Digital และ Data ฐานรากสำคัญ มุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 [ตอนจบ]
ในบทความครั้งที่แล้ว ได้กล่าวถึงปัจจัยสู่ความสำเร็จที่เป็นฐานรากสำคัญ (Key platform) ขององค์กรยุคใหม่ได้เป็น 2D คือ Digital และ Data ซึ่งถือเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนองค์กรให้ไปสู่อนาคตที่สดใสได้ ขาดตัวใดตัวหนึ่งไปหรือใช้มันไม่ได้อย่างมีประสิทธิผลก็ยากที่จะอยู่รอดและแข่งขันได้ในยุคนี้ และได้สรุปสาระสำคัญจากมุมมองผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาเทคโนโลยีและการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรม 4.0 ไปแล้วบางส่วน ครั้งนี้จะมาเติมเต็มทัศนะอื่น ๆ เพิ่มเติมถึงพัฒนาการและการประยุกต์ใช้งานด้านธุรกิจ ตลอดจนการส่งเสริมสตาร์ทอัพให้เติบโตก้าวหน้า ดังนี้
อ่าน : Digital และ Data ฐานรากสำคัญ มุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตอนที่ 1
Implementation of Industry 4.0 in Korea
Mr. David Sehyeon Baek ผู้เชี่ยวชาญเกาหลีได้ยก 2 ประเด็นสําคัญเกี่ยวกับการดําเนินการเพื่อก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ประเด็นแรก คือ การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) และประเด็นที่สองคือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ซึ่งเขาได้ถามผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาว่า “คุณจําได้ไหมว่าปีที่แล้วในวันนี้คุณกําลังทําอะไรอยู่” ซึ่งแน่นอนคงไม่มีผู้เข้าร่วมประชุมคนใดตอบได้ ใครจะไปนั่งจำ ยกเว้นว่าจดบันทึกไว้ แต่กระนั้นก็คงต้องไปเปิดย้อนดูอยู่ดี แต่คอมพิวเตอร์สามารถจดจําได้ และบอกเราได้ในทันทีที่เราต้องการรู้ ดังนั้น ถ้าเราอยากรู้อะไรแทนที่จะถามคน น่าจะไปถามคอมพิวเตอร์คงจะได้คําตอบที่ถูกต้องและรวดเร็วกว่า และแทนที่เราจะบอกให้คนช่วยจดบันทึกข้อมูล หรือจําเหตุการณ์ต่างๆ ให้เรา จะดีกว่าไหมถ้าเราจะบันทึกมันด้วยคอมพิวเตอร์ กรณีใกล้ตัวที่หลายคนใช้กันอยูในปัจจุบันก็คือการบนทึกเหตุการณ์น่าสนใจประจำวันของเราลงใน facebook ของเรา ไม่ว่าจะแชร์สาธารณะหรือบันทึกเป็นส่วนตัวก็ตาม ทุกบันทึกจะประทับวันเวลาไว้ วันดีคืนดีหวนบรรจบกลับมาใหม่ หน้าฟีดของ facebook ก็แสดงขึ้นมาให้เราเห็นเป็นการเตือนความจำ
ทุกวันนี้ทุกคนใช้ชีวิตและจับจ่ายซื้อของ ทําธุรกรรมทางการเงิน และกิจกรรมอีกมากมายในแต่ละวันผ่านคอมพิวเตอร์ และคอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ออกมาได้ ลองคิดดูว่าถ้าเราเข้าไปในโรงงานสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ ซึ่งมีคนทํางานอยู่น้อยมาก (แทบไม่เห็นใครเลย) เราจะพูดถึงผลิตภาพ (Productivity) ให้ใครฟัง ระบบการผลิตจะเปลี่ยนแปลงรูปร่างหน้าตาไปอย่างไร หุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น คุณแบ็คได้นําเสนอวีดิโอของหุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นโดย Boston Dynamics ซึ่งมีขีดความสามารถสูงมาก (สามารถเข้าไปดูรายละเอียดหุ่นยนต์รุ่นต่างๆ ได้ที่ https://www.bostondynamics.com/robots) อีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งเขายกมาให้เห็นคือการประยุกต์ใช้ในการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์และการรักษาคนป่วยผ่านระบบที่เรียกว่า IBM Watson Health Cloud for Life Science
สิ่งที่คุณแบ็ค ทิ้งท้ายไว้ก็คือถ้าคอมพิวเตอร์มีข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับเรา และถ้าใครก็ตามเข้าถึงมันได้ ก็ หมายความว่าเขาจะรู้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับเรา ดังนั้น ระบบการรักษาความปลอดภัยในระบบเปิด (Secure and Open Platform) จึงเป็นสิ่งที่สําคัญมากในยุคนี้ และนี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมยุโรปจึงมีกฎหมายว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (General Data Protection Regulation – GDPR) หรือในกรณีประเทศไทยก็คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 27 พ.ค. 2562 แม้จะมีการเลื่อนบังคับใช้มาหลายรอบ)
The Role of Incubators and Accelerators in the 4th Industrial Revolution
Mr. David Sehyeon Baek ผู้เชี่ยวชาญจากเกาหลี ยังได้นําเสนอในอีกหนึ่งหัวข้อ ซึ่งเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับนวัตกรรมและการเกิดขึ้นของธุรกิจสตาร์ทอัพในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ยุคที่คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ไฝ่ฝันที่อยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจมากกว่าจะเป็นลูกจ้างหรือพนักงานกินเงินเดือน ที่เกาหลีคนรุ่นใหม่อยากจะสร้างธุรกิจใหม่ของตัวเอง ซึ่งน่าจะไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ รวมถึงไทยด้วย โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว แม้ว่าผลการจัดอันดับด้านนวัตกรรม (Bloomberg Innovation Index) จะยกให้เกาหลีเป็นอันดับ 1 ก็ตามแต่ไม่มีประเทศใดสมบูรณ์แบบ (No Country Perfect) เกาหลีเองก็มีหลายปัญหาที่ต้องแก้ไข ไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ ได้แก่
1. การปฏิวัติอุตสาหกรรมสู่ยุค 4.0 (The 4th Industry Revolution)
2. อัตราการว่างงานที่สูง (High Unemployment Rate)
3. สังคมผู้สูงวัย คนหลังวัยเกษียณเพิ่มจํานวนมากขึ้น (Aging society) คาดว่าปี 2050 จะสูงถึง 34.9%
4. อัตราการเกิดใหม่ของเด็กทารกต่ำสุดในโลก (Lowest Birthrate in the World)
5. วิกฤตในภาคการผลิต (Crisis in Manufacturing)
6. การเติบโตอย่างรวดเร็วของจีน (Rapidly Emerging China)
ดังนั้น จําเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วงชิงความเป็นผู้นำ (First mover) ต้องตามได้อย่างรวดเร็ว (Fast follower) และต้องไม่ยึดติดกับกรอบแนวคิดเดิม (Paradigm shift) ดูเหมือนว่าธุรกิจสตาร์ทอัพจะเป็นทางออก ดังนั้น จําเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหน่วยส่งเสริมและสนับสนุนที่ช่วยผลักดันให้เติบโตและแข็งแรงได้อย่างรวดเร็ว ได้แก่ หน่วยบ่มเพาะธุรกิจ (Incubator) ที่จะช่วยความคิดสร้างโอกาสและเปลี่ยนมันให้กลายเป็นสิ่งใหม่ให้ได้ และหน่วยเร่งเครื่องทางธุรกิจ (Accelerator) ที่จะช่วยระดมทุน จับคู่และเปิดช่องทางธุรกิจให้เติบโตก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วขึ้น คุณแบ็ค ได้แสดงให้เห็นภาพบรรยากาศของหน่วยบ่มเพาะ และหน่วยเร่งเครื่องทางธุรกิจที่เขาทํางานอยู่ ซึ่งมีสถานที่และสิ่งอํานวยความสะดวกครบครันสําหรับใครก็ตามที่มีไอเดียและผลงานที่ต้องการต่อยอดทางธุรกิจ
Emeritus Professor Michiya Morita ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น ได้นําเสนอผลวิจัยที่ทําร่วมกับ Prof.Dr.Jörn Henrik Thun (Frankfurt School of Finance & Management) และ Prof. Jose A. D. Machuca (University of Seville) เพื่อค้นหาว่า อะไรที่เป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 และอะไรที่สร้างผลทวีคูณจากมัน จากการวิเคราะห์ข้อมูล การสํารวจบริษัทญี่ปุ่น และบริษัทด้านการผลิตที่มีสมรรถนะสูง ใน 3 อุตสาหกรรมหลัก คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล และอุตสาหกรรมยานยนต์ ในอันดับต้นๆ ของตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น ทําการสัมภาษณ์ผู้บริหารที่รับผิดชอบทางด้านการจัดการห่วงโซ่อุปทาน หรือทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2015 ถึง ธันวาคม 2015 ด้วยวิธีการสํารวจที่เรียกว่า Survey Monkey แบบ 5 สเกล (1 ต่ำสุด และ 5 สูงสุด)
จากผลวิจัยเขาสรุปว่าองค์กรจะมี 3 ลักษณะ คือ องค์กรที่ไม่ได้มุ่งเน้นอะไรเป็นการเฉพาะ (Less Focused) องค์กรมุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development Focus ) หรือองค์กรมุ่งเน้นความสามารถการผลิตและการจัดส่ง (Supply Chain Focus) แต่สุดท้ายจะต้องมุ่งไปสู่องค์กรที่มีสมรรถนะสูง (High Performance Organization) จึงจะสามารถแข่งขันได้
Industry 3.5 as Hybrid Strategy for Emerging Countries: Big Data Analytics and Decision Technologies to empower Intelligent manufacturing
Chair Professor Dr. Chen-Fu Chen ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติซิงหัว เป็นผู้จุดประกายแนวคิดใหม่ในการกําหนดกลยุทธ์การผลิตให้กับประเทศอุตสาหกรรมใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องดําเนินการตามองค์ประกอบของ 4.0 ทั้งหมด เขาเชื่อว่าทางออกที่ดีที่สุดสําหรับกลุ่มประเทศเกิดใหม่และได้ทดลองดําเนินการมาหลายบริษัทในไต้หวันจนประสบความสําเร็จเป็นอย่างดี ได้ตีพิมพ์ผลงานวิชาการและได้รับรางวัลผลงานดีเด่น สิ่งที่ ดร.เฉิน นําเสนอ คือ กลยุทธ์ผสม (Hybrid Strategy) แทนที่จะมุ่ง ไปสู่ระบบการผลิตอัตโนมัติที่ชาญฉลาดและใช้หุ่นยนต์เข้ามาทํางานแทนคน เขากลับให้สร้างระบบเพื่อเน้นวิเคราะห์และตัดสินใจจากข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อยกระดับศักยภาพในการผลิต หรืออาจเรียกว่าเป็นการขยายความสามารถในการผลิตด้วยซอฟท์แวร์และข้อมูล มากกว่าการลงทุนในฮาร์ดแวร์เป็นหลัก โดยสร้างศูนย์ปฏิบัติการวิเคราะห์ข้อมลูเพื่อการตัดสินใจ (The Decision Analysis Laboratory) อาศัยความร่วมมือจากหลากหลายกลุ่มและเรียกแนวคิดนี้ว่าเป็นอุตสาหกรรม 3.5
ตัวอย่างของการจัดการข้อมูลเพื่อนํามาใช้ในการตัดสินใจ หรืออุตสาหกรรม 3.5 ที่มีการประยุกต์ใช้ในไต้หวันและประสบความสําเร็จอย่างดีนี้ ถือเป็นตัวอย่างที่อุตสาหกรรมในประเทศไทยน่าศึกษาและนำมาปรับใช้ได้ เพราะประเทศไทยก็มีปัญหาในการปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 เช่นกัน โดยเฉพาะการลงทุนในเครื่องจักรอัตโนมัติ ระบบควบคุม หุ่นยนต์ อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เซ็นเซอร์ และฮาร์ดแวร์อีกมากมายหลายชนิด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถออกแบบและผลิตได้เองในประเทศ ส่วนใหญ่จําเป็นต้องนําเข้ามาใช้และมีราคาสูง ซึ่งถือเป็นภาระสูงมากสําหรับผู้ประกอบการ อีกทั้งอาจส่งผลถึงการขาดดุลทางการค้าอีกด้วย การยกระดับความสามารถในการผลิตของไทยด้วยการใช้ซอฟท์แวร์และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นการใช้สติปัญญาและความสามารถของคนไทยที่อยู่ในวิสัยที่จะพัฒนาได้มากกว่าการลงทุนด้านเทคโนโลยี
The IoT for SMEs
Mr. Soichiro Murata ได้นําเสนอกรณีศึกษาที่น่าสนใจและมีการดําเนินการจริงไปแล้วเพื่อให้เห็นภาพของการนําเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปปรับใช้ในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผ่านการลงทุนด้านซอฟท์แวร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต แนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจของผู้เชี่ยวชาญคนดังกล่าวไม่เพียงแต่การทําให้สิ่งต่าง ๆ มีความสามารถในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (Internet of Thing – IoT) เพื่อส่งผ่านข้อมูลเชื่อมโยงกับภายนอกได้เท่านั้น หากแต่ต้องคํานึงถึงกระบวนการทางธุรกิจที่จะต้องยกระดับและปรับปรุงใหม่ เรียกว่า Internet of Process หรือ IoP ซึ่ง IoP นี้เองที่นําไปสู่บริบทใหม่ในการแข่งขันทางธุรกิจ (New competition) ซึ่งมีตัวอย่างหลากหลาย เช่น เครื่องปรับอากาศ ที่การแข่งขันในบริบทเดิมจะมุ่งไปที่คุณภาพสินค้าที่ดี มีความคงทน ประหยัดไฟ และมีช่างบํารุงรักษาตามระยะ แต่บริบทการแข่งขันใหม่ เน้นการสั่งซื้อง่าย สเปคให้เลือกตามลักษณะการใช้งาน เชื่อมข้อมูลการใช้งานผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ทําให้คาดการณ์การบํารุงรักษาได้และมีโมเดลการชําระเงินที่หลากหลายจะเห็นได้ว่าไม่ได้ให้ความสําคัญ แค่ตัวสินค้าเท่านั้นหากแต่คำนึงถึงกระบวนการทางธุรกิจที่สามารถเชื่อมผ่านอินเทอร์เน็ตได้
ก่อนที่จะมาตั้งบริษัท Opus One Inc. โดยมีสินค้านวัตกรรมตัวแรกคือ ร่มอัจฉริยะ (Smart Umbrella) ที่ใช้เทคโนโลยี IoT ติดเข้าไปที่ตัวด้ามของร่ม และเชื่อมต่อสัญญาณบูลทูธเข้ากับ Smart phone ผ่านทาง App โดยข้อมูลพยากรณ์อากาศจะถูกประมวลผลและแสดงเป็นสัญญาณเสียง แสงไฟ และการสั่นที่ตัวร่ม ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่มานําเสนอ
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาดูงาน ณ ศูนย์วิจัยการผลิตสมัยใหม่ (Industry 4.0 Implementation Center) ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไต้หวัน (National Taiwan University of Science and Technology) ซึ่งได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องมือ และองค์ความรู้จากสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลของไต้หวัน
สนับสนุนบทความโดย: สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
อ่าน : Digital และ Data ฐานรากสำคัญ มุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตอนที่ 1
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH