C.C.S. Group ผู้ผลิตชิ้นส่วน Aerospace คาด โต 100% ได้ภายใน 5 ปี

อัปเดตล่าสุด 8 พ.ค. 2561
  • Share :
  • 6,165 Reads   

ถ้าพูดถึงบริษัทผลิตชิ้นส่วนที่มีเครื่องจักรที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย C.C.S. Group เป็นบริษัทอันดับต้น ๆ ที่เรานึกถึง ด้วยความสามารถในการผลิตและประกอบชิ้นส่วนให้กับกลุ่มอากาศยานทั้งในระดับเทียร์ 1 และ 2 อาทิเช่น UTC, MEGGITT, MOOG Aircrafts, AEROCONTROLEX, EATON และ TRIUMPH  โดยบริษัทเหล่านี้เป็นผู้ซัพพลายชิ้นส่วนให้กับโบอิ้ง แอร์บัส และบอมบาร์เดียร์ โดย Mr. Ketan Pole ผู้บริหารระดับสูง (Chief Executive Officer) ของ C.C.S. Group ได้เปิดเผยกับ M Report อย่างมั่นใจถึงตัวเลขคาดการณ์ที่จะเติบโตขึ้นอย่างน้อย 100% ในอีก 5 ปีข้างหน้า มาดูกันว่าอะไรที่ทำให้เขาคิดแบบนั้น?

ลักษณะธุรกิจของ C.C.S. Group

C.C.S. เป็นหนึ่งในบริษัทระดับโลกที่ให้บริการด้าน “งานผลิตแบบครบวงจร (One Stop Manufacturing Company)” ด้วยเครื่องจักร CNC มากกว่า 300 เครื่องและพนักงานมากกว่า 1,000 คน ในกลุ่มธุรกิจ Non-Aerospace นั้นได้ให้บริการงานผลิตตามแบบ (Build to Print Manufacturing) แก่ผู้ใช้ปลายทาง (End user) อาทิเช่น Minebea, YAMAHA, P&G Gillette USA, INA Schaeffler และอื่น ๆ โดยชิ้นส่วนกว่า 70% จะส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและยุโรป

ด้วยความสามารถในการผลิตที่หลากหลาย จึงมีความพร้อมที่จะให้บริการงานผลิตทั้งในรูปแบบงานจ้างผลิตเพียงครั้งเดียว (One-off) การสั่งผลิตจำนวนน้อย (Small batch) และการสั่งผลิตจำนวนมาก (Mass production) โดยได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลกและนำระบบ SAP / ERP มาใช้ควบคุมการผลิตอีกด้วย สำหรับการทำงานผลิตนั้นได้แบ่งเป็นแผนกต่าง ๆ ดังนี้

  • แผนกรับจ้างผลิต (Job shop) : ได้รับมาตรฐาน ISO 9001 รับงานผลิตตามแบบ (Build to Print Manufacturing) สำหรับทุกอุตสาหกรรม, งานผลิตชิ้นส่วนที่ต้องการความแม่นยำสูงสำหรับผู้ผลิตอุปกรณ์ อุตสาหกรรมแบริ่ง อุตสาหกรรมการผลิตใบมีดโกน อุตสาหกรรมด้านอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ ชิ้นส่วนอะไหล่สำหรับอุตสาหกรรมทูลส์และแม่พิมพ์ อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และอุปกรณ์จับยึด  (Jigs & Fixtures) สำหรับทุกอุตสาหกรรม
  • แผนกอากาศยาน (Aerospace) : ได้รับมาตรฐาน AS9100 และ NADCAP โดยเป็น Direct OEM ในการผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบอากาศยานระดับโลก ด้วยความพร้อมของเครื่องจักร CNC ที่นำมาใช้ในการผลิตและอีกหลายกระบวนการพิเศษภายในโรงงาน
  • แผนกแม่พิมพ์ (Mold & Die) : ได้รับมาตรฐาน ISO 9001 ให้บริการด้าน “การออกแบบ, สร้างและประกอบ (Design, Build and Assembly)” ทูลส์สำหรับแม่ปั๊มโลหะ แม่พิมพ์ฉีดพลาสติก และแม่พิมพ์ยาง
  • แผนกปั๊มขึ้นรูปโลหะ (Metal stamping production) : รับผลิตงานปั๊มขึ้นรูปโลหะทั้งงานจำนวนมากและงานจำนวนน้อย
  • งานด้านโลหะแผ่น : งานตัดด้วยเครื่อง Water Jet, เครื่องตัดเลเซอร์, งานตัดเจาะด้วยเครื่อง CNC Turret punching, shearing และงานตัดพับด้วยเครื่อง Press brake
  • แผนกฉีดพลาสติก (Plastic Injection production) : รับผลิตแม่พิมพ์ฉีดพลาสติกสำหรับชิ้นส่วนงานผลิตทั้งงานจำนวนมากและงานจำนวนน้อย
  • การผลิตพลาสติกขึ้นรูปในแบบสูญญากาศ (Plastic vacuum thermoforming) : รับผลิตพลาสติกขึ้นรูปในแบบสูญญากาศ รวมถึงการออกแบบและสร้างทูลส์
  • แผนกอุปกรณ์ภาคพื้นสำหรับใช้ในสนามบิน (Aviation ground support equipment division) : ออกแบบ ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ภาคพื้นสำหรับใช้ในสนามบิน ได้รับมาตรฐาน NADCAP สำหรับ Non-Destructive Testing (NDT)
  • ให้บริการสอบเทียบมาตรวัดตามมาตรฐาน ISO / IEC 17025

ความหลากหลายของธุรกิจ

ภายใต้วิสัยทัศน์และทิศทางด้านยุทธศาสตร์โดย คุณบุญเจริญ มโนบูรชัยเลิศ  ผู้ก่อตั้งและเริ่มต้นธุรกิจนี้ในปี 1989 เพียงลำพังด้วยเครื่องจักรหนึ่งเครื่องและลูกค้าเพียงหนึ่งเดียว นั่นคือ "Minebea" ต่อมาในปี 1997 ผม (Mr.Ketan Pole) ได้เข้ามาร่วมงานกับคุณบุญเจริญด้วยความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคและการบริหาร

ปรัชญาของคุณบุญเจริญนั้น ได้เปรียบ C.C.S. เหมือน "โต๊ะที่มี 20 ขา" ดังนั้น แม้จะมีเพียงไม่กี่ขาหักไป แต่โต๊ะก็จะไม่ทรุดลงมา ด้วยพื้นฐานความคิดนี้เราจึงพยายามเพิ่มจำนวนความสามารถให้กับลูกค้าต่าง ๆ เราเพิ่มจำนวนลูกค้าทุกปีอย่างสม่ำเสมอ พร้อมไปกับเพิ่มเครื่องจักรใหม่ทุกปีเช่นกัน การทำงานที่ C.C.S. จึงเป็นการทำงานอย่างหนัก และก็เป็นการทำงานอย่างสมาร์ทด้วย หลังจากที่เรานำระบบ SAP / ERP ซึ่งเป็นมาตรฐานการทำงานในระดับโลกมาใช้ C.C.S. จึงเติบโตอย่างมาก โดยเป็นบริษัทไทยบริษัทแรกที่ผลิตชิ้นส่วน Precision parts ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและยุโรป และยังเป็นบริษัทแรกของไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน AS9100 และ NADCAP, ได้ทำงานให้แก่ GE, และดำเนินการนำระบบ SAP มาใช้ด้วยเวลาเพียง 17 สัปดาห์

กลยุทธ์สำคัญของ C.C.S. คือ การรักษาธุรกิจหลักอย่าง  job shop, build to print และอุตสาหกรรมสนับสนุนต่าง ๆ ในขณะที่เน้นการเติบโตอย่างดุดันในอุตสาหกรรมอากาศยาน ปัจจุบัน C.C.S. Group มีการเติบโตของรายได้เป็น 12 เท่านับจากปี 1997 และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาธุรกิจอากาศยานได้สร้างการเติบโตมากกว่า 400% และเราคาดหวังอย่างมากถึงการเติบโตในหลายปีข้างหน้า

C.C.S. กับธุรกิจอากาศยาน เริ่มต้นอย่างไร

ก่อนหน้านี้ ผมเคยทำงานเกี่ยวกับยานส่งดาวเทียม (Satellite launching vehicles)  ซึ่งเป็นการผลิตมอเตอร์จรวด โดยในปี 2005 ผมได้เสนองานเข้าไปที่ GE ประเทศไทย เพื่อซัพพลายการผลิตอุปกรณ์จับยึดและคัทติ้งทูลส์  ด้วยผลงานที่ยอดเยี่ยมของเราในครั้งนั้น ทำให้ได้รับการทาบทามจาก GE ในเวลาถัดมาอีก 1 ปีเพื่อให้เราซัพพลายการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานส่งตรงให้เขา ซึ่งเราไม่รอช้าและเร่งดำเนินการเพื่อให้ได้การรับรองมาตรฐาน AS9100 และ S1000 ในเวลาอันสั้นที่สุด

เส้นทางการเติบโตในธุรกิจอากาศยานของ C.C.S. 

หลังจาก GE ย้ายออกจากประเทศไทยในปี 2009 เราจึงได้พัฒนาธุรกิจกับ Goodrich, MEGGITT, UTAS, กลุ่ม Aerocontrolex, EATON, MOOG และกลุ่ม Triumph ในตอนนั้นเราตระหนักถึงความจำเป็นอย่างมากที่ต้องมี Facility ต่าง ๆ สำหรับการทำกระบวนการพิเศษในการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในประเทศไทย เราจึงนำ Facility เหล่านั้นเข้ามาในโรงงานของเรา อาทิเช่น การชุบผิวอลูมิเนียม (Anodizing), การทำทรีทเมนต์ผิวโลหะ (Passivation), การชุบฮาร์ดโครม (Hard chrome plating), การชุบเคลือบผิวแบบไม่ใช้ไฟฟ้า (E-Ni), การพ่นและรองพื้น (Paint / Primer), และกระบวนการต่าง ๆ เกี่ยวกับ Non-Destructive Testing (NDT) ทั้งหมดนี้เราได้รับมาตรฐาน NADCAP ซึ่งมีบริษัทในประเทศไทยไม่มากนักที่จะได้รับมาตรฐานดังกล่าว ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ทำให้เราเติบโตมากกว่า 400% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาในธุรกิจนี้และชิ้นส่วนอากาศยานทั้งหมดส่งออกต่างประเทศ

กุญแจแห่งความสำเร็จของ C.C.S. 

โดยพื้นฐานแล้ว การพูดภาษาอังกฤษเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในธุรกิจอากาศยาน เอกสารในการทำงานทั้งหมดนั้นเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้น พนักงานที่อยู่ในตำแหน่งหลักตั้งแต่ระดับกลางไปจนถึงผู้บริหารระดับสูงสามารถพูดภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี และระบบที่เราใช้ทั้งหมด ตัวอย่างเช่น SAP เราก็ใช้เป็นภาษาอังกฤษ

ส่วนคุณสมบัติที่สำคัญไม่แพ้กันในการเข้ามาอยู่ในธุรกิจ Aerospace นั่นก็คือ "หลงใหลในธุรกิจนี้ มีความอดทน และไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ (Passion, Patience and Perseverance)"

โดยส่วนใหญ่ คนทั่วไปต้องการสร้างรายได้อย่างรวดเร็วในการทำธุรกิจ แต่ธุรกิจอากาศยานนั้นเป็นธุรกิจระยะยาวและเป็นธุรกิจเชิงกลยุทธ์ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่มาใหม่ พวกเขาต้องเตรียมตัวเป็นอย่างมาก และจะต้องผ่านหลายขั้นตอนกว่าที่จะเข้ามาอยู่ในธุรกิจนี้ได้สำเร็จ

ก้าวถัดไปของ C.C.S. 

ตอนนี้เราอยู่ในโปรแกรมซัพพลายชิ้นส่วนสำหรับรุ่น 777,787, A320, A350, A380, C Series, MRJ, AW139, และอื่นๆ แม้ว่า 5 ปีที่ผ่านมาเราเติบโตขึ้นมากกว่า 4 เท่า (400%) แล้ว แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้าเรายังต้องการการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ดังนั้น เราคาดหวังว่าอย่างน้อยที่สุดเราจะเติบโตขึ้นปีละ 20%  แต่ถ้าหากเร็ว ๆ นี้มีโครงการใหญ่ ๆ เข้ามา ตัวเลขคาดการณ์ของเราก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยอย่างแน่นอน เรากำลังมองหาโอกาสที่จะเติบโตมากกว่านี้ และนี่คือวิธีที่เรามองตลาด เราจึงคาดว่าจะมีการเติบโตอย่างน้อย 100% ได้ใน 5 ปีข้างหน้า

C.C.S. เห็นอะไรบ้างจากตัวเลขประเมินความต้องการเครื่องบินทั่วโลก 32,600 ลำในอีก 20 ปีข้างหน้าโดย Airbus

เรากำลังแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ที่มีต้นทุนที่ดีที่สุด (The Best Cost Countries) ในขณะที่ประเทศเรามีข้อเสียเปรียบในธุรกิจอากาศยาน เพราะว่าเราไม่ได้เป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องบิน แต่เราเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ ทำให้เรามี Toyota Honda และแบรนด์รถยนต์อื่น ๆ มาตั้งโรงงานที่นี่ ดังนั้น ในประเทศไทยคุณจึงไม่ได้เห็นโรงงานผลิตเครื่องบินอย่าง Boeing Airbus รวมถึงผู้ผลิตเครื่องยนต์และชิ้นส่วนในระดับเทียร์ 1

สำหรับนโยบายภาครัฐบาลที่มุ่งเน้นให้ประเทศไทยเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือที่เรียกว่า MRO นั้นจะเป็นคนละหมวดธุรกิจกันกับการผลิตชิ้นส่วน จึงไม่ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยมากนัก เราเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วน OEM ซึ่งคู่แข่งหลักของเราคือ มาเลเซีย ไต้หวัน เกาหลี อินเดีย และจีน ประเทศเหล่านี้รัฐบาลของเขาให้การสนับสนุนผู้ผลิตในประเทศอย่างจริงจังเพื่อสร้างคลัสเตอร์ผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน

C.C.S. มีความเชื่อมั่นในการเติบโตตามธรรมชาติ (Organic Growth) ดังนั้นเราจึงไม่ควบรวมหรือซื้อกิจการเพื่อให้ บริษัท เติบโต

สำหรับความท้าทายของผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย:

  • การสนับสนุนทางการเงินอย่างจริงจังเพื่อใช้ในการลงทุนช่วงเริ่มต้น
  • การสร้างแรงงานที่มีฝีมือกลุ่มอาชีวะมากกว่าวิศวกรที่มีการศึกษาสูง

ดังนั้น เพื่อจะคว้าโอกาสความต้องการทั่วโลกนี้ ประเทศไทยจะต้องสร้างอำนาจในการเจรจาต่อรองด้วยการสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศให้แข่งขันได้

สิ่งที่ควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย

  • การส่งเสริมปัจจุบันสำหรับ Fforeign Direct Investment (FDI) เพื่อมุ่งเน้นด้านศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) และสนามบิน สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ SME ในประเทศไทยนั้นควรมุ่งเน้นไปที่การผลิตชิ้นส่วน OEM
  • ประเทศมาเลเซีย ไต้หวัน เกาหลี อินเดีย และจีน เป็นคู่แข่งหลักสำหรับการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานของประเทศไทย
  • รัฐบาลมาเลเซียช่วยผู้ประกอบการในประเทศด้วยการให้เงินอุดหนุนขั้นต้นสำหรับเครื่องจักร CNC เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าสู่ธุรกิจนี้ได้และให้พวกเขาสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว โดยรัฐบาลฯ ได้เสนอเงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ นอกจากนี้ ยังมีโปรโมชั่นที่ดีกว่าในการดึงดูดผู้ผลิตระดับ Tier1 และ Tier 2 ให้เข้ามาลงทุน
  • รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเปรียบเทียบความสำเร็จของเราเองกับประเทศอื่น ๆ  โดยธุรกิจชิ้นส่วนอากาศยานนี้ ประเทศไทยมีบริษัทได้รับมาตรฐาน AS9100 น้อยกว่า 15 ราย ในขณะที่มาเลเซียมีมากกว่า 60 ราย และสิงคโปร์มีมากกว่า 100 ราย

ทำไมวันนี้ประเทศไทยถึงเติบโตในอุตสาหกรรมยานยนต์? นั่นก็เป็นเพราะโตโยต้าลงทุนที่นี่ ฮอนด้าลงทุนที่นี่ เมอร์ซิเดสลงทุนที่นี่ ทำให้ ผู้ผลิตชิ้นส่วนในระดับ (Tier) ถัดไปเกิดการพัฒนาและคลัสเตอร์ SME ก็เติบโตขึ้นได้

อนาคตสำหรับผู้ประกอบการไทยในธุรกิจ Aerospace ในอีก 5 ปีข้างหน้า

ผมมองว่า บริษัทไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ได้รับมาตรฐานการรับรองด้านอากาศยานนั้นจะเติบโตได้ 100% ในอีก 5 ปีข้างหน้า และยังมีโอกาสอีกมากสำหรับนักลงทุนต่างชาติในโครงการ EEC โดยเฉพาะ MRO โปรเจ็กต์ สำหรับผู้ประกอบการไทยระดับ SME และผู้ประกอบการรายใหม่ที่เติบโตตามธรรมชาติ (Organic Growth) นั้น คงจะเป็นเรื่องยากที่จะคว้าโอกาสนี้ได้ถ้ารัฐบาลไม่มีวิธีการที่แตกต่างออกไป