ค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท กับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, บทความ ขึ้นค่าจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมไฟฟ้า, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, EEI, บทความ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำ 450 บาท ต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย

อัปเดตล่าสุด 17 ส.ค. 2566
  • Share :
  • 29,559 Reads   

การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยครั้งล่าสุดที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานไทยอยู่ที่ 328-354 บาทต่อวัน นับเป็นการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยในรอบกว่า 2 ปีหลังจากประกาศครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 ทั้งนี้ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำยังคงเป็นประเด็นที่สำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน เนื่องจากแรงงานเป็นผู้ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งในฐานะที่เป็นกำลังการผลิตและเป็นกำลังซื้อที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ 

ปัจจุบัน ไทยกำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งพรรคการเมืองที่มีโอกาสเป็นรัฐบาลอย่างพรรคก้าวไกลได้มีนโยบายหาเสียงด้านค่าจ้างแรงงานที่สำคัญ คือ การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกปี โดยจะเริ่มปรับทันทีเป็น 450 บาทต่อวัน(1) และแม้ว่าค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดีขึ้น ตลอดจนกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือน แต่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดอาจสร้างผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้ 

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นั้นเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาแรงงานในกระบวนการผลิต โดยเมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนแรงงานในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 450 บาทต่อวัน พบว่า มีแรงงานร้อยละ 60.7 ที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 450 บาทต่อวัน โดยมีค่าจ้างเฉลี่ยเท่ากับ 339 บาทต่อวัน(2)

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้วิเคราะห์ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย หากมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นการวิเคราะห์เฉพาะผลกระทบทางตรงผ่านต้นทุนค่าจ้างและต้นทุนรวมของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบันที่เพิ่มขึ้น โดยใช้ข้อมูลค่าจ้างจากการสำรวจด้านสังคมสาขาแรงงาน (Labor Force Survey: LFS) ปี 2563 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และข้อมูลจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) หรือ IO Dashboard ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในการคำนวณการปรับขึ้นค่าจ้างของแรงงานผ่านการใช้สูตรคลื่นกระทบฝั่ง (Compression Adjustment)(3) ผลการวิเคราะห์สรุปได้ดังนี้

1 ย้ำอีกครั้ง นโยบายแรงงานก้าวไกล ขึ้นทันที 450 บาท ของแถมอีกเพียบ!
เข้าถึงได้จากhttps://www.moveforwardparty.org/article/15982/
2 คำนวณจากข้อมูลการสำรวจด้านสังคมสาขาแรงงาน (Labor Force Survey: LFS) ปี 2563 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
3 Compression Adjustment สูตรการปรับเงินเดือนคนเก่าให้หนีคนใหม่ โดยธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ (2565)

ตารางที่ 1 ผลการวิเคราะห์ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย
หากมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน

ค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท กับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, บทความ ขึ้นค่าจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมไฟฟ้า, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, EEI, บทความ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ที่มา: วิเคราะห์โดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
หมายเหตุ: ข้อมูล ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2566

หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างของแรงงานในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากค่าจ้างเริ่มต้นปัจจุบัน 341 บาทต่อวัน(10) เป็น 450 บาทต่อวัน คาดว่าจะทำให้ต้นทุนค่าจ้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 - 13.9 จากต้นทุนค่าจ้างปัจจุบันและเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 - 3.0 จากมูลค่าเพิ่มรวม ขณะที่ต้นทุนค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.5 – 0.6 จากมูลค่าผลผลิตรวมของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

4 ค่าคงที่จะขึ้นอยู่กับข้อมูลจริงของแต่ละบริษัทว่ามีพนักงานหรือแรงงานได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างมากหรือน้อยเพียงใดและบริษัทสามารถแบกรับต้นทุนที่เกิดจากการปรับค่าจ้างได้มากหรือน้อยเพียงใด ทั้งนี้ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะใช้ค่าคงที่เท่ากับ 1 และ 1.5 ในการคำนวณ
5 จุดตัดคำนวณจากสูตรคลื่นกระทบฝั่ง (Compression Adjustment) โดยใช้ค่าคงที่เท่ากับ 1 และ 1.5 ในการคำนวณ
6 ค่าจ้างทั้งหมดที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น (บาทต่อปี) = ∑ [(จุดตัด – ค่าจ้างปัจจุบัน (บาทต่อวัน))/2 x ค่าถ่วงน้ำหนัก (Weight) x 30 วัน x 12 เดือน]
7 เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน (201) ของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) ซึ่งหมายถึง เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทนที่ผู้จ้างจ่ายให้แก่ผู้รับจ้างทั้งในรูปของตัวเงินและสิ่งของ ผู้รับจ้าง ได้แก่ ลูกจ้างระยะยาว ลูกจ้างชั่วคราว ผู้บริหาร เป็นต้น
8 มูลค่าเพิ่มรวม (209) ของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) ซึ่งหมายถึง ผลรวมของเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน (201) ผลตอบแทนการผลิต (202) ค่าเสื่อมราคา (203) และภาษีทางอ้อมสุทธิ (204)
9 มูลค่าผลผลิตรวม (210) ของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) ซึ่งหมายถึง ผลรวมของมูลค่าปัจจัยการผลิตขั้นกลาง (190) และมูลค่าเพิ่มทั้งหมด (209)
10 คำนวณจากค่าเฉลี่ยของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 328 - 354 บาทต่อวันตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2565

ตารางที่ 2 รายสาขาการผลิตในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (116-122) ที่ได้รับผลกระทบหากมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน

ค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท กับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, บทความ ขึ้นค่าจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมไฟฟ้า, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, EEI, บทความ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ที่มา: วิเคราะห์โดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
หมายเหตุ: 1) ข้อมูล ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2566 
2) ใช้ค่าคงที่เท่ากับ 1 (จุดตัด เท่ากับ 559 บาทต่อวัน) และ 1.5 (จุดตัด เท่ากับ 613 บาทต่อวัน) มาคำนวณหาค่าจ้างทั้งหมด (บาทต่อปี) ที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น

11 ค่าจ้างทั้งหมดที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น (บาทต่อปี) = ∑ [(จุดตัด – ค่าจ้างปัจจุบัน (บาทต่อวัน))/2 x ค่าถ่วงน้ำหนัก (Weight) x 30 วัน x 12 เดือน]
12 เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน (201) ของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) ซึ่งหมายถึง เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทนที่ผู้จ้างจ่ายให้แก่ผู้รับจ้างทั้งในรูปของตัวเงินและสิ่งของ ผู้รับจ้าง ได้แก่ ลูกจ้างระยะยาว ลูกจ้างชั่วคราว ผู้บริหาร เป็นต้น
13 มูลค่าเพิ่มรวม (209) ของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) ซึ่งหมายถึง ผลรวมของเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน (201) ผลตอบแทนการผลิต (202) ค่าเสื่อมราคา (203) และภาษีทางอ้อมสุทธิ (204)
14 มูลค่าผลผลิตรวม (210) ของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) ซึ่งหมายถึง ผลรวมของมูลค่าปัจจัยการผลิตขั้นกลาง (190) และมูลค่าเพิ่มทั้งหมด (209)

หากพิจารณาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นรายสาขาการผลิต (116-122) หากมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน จะพบว่า รายสาขาการผลิตที่ได้รับผลกระทบด้านต้นทุนไม่มากนัก ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ในสำนักงานและในครัวเรือน (116) คาดว่า แรงงานส่วนใหญ่ในรายสาขานี้ได้รับค่าจ้างที่สูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่คาดว่าจะเป็น (450 บาท) อยู่แล้ว ทำให้เมื่อปรับอัตราค่าจ้างเป็น 450 บาท รายสาขาการผลิตนี้จะได้รับผลกระทบด้านสัดส่วนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไม่มากนัก โดยจะทำให้ต้นทุนค่าจ้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 – 4.0 จากต้นทุนค่าจ้างปัจจุบัน

ส่วนรายสาขาการผลิตที่ได้รับผลกระทบด้านต้นทุนในระดับปานกลาง ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน (119) มีต้นทุนค่าจ้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 – 10.9 จากต้นทุนค่าจ้างปัจจุบัน อุตสาหกรรมการผลิตลวดและสายเคเบิลชนิดหุ้มฉนวน (120) มีต้นทุนค่าจ้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 – 13.2 จากต้นทุนค่าจ้างปัจจุบัน อุตสาหกรรมการผลิตหม้อเก็บประจุไฟฟ้าและแบตเตอรี่ต่าง ๆ (121) มีต้นทุนค่าจ้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 – 19.3 จากต้นทุนค่าจ้างปัจจุบัน และอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ (122) มีต้นทุนค่าจ้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 – 8.0 จากต้นทุนค่าจ้างปัจจุบัน

ขณะที่รายสาขาการผลิตที่ได้รับผลกระทบด้านต้นทุนสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรและเครื่องมือไฟฟ้าสำหรับงานอุตสาหกรรม (117) ซึ่งมีต้นทุนค่าจ้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.2 – 31.5 จากต้นทุนค่าจ้างปัจจุบัน และอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือทางวิทยุ โทรทัศน์ และการคมนาคม (118) ซึ่งมีต้นทุนค่าจ้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.0 – 43.6 จากต้นทุนค่าจ้างปัจจุบัน โดยทั้งสองรายสาขาการผลิตข้างต้นมีแรงงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่คาดว่าจะเป็น (450 บาท) ในสัดส่วนที่สูง อาจจะเป็นเพราะว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นผู้รับจ้างประกอบ จึงทำให้แรงงานในรายสาขาการผลิตดังกล่าวเป็นแรงงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะสูงมากนัก ส่งผลให้มีต้นทุนค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากต้นทุนค่าจ้างปัจจุบัน มูลค่าเพิ่มรวม และมูลค่าผลผลิตรวมสูงกว่ารายสาขาการผลิตอื่น ๆ

ค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท กับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, บทความ ขึ้นค่าจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมไฟฟ้า, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, EEI, บทความ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ผลกระทบต่อผู้ประกอบการ

การปรับขึ้นของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ผู้ประกอบการอาจเลือกที่จะลดการจ้างงาน ลดการทำงานล่วงเวลาของแรงงานลงหรือลดสวัสดิการพนักงานเนื่องจากต้องการลดต้นทุนด้านค่าจ้างแรงงาน รวมไปจนถึงการตัดสินใจปรับขึ้นราคาสินค้าไม่ว่าจะเป็นราคาวัตถุดิบหรือราคาสินค้าสำเร็จรูปเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นได้ในอนาคต

นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้โมเดลการทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมมีการใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำหุ่นยนต์หรือระบบออโตเมชั่นเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อทดแทนแรงงานคน ซึ่งการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอาจเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมปรับเปลี่ยนไปใช้หุ่นยนต์หรือระบบออโตเมชั่นอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้นและอาจกระทบต่อการจ้างงานได้ ยิ่งไปกว่านั้น การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอาจเป็นตัวเร่งให้นักลงทุนและผู้ประกอบการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตเร็วขึ้นกว่าเดิม โดยเลือกที่จะไปลงทุนในประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าไทย

ภาพที่ 1 ผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน

ค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท กับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, บทความ ขึ้นค่าจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมไฟฟ้า, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, EEI, บทความ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ที่มา: รวบรวมและวิเคราะห์โดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

บทสรุปและข้อเสนอเชิงนโยบาย

จากการศึกษาผลกระทบของการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ 450 บาทต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย พบว่า จะทําให้ต้นทุนค่าจ้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8-13.9 จากต้นทุนค่าจ้างปัจจุบันและเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3-3.0 จากต้นทุนรวมปัจจุบัน ขณะที่ต้นทุนค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.5 – 0.6 จากมูลค่าผลผลิตรวมของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีสัดส่วนไม่สูงมากนัก สาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากค่าจ้างของแรงงานในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยบางส่วนอยู่ในระดับที่สูงกว่า 450 บาทอยู่แล้ว เนื่องจากอุตสาหกรรมต้องใช้แรงงานที่มีฝีมือมาทำงานร่วมกับเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีค่อนข้างแม่นยำและซับซ้อน

นโยบายเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำของภาครัฐควรมีแนวทางที่ชัดเจนเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถวางแผนในการรับมือกับค่าจ้างที่สูงขึ้นได้รวมถึงได้รับผลกระทบทางลบลดลง ทั้งนี้ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำควรทำในรูปแบบของการทยอยปรับขึ้นค่าจ้างเพื่อให้กระทบต่อผู้ประกอบการน้อยที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด 19 และกำลังฟื้นตัวจากวิกฤตดังกล่าว อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำมีโอกาสส่งผลกระทบกับบริษัทขนาดเล็ก โดยเฉพาะบริษัทที่มีส่วนเกินในการดำเนินงาน (Operating Surplus) ค่อนข้างต่ำ มากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทที่มีส่วนเกินในการดำเนินงาน (Operating Surplus) ค่อนข้างต่ำเหล่านี้มักจะเป็นผู้รับจ้างผลิตที่อาศัยความได้เปรียบจากการจ้างแรงงานราคาถูก

สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายในระยะสั้นนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อรองรับผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นต่อผู้ประกอบการขนาดเล็ก เช่น การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับเงินทุนสำรองหรือเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น เป็นต้น นอกจากนี้ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำควรทำควบคู่ไปกับนโยบายการลดต้นทุนประเภทสาธารณูปโภคให้กับผู้ประกอบการด้วย เช่น ค่าไฟฟ้า เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอเชิงนโยบายในระยะยาวอาจต้องพิจารณาสองเรื่อง หนึ่งคือ ผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น การขนส่ง อาจส่งผลกระทบทางลบเพิ่มเติมกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มากกว่าที่คาดไว้ในระยะสั้น และสองคือ การสนับสนุนให้แรงงานพัฒนาทักษะฝีมือ โดยเฉพาะความสามารถในการทำงานกับเครื่องจักรที่มีความซับซ้อนหรือมีเทคโนโลยีสูงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับค่าจ้างของแรงงานแต่ละคนให้สูงขึ้น และห่างไปจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีผลกระทบในอนาคต

ภาคผนวก

นิยามของข้อมูลการสำรวจด้านสังคมสาขาแรงงาน (Labor Force Survey: LFS) ที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณ

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยแผนกนโยบายและแผน ได้อ้างอิงนิยามของข้อมูลการสำรวจด้านสังคมสาขาแรงงาน (Labor Force Survey: LFS) ที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณของสำนักงานสถิติแห่งชาติ 

ซึ่งนิยามที่จำเป็นต่อการทำความเข้าใจในการวิเคราะห์มีรายละเอียดดังนี้

1. รหัสอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบไปด้วย

ประเภท C: การผลิต

หมวด 26 การผลิตผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในทางทัศนศาสตร์

26101, 26102, 26103, 26104, 26109, 26201, 26202, 26203, 26209, 26301, 26302, 26303, 26309, 26401, 26402, 26403, 26409, 26703

หมวด 27 การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า

27101, 27102, 27103, 27200, 27310, 27320, 27330, 27401, 27409, 27501, 27502, 27901, 27902, 27909

2. นิยามอื่น ๆ ประกอบไปด้วย

- APPROX หมายถึง ค่าจ้างที่ได้รับรายเดือน

- WEIGHT หมายถึง ค่า Weight ทศนิยม 4 ตำแหน่ง

นิยามของข้อมูลตามรหัส I/O (Input-Output Description) ที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณ

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยแผนกนโยบายและแผน ได้อ้างอิงนิยามของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณตามรหัส I/O (Input-Output Description) สาขาการผลิต 180 สาขา ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งนิยามที่จำเป็นต่อการทำความเข้าใจในการวิเคราะห์ มีรายละเอียดดังนี้

1. นิยามของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบไปด้วย

1) การผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ในสำนักงานและในครัวเรือน (116)

สาขานี้ประกอบด้วยการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ในสำนักงานและในครัวเรือน เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ตู้แช่ ตู้ทำน้ำแข็ง จักรเย็บผ้า พิมพ์ดีด เครื่องคิดเลข เครื่องคอมพิวเตอร์ รวมทั้งชิ้นส่วนและอุปกรณ์ของเครื่องมือเครื่องใช้ดังกล่าว เช่น คอมเพรสเซอร์คอนเดนเซอร์ เป็นต้น

2) การผลิตเครื่องจักรและเครื่องมือไฟฟ้าสำหรับงานอุตสาหกรรม (117)

สาขานี้ประกอบด้วยการผลิตและการซ่อมเครื่องและเครื่องมือไฟฟ้าที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องเชื่อมไฟฟ้า มิเตอร์ไฟฟ้า เป็นต้น รวมทั้งการผลิตชิ้นส่วนของเครื่องจักรเครื่องมือดังกล่าว

3) การผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือทางวิทยุ โทรทัศน์ และการคมนาคม (118)

สาขานี้ประกอบด้วยการผลิตวิทยุ โทรทัศน์ วีดีโอ เครื่องบันทึกคำบอก เครื่องเล่นแผ่นเสียง 

เครื่องบันทึกเสียงด้วยเทป เครื่องกระจายเสียงชนิดต่างๆ โทรศัพท์ จานดาวเทียม เครื่องมือสื่อสารอื่น ๆ รวมทั้งชิ้นส่วนและส่วนประกอบ เช่น แผงวงจรไฟฟ้า แผ่นวงจรพิมพ์ หลอดภาพ โทรพิมพ์สี เป็นต้น

4) การผลิตเครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน (119)

สาขานี้ประกอบด้วยการผลิตเครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านขนาดเล็ก เช่น เตาอบไมโครเวฟ เตารีด 

พัดลม หม้อหุงข้าว เครื่องปิ้งขนมปัง เครื่องผสมอาหาร และชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ

5) การผลิตลวดและสายเคเบิลชนิดหุ้มฉนวน (120)

สาขานี้ประกอบด้วยการผลิตลวดและสายเคเบิลชนิดหุ้มฉนวน

6) การผลิตหม้อเก็บประจุไฟฟ้าและแบตเตอรี่ต่าง ๆ (121)

สาขานี้ประกอบด้วยการผลิตหม้อเก็บประจุไฟฟ้าชนิดด่างหรือตะกั่วกรด และเซลล์ไฟฟ้าปฐมภูมิ เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย เป็นต้น

7) การผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ (122)

สาขานี้ประกอบด้วยการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มิได้จัดประเภทไว้ในสาขาอื่น ๆ เช่น โคมไฟฟ้า หลอดไฟฟ้า ฟิวส์ ตัวนำ และอุปกรณ์ที่มีกระแสไฟฟ้าผ่าน เป็นต้น

2. นิยามอื่น ๆ ประกอบไปด้วย

1) เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน (201)

ได้แก่ เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทนที่ผู้จ้างจ่ายให้แก่ผู้รับจ้างทั้งในรูปของตัวเงินและสิ่งของ ผู้รับจ้าง ได้แก่ ลูกจ้างระยะยาว ลูกจ้างชั่วคราว ผู้บริหาร เป็นต้น

2) มูลค่าเพิ่มรวม (209)

เป็นผลรวมของเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน (201) ผลตอบแทนการผลิต (202) ค่าเสื่อมราคา (203) และภาษีทางอ้อมสุทธิ (204)

3) ผลผลิตรวมในประเทศ (210)

เป็นผลรวมของมูลค่าปัจจัยการผลิตขั้นกลาง (190) และมูลค่าเพิ่มทั้งหมด (209)

การคำนวณผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำ 450 บาทต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้ใช้ข้อมูลค่าจ้างจากการสำรวจด้านสังคมสาขาแรงงาน (Labor Force Survey: LFS) ปี 2563 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติในการคำนวณการปรับขึ้นค่าจ้างของแรงงาน โดยได้คำนวณค่าจ้างรายเดือน (บาทต่อเดือน) ของแรงงานในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นค่าจ้างรายวัน (บาทต่อวัน) โดยใช้สูตรการคำนวณ ดังนี้

ค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท กับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, บทความ ขึ้นค่าจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมไฟฟ้า, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, EEI, บทความ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

หมายเหตุ: จำนวนวันทำงาน 30 วันต่อเดือน

นอกจากนี้ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้ใช้จุดตัดโดยอ้างอิงสูตรคลื่นกระทบฝั่ง (Compression Adjustment)(15) ในการคำนวณ

ค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท กับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, บทความ ขึ้นค่าจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมไฟฟ้า, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, EEI, บทความ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

15 Compression Adjustment สูตรการปรับเงินเดือนคนเก่าให้หนีคนใหม่ โดยธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ (2565)

กำหนดให้ 1) ค่าจ้างปัจจุบัน (บาทต่อวัน) = ค่าจ้างที่แรงงานในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยได้รับ โดยเป็นข้อมูลจากการสำรวจด้านสังคมสาขาแรงงาน (Labor Force Survey: LFS) ปี 2563

2) จุดตัด = ค่าจ้างเริ่มต้นใหม่ + ค่าคงที่ x (ค่าจ้างเริ่มต้นใหม่ - ค่าจ้างเริ่มต้นปัจจุบัน)

โดยค่าจ้างเริ่มต้นใหม่ คือ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน ส่วนค่าจ้างเริ่มต้นปัจจุบัน คือ 341 บาทต่อวัน(16) ขณะที่ค่าคงที่จะขึ้นอยู่กับข้อมูลจริงของแต่ละบริษัทว่ามีพนักงานหรือแรงงานได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างมากหรือน้อยเพียงใดและบริษัทสามารถแบกรับต้นทุนที่เกิดจากการปรับค่าจ้างได้มากหรือน้อยเพียงใด ทั้งนี้ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะใช้ค่าคงที่เท่ากับ 1 และ 1.5 ในการคำนวณ และสำหรับการวิเคราะห์การปรับค่าจ้างในฉบับนี้จะคำนวณเฉพาะแรงงานที่ได้รับค่าจ้างต่อวันต่ำกว่าจุดตัด ขณะที่แรงงานที่ได้รับค่าจ้างต่อวันเท่ากับและสูงกว่าจุดตัดจะไม่ได้ถูกนำมาคำนวณ

จากนั้นนำจุดตัดจากการคำนวณผ่านสูตรคลื่นกระทบฝั่ง (Compression Adjustment) ที่ใช้ค่าคงที่เท่ากับ 1 (จุดตัด เท่ากับ 559 บาทต่อวัน) และ 1.5 (จุดตัด เท่ากับ 613 บาทต่อวัน) มาคำนวณหาค่าจ้างทั้งหมด (บาทต่อปี) ที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น โดยใช้สูตรการคำนวณ ดังนี้

ค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท กับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, บทความ ขึ้นค่าจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมไฟฟ้า, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, EEI, บทความ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้ใช้ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table of Thailand 2015: 180 Sectors) ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นเครื่องมือในการศึกษาและวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการวิเคราะห์เฉพาะผลกระทบทางตรงผ่านต้นทุนค่าจ้างและต้นทุนรวมของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบันที่เพิ่มขึ้น โดยใช้สูตรการคำนวณ ดังนี้

ค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท กับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, บทความ ขึ้นค่าจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมไฟฟ้า, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, EEI, บทความ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

 

 

16 คำนวณจากค่าเฉลี่ยของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 328 - 354 บาทต่อวันตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2565

 

จัดทำโดย แผนกนโยบายและแผน ศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E Intelligence Unit: EIU) สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI)

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH