แรงสะเทือนต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ

แรงสะเทือนต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ

อัปเดตล่าสุด 25 เม.ย. 2568
  • Share :

สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าร้อยละ 10 ทุกประเภทสินค้า และอาจเก็บภาษีตอบโต้ไทยสูงถึงร้อยละ 36 ส่งแรงสะเทือนต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยโดยตรง แม้จะมีมาตรการระงับชั่วคราว 90 วันสำหรับบางประเทศ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าไทยอยู่ในรายชื่อหรือไม่

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2025 ที่ผ่านมา ได้กลายเป็นวันแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในเวทีการค้าระหว่างประเทศ เมื่อประธานาธิบดีของสหรัฐฯ อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศมาตรการการเก็บภาษีขั้นต่ำที่ร้อยละ 10 สำหรับสินค้านำเข้าทุกประเภท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2025 เป็นต้นไป และเพิ่มภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) สำหรับทุกประเทศ โดยจะเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงกับประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งไทยเป็นประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากที่สุดอันดับที่ 10 ของโลก จึงทำให้ถูกกำหนดอัตราภาษีสูงถึงร้อยละ 36, ซึ่งเดิมจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเวลา 00.01 น. ของวันที่ 9 เมษายน 2568 ตามเวลาสหรัฐฯ

แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศใช้มาตรการระงับภาษีสินค้านำเข้าใหม่ เป็นเวลา 90 วัน ให้กับประเทศที่ไม่ดำเนินมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ และแสดงเจตจำนงขอเจรจา โดยมาตรการดังกล่าวครอบคลุมทั้งหมด 75 ประเทศ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังไม่ได้เปิดเผยรายชื่อประเทศที่จะได้รับการระงับภาษีตามมาตรการใหม่นี้อย่างเป็นทางการ ขณะที่การจัดเก็บภาษีนำเข้าขั้นต่ำในอัตราร้อยละ 10 ยังคงมีผลบังคับใช้ทันทีตามมาตรการเดิม

เมื่อพิจารณาภาพรวมของการค้าสินค้าในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทย ในช่วงปี 2020 - 2024 (ภาพที่ 1) พบว่า การนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ จากไทย มีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ร้อยละ 17 หรือมีมูลค่าการนำเข้าจาก 16,395 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 เพิ่มขึ้นเป็น 35,679 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2024

ในขณะที่การส่งออกสินค้าดังกล่าวของสหรัฐฯ ไปไทย มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 11 หรือมีมูลค่าการส่งออกจาก 2,027 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 เพิ่มขึ้นเป็น 3,466 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2024 แสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ ขาดดุลกับไทยมาโดยตลอด

ภาพที่ 1 ภาพรวมการค้าสินค้าในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทย ปี 2020 - 2024

หากพิจารณาสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่สหรัฐฯ นำเข้าจากไทยสูงสุด 10 อันดับแรก ในปี 2024 (ภาพที่ 2) พบว่า สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าเครื่องอุปกรณ์สำหรับการส่งหรือการรับเสียง ภาพ หรือข้อมูลอื่น ๆ และอุปกรณ์สำหรับสื่อสารในระบบเครือข่ายทางสาย ไร้สายมากเป็นอันดับ 1 (มูลค่า 8,489 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และนำเข้าสินค้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์มากเป็นลำดับถัดมา (มูลค่า 8,489 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

โดยปัจจุบันสินค้าดังกล่าวถูกจัดเก็บภาษีอยู่ที่ร้อยละ 0 - 6 ซึ่งหากสหรัฐฯ จัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าใหม่ที่ร้อยละ 36 อาจทำให้สินค้าที่กล่าวมาข้างต้นได้รับผลกระทบมากกว่าสินค้ากลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากสหรัฐฯ มีการนำเข้าจากไทยค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การประกาศขึ้นภาษีของสหรัฐฯ กับไทยในอัตราร้อยละ 36 ครั้งนี้ มีสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่ได้รับการยกเว้น ได้แก่ สินค้าอุปกรณ์กึ่งตัวนำ (ไม่รวมวงจรรวม) (HS 854110, 854121, 854129, 854130, 854151, 854159, 854190), สินค้าวงจรรวม (HS 854231, 854232, 854233, 854239 และ 854290) และโซลาร์เซลล์ (HS 854149) เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ดังนั้น สินค้าดังกล่าวอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

ภาพที่ 2 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่สหรัฐฯ นำเข้าจากไทยมากที่สุด 10 อันดับ ในปี 2024

ที่มา: Global Trade Atlas รวบรวมโดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีศุลกากรสินค้านำเข้า

 🎯 ผลกระทบทางตรง

  • การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยไปยังสหรัฐฯ โดยเฉพาะด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในสินค้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ อย่างฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และเครื่องอุปกรณ์สำหรับการส่งหรือการรับเสียง ภาพฯ ซึ่งทำให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแหล่งนำเข้าสินค้าจากไทยไปยังซัพพลายเออร์จากประเทศที่ถูกเก็บภาษีต่ำกว่าแทน
  • ผู้ประกอบการสหรัฐฯ ที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าไปยังทั่วโลก อาจพิจารณาย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐฯ หรือย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่ถูกเก็บภาษีต่ำกว่าแทน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย โดยศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Electrical and Electronics Intelligence Unit: EIU) ได้คาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยไปยังสหรัฐฯ อาจลดลงประมาณ 1.7 - 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้ในปี 2025 มูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รวมของไทยอาจลดลงเหลือเพียง 6.7 - 8.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลงราวร้อยละ 20 จากที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 9.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศคู่แข่งที่มีอัตราภาษีที่ต่ำกว่าไทยจะมีราคาถูกกว่าสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ ส่งผลให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันทางด้านราคา และอาจสูญเสียคำสั่งซื้อให้กับประเทศเหล่านี้
  • การที่ไทยโดนมาตรการทางภาษีจากสหรัฐฯ อาจทำให้ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นสัญชาติอเมริกันหรือสัญชาติอื่น ๆ ย้ายฐานการผลิตออกจากไทยไปยังประเทศอื่นที่ไม่โดนมาตรการทางภาษีจากสหรัฐฯ ประเทศที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าหรือ FTA กับสหรัฐฯ หรือย้ายฐานกลับไปยังประเทศต้นทางของนักลงทุน ซึ่งอาจทำให้ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทยเกิดการแข่งขันในการออกนโยบายเพื่อดึงดูดการลงทุนมากขึ้น

 🎯 ผลกระทบทางอ้อม

  • ไทยมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการลงทุนของผู้ประกอบการจีนและบริษัทต่างชาติที่ตั้งโรงงานในจีน ที่ต้องการหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นของสหรัฐฯ โดยอาจเลือกใช้ไทยที่ถูกเก็บภาษีต่ำกว่าเป็นฐานการผลิตและส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ แทน
  • ไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการที่คู่ค้าสำคัญอย่างจีนถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูง หากการส่งออกสินค้าของจีนไปยังสหรัฐฯ ลดลง จีนก็จะมีความต้องการวัตถุดิบเพื่อการผลิตลดลงตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทยในฐานะที่เป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์วัตถุดิบหลักให้กับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของจีน
  • ไทยอาจต้องเผชิญกับการทุ่มตลาดของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากจีน เนื่องจากจีนส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไปยังสหรัฐฯ ได้ลดลง จีนจึงต้องขยายตลาดไปยังประเทศอื่นเพื่อชดเชยการสูญเสียตลาดสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ภูมิภาคอาเซียน รวมถึงไทย กลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการส่งออกจากจีน
  • ไทยเผชิญความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จีนจำนวนมาก ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่อผู้ประกอบการไทยให้ต้องแข่งขันกับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จีน ทั้งในแง่ของราคาที่สินค้าจีนมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าทำให้สามารถตั้งราคาสินค้าได้ต่ำกว่า หรือในแง่ของคุณภาพที่ปัจจุบันผู้ผลิตจีนได้ลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ทำให้สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของจีนมีคุณภาพสูงขึ้น
  • หากผู้ประกอบการในประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและ SME ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจีนได้ อาจทำให้ผู้ประกอบการบางรายเลือกที่จะนำเข้าสินค้าจากจีนมาจำหน่ายแทนการผลิตเอง หรือในกรณีที่ไม่สามารถปรับตัวได้ ผู้ประกอบการอาจต้องยุติการดำเนินธุรกิจลง

สรุป

จะเห็นได้ว่า การเรียกเก็บอัตราภาษีดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะด้านการส่งออกที่ต้องพึ่งพาสหรัฐฯ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหาตลาดใหม่ ๆ หรือการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า มุ่งเน้นการยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน

ขณะเดียวกัน ภาครัฐไทยอาจต้องพิจารณามาตรการเยียวยาผลกระทบแก่ผู้ประกอบการ และเสนอแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและลดผลกระทบในระยะยาว ทั้งการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และขยายตลาดกับประเทศคู่ค้าใหม่ ๆ เพื่อลดการพึ่งพาสหรัฐฯ พิจารณาเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้าใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงเร่งเจรจาการปรับลดภาษีสินค้านำเข้าและความตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากมาตรการภาษีที่เข้มงวดของสหรัฐฯ

 

บทความนี้จัดทำโดย

แผนกนโยบายและแผน ศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E Intelligence Unit: EIU) สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI)

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / X / YouTube @MreportTH