ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-สหภาพยุโรป จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยอย่างไร, อุตสาหกรรมไฟฟ้า, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, EEI, บทความ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

FTA ไทย-อียู ส่งผลต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยอย่างไร

อัปเดตล่าสุด 26 ก.ย. 2566
  • Share :
  • 1,432 Reads   

สหภาพยุโรป (The European Union: EU) ถือเป็นภูมิภาคที่มีบทบาทสำคัญในเวทีประชาคมโลก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เนื่องจากสหภาพยุโรปเป็นผู้นำในการกำหนดทิศทางนโยบายการค้าระหว่างประเทศ กฎระเบียบมาตรฐานสินค้า มาตรการที่มิใช่ภาษี รวมถึงยังเป็นภูมิภาคที่มีอำนาจซื้อสูงอันดับต้น ๆ ของโลก อย่างไรก็ตาม สหราชอาณาจักรได้มีการขอถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) และมีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2021 ส่งผลให้สหภาพยุโรปเหลือประเทศสมาชิก จำนวน 27 ประเทศ

ในปัจจุบัน สหภาพยุโรปมีความตกลงด้านเศรษฐกิจภายใต้กรอบทวิภาคีและภูมิภาคแล้ว จำนวน 46 ฉบับ(1) ขณะที่ไทยและสหภาพยุโรปได้ประกาศร่วมกันอย่างเป็นทางการในการเริ่มต้นเจรจาทำ FTA ไทย-สหภาพยุโรปเมื่อต้นปี 2023 ที่ผ่านมา และการเจรจาในครั้งนี้ตั้งเป้าว่าจะเสร็จภายในปี 2025(2) ซึ่งการที่ไทยและสหภาพยุโรปมีข้อตกลง FTA ระหว่างกันจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย

1 สํานักยุโรป กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (2023)
2 ฐานเศรษฐกิจ (2023)

อัตราภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสหภาพยุโรป

ปัจจุบัน สถานการณ์การแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไทยต้องอาศัยการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น การส่งออกจึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตยิ่งขึ้น โดยการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) จะสามารถช่วยขยายการค้าสู่ตลาดใหม่ เพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าของไทยที่มีศักยภาพ ตลอดจนลดอุปสรรคด้านภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษีระหว่างกันซึ่ง ขณะนี้ไทยยังไม่มีความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป ส่งผลให้สินค้าในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยบางประเภทยังคงต้อง เสียภาษีเมื่อส่งออกสินค้าไปสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่ไทยส่งออกไปสหภาพยุโรป ซึ่งจากตารางที่ 1 จะเห็นได้ว่า สินค้าเครื่องปรับอากาศ (อันดับ 5) สินค้าเครื่องเปลี่ยนไฟฟ้าหรืออินเวอร์เตอร์ (อันดับ 6) และสินค้าส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ (อันดับ 7) จะต้องเสียภาษีนำเข้าร้อยละ 0 - 2.7 ส่วนสินค้ากล้องถ่ายบันทึกภาพและส่วนประกอบ (อันดับ 8) จะต้องเสียภาษีนำเข้าร้อยละ 0 - 3 และสินค้าเครื่องอุปกรณ์สําหรับป้องกันวงจรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (อันดับ 10) จะต้องเสียภาษีนำเข้าร้อยละ 0 - 3.2 ดังนั้น ในการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป จึงต้องพิจารณาถึงการลดอัตราภาษีในสินค้ากลุ่มดังกล่าวด้วย

ในขณะที่ สินค้าวงจรรวม (อันดับ 1) สินค้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ (อันดับ 2) สินค้าเครื่องอุปกรณ์สำหรับการส่งหรือการรับเสียง ภาพ หรือข้อมูลอื่น ๆ และอุปกรณ์สำหรับสื่อสารในระบบเครือข่ายทางสาย ไร้สาย (อันดับ 3) สินค้าเครื่องพิมพ์ เครื่องทำสำเนาและส่วนประกอบ (อันดับ 4) และสินค้าวงจรพิมพ์ (Printed Circuit) (อันดับ 9) ได้รับการยกเว้นภาษีจากสหภาพยุโรปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ สามารถดูตัวอย่างอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสหภาพยุโรปเพิ่มเติมได้ที่ภาคผนวกหรือที่เว็บไซต์ https://trade.ec.europa.eu/

ตารางที่ 1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยส่งออกไปสหภาพยุโรปสูงสุด 10 อันดับแรก และอัตราภาษีของสหภาพยุโรป ปี 2022

ที่มา: European Commission และ Global Trade Atlas

3 วงจรรวม ประกอบด้วย HS 854231, 854232, 854233, 854239, 854290
4 ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ ประกอบด้วย HS 847150, 847160, 847170, 847180, 847190, 847330, 847350
5 เครื่องอุปกรณ์สำหรับการส่งหรือการรับเสียง ภาพ หรือข้อมูลอื่น ๆ และอุปกรณ์สำหรับสื่อสารในระบบเครือข่ายทางสาย ไร้สาย ประกอบด้วย HS 851761, 851762, 851769
6 เครื่องพิมพ์ เครื่องทำสำเนา และส่วนประกอบ ประกอบด้วย HS 844331, 844332, 844339, 844399
7 เครื่องปรับอากาศ ประกอบด้วย HS 841510, 841520, 841581, 841582, 841583
8 เครื่องเปลี่ยนไฟฟ้า/อินเวอร์เตอร์ ประกอบด้วย HS 850240, 850440, 850490
9 ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ประกอบด้วย HS 841590
10 กล้องถ่ายบันทึกภาพและส่วนประกอบ ประกอบด้วย HS 852581, 852582, 852583, 852589, 852990, 854020
11 วงจรพิมพ์ (Printed Circuit) ประกอบด้วย HS 853400
12 เครื่องอุปกรณ์สําหรับป้องกันวงจรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ประกอบด้วย HS 853590, 853610, 853620, 853630, 853641, 853649, 853650, 853661, 853669, 853670, 853690, 853810, 853890

กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin)

สำหรับกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ที่สหภาพยุโรปจะนำมาใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาสำหรับความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปนั้น คาดว่าจะอ้างอิงจากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าที่บังคับใช้ในความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปกับเวียดนาม (EVFTA) และความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปกับสิงคโปร์ (EUSFTA) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

• ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ได้กำหนดกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ดังนี้(13)

1) Non-Alteration อนุญาตให้มีการขนส่งผ่านประเทศที่สาม ตราบใดที่สินค้านั้นยังไม่มีการเปลี่ยนรูปร่าง/ลักษณะโดยอาจต้องมีการเรียกเอกสารเพื่อพิสูจน์ในกรณีที่เกิดข้อสงสัย
2) Certification และ Self-Certification ผู้ส่งออกจากสหภาพยุโรป สามารถใช้ Self-Certification ในกรณีที่ใบตราส่งแต่ละครั้งมีราคาไม่เกิน 6,000 ยูโร สำหรับผู้ส่งออกจากเวียดนามต้องเป็นการออกใบรับรองโดยรัฐเท่านั้น แต่หากเวียดนามพร้อมจะนำระบบ Self-Certification มาใช้ก็สามารถทำได้
3) Commutation อนุญาตให้มีการคำนวณแหล่งกำเนิดสินค้าสะสมทวิภาค (Bilateral Cumulation) คือ
การใช้วัตถุดิบหรือชิ้นส่วนที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป
4) Duty Drawback อนุญาตให้มีการคืนค่าภาษีอากรการนำเข้าให้กับผู้ที่นำเข้าสินค้าเพื่อมาผลิต ผสม
ประกอบ หรือบรรจุ ในการส่งออกตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

• ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-สิงคโปร์ (EUSFTA) ทางสหภาพยุโรปได้มีการผ่อนปรนข้อบังคับด้าน Rules of Origin ที่มีความเข้มงวด โดยยินยอมให้มีการใช้ Local Content ในลักษณะ Regional ASEAN Cumulation สำหรับสินค้าบางรายการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่สิงคโปร์ในการจัดการห่วงโซ่มูลค่าของตน เนื่องจากสิงคโปร์มีการใช้ส่วนประกอบจากประเทศในอาเซียนสำหรับการผลิตสินค้าในสัดส่วนที่สูง 14

13 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สำนักยุโรป
14 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์

ภาพรวมการค้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสหภาพยุโรป

จากข้อมูลของ Global Trade Atlas ในปี 2022 ที่ผ่านมา สำหรับการค้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสหภาพยุโรป (27 ประเทศ ไม่รวมสหราชอาณาจักร) พบว่า สหภาพยุโรปมีมูลค่าการค้ารวมในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 1,975,798 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสหภาพยุโรปมีการนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลก มูลค่า 1,073,914 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีสินค้านำเข้าหลัก คือ เครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ วงจรรวม และเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยมีคู่ค้าสำคัญ คือ จีน ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดร้อยละ 25.6 เยอรมนี มีส่วนแบ่งทางการตลาด ร้อยละ 11.4 และเนเธอร์แลนด์ มีส่วนแบ่งทางการตลาด ร้อยละ 10.6 ส่วนไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง ร้อยละ 1.26

ในขณะที่การส่งออกนั้น พบว่า สหภาพยุโรปส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไปทั่วโลกมูลค่า 901,884 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสินค้าส่งออกหลัก คือ วงจรรวม ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ และเครื่องอุปกรณ์สําหรับป้องกันวงจรไฟฟ้าและส่วนประกอบ โดยมีคู่ค้าสำคัญ คือ เยอรมนีที่มีส่วนแบ่งทางการตลาด ร้อยละ 17.3 ฝรั่งเศส มีส่วนแบ่งทางการตลาด ร้อยละ 4.4 และสหรัฐฯ มีส่วนแบ่งทางการตลาด ร้อยละ 5.2 ส่วนไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง ร้อยละ 0.3

ภาพรวมการค้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างไทยและสหภาพยุโรป

สำหรับสถานการณ์การค้าของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างไทยและสหภาพยุโรปนั้น พบว่า ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มากกว่ามูลค่านำเข้าจากสหภาพยุโรป ทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า หากพิจารณาการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยไปสหภาพยุโรป ในปี 2018-2022 จะพบว่า มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 4.5 หรือมีมูลค่าการส่งออกจาก 7,744 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2018 เพิ่มขึ้นเป็น 9,254 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022 ในขณะที่การนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยจากสหภาพยุโรป ในปี 2018-2022 นั้น มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 1.46 หรือมีการนำเข้าในปี 2022 มูลค่า 2,911 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2018 ที่มีมูลค่า 2,747 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กราฟที่ 1 มูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างไทยและสหภาพยุโรป ปี 2018-2022

ที่มา : Global Trade Atlas รวบรวมและวิเคราะห์โดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ในปี 2022 ที่ผ่านมา ไทยและสหภาพยุโรปมีการค้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่ารวม 12,165 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจำแนกเป็นการนำเข้า มูลค่า 2,911 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการส่งออกมูลค่า 9,254 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า และแม้ว่าการค้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างไทยและสหภาพยุโรปในปี 2020 จะลดลงเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น การค้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างไทยและสหภาพยุโรปก็ขยายตัวถึงร้อยละ 14 ในปี 2022

โอกาสของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย หากไทยและสหภาพยุโรปมีข้อตกลง FTA ระหว่างกัน

การพิจารณาโอกาสของการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยไปสหภาพยุโรปจะแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) โอกาสสำหรับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่ยังคงเสียภาษีอยู่ในปัจจุบัน และ 2) โอกาสสำหรับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่ได้รับการยกเว้นภาษีแล้ว รายละเอียดดังต่อไปนี้

1) โอกาสสำหรับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่ยังคงเสียภาษีอยู่ในปัจจุบัน

ข้อตกลง FTA ระหว่างไทยและสหภาพยุโรปจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย ดังนั้น หากไทยสามารถส่งออกสินค้าโดยที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าหรือเสียภาษีในอัตราที่ต่ำลงได้ ไทยก็จะสามารถขยายตลาดไปยังสหภาพยุโรปและเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดสหภาพยุโรปได้มากขึ้น ซึ่งตัวอย่างสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์หากเสียภาษีในอัตราที่ต่ำลง (ภาพที่ 2) เช่น

- สินค้าส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ (HS 841590) ที่ปัจจุบันเสียภาษีร้อยละ 2.7 โดยมีมูลค่าการส่งออก 664 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยเป็นตลาดอันดับที่ 4 (ส่วนแบ่งทางการตลาด ร้อยละ 8) ที่สหภาพยุโรปนำเข้ารองจากสาธารณรัฐเช็ก (ส่วนแบ่งทางการตลาด ร้อยละ 14.51) จีน (ส่วนแบ่งทางการตลาด ร้อยละ 10.93) และเบลเยียม (ส่วนแบ่งทางการตลาด ร้อยละ 10.19)

- สินค้าเครื่องปรับอากาศที่ใช้ในสำนักงาน บ้านเรือน (HS 841510) ในกลุ่มสินค้าเครื่องปรับอากาศ ที่ปัจจุบันเสียภาษี ร้อยละ 2.2 - 2.5 โดยมีมูลค่าการส่งออก 541 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยเป็นตลาดอันดับที่ 2 (ส่วนแบ่งทางการตลาด ร้อยละ 12.17) ที่สหภาพยุโรปนำเข้ารองจากจีน (ส่วนแบ่งทางการตลาด ร้อยละ 47.34)

- สินค้าเครื่องปรับอากาศแบบรีเวอร์ซิเบิลฮีตปั๊ม (HS 841581) ในกลุ่มสินค้าเครื่องปรับอากาศ ที่ปัจจุบันเสียภาษีร้อยละ 0 - 2.7 โดยมีมูลค่าการส่งออก 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยเป็นตลาดอันดับที่ 3 (ส่วนแบ่งทางการตลาด ร้อยละ 8.45) ที่สหภาพยุโรปนำเข้ารองจากจีน (ส่วนแบ่งทางการตลาด ร้อยละ 31.49) และเยอรมนี (ส่วนแบ่งทางการตลาด ร้อยละ 12.81)

ภาพที่ 2 ตัวอย่างสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ราย HS Code) ที่ยังคงเสียภาษีอยู่ในปัจจุบัน

ภาพที่ 3 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ราย HS Code) ที่ไทยส่งออกไปสหภาพยุโรปสูงสุด 3 อันดับแรก ในปี 2022

ที่มา : Global Trade Atlas และศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EIU)
รวบรวมและวิเคราะห์โดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

 

2) โอกาสสำหรับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่ได้รับการยกเว้นภาษีแล้ว

หากพิจารณาการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยไปสหภาพยุโรปในปี 2022 ที่ผ่านมา จะพบว่า สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยส่งออกไปยังสหภาพยุโรปสูงสุด 3 อันดับแรก (ราย HS Code) (ภาพที่ 2) อย่างสินค้า Storage Units (HS 847170) ในกลุ่มสินค้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ สินค้าวงจรรวมอื่น ๆ (HS 854239) 16 และสินค้าเครื่องอุปกรณ์สำหรับการส่งหรือการรับเสียง ภาพ หรือข้อมูลอื่น ๆ และอุปกรณ์สำหรับสื่อสารในระบบเครือข่ายทางสาย ไร้สาย (HS 851762) นั้น ได้รับการยกเว้นภาษีจากสหภาพยุโรปอยู่แล้ว ดังนั้น จะพิจารณาโอกาสจากส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นหลัก

สำหรับสินค้า Storage Units (HS 847170) ในกลุ่มสินค้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น มีมูลค่าการส่งออก 2,268 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 17) ซึ่งไทยเป็นตลาดอันดับที่ 2 ที่สหภาพยุโรปนำเข้ารองจากเนเธอร์แลนด์ และหากเปรียบเทียบส่วนแบ่งการตลาดในปี 2018 และ 2022 ของไทยและเนเธอร์แลนด์ พบว่า เนเธอร์แลนด์มีส่วนแบ่งการตลาดลดลงจากร้อยละ 15.2 เหลือ 13.79 แต่ไทยกลับมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 13.06 เป็น 13.09 รวมถึงส่วนแบ่งการตลาดของไทยและเนเธอร์แลนด์ยังไม่แตกต่างกันมากนัก ดังนั้น น่าจะเป็นโอกาสสำหรับสินค้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ (HS 847170) ในการขยายตลาดไปยังสหภาพยุโรปได้มากยิ่งขึ้น

ส่วนสินค้าวงจรรวมอื่น ๆ (HS 854239) มีมูลค่าการส่งออก 1,633 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 12) แม้ว่าไทยจะเป็นตลาดอันดับที่ 9 ที่สหภาพยุโรปนำเข้า (ร้อยละ 4.9) แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2018-2022) ไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้าดังกล่าวในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด จึงคาดว่าไทยน่าจะยังสามารถขยายการส่งออกสินค้าวงจรรวม (HS 854239) ไปยังสหภาพยุโรปได้อีก

ขณะที่สินค้าเครื่องอุปกรณ์สำหรับการส่งหรือการรับเสียง ภาพ หรือข้อมูลอื่น ๆ และอุปกรณ์สำหรับสื่อสารในระบบเครือข่ายทางสาย ไร้สาย (HS 851762) มีมูลค่าการส่งออก 1,205 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 9) โดยสินค้าดังกล่าวไทยเป็นตลาดอันดับที่ 14 ที่สหภาพยุโรปนำเข้าหรือมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพียงร้อยละ 1.81

15 วงจรรวมอื่น ๆ นอกเหนือจากตัวประมวลผลและตัวควบคุม วงจรความจํา วงจรขยาย
และส่วนประกอบวงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์
16 วงจรรวมอื่น ๆ นอกเหนือจากตัวประมวลผลและตัวควบคุม วงจรความจํา วงจรขยาย และส่วนประกอบวงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาการนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสหภาพยุโรปจากทั่วโลกเพิ่มเติม จะพบว่า ในปี 2022 ที่ผ่านมา สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่สหภาพยุโรปนำเข้าจากทั่วโลกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
สินค้าสมาร์ทโฟน (HS 851713) สินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ (HS 847130) สินค้าเครื่องอุปกรณ์สำหรับการส่งหรือการรับเสียง ภาพ หรือข้อมูลอื่น ๆ และอุปกรณ์สำหรับสื่อสารในระบบเครือข่ายทางสาย ไร้สาย (HS 851762) สินค้าวงจรรวม (HS 854231) และสินค้าแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (HS 850760) ซึ่งสหภาพยุโรปนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากจีนเป็นหลัก ขณะที่ไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดค่อนข้างน้อย

ภาพที่ 4 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่สหภาพยุโรปนำเข้าจากทั่วโลกสูงสุด 5 อันดับแรก ในปี 2022

ที่มา: Global Trade Atlas และศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EIU)
รวบรวมและวิเคราะห์โดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ข้อควรระวังของการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรป

นอกจากมาตรการทางภาษีและกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ที่สหภาพยุโรปจะนำมาใช้ในความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรปแล้ว ยังมีมาตรการที่มิใช่ภาษีหรือกฎระเบียบข้อบังคับด้านมาตรฐานที่สหภาพยุโรปอาจนำมาใช้กับไทยด้วย(17) ยกตัวอย่างเช่น นโยบายกรีนดีล (European Green Deal) เป็นต้น

สำหรับนโยบายกรีนดีล (European Green Deal) คือ นโยบายที่สหภาพยุโรปได้มีการกำหนดเป้าหมาย ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 50-55 ภายในปี 2030 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเป็นศูนย์ภายในปี 2050
พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการปฏิบัติในการจัดการกับปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ด้วยการขับเคลื่อนบนพื้นฐานของเศรษฐกิจที่ทันสมัยและมีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สู่การเป็นผู้นำในเวทีโลกด้านอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีสะอาด ทั้งนี้ มาตรการภายใต้นโยบายกรีนดีล (European Green Deal) ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม มีดังต่อไปนี้

1) กลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM)(18) มาตรการ CBAM มุ่งสร้างความเท่าเทียมในด้านต้นทุนราคาคาร์บอนระหว่างสินค้าภายในสหภาพยุโรปที่มีการบังคับใช้ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (EU’s Emission Trading System: EU ETS) กับสินค้าที่ผลิตภายนอกสหภาพยุโรปผ่านการปรับราคาคาร์บอนและเป็นการเร่งให้ประเทศคู่ค้าของสหภาพยุโรป ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง

ในปี 2022 ที่ผ่านมา ที่ประชุมสมาชิกรัฐสภายุโรป (MEPs) ได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในการบังคับใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2023 เป็นต้นไป โดยเริ่มใช้กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ซีเมนต์ บริการไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมของรัฐสภายุโรปซึ่งครอบคลุมถึงไฮโดรเจน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม และอุตสาหกรรมปลายน้ำที่ใช้วัตถุดิบในอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นส่วนประกอบ เช่น ตะปูเกลียว น็อต เป็นต้น ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transitional Period) หรือช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2023 – 31 ธันวาคม 2025 19 ผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรมเป้าหมายไปยังสหภาพยุโรป ยังไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมคาร์บอน แต่ต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของสินค้าที่จะนำเข้าไปยังสหภาพยุโรป

ในระยะต่อไปสหภาพยุโรปจะพิจารณาผลดำเนินมาตรการ CBAM จากข้อมูลที่ได้รับในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก่อนจะบังคับใช้การคิดค่าธรรมเนียมคาร์บอนอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้นไป รวมถึงการขยายขอบเขตอุตสาหกรรมเป้าหมายของ CBAM ให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมที่บังคับใช้ในระบบ EU ETS พร้อมทั้งลดบทบาทของระบบ EU ETS ลงจนสิ้นสุดภายในปี 2034

2) ข้อเสนอสำหรับการปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับแบตเตอรี่ของสหภาพยุโรปให้ทันสมัยภายใต้ Circular Economy Action Plan เป็นการปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับแบตเตอรี่ โดยกำหนดให้ผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า แล็ปท็อป แท็บเล็ต สมาร์ทโฟนและแบตเตอรี่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต้องเป็นแบตเตอรี่ที่สามารถชาร์จไฟซ้ำได้ และได้การรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตามที่กำหนดเท่านั้นจึงจะสามารถวางจำหน่ายสินค้าในตลาดสหภาพยุโรปได้ ทั้งนี้สำหรับกฎหมายเกี่ยวกับแบตเตอรี่ (ฉบับปรับปรุงใหม่) คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2024 เป็นต้นไป

3) ฉลากพลังงาน (Energy Labels) สหภาพยุโรปได้มีการปรับปรุงฉลากพลังงานสำหรับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านใหม่ทั้งหมด เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการรับรองฉลากฯ ให้สูงขึ้น ผ่านตัวชี้วัดในด้านประสิทธิภาพทางพลังงานที่ได้จากการทดสอบจริงตามมาตรฐานที่กำหนดของแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านต้องได้รับการรับรองฉลากพลังงาน (Energy Labels) รูปแบบใหม่ก่อนจึงจะสามารถส่งออกไปสหภาพยุโรปได้ ทั้งนี้ การบังคับใช้ฉลากพลังงาน (Energy Labels) รูปแบบใหม่ได้มีผลบังคับใช้แล้วสำหรับผลิตภัณฑ์ตู้เย็น เครื่องล้างจาน เครื่องซักผ้า และโทรทัศน์ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2021 และผลิตภัณฑ์หลอดไฟและโคมไฟ มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2021 ในขณะที่ผลิตภัณฑ์เครื่องอบผ้า เครื่องปรับอากาศ เตาอบไฟฟ้าและเครื่องดูดควันจะมีผลบังคับใช้ในลำดับถัดไป

4) กฎหมาย Ecodesign Regulation ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ลดการใช้พลังงานและผลกระทบเชิงลบอื่น ๆ ต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวจะมีการปรับมาตรการเพื่อความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเงื่อนไขฉลากพลังงานด้วยร่างกฎหมายใหม่ของสหภาพยุโรปฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2024 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานจากไทยไปสหภาพยุโรป ตัวอย่างสินค้าที่ต้องมี Ecodesign หรืออาจต้องมี Ecodesign เพื่อวางจำหน่ายในสหภาพยุโรป เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น(20)

17 Thaieurope.net
18 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (2022)
19 EU Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) – what do businesses in the Middle East need to know? By PwC (2023)
20 ฐานเศรษฐกิจ (2023)

สรุปและข้อเสนอแนะ

เมื่อต้นปี 2023 ที่ผ่านมาไทยและสหภาพยุโรปได้ประกาศร่วมกันอย่างเป็นทางการในการเริ่มต้นเจรจาทำ FTA ไทย-สหภาพยุโรป หลังจากที่เคยเริ่มเจรจามาแล้วในปี 2013 และถูกระงับไปในปี 2014 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย ซึ่งการเจรจาในครั้งนี้ตั้งเป้าว่าจะเสร็จภายในปี 2025

แม้ว่าในปัจจุบันสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยบางส่วนจะได้รับการยกเว้นภาษีจากสหภาพยุโรปเรียบร้อยแล้ว แต่การที่ไทยและสหภาพยุโรปมีข้อตกลง FTA ระหว่างกันจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย ขยายส่วนแบ่งทางการตลาดในสหภาพยุโรป ลดมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้าและป้องกันไม่ให้การลงทุนไหลออกไปยังประเทศคู่แข่งที่มี FTA กับสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเวียดนามที่เป็นคู่แข่งสำคัญของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ตาม การเจรจาความตกลงทางการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปยังมีข้อควรระวังเกี่ยวกับมาตรการที่มิใช่ภาษีหรือกฎระเบียบข้อบังคับด้านมาตรฐานซึ่งสหภาพยุโรปอาจนำมาบังคับใช้ใน FTA เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ที่ผู้ส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปต้องเสียค่าธรรมเนียมคาร์บอนหากกระบวนการผลิตสินค้าทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก

ซึ่งกฎระเบียบดังกล่าวอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยต้องแบกรับภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นหากกระบวนการผลิตสินค้าเกิดก๊าซเรือนกระจก รวมไปจนถึงการลงทุนปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ยังต้องจับตามองการเจรจาความตกลงทางการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปกับมาเลเซีย สหภาพยุโรปกับอินโดนีเซีย และสหภาพยุโรปกับฟิลิปปินส์ด้วย ซึ่งถ้าหากมีการลงนามและมีผลบังคับใช้ก่อนไทย อาจทำให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่งและเสียศักยภาพทางการแข่งขันในตลาดสหภาพยุโรปได้

 

ภาคผนวก

ตารางที่ 1 ตัวอย่างอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสหภาพยุโรป

ตารางที่ 1 ตัวอย่างอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสหภาพยุโรป (ต่อ)

ตารางที่ 1 ตัวอย่างอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสหภาพยุโรป (ต่อ)

ตารางที่ 1 ตัวอย่างอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสหภาพยุโรป (ต่อ)

ที่มา: https://trade.ec.europa.eu/ รวบรวมโดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ข้อมูลเดือนสิงหาคม 2023)
หมายเหตุ: 1 จัดกลุ่มสินค้าอ้างอิงตามศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EIU)

 

จัดทำโดย แผนกนโยบายและแผน ศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E Intelligence Unit: EIU) สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI)

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH