กรณีศึกษา: สิงคโปร์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยแผนยุทธศาสตร์ “Smart Nation”
สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีประชากรเพียง 6 ล้านคน(1) อีกทั้งยังเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติจำกัด ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวมิได้ทำให้สิงคโปร์ด้อยการพัฒนาแต่กลับทำให้สิงคโปร์มีความเจริญแบบก้าวกระโดดและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสิงคโปร์มีการวางแผนเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีซึ่งมีนโยบายผลักดันประเทศสู่การเป็นประเทศอัจฉริยะ หรือ Smart Nation ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลอย่างรอบด้านเพื่อนำพาประเทศสู่ความอัจฉริยะในทุกมิติทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและพลังงาน
แผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ตอนที่ 2 กรณีศึกษา: สิงคโปร์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ด้วยแผนยุทธศาสตร์ “Smart Nation” เพื่อศึกษาแนวคิดการพัฒนาของสิงคโปร์และนำมาเป็นต้นแบบหรือแนวทางในการพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ให้ก้าวสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะอย่างมีประสิทธิภาพ รายละเอียด ดังต่อไปนี้
1 Worldometers (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2566)
สิงคโปร์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ด้วยแผนยุทธศาสตร์ “Smart Nation”
ที่มา: Smart Nation Singapore
ยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญของสิงคโปร์ในการนำพาประเทศสู่การเป็น “ประเทศอัจฉริยะ” คือ “Smart Nation” เป็นการนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการจัดการกับปัญหาและสร้างโอกาสใหม่ ๆ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) โดยมีวิสัยทัศน์ คือ ให้ประชาชนสิงคโปร์ดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จ รวมถึงมีเทคโนโลยีที่ลงตัว เพื่อมอบโอกาสดี ๆ ให้กับทุกคนนอกจากนี้สิงคโปร์ยังตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำระดับโลกที่ขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยี รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนสิงคโปร์มีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน
- ผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำ 450 บาท ต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย
- กรณีศึกษา : การยกระดับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ ผ่านแผนยุทธศาสตร์ Korean New Deal
- FTA ไทย-อียู ส่งผลต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยอย่างไร
ภาพรวมการค้าของสิงคโปร์
สำหรับภาพรวมการค้าของสิงคโปร์ในช่วงปี 2013-2022 พบว่า การนำเข้าสินค้าของสิงคโปร์มีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ร้อยละ 2.27 หรือมีมูลค่าการนำเข้าจาก 388,162 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2013 เพิ่มขึ้นเป็น 475,232 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 สินค้าหลักที่สิงคโปร์นำเข้าในปี 2022 ได้แก่ สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (HS 84 และ HS 85) โดยมีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 46.3 และสินค้าเชื้อเพลิงที่ได้จากแร่ น้ำมันแร่และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นสิ่งดังกล่าว สารบิทูมินัส ไขที่ได้จากแร่ (HS 27) ร้อยละ 22.1 ส่วนประเทศคู่ค้าหลักที่สิงคโปร์นำเข้าสินค้า ได้แก่ จีน มาเลเซียและไต้หวัน
ในขณะที่ การส่งออกสินค้าของสิงคโปร์มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 2.29 หรือมีมูลค่าการส่งออกจาก 420,056 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี2013 เพิ่มขึ้นเป็น 514,863 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 สินค้าหลักที่สิงคโปร์ส่งออก ได้แก่ สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (HS 84 และ HS 85) โดยมีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 49.8 และสินค้าเชื้อเพลิงที่ได้จากแร่ น้ำมันแร่และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นสิ่งดังกล่าว สารบิทูมินัส ไขที่ได้จากแร่ (HS 27) ร้อยละ 12.7 ขณะที่ประเทศคู่ค้าที่สิงคโปร์มีสัดส่วนการส่งออกสินค้ามากที่สุด ได้แก่ จีน ฮ่องกงและมาเลเซีย
กราฟที่ 1 ภาพรวมมูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าของสิงคโปร์ปี 2013-2022
ที่มา: Global Trade Atlas รวบรวมและวิเคราะห์โดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่สู่แผนยุทธศาสตร์ Smart Nation ของสิงคโปร์
เมื่อปลายปี 2014 สิงคโปร์ได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์ Smart Nation ที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการบริหารประเทศโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ชาวสิงคโปร์มีความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืน ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ Smart Nation ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) และสังคมดิจิทัล (Digital Society) เพื่อช่วยขับเคลื่อนหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ด้านที่ 1 เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) มุ่งเป็นศูนย์กลางข้อมูลข่าวสารในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและสร้างโอกาสให้กับประชาชนสิงคโปร์ โดยเมื่อปี 2018 รัฐบาลได้ประกาศแผนปรับธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งหมดเข้าสู่ยุคดิจิทัล เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตทั้งระบบ โดยมีกลยุทธ์หลัก 3 ประการใน Digital Economy Framework for Action คือ 1) เร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจมุ่งให้เป็นอุตสาหกรรมและธุรกิจดิจิทัล รวมทั้งยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มที่ 2) พัฒนาระบบนิเวศเพื่อให้ธุรกิจต่าง ๆ สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ และ 3) เปลี่ยนภาคส่วน Infocomm ให้เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของชาวสิงคโปร์ โดยจะมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) สื่อเสมือนจริง (Immersive Media) Internet of Things (IoT) และความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity)
ด้านที่ 2 รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) คือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือหลักในการบริหารงานและบริการประชาชน โดยปรับปรุงการบริหารจัดการและบูรณาการข้อมูลภาครัฐและการทำงานให้มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงเข้าด้วยกันอย่างมั่นคง ปลอดภัยและมีธรรมาภิบาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชนและเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากแนวคิด “Moments of Life” รัฐบาลสิงคโปร์ได้พัฒนาแอปพลิเคชันที่รวบรวมบริการของหน่วยงานรัฐไว้ในที่เดียว เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและเอกชนให้สามารถติดต่อรัฐบาลได้สะดวกมากขึ้น โดยแอปพลิเคชันดังกล่าว คือ LifeSG ที่ครอบคลุมในทุกมุมของชีวิต ตั้งแต่การแจ้งเกิดการแจ้งตาย การทำพาสปอร์ต การยื่นภาษี เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะ Big Data Internet of Things (IoT) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาพัฒนาแอปพลิเคชัน/โปรแกรมต่าง ๆ ในหลายด้านเพื่อมุ่งสู่รัฐบาลดิจิทัล เช่น โปรแกรม Reroute (โปรแกรมจำลองการวางแผนรถประจำทาง) การพัฒนาเซนเซอร์พืชและดิน (Plant and Soil Sensor) เพื่อติดตามสุขภาพของต้นไม้ในสวนสาธารณะ รวมถึงระบบรดน้ำอัตโนมัติเพื่อลดต้นทุนกำลังคน เป็นต้น อีกทั้งในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้มีการนำวิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics) เข้ามามีบทบาทในการดำเนินงานมากขึ้น เช่น การใช้หุ่นยนต์เพื่อจัดส่งสิ่งของจำเป็นให้กับผู้ป่วย เพื่อลดการสัมผัสกันโดยตรงระหว่างเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และผู้ป่วย เป็นต้น
ด้านที่ 3 สังคมดิจิทัล (Digital Society) มุ่งให้เกิดความรู้และความเข้าใจเรื่องดิจิทัลในระดับชาติ เพื่อให้ประชาชนสิงคโปร์ทุกคนมีทักษะ ความมั่นใจ และแรงจูงใจในการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน รวมถึง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะมุ่งเน้นให้ประชาชนสิงคโปร์ทุกวัยมีทักษะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ โดยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของประชาชนสิงคโปร์มากขึ้น เช่น การบริการของ รัฐบาลดิจิทัล การทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ (e-Payment) รวมถึงความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความปลอดภัย ทางไซเบอร์ เป็นต้น
ภาพที่ 1 ภาพรวมของยุทธศาสตร์ Smart Nation ของสิงคโปร์
ที่มา: Singapore’s Smart Nation รวบรวมโดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
นอกจากการมุ่งสู่การเป็น Smart Nation แล้ว สิงคโปร์ยังให้ความสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วยโดยมีแผนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือ Singapore Green Plan 2030 ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติสำหรับการพัฒนาประเทศแบบยั่งยืน ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ 1) เมืองในธรรมชาติ (City in Nature) 2) การใช้ชีวิตแบบยั่งยืน (Sustainable Living) 3) ปฏิรูปการใช้พลังงานแบบใหม่ (Energy Reset) 4) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และ 5) อนาคตที่ยืดหยุ่น (Resilient Future) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญต่าง ๆ เช่น การยุติการจดทะเบียนรถยนต์ดีเซล ภายในปี 2025 การเพิ่มที่ชาร์จรถไฟฟ้าจาก 28,000 จุดเป็น 60,000 จุดภายในปี 2030 การลดการใช้พลังงานให้ได้ ร้อยละ 15 ภายในปี 2030 เป็นต้น
ภาพที่ 2 ภาพรวมของ Singapore Green Plan 2030 ของสิงคโปร์
ที่มา: Singapore Green Plan 2030 รวบรวมโดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ภาพรวมการค้าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสิงคโปร์
สำหรับภาพรวมการค้าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสิงคโปร์ในช่วงปี 2013-2022 พบว่า การนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสิงคโปร์มีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปี (CAGR)ที่ร้อยละ 5.98 หรือมีมูลค่าการนำเข้าจาก 103,007 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2013 เพิ่มขึ้นเป็น 173,773 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สำคัญที่สิงคโปร์นำเข้าในปี 2022 ได้แก่ สินค้าวงจรรวมและสินค้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนประเทศคู่ค้าหลักที่สิงคโปร์นำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้แก่ ไต้หวันและจีน
ขณะที่ การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสิงคโปร์มีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ร้อยละ 3.89 หรือมีมูลค่าการส่งออกจาก 140,896 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2013 เพิ่มขึ้นเป็น198,704 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สำคัญที่สิงคโปร์ส่งออกในปี 2022 อันดับ 1 และอันดับ 2 เป็นสินค้าประเภทเดียวกันกับที่สิงคโปร์นำเข้าสูงสุด คือ สินค้าวงจรรวมและสินค้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์และประเทศคู่ค้าหลักที่สิงคโปร์ส่งออกสินค้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้แก่ ฮ่องกงและจีน ซึ่งสิงคโปร์เป็นฝ่ายได้ดุลการค้า
ภาพที่ 3 ภาพรวมมูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสิงคโปร์ปี 2022
ที่มา: Global Trade Atlas รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์โดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
หมายเหตุ: 1) จัดกลุ่มสินค้าอ้างอิงตามศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EIU)
2) ร้อยละ (%) หมายถึง ค่าส่วนแบ่งการตลาด
แผนยุทธศาสตร์ Smart Nation ของสิงคโปร์กับการสนับสนุนการเติบโตของ Smart Domain
สิงคโปร์มีแผนยุทธศาสตร์ Smart Nation ที่มุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) และสังคมดิจิทัล (Digital Society) โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ได้มีการสนับสนุนการเติบโตของผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 5 กลุ่ม ได้แก่ โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) บ้านอัจฉริยะ (Smart Home) โรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) ตลอดจนผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อยกระดับให้สิงคโปร์ก้าวเข้าสู่ประเทศอัจฉริยะ
ยุทธศาสตร์ Smart Nation ของสิงคโปร์ มีการสนับสนุนให้ภาคเอกชนนำโซลูชัน Industry 4.0 มาประยุกต์ใช้ เช่น ระบบอัตโนมัติ (Automation) วิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics) Internet of Things (IoT) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เป็นต้น เพื่อพัฒนาสู่การเป็นโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) โดยตัวอย่างการนำเทคโนโลยีขั้นสูง (Advanced Technology) มาประยุกต์ใช้ เช่น การใช้ AI ตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อลดความผิดพลาดในงานที่มีความละเอียดสูง การใช้ AI วางแผนการผลิตขั้นสูง ตลอดจนการใช้ AI
คาดการณ์การใช้พลังงานและปล่อยพลังงาน เพื่อหากระบวนการผลิตที่เหมาะสมที่สุดที่สามารถลดการปล่อยมลพิษให้น้อยลง เป็นต้น และตัวอย่างการใช้หุ่นยนต์ในภาคการผลิต เช่น หุ่นยนต์แพ็กสินค้า หุ่นยนต์จัดคลังสินค้า เป็นต้น นอกจากการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมแล้ว การพัฒนาทักษะของบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงก็เป็นสิ่งจำเป็นที่สิงคโปร์ให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน เช่น การฝึกอบรมทักษะใหม่ ๆ แก่พนักงาน เป็นต้น
ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากโดยมีการสนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ มาพัฒนาและยกระดับไปสู่บ้านอัจฉริยะ (Smart Home) เพื่อให้ประชาชนชาวสิงคโปร์มีความเป็นอยู่ที่ดี มีความสะดวกสบายและมีความปลอดภัยในการดำรงชีวิต เช่น มิเตอร์อัจฉริยะ (Smart Meters) สำหรับการตรวจสอบการใช้และการรั่วไหลของน้ำเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นให้กับเจ้าของบ้าน การควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านผ่านสมาร์ทโฟน สามารถช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้อยู่อาศัยได้มากขึ้น ตลอดจนเครื่องตรวจจับอัจฉริยะ (Smart Sensor) ที่ตรวจจับความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกแล้ว ยังช่วยเรื่องความปลอดภัยได้ด้วยทั้งนี้ สิงคโปร์ยังให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน โดยมีการติดตั้งปุ่มแจ้งเตือนส่วนบุคคลภายในบ้านของผู้สูงอายุ (Personal Alert Button: PAB) เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ผู้สูงอายุสามารถขอความช่วยเหลือผ่านปุ่ม PAB นี้ การแจ้งเตือนดังกล่าวจะถูกส่งไปยังศูนย์กิจกรรมผู้สูงอายุ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะสามารถประเมินสถานการณ์ด้วยระบบสื่อสารด้วยเสียงแบบสองทางได้อย่างรวดเร็ว
สิงคโปร์มีเป้าหมายยกระดับประเทศเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) และสังคมดิจิทัล (Digital Society) โดยนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิตของประชาชนสิงคโปร์ทุกคน รวมถึงผู้สูงอายุ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้พิการด้วย ทั้งนี้ การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของสิงคโปร์ ส่งผลดีต่อสินค้าในกลุ่มโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) เป็นอย่างมาก เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้นการเจ็บป่วยก็มากขึ้นตามไปด้วย การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการรักษาของแพทย์และการรับบริการของผู้ป่วยโดยตัวอย่างการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับสู่การเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ เช่น วิทยาการหุ่นยนต์ (Assistive Technology and Robotics in Healthcare) ที่สามารถช่วยดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุและผู้พิการให้สามารถหยิบจับวัตถุต่าง ๆ รวมทั้งเป็นผู้ฝึกสอนออกกำลังกายให้กับผู้สูงอายุได้ นอกจากนี้ ยังมีการใช้ Internet of Things (IoT) เทคโนโลยีBig Data และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาพัฒนาในการให้บริการรักษาทางการแพทย์ออนไลน์ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ง่ายกว่าการไปโรงพยาบาลไม่เกิดความแออัด รวมถึงช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงวิธีการดูแลป้องกันตนเองได้อย่างถูกวิธีอีกด้วย
ทั้งนี้ภายใต้แผน Smart Nation ของสิงคโปร์ ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) มากนัก เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารมาโดยตลอด แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้พยายามส่งเสริมให้มีการทำเกษตรแบบใหม่ โดยมีการนำเทคโนโลยีเกษตร หรือ Agriculture Technology (Agri-Tech) มาใช้เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงพัฒนาผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพและผลกำไร โดยตัวอย่างการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ในภาคเกษตรกรรม เช่น การนำระบบอัตโนมัติ (Automation) มาใช้ในฟาร์มไข่ไก่(2) ตั้งแต่กระบวนการให้อาหารแม่ไก่ จนถึงการบรรจุภัณฑ์ การควบคุมสภาพอากาศ การผสมอาหารสัตว์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ตลอดจนการทำความสะอาดโรงเรือนด้วยหุ่นยนต์ หรือการใช้เทคโนโลยี AI ในการติดตามสุขภาพและอัตราการเติบโตของปลาในฟาร์มเลี้ยงปลาแบบปิด(3) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการผลิตปลาจำนวนมาก หรือฟาร์มปลาบนบกแนวตั้งที่ใช้ระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหมุนเวียน เพื่อบำบัดน้ำและรีไซเคิลน้ำเลี้ยงปลาในฟาร์ม ทำให้สามารถตรวจสอบและควบคุมสภาพการเลี้ยงปลาได้จากระยะไกล เป็นต้น
นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมี Singapore Green Plan 2030 เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าหมายที่จะเป็นประเทศที่มีการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 จากแนวคิดด้านปฏิรูปการใช้พลังงานแบบใหม่ (Energy Reset) ภายใต้ Singapore Green Plan 2030 ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด รวมถึงส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles: EVs) ภายในปี 2030(4) ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้
ภาพที่ 4 Singapore Green Plan 2030
ที่มา: Singapore Green Plan 2030 รวบรวมโดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
2 Singapore Agro-Food Enterprises Federation Limited (https://safef.org.sg/blog/meeting-the-governments-call-to-strengthensingapores-food-security-edvin-lim-director-of-chews-agriculture/)
3 AI keeps an eye on barramundi at ‘smart’ floating fish farm off Pasir Ris Coast (https://www.todayonline.com/singapore/ai-keepseye-barramundi-smart-floating-fish-farm-pasir-ris-coast)
4ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์, สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ สิงคโปร์
สรุป
ภายใต้แผนยุทธศาสตร์Smart Nation ของสิงคโปร์มุ่งเน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐบาลดิจิทัล และสังคมดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อยกระดับให้สิงคโปร์ก้าวเข้าสู่ประเทศอัจฉริยะ เช่น การนำ Internet of Things (IoT) เทคโนโลยี Big Data และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เป็นต้น มาเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อนำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนสิงคโปร์ตลอดจนมีการใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาพัฒนาแอปพลิเคชันหรือบริการต่าง ๆ เพื่อมุ่งสู่รัฐบาลดิจิทัลขณะเดียวกัน รัฐบาลสิงคโปร์ยังให้ความสำคัญกับความรู้และความเข้าใจเรื่องดิจิทัลของประชาชน โดยมุ่งเน้นให้ชาวสิงคโปร์ทุกวัยมีทักษะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิตของประชาชนมากขึ้น
นอกจากแผนยุทธศาสตร์Smart Nation แล้ว สิงคโปร์ยังมีแผนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือ Singapore Green Plan 2030 ที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากการศึกษาแผนยุทธศาสตร์ Smart Nation และ Singapore Green Plan 2030 ของสิงคโปร์พบว่า แผนยุทธศาสตร์ ดังกล่าวมีแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของโลกในปัจจุบันที่เน้นการพัฒนาประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การศึกษาแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวของสิงคโปร์จะช่วยให้การส่งเสริมในผลิตภัณฑ์เป้าหมายทั้ง 5 กลุ่ม ได้แก่ โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) บ้านอัจฉริยะ (Smart Home) โรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) ตลอดจนผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของไทยนั้น ภาครัฐไทยควรศึกษาแนวทางการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ Smart Nation และ Singapore Green Plan 2030 ของสิงคโปร์เพื่อนำมาปรับใช้ในการยกระดับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย ตลอดจนหาโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่ต้องการขยายการลงทุนในสิงคโปร์หรือต้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของสิงคโปร์ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทยก็ควรศึกษาแผนดังกล่าวของสิงคโปร์เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจหรือไปเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับสิงคโปร์ในการผลิตวัตถุดิบและชิ้นส่วนสินค้าที่รัฐบาลสิงคโปร์ให้การสนับสนุน
ในปัจจุบันสิงคโปร์ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าวงจรรวมจากต่างประเทศจำนวนมากหากผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของสิงคโปร์จะทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับประโยชน์จากนโยบายสนับสนุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของสิงคโปร์ ทั้งนี้ ในปี 2022 ที่ผ่านมา สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดสิงคโปร์ร้อยละ 4.25(5) และในสินค้าวงจรรวมที่สิงคโปร์นำเข้าจากทั่วโลกสูงสุดไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาด ร้อยละ 4.02(6)
5 ส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย (HS 84 และ HS 85) ในตลาดสิงคโปร์จาก Global Trade Atlas
6 Global Trade Atlas จัดกลุ่มสินค้าอ้างอิงตามศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EIU)
จัดทำโดย แผนกนโยบายและแผน ศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E Intelligence Unit: EIU) สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI)
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- ยอดขายรถยนต์ใน 2566
- คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คืออะไร ทำไมถึงต้องเร่งสร้างคาร์บอนเครดิต
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- อบรมรถยนต์ไฟฟ้า 2566 ฟรี
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- กฎหมาย ปล่องระบาย อากาศ 2565
- ยอดขายโทรศัพท์ 2023 ทั่วโลก
- GAC AION Thailand
- เปิดโผ 8 อุตสาหกรรมเด่นเติบโตสูงในปี 2566
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH