วิกฤตพลังงาน ผลกระทบน้ำมันแพงต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

"ผลกระทบของราคาน้ำมัน" ต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย

อัปเดตล่าสุด 13 ก.ค. 2565
  • Share :
  • 5,690 Reads   

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นจนเกินกำลังการผลิต ประกอบกับสถานการณ์การบุกโจมตียูเครนของรัสเซียซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ทำให้ประเทศตะวันตกตอบโต้รัสเซียด้วยการประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตร ไม่ว่าจะเป็นการที่ประเทศพันธมิตร NATO ประกาศลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย สหรัฐอเมริกาสั่งห้ามการนำเข้าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานทั้งหมดจากรัสเซีย และอังกฤษประกาศจะยกเลิกการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียภายในสิ้นปี พ.ศ. 2565 นี้ ทำให้รัสเซียไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันอื่น ๆ ได้ รวมถึงไม่มีทางที่จะหาแหล่งน้ำมันดิบอื่นเพื่อทดแทนปริมาณน้ำมันโลกที่ขาดหายไปได้ ส่งผลทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนน้ำมันอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสริมด้านอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมัน ได้แก่

- การผ่อนคลายนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศทั่วโลกในปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา รวมถึงการคาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดของโควิดโอมิครอนจะคลี่คลายลงภายในครึ่งปีแรกของปี พ.ศ. 2565 ทำให้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวและส่งผลไปยังความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคการขนส่ง

- การที่ราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้โรงไฟฟ้าหลายแห่งต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแทนก๊าซธรรมชาติและถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า 

- การที่กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรผู้ผลิตน้ำมันได้ตกลงที่จะยังคงอัตรากำลังการผลิตน้ำมันไว้ที่ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 จนถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 แม้ว่าปัจจุบันจะมีความต้องการบริโภคน้ำมันสูงขึ้นก็ตาม

สถานการณ์ต่าง ๆ ที่กล่าวมาเหล่านี้ ส่งผลให้ที่ผ่านมาราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยการคาดการณ์สถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกในอนาคตนั้น Morgan Stanley คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2565 ขณะที่ Goldman Sachs คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยในปี พ.ศ. 2565 จะอยู่ที่ 96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2566 ราคาจะอยู่ที่ 105 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ภาพรวมราคาน้ำมันดิบโลก

ราคาน้ำมันดิบจากตลาดกลางซื้อขายน้ำมันดิบที่สำคัญของโลก ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส เบรนท์และดูไบได้มีการปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ราคาซื้อขายน้ำมันดิบจากเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ได้มีการปรับเพิ่มสูงสุด ณ วันที่ 

8 มีนาคม พ.ศ. 2565 โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสอยู่ที่ระดับ 123.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์อยู่ที่ระดับ 133.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับเพิ่มสูงสุด ณ วันที่ 

9 มีนาคม พ.ศ. 2565 โดยราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 127.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่สหรัฐอเมริกาสั่งห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียจึงทำให้เกิดความกังวลด้านอุปทานน้ำมันขาดแคลน (ภาพที่ 1)

ภาพที่ 1 ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส เบรนท์และดูไบ ปี พ.ศ. 2565 (เดือน ม.ค.-เม.ย.)

วิกฤตพลังงาน ผลกระทบน้ำมันแพงต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ที่มา: U.S. Energy Information Administration และ Thai Oil Public Company Limited รวบรวมโดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับราคาน้ำมันดิบ ณ วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2565 (ราคาปัจจุบัน) นั้น พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสอยู่ที่ระดับ 105.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเบรนท์อยู่ที่ระดับ 105.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 102.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีความผันผวน

ในขณะที่ ภาพรวมราคาน้ำมันในประเทศไทยนั้น พบว่า ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทยปรับเพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องกับราคาน้ำมันในตลาดโลก เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานและน้ำมันในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้ออกมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2565 ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ณ วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2565 นั้น เท่ากับ 29.94 บาท 

การวิเคราะห์ผลกระทบของราคาน้ำมันต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย

สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยนั้น เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จึงได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ถึงผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย ซึ่งใช้ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table of Thailand 2015: 180 Sectors) หรือ IO Dashboard ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นเครื่องมือในการศึกษาและวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยสาเหตุที่ใช้ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตในปี 2015 (พ.ศ. 2558) เนื่องจากตารางดังกล่าวเป็นตารางใหม่ล่าสุดและโครงสร้างการผลิตในปัจจุบันน่าจะไม่มีความแตกต่างจากโครงสร้างการผลิตในปี 2015 มากนัก

นอกจากนี้ การที่อุตสาหกรรมทั้งหมดมีสัมประสิทธิ์ปัจจัยการผลิตที่ต่อเนื่องกันจะทำให้การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงที่กระทบกันเป็นลูกโซ่ กล่าวได้ว่า การพิจารณาผลกระทบหรือการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดจะประกอบด้วยความต้องการวัตถุดิบทางตรง (Direct Requirement) ซึ่งจะเรียกว่า ผลกระทบทางตรง (Direct) และความต้องการวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ (Indirect Requirement) จะเรียกว่า ผลกระทบทางอ้อม (Indirect) สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จึงใช้หลักการดุลยภาพทั่วไป (General Equilibrium) และ Inverse Matrix of Coefficient ในการคำนวณผลกระทบ

สูตร X = (I - A) -1 * F

กำหนดให้ A = สัมประสิทธิ์ปัจจัยการผลิต (Input Coefficient)

F = อุปสงค์ขั้นสุดท้าย (Final Demand)

X = ผลผลิตรวม

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้วิเคราะห์ผลกระทบของราคาน้ำมันผ่านต้นทุนค่าขนส่งและต้นทุน

โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมที่มีต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย หากไม่มีการควบคุมราคาน้ำมันจากภาครัฐ ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ผลกระทบรวมทั้งทางตรงและทางอ้อมของการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันผ่านต้นทุนในการผลิตและผลตอบแทนการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 

สำหรับการคำนวณผลกระทบรวมทั้งทางตรงและทางอ้อมของการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะใช้ข้อมูลดังนี้

- ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ เมื่อน้ำมันดีเซลเป็นหนึ่งในต้นทุนค่าขนส่งที่สำคัญของผู้ประกอบการ ดังนั้น การที่ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตของผู้ประกอบการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังจะเห็นได้จากการที่สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยได้ประกาศว่าจะปรับขึ้นราคาค่าขนส่ง ร้อยละ 15-20 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการรถบรรทุกได้แบกรับภาระต้นทุนราคาน้ำมันไว้สูงมาก 

ทั้งนี้ มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรของภาครัฐได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงพลังงานได้มีการคาดการณ์ราคาน้ำมันในกรณีที่ไม่มีการควบคุมราคาน้ำมันจากภาครัฐ โดยราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 จะเท่ากับ 35.50 บาทต่อลิตร (ข้อมูล ณ วันที่ 20 เมษายน 2565) นอกจากนี้ มาตรการการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตร ก็กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ที่จะถึงนี้

ดังนั้น สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จึงได้คาดการณ์ราคาน้ำมันสำหรับการคำนวณผลกระทบโดยใช้ราคาน้ำมันจากการคาดการณ์ของกระทรวงพลังงานและส่วนต่างของภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ซึ่งหากไม่มีการควบคุมราคาน้ำมันจากภาครัฐ จะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ณ วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เท่ากับ 38.29 บาทต่อลิตร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.89

- ข้อมูลจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) หรือ IO Dashboard ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แก่ ต้นทุนค่าขนส่ง (503) ต้นทุนโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม (093) ผลตอบแทนการผลิต (202) และอุปสงค์ขั้นสุดท้ายรวม (309) ของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 7 รายสาขาการผลิต ได้แก่ การผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ในสำนักงานและในครัวเรือน (116) การผลิตเครื่องจักรและเครื่องมือไฟฟ้าสำหรับงานอุตสาหกรรม (117) การผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือทางวิทยุ โทรทัศน์ และการคมนาคม (118) การผลิตเครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน (119) การผลิตลวดและสายเคเบิลชนิดหุ้มฉนวน (120) การผลิตหม้อเก็บประจุไฟฟ้าและแบตเตอรี่ต่าง ๆ (121) และการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ (122) 

ผลการวิเคราะห์ผลกระทบรวมทั้งทางตรงและทางอ้อมของการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันหากไม่มีการควบคุมราคาน้ำมันจากภาครัฐผ่านต้นทุนในการผลิตและผลตอบแทนการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

จากการคำนวณพบว่า หากไม่มีการควบคุมราคาน้ำมันจากภาครัฐจะทำให้เกิดผลกระทบรวมทั้งทางตรงและทางอ้อมของการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันผ่านต้นทุนในการผลิต โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์(116-122) จะมีต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.54 ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรและเครื่องมือไฟฟ้าสำหรับงานอุตสาหกรรม (117) เป็นรายสาขาที่ได้รับผลกระทบสูงสุดเมื่อเทียบกับรายสาขาอื่นๆ ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.97 

ในขณะที่ ด้านผลตอบแทนการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (116-122) นั้น พบว่า อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (116-122) จะมีผลตอบแทนการผลิตลดลง ร้อยละ 6.08 ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรและเครื่องมือไฟฟ้าสำหรับงานอุตสาหกรรม (117) เป็นรายสาขาที่ได้รับผลกระทบสูงสุดเมื่อเทียบกับรายสาขาอื่นๆ ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผลตอบแทนการผลิตลดลง ร้อยละ 34.18 ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตหม้อเก็บประจุไฟฟ้าและแบตเตอรี่ต่าง ๆ (121) เป็นเพียงอุตสาหกรรมเดียวที่ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นผ่านต้นทุนการผลิตที่ลดลงหรือได้รับผลตอบแทนการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังคงมีความผันผวนในระดับสูงอย่างต่อเนื่องทำให้หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยให้การสนับสนุนนโยบายพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาด ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีของแบตเตอรี่ที่ทำให้ความจุของแบตเตอรี่ (Battery Capacity) มีคุณภาพมากขึ้นและมีต้นทุนที่ถูกลง ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้อุตสาหกรรมการผลิตหม้อเก็บประจุไฟฟ้าและแบตเตอรี่ต่าง ๆ (121) ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น (ตารางที่ 1)

นอกจากนี้ เมื่อคำนวณมูลค่าผลกระทบรวมทั้งทางตรงและทางอ้อมของการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันหากไม่มีการควบคุมราคาน้ำมันจากภาครัฐผ่านต้นทุนในการผลิตและผลตอบแทนการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะพบว่า อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (116-122) มีต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้นหรือมีผลตอบแทนการผลิตลดลงประมาณ 16,572 ล้านบาท ซึ่งสาขาการผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือทางวิทยุ โทรทัศน์ และการคมนาคม (118) เป็นรายสาขาที่มีมูลค่าผลกระทบสูงสุดเมื่อเทียบกับรายสาขาอื่นๆ ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 

ตารางที่ 1 ผลกระทบรวมทั้งทางตรงและทางอ้อมของการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันหากไม่มีการควบคุมราคาน้ำมันจากภาครัฐผ่านต้นทุนในการผลิตและผลตอบแทนการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย (116-122)

วิกฤตพลังงาน ผลกระทบน้ำมันแพงต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ที่มา: แผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

หมายเหตุ: 

1.ร้อยละ (%) และมูลค่าผลกระทบ (ล้านบาท) ที่มีค่าเป็นลบ (-) หมายถึง อุตสาหกรรมได้รับผลกระทบเชิงลบ เช่น ต้นทุนในการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (116-122) เท่ากับร้อยละ -0.54 หมายถึง ต้นทุนในการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (116-122) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.54 ผลตอบแทนการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (116-122) เท่ากับร้อยละ -6.08 หมายถึง ผลตอบแทนการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (116-122) ลดลง ร้อยละ 6.08 มูลค่าผลกระทบของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (116-122) เท่ากับ -16,572 ล้านบาท หมายถึง อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (116-122) มีต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้นหรือมีผลตอบแทนการผลิตลดลง 16,572 ล้านบาท เป็นต้น

2.มูลค่าผลกระทบ หมายถึง 1) มูลค่าของต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้นหรือได้รับผลตอบแทนการผลิตลดลง หรือ 2) มูลค่าของต้นทุนในการผลิตลดลงหรือได้รับผลตอบแทนการผลิตที่เพิ่มขึ้น

3.ข้อมูลที่นำมาคำนวณมีดังต่อไปนี้
  1) ข้อมูลค่าขนส่ง (503) ข้อมูลโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม (093) ผลตอบแทนการผลิต (202) และอุปสงค์ขั้นสุดท้ายรวม (309) จากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table of Thailand 2015: 180 Sectors) หรือ IO Dashboard (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ: สศช.)
  2) ข้อมูลสัดส่วนต้นทุนของธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์จากการใช้น้ำมันเท่ากับ ร้อยละ 32 (ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี: ttb Analytics)
  3) คาดการณ์ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เท่ากับ 35.50 บาทต่อลิตร (กระทรวงพลังงาน, 20 เมษายน 2565)
  4) เนื่องจากมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565 ที่ผ่านมาและมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลชั่วคราวจาก 5.99 บาทต่อลิตร เหลือ 3.20 บาทต่อลิตร กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ดังนั้น สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จึงได้คาดการณ์ราคาน้ำมันสำหรับการคำนวณ โดยราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ณ วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 จะเท่ากับ 35.50+2.79 = 38.29 (ราคาคาดการณ์น้ำมันดีเซลของกระทรวงพลังงานรวมกับส่วนต่างของภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ลดลง) และเกิดการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันร้อยละ 27.89 หรือราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.89

 

สรุป

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย โดยใช้ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table of Thailand 2015: 180 Sectors) หรือ IO Dashboard ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นเครื่องมือในการศึกษาและวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

การวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการวิเคราะห์ผลกระทบรวมทั้งทางตรงและทางอ้อมของการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันผ่านต้นทุนค่าขนส่งและต้นทุนโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมที่มีต่อต้นทุนการผลิตและผลตอบแทนการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในกรณีที่ไม่มีการควบคุมราคาน้ำมันจากภาครัฐ (รัฐดำเนินมาตรการอุดหนุนราคาครึ่งหนึ่งของราคาที่ปรับขึ้น หลังจากที่มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ของภาครัฐสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2565 และมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตร ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2565) ซึ่งผลการวิเคราะห์สรุปได้ดังนี้

หากไม่มีการควบคุมราคาน้ำมันจากภาครัฐจะทำให้เกิดผลกระทบรวมทั้งทางตรงและทางอ้อมของการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันผ่านต้นทุนในการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย (116-122) ร้อยละ 0.54 หรืออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะมีต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.54 ในขณะที่ ด้านผลตอบแทนการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (116-122) นั้น พบว่า อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (116-122) จะมีผลตอบแทนการผลิตลดลง ร้อยละ 6.08

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรและเครื่องมือไฟฟ้าสำหรับงานอุตสาหกรรม (117) เป็นรายสาขาที่ได้รับผลกระทบสูงสุดเมื่อเทียบกับรายสาขาอื่นๆ ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่ อุตสาหกรรมการผลิตหม้อเก็บประจุไฟฟ้าและแบตเตอรี่ต่าง ๆ (121) เป็นเพียงอุตสาหกรรมเดียวที่ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นผ่านต้นทุนการผลิตที่ลดลงหรือมีผลตอบแทนการผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการสนับสนุนนโยบายพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาด

นอกจากนี้ เมื่อคำนวณมูลค่าผลกระทบรวมทั้งทางตรงและทางอ้อมของการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมัน

หากไม่มีการควบคุมราคาน้ำมันจากภาครัฐผ่านต้นทุนในการผลิตและผลตอบแทนการผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะพบว่า อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (116-122) มีต้นทุนในการผลิตเพิ่มขึ้นหรือมีผลตอบแทนการผลิตลดลงประมาณ 16,572 ล้านบาท

การที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนด้านต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นนั้น อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องพิจารณาปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อให้สามารถคงสภาพคล่องทางการเงินและดำเนินกิจการต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาปรับขึ้นราคาสินค้าดังกล่าวอาจทำให้ยอดขายของผู้ประกอบการลดลง หากผู้บริโภคมีกำลังซื้อไม่เพียงพอ นอกจากนี้ การที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า FT) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม พ.ศ. 2565 โดยให้เรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มจากเดิม 23.38 สตางค์ต่อหน่วย อาจทำให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับต้นทุนของค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากต้นทุนค่าขนส่งด้วย

ทั้งนี้ มาตรการของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาระต้นทุนของผู้ประกอบการและลดค่าครองชีพของประชาชนในปัจจุบัน เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นที่ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์โลกเท่านั้นและมาตรการดังกล่าวได้สิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2565 ดังนั้น ภาครัฐจึงควรออกมาตรการระยะกลางเพื่อช่วยรับมือกับปัญหาราคาพลังงานในปัจจุบันที่ยังคงมีความผันผวน รวมถึงออกมาตรการระยะยาวเพื่อให้เกิดการพัฒนาพลังงานภายประเทศอย่างยั่งยืนด้วย เช่น สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดเพื่อลดการพึ่งพาการใช้น้ำมัน สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าจับตามองและคาดว่าจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันโลก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ โอกาสในการกลับมาระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ การที่สหรัฐอเมริกาจะระบายน้ำมันจำนวน 180 ล้านบาร์เรลออกจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) โดยจะมีการระบายน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำมันดิบในตลาด รวมไปถึงการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตรหรือโอเปกพลัสยังคงมีมติยึดมั่นตามข้อตกลงเดิมที่จะเพิ่มกำลังการผลิต 432,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 แม้ว่าประเทศอื่น ๆ จะเรียกร้องให้โอเปกพลัสเพิ่มการผลิตให้มากขึ้นกว่าในระดับปัจจุบันก็ตาม

 

ภาคผนวก

นิยามของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณตามรหัส I/O (Input-Output Description)

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยแผนกนโยบายและแผน ได้อ้างอิงนิยามของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณตามรหัส I/O (Input-Output Description) สาขาการผลิต 180 สาขา ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งนิยามที่จำเป็นต่อการทำความเข้าใจในการวิเคราะห์มีรายละเอียดดังนี้

1. นิยามของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบไปด้วย

1) การผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ในสำนักงานและในครัวเรือน (116)

สาขานี้ประกอบด้วยการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ในสำนักงานและในครัวเรือน เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ตู้แช่ ตู้ทำน้ำแข็ง จักรเย็บผ้า พิมพ์ดีด เครื่องคิดเลข เครื่องคอมพิวเตอร์ รวมทั้งชิ้นส่วนและอุปกรณ์ของเครื่องมือเครื่องใช้ดังกล่าว เช่น คอมเพรสเซอร์คอนเดนเซอร์ เป็นต้น

2) การผลิตเครื่องจักรและเครื่องมือไฟฟ้าสำหรับงานอุตสาหกรรม (117)

สาขานี้ประกอบด้วยการผลิตและการซ่อมเครื่องและเครื่องมือไฟฟ้าที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องเชื่อมไฟฟ้า มิเตอร์ไฟฟ้า เป็นต้น รวมทั้งการผลิตชิ้นส่วนของเครื่องจักรเครื่องมือดังกล่าว

3) การผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือทางวิทยุ โทรทัศน์ และการคมนาคม (118)

สาขานี้ประกอบด้วยการผลิตวิทยุ โทรทัศน์ วีดีโอ เครื่องบันทึกคำบอก เครื่องเล่นแผ่นเสียง เครื่องบันทึกเสียงด้วยเทป เครื่องกระจายเสียงชนิดต่างๆ โทรศัพท์ จานดาวเทียม เครื่องมือสื่อสารอื่น ๆ รวมทั้งชิ้นส่วนและส่วนประกอบ เช่น แผงวงจรไฟฟ้า แผ่นวงจรพิมพ์ หลอดภาพ โทรพิมพ์สี เป็นต้น

4) การผลิตเครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน (119)

สาขานี้ประกอบด้วยการผลิตเครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านขนาดเล็ก เช่น เตาอบไมโครเวฟ เตารีด พัดลม หม้อหุงข้าว เครื่องปิ้งขนมปัง เครื่องผสมอาหาร และชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ

5) การผลิตลวดและสายเคเบิลชนิดหุ้มฉนวน (120)

สาขานี้ประกอบด้วยการผลิตลวดและสายเคเบิลชนิดหุ้มฉนวน

6) การผลิตหม้อเก็บประจุไฟฟ้าและแบตเตอรี่ต่าง ๆ (121)

สาขานี้ประกอบด้วยการผลิตหม้อเก็บประจุไฟฟ้าชนิดด่างหรือตะกั่วกรด และเซลล์ไฟฟ้าปฐมภูมิ เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย เป็นต้น

7) การผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ (122)

สาขานี้ประกอบด้วยการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มิได้จัดประเภทไว้ในสาขาอื่น ๆ เช่น โคมไฟฟ้า หลอดไฟฟ้า ฟิวส์ ตัวนำ และอุปกรณ์ที่มีกระแสไฟฟ้าผ่าน เป็นต้น

2. นิยามอื่น ๆ ประกอบไปด้วย

1) โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม (093)

สาขานี้ประกอบด้วย โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งผลิตน้ำมันเบนซิน น้ำมันเครื่อง น้ำมันเตา น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ ฯลฯ

2) ค่าขนส่ง (503) 

เป็นค่าขนส่งรวมของค่าขนส่งจากโรงงานจนถึงผู้บริโภค

3) ผลตอบแทนการผลิต (202) 

ได้แก่ ผลตอบแทนจากปัจจัยการผลิตทั้งหมดหรือมูลค่าเพิ่มทั้งหมดหักด้วยค่าตอบแทนแรงงาน ค่าเสื่อมราคา และภาษีทางอ้อมสุทธิ

4) อุปสงค์ขั้นสุดท้ายรวม (309) 

เป็นผลรวมของรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของเอกชน (301) รายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของรัฐบาล (302) การสะสมทุน (303) ส่วนเปลี่ยนของสินค้าคงเหลือ (304) การส่งออก (305) และการส่งออกพิเศษ (306) 

นอกจากนี้ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ยังได้นำข้อมูลสัดส่วนต้นทุนของธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์จากการใช้น้ำมันซึ่งเท่ากับร้อยละ 32 จากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb Analytics) ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศจากบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รวมถึงข้อมูลการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลมาใช้ในการคำนวณ

สำหรับการคำนวณการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันดีเซลนั้น พบว่า ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ณ วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2565 เท่ากับ 29.94 บาทต่อลิตร ส่วนราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เท่ากับ 35.50 บาทต่อลิตร (กระทรวงพลังงาน, 20 เมษายน 2565) ซึ่งเป็นราคาที่รัฐดำเนินมาตรการอุดหนุนราคาครึ่งหนึ่งของราคาที่ปรับขึ้น หลังจากที่มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ของภาครัฐสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2565 ในขณะที่ การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล (วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565) นั้น พบว่า ครม.มีมติลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลชั่วคราวจาก 5.99 บาทต่อลิตร เหลือ 3.20 บาทต่อลิตร จึงมีส่วนต่างเท่ากับ 2.79 บาทต่อลิตร อย่างไรก็ตาม มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตรนั้น จะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

ดังนั้น เมื่อมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ของภาครัฐสิ้นสุดลง จะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ณ วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เท่ากับ 35.50+2.79 = 38.29 บาทต่อลิตร และเกิดการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันร้อยละ 27.89 หรือราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.89

ทั้งนี้ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะใช้นิยามข้างต้นในการคำนวณเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย

ที่มา: สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI)

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH