บริหารธุรกิจให้รอด แค่รู้จัก ‘MFCA’
ในยุคที่ธุรกิจต้องเผชิญความกดดันมากมาย ผู้ผลิตหลายรายต้องทนแบกรับต้นทุนอันสูงลิ่ว และมีโอกาสอันน้อยนิดในการสร้างกำไร เมื่อกำไรนั้นได้มายาก หลายธุรกิจจึงเลือกที่จะหาวิธีลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด ทว่า จะทำอย่างไรธุรกิจจึงจะสามารถค้นหาวิธีลดต้นทุนการผลิต โดยไม่ทำให้คุณภาพสินค้าหรือผลผลิตถูกลดต่ำลงไปด้วย ควบคู่กับรักษาสมดุลระหว่างผลิตภาพในการดำเนินธุรกิจ และการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ตามหลักการ Green Productivity อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยทั่วไปแล้วหากกล่าวถึงการลดต้นทุนหรือลดขั้นตอน หลายคนอาจนึกถึงเครื่องมือ ‘Lean’ เป็นอันดับแรก ๆ ซึ่งก็ไม่ใช่ความคิดที่ผิด แต่ในบทความนี้ เราจะขอพาทุกคนมาทำความเข้าใจกับอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยให้เรามองเห็นปริมาณการใช้ทรัพยากร หรือ ต้นทุนต่าง ๆ ที่เราใช้ไปในการผลิต อย่าง ‘Material Flow Cost Accounting’ ซึ่งมีชื่อเรียกในภาษาไทยว่า ‘บัญชีต้นทุนการไหลวัสดุ’
ทำความรู้จักกับ “Material Flow Cost Accounting: MFCA”
Material Flow Cost Accounting: MFCA คือ เครื่องมือที่ช่วยให้เราทราบถึงปริมาณและต้นทุนการใช้วัตถุดิบ รวมถึงค้นหาความสูญเสีย (waste) ที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต เมื่อเราสามารถมองเห็นเส้นทางการไหล (flow) ของทรัพยากรที่ใช้ไป รวมถึงมองเห็นข้อบกพร่องต่าง ๆ ก็จะนำไปสู่ความพยายามในการปรับปรุงและยกระดับกระบวนการให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น ในหลาย ๆ ประเทศจึงมีการสนับสนุนการใช้เครื่องมือ MFCA ควบคู่กับ Lean เพื่อให้เกิดผลิตภาพสูงสุดในการผลิต นอกจากจะเป็นตัวช่วยในการลดต้นทุนได้ตามเป้าหมายแล้ว MFCA ยังช่วยให้องค์กรสามารถลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ที่มา : สัมมนาออนไลน์ คุยสบายบ่ายวันศุกร์กับ Productivity GURU EP.17 “Green Productivity”
จากภาพ จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ขั้นตอนการนำเข้า Raw Material (RM) ไปจนถึง Finished Goods (FG) จะต้องผ่านขั้นตอนการตัด Stage 1, Stage 2, Painting ไปตามลำดับ โดยแต่ละขั้นตอนจะมีต้นทุน (Cost) ที่ต่างกัน นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า Stage 3 นั้นมีต้นทุนสูงที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่องค์กรต้องวิเคราะห์กันต่อว่า ต้นทุนที่สูงของ Stage 3 นั้นมีที่มาจากอะไรบ้าง ? โดยส่วนใหญ่มักมาจาก Labour Cost, Energy Cost, Material Cost แตกต่างกันออกไปตามบริบทของแต่ละองค์กร
MFCA = การปอกแอปเปิล
หลายคนอาจสงสัยว่า แล้ว MFCA ไปเกี่ยวอะไรกับแอปเปิล ? เราจะอธิบายให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ ว่าหลักการของ MFCA ก็คล้ายกับการที่เราปอกแอปเปิล หากเรามีความชำนาญ มีทักษะ ก็จะสามารถปอกแอปเปิลได้ดี สูญเสียเนื้อที่ติดกับส่วนเปลือกออกไปน้อย และเหลือเนื้อแอปเปิลให้เราได้ทานได้ปริมาณมากขึ้น
เปรียบเทียบได้กับการนำ Raw Material เข้าสู่กระบวนการผลิต แต่ระหว่างทางนั้นเราอาจเกิดความสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ และเหลือวัตถุดิบไปผลิตจริงไม่เท่ากับที่ต้องการ การนำเครื่องมือ MFCA เข้ามาใช้วิเคราะห์การใช้ทรัพยากร จะช่วยให้เราสามารถจำแนก จัดลำดับความสำคัญ และทราบว่าต้นทุนของเราที่สูญเสียไปโดยไม่จำเป็นนั้นเกิดจากจุดใดบ้าง พร้อมค้นหาวิธีแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นตั้งแต่ต้นทาง อาทิ การทำ Lean หรือ Kaizen เป็นต้น
ความยากของการทำ MFCA
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของ MFCA นั้นอยู่ที่การเก็บข้อมูล (Data Collection) เพราะในชีวิตจริงเราไม่สามารถจดจ่อกับกระบวนการทำงานเพื่อเก็บข้อมูลได้ตลอดเวลา ในปัจจุบันจึงได้มีการนำเทคโนโลยี 4.0 เข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็น IoT, Data Analytic เพื่อแจ้งเตือนเมื่อเกิดปัญหา เพื่อเป็นอีกทางออกหนึ่งที่ช่วยให้กระบวนการดำเนินงานนั้นมีประสิทธิภาพ
เมื่อเราสามารถจัดการกับปัญหาความสูญเสียที่เกิดขึ้น และวางแผนการใช้ทรัพยากรได้อย่างถูกต้อง องค์กรก็จะสามารถดำเนินงานได้อย่างมีผลิตภาพ ไม่หวาดหวั่นแม้จะต้องพบกับสถานการณ์สุดท้าทายเพียงใดก็ตาม
ที่มา : สัมมนาออนไลน์ คุยสบายบ่ายวันศุกร์กับ Productivity GURU EP.17 “Green Productivity” เทรนด์ใหม่ของอุตสาหกรรมไทย ช่วยทั้งเรา – ช่วยทั้งโลก หัวข้อ Make it Green to Sustain Productivity โดย คุณเชษฐพงศ์ สินธารา
สนับสนุนบทความโดย: สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ ครึ่งปีแรก 2022
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- สถานการณ์ชิปขาดตลาด 2022 จะสิ้นสุดเมื่อไหร่?
- 12 เทรนด์เทคโนโลยีมาแรงแห่งปี 2022
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH