อุตสาหกรรมไทย, สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, Energy

นโยบายกรีนดีล (European Green Deal) กับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย

อัปเดตล่าสุด 11 มี.ค. 2565
  • Share :

บทความพิเศษ: นโยบายกรีนดีล (European Green Deal) ของสหภาพยุโรปกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย โดย: สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI)

จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันได้ส่งผลให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจนำไปสู่ภาวะโลกร้อนหรือภาวะเรือนกระจกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหากทั่วโลกไม่รีบออกนโยบายเพื่อปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และควบคุมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ก็จะทำให้เกิดผลเสียตามมาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ เพื่อเอาชนะต่อความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมที่เป็นภัยคุกคามต่อทวีปยุโรป คณะกรรมาธิการแห่งยุโรปได้นำเสนอนโยบายกรีนดีล (European Green Deal) โดยมีแผนปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนที่สะอาด การประหยัดทรัพยากร การลดมลพิษและการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังได้กําหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 อีกด้วย

นโยบายกรีนดีล (European Green Deal) คืออะไร

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2019 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ภายใต้การนำของนางอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen) ได้แถลงนโยบายกรีนดีล (European Green Deal) โดยมีการกำหนดเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 50-55 ภายในปี 2030 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเป็นศูนย์ภายในปี 2050 พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการปฏิบัติในการจัดการกับปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วยการขับเคลื่อนบนพื้นฐานของเศรษฐกิจที่ทันสมัยและมีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสู่การเป็นผู้นําในเวทีโลกด้านอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีสะอาด ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้กับประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป 27 ประเทศ (ไม่รวมสหราชอาณาจักร) โดยองค์ประกอบสำคัญของนโยบายกรีนดีล (European Green Deal)1 มีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

องค์ประกอบสำคัญของนโยบายกรีนดีล (European Green Deal)

1. การเพิ่มเป้าหมายด้านการจัดการสภาพอากาศในปี 2030 และ 2050 (Increasing the EU’s climate ambition for 2030 and 2050)

สหภาพยุโรปได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิต้องเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ทั้งนี้ สหภาพยุโรปจะใช้กลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน หรือ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ในการควบคุมปัญหาคาร์บอนแฝงในสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ

2. จัดหาพลังงานที่สะอาด ราคาไม่แพง และปลอดภัย (Supplying clean, affordable and secure energy)

เนื่องจากการผลิตและการใช้พลังงานในภาคเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 75 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการใช้พลังงานและเน้นการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน ในขณะเดียวกัน แหล่งพลังงานของสหภาพยุโรปก็ต้องปลอดภัยและมีราคาที่เอื้อมถึงสำหรับผู้บริโภคและภาคธุรกิจด้วย

3. ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเพื่อเศรษฐกิจที่สะอาดและเศรษฐกิจหมุนเวียน (Mobilising industry for a clean and circular economy)

แผนปฏิบัติการเศรษฐกิจหมุนเวียนจะใช้นโยบายผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน (Sustainable Products) เพื่อสนับสนุนการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยจะให้ความสำคัญกับการลดและการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ก่อนนำไปรีไซเคิล ส่งเสริมรูปแบบธุรกิจใหม่ รวมถึงกำหนดข้อกำหนดขั้นต่ำเพื่อป้องกันไม่ให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมถูกวางในตลาดสหภาพยุโรป

4. การก่อสร้างอาคารและการปรับปรุงด้านพลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภา (Building and renovating in an energy and resource efficient way)

สหภาพยุโรปจะบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพด้านพลังงานของอาคาร รวมถึงทบทวนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการก่อสร้างโดยตรวจสอบให้แน่ใจว่าการออกแบบอาคารใหม่และการปรับปรุงในทุกขั้นตอนนั้นสอดคล้องกับรูปแบบของเศรษฐกิจหมุนเวียน

5. มุ่งสู่การขนส่งที่ยั่งยืนและชาญฉลาด (Accelerating the shift to sustainable and smart mobility)

การขนส่งคิดเป็นสัดส่วนหนึ่งในสี่ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคขนส่งก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สหภาพยุโรปจึงตั้งเป้าหมายว่า ภาคการขนส่งจะต้องลดการปล่อยมลพิษร้อยละ 90 ภายในปี 2050 โดยสหภาพยุโรปจะนำระบบการจัดการจราจรอัจฉริยะเข้ามาใช้งาน รวมถึงปรับระบบขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับกับระบบดังกล่าวด้วย

6. From 'Farm to Fork': การออกแบบระบบอาหารที่ยุติธรรม ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (From ‘Farm to Fork’: designing a fair, healthy and environmentally-friendly food system)

ปัจจุบัน การผลิตอาหารได้ส่งผลให้เกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติในปริมาณที่มากเกินไป ดังนั้น สหภาพยุโรปจึงได้กำหนดนโยบายด้านอาหารที่มีความยั่งยืนมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งกลยุทธ์ Farm to Fork จะกระตุ้นให้เกิดการบริโภคอาหารอย่างยั่งยืนและส่งเสริมอาหารเพื่อสุขภาพราคาไม่แพงสำหรับทุกคน นอกจากนี้ กลยุทธ์ Farm to Fork ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของภาคการแปรรูปอาหารและภาคค้าปลีกผ่านการดำเนินการเกี่ยวกับการขนส่ง การจัดเก็บ บรรจุภัณฑ์และเศษอาหารอีกด้วย

7. การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ (Preserving and restoring ecosystems and biodiversity)

สหภาพยุโรปจะหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพผ่านการใช้มาตรการต่างๆ เช่น มาตรการจัดการมลพิษ ดินและน้ำ แผนกลยุทธ์ป่าไม้ฉบับใหม่ที่มุ่งเน้นการเพิ่มอัตราการปลูกป่าทั้งในเขตเมืองและชนบท กฎการใช้ฉลากส่งเสริมผลิตภัณฑ์การเกษตรที่มีกระบวนการผลิตที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า เป็นต้น

8. การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปราศจากมลพิษ (A zero pollution ambition for a toxic-free environment)

แผนนโยบายกรีนดีล (European Green Deal) ต้องการสร้างสังคมที่ไร้มลพิษ ไม่ว่าจะเป็นอากาศ ดินและน้ำ โดยสภาพแวดล้อมของสหภาพยุโรปจะต้องปลอดจากมลพิษภายในปี 2050 ดังนั้น สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกจะต้องพิจารณานโยบายและข้อบังคับทั้งหมดอย่างเป็นระบบมากขึ้น

ตัวอย่างกลยุทธ์ เช่น สหภาพยุโรปได้นำเสนอกลยุทธ์ทางเคมีเพื่อความยั่งยืน (Chemicals Strategy for Sustainability) โดยกลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยปกป้องประชาชนและสิ่งแวดล้อมจากสารเคมีอันตรายได้ดีขึ้นและส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาทางเลือกที่ปลอดภัยและยั่งยืน เป็นต้น

นอกจากองค์ประกอบทั้ง 8 ด้านข้างต้นแล้ว สหภาพยุโรปยังต้องมีการดำเนินการด้านการเงินและการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปจนถึงการขับเคลื่อนการวิจัยและส่งเสริมนวัตกรรมด้วย เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน

ตัวอย่างมาตรการสำคัญภายใต้นโยบายกรีนดีล (European Green Deal)

นอกจากองค์ประกอบสำคัญของนโยบายกรีนดีล (European Green Deal) แล้ว นโยบายกรีนดีลยังมีมาตรการย่อยต่างๆ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้และอาจเป็นบรรทัดฐานสำหรับมาตรฐานด้านสินค้าและด้านสิ่งแวดล้อมที่จะถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย รวมถึงประเทศที่มีการค้ากับสหภาพยุโรปจะต้องปฏิบัติตามด้วยเช่นกัน ตัวอย่างมาตรการสำคัญของนโยบายกรีนดีล (European Green Deal) มีดังนี้ 

1. กลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM)

กลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เป็นหนึ่งในแผนงานภายใต้ European Green Deal โดยได้รับมติเห็นชอบจากรัฐสภายุโรปเมื่อเดือนมีนาคม 2021 ที่ผ่านมา และคณะกรรมาธิการคาดว่าข้อเสนอทางกฎหมายเกี่ยวกับ CBAM จะเผยแพร่ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2023

โดยกลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) นั้น มีเป้าหมายเพื่อจัดการกับปัญหาคาร์บอนแฝงในสินค้านำเข้า ซึ่งกลไก CBAM จะปรับราคาสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศให้สะท้อนถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่แท้จริงที่เกิดจากกระบวนการผลิตของสินค้านั้นๆ ทั้งนี้ กลไก CBAM จะต้องสอดคล้องกับกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) และข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ของสหภาพยุโรป รวมถึงการปฏิบัติที่คล้ายคลึงกันสำหรับผู้นำเข้าและผู้ผลิตในประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปยังไม่ระบุแน่ชัดว่ากลไกดังกล่าวจะออกมาในรูปแบบใด 

2. ข้อเสนอสำหรับการปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับแบตเตอรี่ของสหภาพยุโรปให้ทันสมัยภายใต้ Circular Economy Action Plan

เมื่อเดือนธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับแบตเตอรี่ของสหภาพยุโรปเพื่อให้วงจรชีวิตของแบตเตอรี่มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยแบตเตอรี่ที่วางจำหน่ายในสหภาพยุโรป เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่แบบพกพา เป็นต้น ควรมีประสิทธิภาพสูง มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ปลอดภัย มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และเมื่อหมดอายุการใช้งานแล้ว ควรนำกลับมาใช้ใหม่ ผลิตซ้ำหรือรีไซเคิลได้ โดยป้อนวัสดุที่มีคุณค่า เช่น โคบอลต์ ลิเธียม นิกเกิล ตะกั่ว เป็นต้น กลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจ 

ตัวอย่างข้อกำหนดบังคับสำหรับแบตเตอรี่ทั้งหมดที่วางตลาดในสหภาพยุโรป เช่น การใช้วัสดุที่มีการจำกัด การใช้สารอันตราย ปริมาณวัสดุรีไซเคิลขั้นต่ำ Carbon Footprint ประสิทธิภาพและความทนทาน การติดฉลาก การรวบรวมและรีไซเคิล เป็นต้น นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีไอทีใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Battery Passport จะเป็นกุญแจสำคัญในการแบ่งปันข้อมูลอย่างปลอดภัยและเพิ่มความโปร่งใสของตลาดแบตเตอรี่ รวมถึงการตรวจสอบย้อนกลับของแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ตลอดวงจรชีวิตจะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นนวัตกรรมใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. ฉลากพลังงาน (Energy Labels)

สหภาพยุโรปได้มีการปรับปรุงฉลากพลังงานสำหรับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านใหม่ทั้งหมดเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการรับรองฉลากฯ ให้สูงขึ้น ผ่านตัวชี้วัดในด้านประสิทธิภาพทางพลังงานที่ได้จากการทดสอบจริงตามมาตรฐานที่กำหนดของแต่ละผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ฉลากพลังงานดังกล่าวยังช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดเงินได้มากขึ้นด้วยการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานน้อยลงอีกด้วย

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2021 เป็นต้นไป ระบบการให้คะแนนฉลากพลังงานจะใช้การจัดอันดับ A ถึง G เท่านั้น แทนที่จะใช้การจัดอันดับ A+++ ถึง D เช่นเดิม โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท A (สีเขียว) ใช้พลังงานน้อยที่สุด ทำให้ประหยัดพลังงานมากที่สุด ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท G (สีแดง) ใช้พลังงานมากที่สุด โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ระบบการให้คะแนนใหม่ ได้แก่ ตู้เย็น เครื่องล้างจาน เครื่องซักผ้า โทรทัศน์ หลอดไฟและโคมไฟ เป็นต้น

ฉลากพลังงาน (Energy Labels) รูปแบบเก่าและรูปแบบใหม่ของสหภาพยุโรป

4. Restriction of Hazardous Substances in Electrical and Electronic Equipment (RoHS)

ระเบียบ RoHS มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะจากเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยระเบียบ RoHS นี้จะจำกัดการใช้สารอันตรายบางชนิดในอุปกรณ์และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Electrical and electronic equipment: EEE) และทดแทนด้วยทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า ซึ่งสารจำกัดเหล่านี้รวมถึงโลหะหนัก (Heavy Metals) สารหน่วงการติดไฟ (Flame Retardants) หรือพลาสติไซเซอร์ (Plasticizers)

ทั้งนี้ การที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กลายเป็นของเสียมีสารอันตรายน้อยลงจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ผลิตและผู้นำเข้าอุปกรณ์และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Electrical and electronic equipment: EEE) ในตลาดยุโรปได้

5. Waste from Electrical and Electronic Equipment (WEEE)

สหภาพยุโรปได้ออกระเบียบ WEEE เพื่อจัดการกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุการใช้งานแล้วนั้นจะต้องได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามมา

ระเบียบ WEEE มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2012 เป็นต้นมา โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนโดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว จะต้องมีการกำหนดเป้าหมายสำหรับการรวบรวม การกู้คืนและการรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หลังจากที่หมดอายุการใช้งานแล้ว

ภาพรวมการค้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสหภาพยุโรป

การค้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสหภาพยุโรปกับทั่วโลก

การที่สหภาพยุโรปได้กำหนดให้นโยบายกรีนดีล (European Green Deal) เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสะอาดนั้น อาจส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประเทศคู่ค้าของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่สหภาพยุโรปได้กำหนดกฎระเบียบข้อบังคับขึ้นมาใหม่ รวมถึงได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดดังกล่าวให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและมีการปรับมาตรฐานสินค้าให้สูงขึ้นตามไปด้วย

สำหรับภาพรวมการค้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสหภาพยุโรปนั้น จากข้อมูลของ Global Trade Atlas ในปี 2020 ที่ผ่านมา พบว่า สหภาพยุโรป (27 ประเทศ ไม่รวมสหราชอาณาจักร) มีมูลค่าการค้ารวมกับประเทศคู่ค้าทั่วโลก มูลค่า 1,452,450 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลก มูลค่า 804,684 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีสินค้านำเข้าหลัก คือส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ และส่วนประกอบของเครื่องอุปกรณ์สำหรับการส่งหรือการรับเสียง ภาพ หรือข้อมูลอื่นๆ รวมถึงอุปกรณ์ตัดต่อสัญญาณและจัดเส้นทาง โดยมีคู่ค้าสำคัญ คือ จีน เนเธอร์แลนด์และเยอรมนี 

ส่วนการส่งออกนั้น พบว่า สหภาพยุโรปส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไปทั่วโลกมูลค่า 647,766 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสินค้าส่งออกหลัก คือ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องอุปกรณ์สําหรับป้องกันวงจรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องอุปกรณ์สำหรับการส่งหรือการรับเสียง ภาพ หรือข้อมูลอื่น ๆ และอุปกรณ์สำหรับสื่อสารในระบบเครื่อข่ายทางสาย ไร้สาย โดยมีคู่ค้าสำคัญ คือ เยอรมนี ฝรั่งเศสและจีน

การค้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสหภาพยุโรปกับไทย

ภาพรวมการค้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างไทยและสหภาพยุโรปในปี 2020 ที่ผ่านมา พบว่า ไทยและสหภาพยุโรปมีการค้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่ารวม 9,430 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจำแนกเป็นการนำเข้า มูลค่า 2,291 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกมูลค่า 7,139 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า

ทั้งนี้ สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยมีการนำเข้าจากสหภาพยุโรปสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) สินค้าวงจรรวม 2) สินค้าแผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า และ 3) สินค้าเครื่องอุปกรณ์สําหรับป้องกันวงจรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ซึ่งเป็นการนำเข้าจากประเทศเยอรมนี อิตาลีและฝรั่งเศสเป็นหลัก ในขณะที่ สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยมีการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) สินค้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ 2) สินค้าเครื่องปรับอากาศ และ 3) สินค้าเครื่องพิมพ์เครื่องทำสำเนาและส่วนประกอบ ซึ่งเป็นการส่งออกไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และฝรั่งเศสเป็นหลัก

นโยบายกรีนดีล (European Green Deal) ของสหภาพยุโรปกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย

มาตรการสำคัญของนโยบายกรีนดีล (European Green Deal) ที่คาดว่าจะส่งผลต่อภาคการผลิต การนำเข้า การส่งออก รวมถึงห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย มีดังต่อไปนี้

1. กลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM)

สำหรับกลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ที่สหภาพยุโรปจะเลือกใช้ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) หรือการใช้ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยคาร์บอน (European Union Emission Trading Scheme: EU-ETS) ล้วนส่งผลทำให้ต้นทุนสินค้าของประเทศที่มีการค้ากับสหภาพยุโรปรวมถึงไทยมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นหากกระบวนการในการผลิตสินค้าไม่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้และไม่ผ่านมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมตามที่สหภาพยุโรปได้กำหนดไว้ 

นอกจากนี้ กลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการส่งออกสินค้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์และสินค้าวงจรรวมของไทย เนื่องจากสินค้ากลุ่มดังกล่าวมีการปล่อยคาร์บอนสูง รวมถึงเป็นสินค้าที่ไทยมีการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปมากเป็นอันดับ 1 และอันดับ 4 ตามลำดับในปี 2020

2. ข้อเสนอสำหรับการปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับแบตเตอรี่ของสหภาพยุโรปให้ทันสมัยภายใต้ Circular Economy Action Plan

การปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับแบตเตอรี่ได้กำหนดให้ผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า แล็ปท็อป แท็บเล็ต สมาร์ทโฟนและแบตเตอรี่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต้องเป็นแบตเตอรี่ที่สามารถชาร์จไฟซ้ำได้และได้การรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตามที่กำหนดเท่านั้นจึงจะสามารถวางจำหน่ายสินค้าในตลาดสหภาพยุโรปได้ 

กฎหมายเกี่ยวกับแบตเตอรี่ (ฉบับปรับปรุงใหม่) คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2024 เป็นต้นไป ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานแบตเตอรี่ในสหภาพยุโรปจะต้องรีบพัฒนาและยกระดับสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานตามกฎระเบียบที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้เพื่อให้สามารถวางจำหน่ายสินค้าในตลาดสหภาพยุโรปในปี 2024 ได้

3. ฉลากพลังงาน (Energy Labels)

การบังคับใช้ฉลากพลังงาน (Energy Labels) รูปแบบใหม่ของสหภาพยุโรปจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่ต้องได้รับการรับรองฉลากพลังงาน (Energy Labels) รูปแบบใหม่ก่อนจึงจะสามารถส่งออกไปสหภาพยุโรปได้ ทั้งนี้ การบังคับใช้ฉลากพลังงาน (Energy Labels) รูปแบบใหม่ได้มีผลบังคับใช้แล้วสำหรับผลิตภัณฑ์ตู้เย็น เครื่องล้างจาน เครื่องซักผ้า และโทรทัศน์ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2021 ที่ผ่านมา ในขณะที่ การรับรองฉลากพลังงาน (Energy Labels) สำหรับผลิตภัณฑ์หลอดไฟและโคมไฟจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2021 เป็นต้นไป และสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องอบผ้า เครื่องปรับอากาศ เตาอบไฟฟ้าและเครื่องดูดควันจะมีผลบังคับใช้ในลำดับถัดไป

European Commission

นอกจากมาตรการทั้ง 3 ประเภทข้างต้นที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยในอนาคตอันใกล้แล้ว ที่ผ่านมาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยยังต้องปฏิบัติตามระเบียบจำกัดสารอันตรายในผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Restriction of Hazardous Substances in Electrical and Electronic Equipment: RoHS) และระเบียบการกำจัดเศษซากจากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Waste from Electrical and Electronic Equipment: WEEE) อีกด้วย ซึ่งระเบียบข้อบังคับดังกล่าวได้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2011 และวันที่ 13 สิงหาคม 2012 ที่ผ่านมา

สรุป

จากการที่สหภาพยุโรปได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อการดำเนินวิถีชีวิตของประชากรในประเทศ คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) จึงได้นำเสนอนโยบายกรีนดีล (European Green Deal) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นการส่งสัญญาณให้ทุกประเทศได้รับทราบว่านโยบายดังกล่าวจะเป็นบรรทัดฐานทางการค้า มาตรฐานของสินค้าและมาตรฐานในการผลิตสินค้า ซึ่งหากประเทศคู่ค้าต้องการที่จะทำการค้ากับสหภาพยุโรป ประเทศเหล่านั้นจะต้องปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัจจุบัน สหภาพยุโรปเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญและเป็นตลาดส่งออกอันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย ซึ่งการที่สหภาพยุโรปได้เริ่มมีการนำนโยบายกรีนดีล (European Green Deal) มาเป็นเกณฑ์ในการออกแบบและผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นคาดว่าจะส่งผลต่อการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยหลายประเภท ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยปรับตัวไม่ได้ มาตรการดังกล่าวก็อาจจะกลายเป็นอุปสรรคทางการค้าแทน

อย่างไรก็ตาม นโยบายกรีนดีล (European Green Deal) อาจเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด เช่น โซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งสินค้ากลุ่มดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะเติบโตในอนาคตอันใกล้เนื่องจากการสนับสนุนให้ใช้พลังงานสะอาดของสหภาพยุโรป

นอกจากนี้ ไทยยังมีการกำหนดให้ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย ซึ่งโมเดลเศรษฐกิจ BCG นี้ มีความสอดคล้องกับนโยบายกรีนดีล (European Green Deal) ของสหภาพยุโรปและคาดว่า ไทยจะสามารถสร้างความร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการปรับปรุงมาตรฐานสินค้าสำหรับการส่งออกได้ในอนาคต

ดังนั้น ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยจึงควรเตรียมความพร้อมและปรับรูปแบบสินค้าไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดสหภาพยุโรปและเป็นไปตามมาตรฐานที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้

 

เอกสารอ้างอิง

  • European Commission.2019. Communication and roadmap on the European Green Deal Retrieved from https://eur-lex.europa.eu/resource.html?uri=cellar:b828d165-1c22-11ea-8c1f-01aa75ed71a1.0002.02/DOC_1&format=PDF
  • europetouch.2564.ไทยและสหภาพยุโรปเพิ่มพูนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน.เข้าถึงได้จาก https://europetouch.mfa.go.th/th/content/%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%AB%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B9%E0%B8%99?cate=5d6abf7c15e39c3f30001465
  • Krungthai COMPASS.2564.จับตากระแสโลก หนุนธุรกิจสายกรีนและนวัตกรรมยั่งยืน.เข้าถึงได้จากhttps://krungthai.com/Download/economyresources/EconomyResourcesDownload_455%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81_%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B8%99_02_02_64_2.pdf
  • ขวัญใจ เตชเสนสกุล.2564.มาตรการลดคาร์บอนของประเทศยักษ์ใหญ่ ... ภาพตัวอย่างการปรับตัวของไทย.เข้าถึงได้จาก https://kmc.exim.go.th/detail/20190927190855/20210621120326
  • ผู้จัดการออนไลน์.2564.กลไกจัดเก็บภาษีคาร์บอนสินค้าข้ามแดน (CBA) ของ EU…อีกปัจจัยท้าทายอุตสาหกรรมส่งออกไทย / ศูนย์วิจัยกสิกรไทย.เข้าถึงได้จาก https://mgronline.com/greeninnovation/detail/
  • 9640000063469
  • สำนักงานที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมในต่างประเทศ ประจำกรุงเวียนนา.2564.การปรับกฎระเบียบแบตเตอรี่ของสหภาพยุโรปสอดคล้องเพื่อให้เป้าหมาย Green deal.เข้าถึงได้จาก https://thaiindustrialoffice.wordpress.com/tag/european-green-deal-%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%88/

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH