั้งแต่ไลฟ์สไตล์ จนถึงอุตสาหกรรมการผลิต คุณพร้อมหรือยัง?

อัปเดตล่าสุด 1 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 5,251 Reads   

ในงาน Asia Distributor Meeting 2019 ที่จัดขึ้นเมื่อ 4 ก.ค. 62 ณ โรงงาน Okamoto (Thai) จังหวัดอยุธยานั้น มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลก ซึ่งบรรยายโดย Mr. George Gyo Itoh, Managing Director / Technical Advancement, Technical Research & Development ภายใต้หัวข้อ “The Lifestyle Will be Changed Dramatically by “5G Network” - The Way to Enjoy Coming 2020 Tokyo Olympic Will be Evolved Big Change”


ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ประเทศญี่ปุ่นคาดหวังต่อการจัดโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 เป็นอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่น อยู่ระหว่างการลงทุนโครงสร้างเครือข่าย 5G เพื่อให้ทันต่อการจัดงานในครั้งนี้ จึงทำให้ Olympic 2020 มีอีกชื่อหนึ่งว่า “Information and Communication Technology Olympic (ICT Olympic)” โดยเทคโนโลยี 5G จะถูกนำมาใช้งานจริงอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งในการขนส่งมวลชนที่นำยานยนต์อัตโนมัติเข้ามาเชื่อมต่อ เพื่อนำพาผู้เข้าชมงานสู่บริเวณการจัดงาน การสื่อสารกับผู้เข้าชมงานทั้งข้อมูลการจัดงานและบริการต่าง ๆ แบบเรียลไทม์ผ่านสมาร์ทโฟน การถ่ายทอดสดการแข่งขันรวมถึงอุปกรณ์ไฮเทคที่จะทำให้การรับชมผ่านการถ่ายทอดสดมีความตื่นเต้นสมจริง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ และประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้แก่ผู้เข้าชมงาน Olympic 2020 จากทั่วโลก


เทคโนโลยี 5G สำคัญอย่างไร


เทคโนโลยี 5G ถูกคาดหวังว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอุตสาหกรรมการผลิตเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการรับส่งข้อมูลปริมาณมากด้วยความเร็วสูง (Ultra High-Speed Large Volume) ซึ่งมีความเร็วการรับส่งข้อมูล 10 GB ต่อวินาที เร็วกว่า 4G ถึง 100 เท่า, การเชื่อมต่อเครือข่ายขนาดใหญ่ (Massive Connection) รองรับอุปกรณ์ถึง 1 ล้านชิ้นภายในพื้นที่ 1 ตร.กม., และความล่าช้าต่ำ (Low Latency) นำมาซึ่งการดีเลย์ไม่เกิน 1/1000 วินาที ซึ่งทั้งหมดนี้ ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น แต่จะส่งผลต่อไลฟ์สไตล์อีกด้วย เช่น การดาวน์โหลดมีเดียไฟล์ขนาด 1 GB ภายใน 1 วินาที ยานยนต์อัตโนมัติที่สามารถหยุดรถได้ภายใน 0.0028 เมตร และอื่น ๆ โดยมีบริษัท IT จากจีนเป็นผู้นำตลาดในเทคโนโลยีเหล่านี้ ซึ่งความคืบหน้าของสภาพแวดล้อม 5G นั้นเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของโทรศัพท์มือถือ


ในปี 2018 ตลาดโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของโทรศัพท์มือถือทั่วโลกมีมูลค่า 30.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีเทคโนโลยีจากจีนครอบครองส่วนแบ่งตลาดใหญ่สุด 38% ซึ่งมาจาก Huawei 26% และ ZTE 12% อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบตัวเลขตามผู้เล่นแล้ว Huawei เป็นผู้นำตลาดอันดับ 2 รองจาก Ericsson ที่มีส่วนแบ่งตลาด 29% อย่างไรก็ตาม ด้วยพัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดและการเติบโตอย่างรวดเร็วของ Huawei นี้เองที่ทำให้ถูกจับตามอง และเป็นผู้ทรงอิทธิพลอย่างยิ่ง สำหรับประเทศญี่ปุ่นแล้ว Huawei มีการสั่งซื้อชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์ญี่ปุ่นมากถึง 730 พันล้านเยนเลยทีเดียว หรือคิดเป็น 40% ของยอดขายเครื่องจักรญี่ปุ่น


เทคโนโลยีของ Huawei มีความก้าวหน้าอย่างมาก สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาด 5G ทั่วโลก ด้วยความเร็วเครือข่าย 5G ของ Huawei ซึ่งเรียกได้ว่าเร็วที่สุดในโลกขณะนี้ เป็นผลจากการใช้โครงสร้างผ่านดาวเทียมที่เรียกว่า “Quasi-Zenith Satellite System” โดยญี่ปุ่นก็ได้สร้างดาวเทียม Michibiki No. 4 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานนี้ด้วย และ Grinding Machine ของ Okamoto ก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างดาวเทียมนี้เช่นกัน โดยถูกใช้ในการผลิตกล้องโทรทรรศน์

ด้วยพัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดของประเทศจีนเช่นนี้เองที่คุกคามต่อสหรัฐฯ และเป็นหนึ่งในแรงกดดันต่อความขัดแย้งระหว่างสองประเทศที่กำลังดำเนินอยู่นี้ 


ญี่ปุ่นคาดการณ์ 5G กระตุ้นเศรษฐกิจ 50 ล้านล้านเยน


อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า การมาของ 5G จะนำมาซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่ากว่า 50 ล้านล้านเยน และกระตุ้นให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทั้งความต้องการชิ้นส่วนที่มีคุณภาพระดับ Super Finishing สำหรับใช้ในบริการทางการแพทย์ เช่น Surgical robot และ Nursing care robot ความต้องการ Power Devices และ 5G ICs สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์อัตโนมัติ ความต้องการเซนเซอร์สำหรับ IoT ในเครื่องจักรและระบบส่งผ่านข้อมูล รวมถึงคลังสินค้าอัตโนมัติ ความต้องการ Thin Film Solar / Organic Electro Luminescene / Extrusion Dies สำหรับ Storage battery / Flexible solar cell / IoT ในอุปกรณ์ไฟฟ้าและสมาร์ทโฮม  จะเห็นได้ว่า ตลาดใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่เทคโนโลยี 5G มาถึงนั้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ตั้งแต่ไลฟ์สไตล์ ไปจนถึงอุตสาหกรรมการผลิต 


5G เสริมสร้างโอกาสให้ Okamoto อย่างไร


โดย 5G จะสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่สำคัญ อาทิ Surface Acoustic Wave Filter (SAW Filter), Automotive Device, Power Semiconductor Divice, Z-NAND / 3D Xpoint / MRAM, Phase Change Memory ซึ่งวัสดุที่นำมาใช้ในการผลิตเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนต้องการ Nano-level Planarization จึงนำมาซึ่งการเพิ่มโอกาสความต้องการใช้ Grinding Machine ในอนาคต โดย Okamoto อยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับช่วงความถี่ที่สูงขึ้นของ 5G ซึ่งต้องมีค่า TTV: Total Thickness Variation ที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.2µm สำหรับแผ่นเวเฟอร์ 300 มม.  และการที่ Okamoto เป็นผู้ครอบครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดสำหรับเครื่องขัดเงาผิวในการผลิตซิลิคอนเวเฟอร์ (Si Wafer) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในเซมิคอนดัคเตอร์ โดยเครื่องดังกล่าวมีความโดดเด่นด้วย HAGS: High Pressure water Assisted Grinding System จึงเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ดีในการต่อยอดการเติบโตในโอกาสนี้

อย่างไรก็ตาม ในสภาพแวดล้อมปัจจุบันท่ามกลางยุค Industry 4.0 นั้น Okamoto ได้เปิดตัว “SELF” เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดย SELF เป็นระบบเชื่อมต่อแรกของอุตสาหกรรมที่รองรับ IoT ซึ่งจะเก็บข้อมูลการทำงานส่วนต่าง ๆ ของเครื่องจักร นำไปวิเคราะห์และประมวลผล เพื่อควบคุมการทำงานของเครื่องจักร โดยระบบจะมีอุปกรณ์ตรวจวัดและเซนเซอร์ติดตั้งในส่วนต่าง ๆ ของเครื่อง เช่น Strain sensor บน Ball Screw, รางเลื่อนทั้งแกน X,Y,Z, และจุดอื่น ๆ รวมถึง Vibration sensor, Thormo sensor, และอื่น ๆ จึงทำให้การควบคุมการทำงานของเครื่องจักรเป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ และสามารถเชื่อมต่อข้อมูลกับสายการผลิตโดยรวมได้

ด้วยเหตุนี้เอง Okamoto จึงพัฒนาเทคโนโลยีที่จะตอบสนองต่อตลาดที่ต้องการความแม่นยำสูงสุด (The Ultra Precision Market) และรองรับ IoT, Big Data, AI เพื่อมุ่งหน้าเข้าสู่ยุค Society 5.0 สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ของสหประชาชาติ (UN) ที่กุญแจสำคัญของการผลิตสำหรับโลกในยุค 5G จะต้อง Sustainable, Reusable, Replaceable ซึ่งนำสู่แนวคิดในการพัฒนาให้ทุกชิ้นส่วนหลักจะต้องรักษาความถูกต้องซ้ำ ๆ ได้ (Repeatable accuracy) และสามารถทำซ้ำได้ ทุกที่ ทุกเวลา (Repeatable anywhere anytime)