ผลกระทบสงครามรัสเซียยูเครน, อุตสาหกรรมไฟฟ้า, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, น้ำมันแพง, วิกฤตพลังงาน, Electronics, Energy, สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, EEI, อุตสาหกรรมไทย

ผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย

อัปเดตล่าสุด 20 ม.ค. 2566
  • Share :

นับตั้งแต่รัสเซียบุกเข้าโจมตีชายแดนยูเครนเมื่อปลายเดือน ก.พ. 2565 สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้ออยู่ในปัจจุบันยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกชัดเจนมากยิ่งขึ้น และยังเป็นการเสริมความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติปรับตัวเพิ่มสูงสุดในรอบมากกว่า 10 ปี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น และกำลังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยในสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 40 ปี ในขณะที่ประเทศไทยมีอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 13 ปี สูงขึ้นสอดคล้องกับทิศทางการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันโลก

ข้อมูลในปี 2564เศรษฐกิจของรัสเซียอยู่ที่อันดับ 16 คิดเป็นร้อยละ 2 ของเศรษฐกิจโลกซึ่งถือว่าไม่มากนัก แต่รัสเซียมีความสำคัญในฐานะที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก และยังเป็นประเทศผู้ส่งออกพลังงานเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยส่งออกน้ำมันดิบมากเป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.7 ของการส่งออกน้ำมันดิบทั่วโลก จึงส่งกระทบต่อราคาน้ำมันโลกค่อนข้างมากและกระทบต่อเนื่องเป็นห่วงโซ่จากการที่น้ำมันเป็นต้นทุนวัตถุดิบของการผลิต เมื่อพิจารณาการค้าของไทยกับรัสเซียและยูเครน พบว่าประเทศไทยมีการนำเข้าสินค้าจากรัสเซียในสัดส่วนร้อยละ 0.66 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมดของไทย ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากยูเครนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.1 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของไทย สินค้าที่ไทยนำเข้าหลักจากรัสเซีย ได้แก่ ปิโตรเลียม ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากยูเครน ได้แก่ ซีเรียล เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ผลิตภัณฑ์ใช้ผลิตอาหารสัตว์ แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการค้ากับไทยอย่างมีนัยสำคัญ ด้านการส่งออกก็ไม่มีผลกระทบที่รุนแรงมากนัก เนื่องจากไทยมีสัดส่วนส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครน ร้อยละ 0.4 และร้อยละ 0.05 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย

ดังนั้น สงครามรัสเซียกับยูเครนจึงไม่มีผลกระทบทางตรงกับการค้าของไทยมากนัก เนื่องด้วยสัดส่วนทางการค้าของไทยกับประเทศทั้งสองนั้นมีสัดส่วนที่น้อย แต่กลับพบว่าไทยได้รับผลกระทบทางอ้อมจากสงครามรัสเซียกับยูเครนมากกว่า เนื่องจากเมื่อรัสเซียไม่ส่งพลังงานให้กับสหภาพยุโรป ส่งผลทำให้เศรษฐกิจสหภาพยุโรปเกิดการชะลอตัว ไทยจึงได้รับผลกระทบจากการที่ไทยส่งออกไปยังสหภาพยุโรปร้อยละ 10 ของการส่งออกทั้งหมด นอกจากนั้น ยังมีผลกระทบทางอ้อมที่ไทยจะได้รับก็คือการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันของตลาดโลกที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีกด้วย

1ข้อมูลจาก สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมไทย 

สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สั่นคลอนเสถียรภาพเศรษฐกิจโลก อุตสาหกรรมภาคการผลิต และเป็นตัวเร่งภาวะเงินเฟ้อให้เกิดรุนแรงเร็วยิ่งขึ้น กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบางมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดที่ยังไม่คลี่คลายเท่าที่ควร รัสเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซรายใหญ่ให้กับสหภาพยุโรป และเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญ เช่น นิกเกิล แร่โพแทช เมื่อรัสเซียระงับการส่งสินค้าให้กับสหภาพยุโรป จึงส่งผลทำให้ซัพพลายเชนโลกได้รับผลกระทบเป็นห่วงโซ่ขนาดใหญ่ ในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมไทยที่ส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบต้นน้ำ และราคาวัตถุดิบมักจะเคลื่อนไหวตามทิศทางของราคาตลาดโลก ฉะนั้นเมื่อสงครามรัสเซียและยูเครนยืดเยื้อและมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่เกิดขึ้น จึงผลักดันให้ราคาวัตถุดิบตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระดับสูง จึงกระทบต่อต้นทุนการผลิต ภาคการผลิตอุตสาหกรรมไทยจะได้รับผลกระทบทั้งจากการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบต่าง ๆ และการหาสินค้าทดแทนในสถานการณ์ที่ของจะหายากขึ้นหรือไม่มีของ ซึ่งเป็นภาระต้นทุนที่ผู้ผลิตส่วนใหญ่ต้องแบกรับไว้ หรือบางส่วนอาจต้องชะลอหรือหยุดผลิตลงชั่วคราว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการประเมินผลกระทบทางธุรกิจไทยเบื้องต้นไว้ว่า มูลค่าผลกระทบครั้งนี้อาจจะมีไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท โดยแต่ละธุรกิจจะได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสัดส่วนต้นทุนวัตถุดิบต่อต้นทุนรวมและความสามารถในการปรับตัว ซึ่งอุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง และบรรจุภัณฑ์จะเป็นกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับต้น ๆ เนื่องจากมีสัดส่วนต้นทุนวัตถุดิบดังกล่าวต่อต้นทุนรวมที่ค่อนข้างสูง ขณะที่ผลกระทบอีกส่วนจะตกไปยังผู้บริโภคผ่านการทยอยปรับราคาสินค้าในระยะเวลาถัดๆไป ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ปริมาณสต็อกคงเหลือ ความสามารถในการหาวัตถุดิบทดแทน สภาพการแข่งขันในตลาดและกำลังซื้อผู้บริโภค เป็นต้น

2ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (kasikornresearch)

ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย

ความขัดแย้งยาวนานต่อเนื่องระหว่างรัสเซียและยูเครนนอกจากจะส่งผลกระทบที่หนักหน่วงต่อภาคการผลิตของประเทศคู่ขัดแย้งแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ ในโลกเป็นวงกว้าง อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยผลกระทบทางตรงที่มีต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยนั้นอาจมีไม่สูงนัก เนื่องจากการค้าระหว่างไทยกับรัสเซียและยูเครนมีมูลค่าไม่มากเมื่อเทียบกับผลกระทบทางอ้อม เพราะไทยเป็นประเทศคู้ค้ากับสหภาพยุโรป

โดยในปี 2021ไทยและสหภาพยุโรปมีการค้าในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มูลค่ารวม 10,594 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจำแนกเป็นการนำเข้ามูลค่า 2,518 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยมีการนำเข้าจากสหภาพยุโรปสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) วงจรรวม 2) สวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า และ3) อุปกรณ์สำหรับป้องกันวงจรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ซึ่งเป็นการนำเข้าจากประเทศเยอรมนี อิตาลีและฝรั่งเศสเป็นหลัก และมีการส่งออกมูลค่า 8,076 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยมีการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ส่วนประกอบ และอุปกรณ์ประกอบของ เครื่องคอมพิวเตอร์ 2) เครื่องปรับอากาศ และ 3) เครื่องพิมพ์เครื่องทำสำเนาและส่วนประกอบ ซึ่งเป็นการส่งออกไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และฝรั่งเศส ทั้งนี้ในภาวะที่ความต้องการในสหภาพยุโรปชะลอตัวย่อมส่งผลต่อการค้ากับไทยด้วย

ผลกระทบทางอ้อมอีกทางที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยได้รับนั้น มาจากการที่ราคาวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากรัสเซียและยูเครนเปนผู้ผลิตวัตถุดิบสำคัญ ได้แก่ ก๊าซนีออน (Neon) และแร่แพลลาเดียม (Palladium) โดยยูเครนเป็นแหล่งผลิตก๊าซนีออนบริสุทธิ์ราวร้อยละ 70 ของกำลังการผลิตทั่วโลก ขณะที่รัสเซียเปนแหล่งวัตถุดิบแร่แพลลาเดียมราวร้อยละ 40 ของกำลังการผลิตทั่วโลกซึ่งก๊าซนีออนและแร่แพลลาเดียมเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์สงครามรัสเซียและยูเครนจึงทำให้ราคาวัตถุดิบในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ปรับตัวสูงขึ้น และอาจทำให้ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ คลี่คลายได้ช้าลงกว่าที่คาดการณ์ไว้

3ข้อมูลจาก Global Trade Atlas วิเคราะห์โดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
4ข้อมูลจาก Economic Intelligence Center : EIC

 

นอกจากนั้น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยยังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้ทำการวิเคราะห์และคาดการณ์ถึงผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย ซึ่งใช้ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table of Thailand 2015: 180 Sectors) หรือ IO Dashboard ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นเครื่องมือในการศึกษาและวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

พบว่าอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกรายการสินค้าได้รับผลกระทบเชิงลบหรือมีต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการผลิตเครื่องจักรและเครื่องมือไฟฟ้าสำหรับงานอุตสาหกรรมจะไดรับผลกระทบผานต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตหม้อเก็บประจุไฟฟ้าและแบตเตอรี่ต่าง ๆ เป็นอุตสาหกรรมเดียวที่มีต้นทุนการผลิตที่ลดลงและได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการสินค้าที่ใช้พลังงานทดแทนน้ำมันที่ราคายังคงอยูในระดับสูงยังเป็นตัวเลือกในลำดับต้นๆ อีกทั้งไทยเองก็มีนโยบายการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย

ผลกระทบสงครามรัสเซียยูเครน, อุตสาหกรรมไฟฟ้า, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, น้ำมันแพง, วิกฤตพลังงาน, Electronics, Energy, สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, EEI, อุตสาหกรรมไทย

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมัน หากไม่มีการควบคุมราคาน้ำมันจากภาครัฐของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย

ผลกระทบสงครามรัสเซียยูเครน, อุตสาหกรรมไฟฟ้า, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, น้ำมันแพง, วิกฤตพลังงาน, Electronics, Energy, สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, EEI, อุตสาหกรรมไทย

ที่มา : บทวิเคราะห์ผลกระทบของราคาน้ำมันต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

หมายเหตุ :

1. ต้นทุนการผลิต (ร้อยละ) , ผลตอบแทนการผลิต (ร้อยละ) , มูลค่าผลกระทบ (ล้านบาท) ที่มีค่าเป็นลบ (-) หมายถึง อุตสาหกรรมได้รับผลกระทบเชิงลบ เช่น ต้นทุนในการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เท่ากับร้อยละ -0.54 หมายถึง ต้นทุนในการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.54 ผลตอบแทนการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เท่ากับร้อยละ -6.08 หมายถึง ผลตอบแทนการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ลดลง ร้อยละ 6.08 มูลค่าผลกระทบของ
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เท่ากับ -16,572 ล้านบาท หมายถึง อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้นหรือมีผลตอบแทนการผลิตลดลง 16,572 ล้านบาท เป็นต้น

2. คาดการณ์ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เท่ากับ 35.50 บาทต่อลิตร (กระทรวงพลังงาน, 20 เมษายน 2565) เนื่องจากมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565 ที่ผ่านมาและมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลชั่วคราวจาก 5.99 บาทต่อลิตร เหลือ 3.20 บาทต่อลิตร กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ดังนั้น สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จึงได้คาดการณ์ราคาน้ำมันสำหรับการคำนวณ โดยราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ณ วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 จะเท่ากับ 35.50+2.79 = 38.29 (ราคาคาดการณ์น้ำมันดีเซลของกระทรวงพลังงานรวมกับส่วนต่างของภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ลดลง) และเกิดการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันร้อยละ 27.89 หรือราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.89

ผลกระทบต่อต้นทุนอีกตัวที่สำคัญที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญก็คือต้นทุนทางโลจิสติกส์ ทั้งการขนส่งทางเรือและทางเครื่องบิน สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)ได้คาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 2565 อาจจะขยายตัวได้แค่ร้อยละ 5 (จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 5-8) จากผลกระทบปัญหาสงครามรัสเซียและยูเครนต่อการส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผลกระทบทางตรงขณะนี้คือท่าเรือสำคัญของรัสเซียที่ตั้งอยู่ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในทะเลบอลติก ท่าเรือโนโวรอสซิกในทะเลดำ และท่าเรือวลาดิวอสตอกในตะวันออกไกลของรัสเซียไม่สามารถเปิดให้บริการได้ ดังนั้นการขนส่งสินค้าทางเรือเข้าไปยังรัสเซียจำเป็นต้องขนส่งสินค้าผ่านไปยังประเทศที่ 3 แล้วจึงขนย้ายขึ้นไปส่งสินค้าทางบกต่อ ทำให้เกิดความยากลำบากในการขนส่งและมีต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น สายการเดินเรือหลายบริษัท อาทิ Maersk, MSC, CMA CGM, REN, Ocean network express และ Hapag Lloyd งดให้บริการขนส่งสินค้าไป-กลับจากรัสเซีย ยกเว้นการขนส่งสินค้าอาหาร ยา และสินค้าเพื่อมนุษยธรรม ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนในการขนส่งสินค้าในเส้นทางนี้

ส่วนผลกระทบทางอ้อมได้แก่เส้นทางเดินเรือไปยุโรปมีปัญหาเรื่องการหมุนเวียนตู้คอนเทนเนอร์ ที่เริ่มจะชะลอตัวมากขึ้นหลังจากการปรับเปลี่ยนเส้นทางขนส่งสินค้าเข้ายุโรป ปัญหาเรื่องความแออัดของท่าเรือขนส่งสินค้าและระยะเวลาขนถ่ายสินค้าที่ต้องใช้เวลายาวนานขึ้น ปัญหาการหมุนเวียนการขนส่งสินค้าจากจีนซึ่งเป็นผู้ใช้ตู้คอนเทนเนอร์รายใหญ่ก็ยังมีความแออัดเนื่องจากนโยบาย Zero COVID ปัญหาคอขวดด้านซัพพลายเชน (Supply Bottlenecks) ของทางสหรัฐฯ ก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผู้ส่งออกไทยต้องเตรียมรับมือปัญหาค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มราคาที่สูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะผลกระทบทางตรงจากสงครามที่มีผลต่อราคาน้ำมัน แม้ตอนนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะปรับตัวลดลงจาก 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 90-100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ยังไม่สามารถทำให้ค่าระวางเรือปรับตัวลดลงได้ และยังมีผลต่อเส้นทางเดินเรือที่เอกชนต้องวางแผนและ
เจรจากับผู้นำเข้าล่วงหน้า

5ข้อมูลจาก สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (www.tnsc.com)

ขณะที่การขนส่งทางอากาศไม่ว่าจะเป็นการส่งสินค้าหรือการเดินทางระหว่างประเทศไปยังรัสเซียก็ไม่สามารถเดินทางได้ เนื่องจากมาตรการปิดน่านฟ้าของรัสเซียซึ่งห้ามเครื่องบิน
จาก 36 ชาติบินผ่านเพื่อเป็นการตอบโต้การที่ประเทศเหล่านี้คว่ำบาตรรัสเซียจากกรณีการบุกรุกรานยูเครน ส่งผลให้สายการบินชาติตะวันตกจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเส้นทางการบินมายังเอเชียใหม่ทั้งหมด โดยต้องเพิ่มทั้งเวลาเดินทาง ค่าโดยสาร ค่าเชื้อเพลิง และจุดพักเครื่อง ตัวอย่างเช่น เส้นทางจากลอนดอนไปยังนครเดลี-อินเดีย เดิมใช้เวลาประมาณ 9.17 ชั่วโมง ในขณะที่เส้นทางใหม่ไกลขึ้นเกือบ 1,600 กม. และใช้เวลานานขึ้นอีกกว่า 2 ชม. หรือเส้นทางจากลอนดอนไปโตเกียว-ญี่ปุ่น เดิมใช้เวลาเดินทาง 11.10 ชั่วโมง แต่เส้นทางใหม่ต้องอ้อมไปขั้วโลกเหนือและแวะพักที่ Alaska และบินต่อมายังโตเกียว ใช้เวลาเดินทางเพิ่มขึ้นเป็น 17 ชั่วโมง ส่งผลทำให้อัตราค่าขนส่งสินค้าทางอากาศพุ่งทะยานสูงขึ้นซึ่งบางเที่ยวบินต้นทุนขนส่งเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 807

ผลกระทบสงครามรัสเซียยูเครน, อุตสาหกรรมไฟฟ้า, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, น้ำมันแพง, วิกฤตพลังงาน, Electronics, Energy, สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, EEI, อุตสาหกรรมไทย

6ข้อมูลจาก Reuters
7ข้อมูลจาก thansettakij

จะเห็นได้ว่าสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนนอกจากจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกแล้ว ยังมีผลต่อเนื่องไปยังภาคการผลิตของแทบทุกอุตสาหกรรม ซึ่งล้วนแต่ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องปรับตัวเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาเหล็กที่ขยับตัวสูงขึ้นและมีแนวโน้มว่าอาจจะขาดตลาดและไม่เพียงพอ วัตถุดิบที่เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์จากการใช้ข้าวโพดและกากถั่วเหลืองมีราคาแพงขึ้น ราคาของปุ๋ยเคมีและข้าวสาลีของตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ได้จากน้ำมันดิบ เช่น เม็ดพลาสติก ที่มีการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น บรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง ล้วนแล้วแต่ปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนั้นยังรวมไปถึงภาคบริการและโลจิสติกส์ที่ต้นทุนค่าขนส่งปรับราคาเพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ค่าระวางเรือสูงขึ้น และยังพบปัญหาระวางเรือเต็มและปัญหาความหนาแน่นบริเวณท่าเรือปลายทาง ซึ่งผลกระทบที่กล่าวมาข้างต้นจะส่งผลให้ราคาสินค้าแทบทุกรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น อันจะก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงในอนาคตได้โดยปัจจุบันเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวอยู่ในระดับต่ำ กำลังซื้อของคนเปราะบาง หากสงครามยังคงยืดเยื้อออกไปอีกและส่งผลให้ราคาน้ำมันยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องย่อมจะส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจชะงักงันหรือที่เรียกว่า Stagflation8

ทั้งนี้ ภาครัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระต้นทุนของผู้ประกอบการและลดค่าครองชีพของประชาชน โดยการใช้มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนโดยผ่านโครงการช่วยเหลือต่าง ๆ การออกมาตรการระยะกลางเพื่อช่วยรับมือกับปัญหาราคาพลังงานในปัจจุบันที่ยังคงมีความผันผวน รวมถึงออกมาตรการระยะยาวเพื่อให้เกิดการพัฒนาพลังงานภายในประเทศอย่างยั่งยืน โดยต้องเร่งให้มีการปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรมสีเขียว หรือสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทนเพื่อลดการพึ่งพาการใช้น้ำมัน และการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ก็เป็นอีกทางที่จะทำให้ภาคการผลิตสามารถดำเนินธุรกิจไปได้ในภาวะการณ์วิกฤตเช่นนี้

8Stagflation หมายถึง ภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อ เป็นค่าที่เกิดจากการรวมตัวกันของคำว่า Stagnant ซึ่งหมายถึง เศรษฐกิจชะงักงัน และ Inflation ซึ่งหมายถึงเงินเฟ้อ หรือก็คือแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่เงินเฟ้อและการว่างงานเพิ่มขึ้นในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปช้า มันอาจเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขแนวโน้มนี้เพราะการมุ่งเน้นไปที่ปัญหาด้านใดด้านหนึ่งอาจทำให้รุนแรงขึ้นในแง่มุมอื่น ๆ

 

ที่มา: สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI)

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH