8 แนวโน้มการดำเนินธุรกิจในอนาคต (8 Industry’s Mega Trend)

อัปเดตล่าสุด 21 พ.ค. 2563
  • Share :

จากงาน Kick-off งานวิจัยที่ท้าทายประเทศไทยของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ Future Thailand ในมิติเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในสิบมิติของงานวิจัยนี้ ได้มีการกล่าวถึง 8 แนวโน้มหลักที่จะมาปรับโฉมการดำเนินธุรกิจ เข้ามาปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมและรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต โดยทางทีมวิจัยได้มีการรวบรวมเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในมุมมองต่าง ๆ ครอบคลุมด้านสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม กติกาโลก ระเบียบการค้า การเมือง เพื่อค้นหาสาเหตุหรือแรงขับเคลื่อน (Driver) ที่จะมาผลักดันให้เกิดแนวโน้มหลักที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งข้อมูลนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งหากผู้ประกอบการได้นำมาวิเคราะห์และกำหนดไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์องค์กรเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในอนาคต โดยทั้ง 8 แนวโน้มการดำเนินธุรกิจในอนาคต (8 Industry’s Mega Trend) มีดังต่อไปนี้ 
 
 
แนวโน้มที่ 1 : ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Neo-Ecological Business) 
 
สาเหตุหรือแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดแนวโน้มนี้มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ความรุนแรงของการเกิดมลพิษต่าง ๆ (Pollution) ทำให้เกิดความตระหนักของผู้บริโภค (Consumer Awareness) ที่ในอนาคตจะมีน้ำหนักมากขึ้นจากเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีให้เห็นกันอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น พายุถล่มที่ปากีสถานและอัฟกานิสถาน จำนวนสัตว์ที่เสียชีวิตจากไฟป่าที่ออสเตรเลีย 1 พันล้านตัว กติกาโลก นโยบายของโลกที่อาจจะไม่เข้มข้นบังคับขนาดเป็นระเบียบการค้าโลก (Global Policy) แต่ก็ทำให้ธุรกิจต้องมองความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของ Product Life Cycle และที่สำคัญจะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มีการเริ่มมองความเป็นไปได้ในการใช้วัตถุดิบชีวภาพ การใช้เทคโนโลยีสะอาด การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากกระบวนการผลิต (Decarbonization) รวมถึงการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการของเสียและการนำกลับมาใช้ใหม่มากขึ้นจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
 
 
แนวโน้มที่ 2 : การดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม (Ethical Business Operation) 
 
สาเหตุหรือแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดแนวโน้มนี้มาจากสังคมต้องการความมั่นใจว่าสินค้าและบริการที่จะซื้อหานั้นมีความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค (Social Trust) ไม่ผ่านเอารัดเอาเปรียบ (Fairness) ทุกรูปแบบ มาจากการดำเนินธุรกิจที่มีจริยธรรม (Good Governance) และตรวจสอบได้ (Transparency) หากแนวโน้มนี้เป็นการเรียกร้องจากผู้บริโภคโดยตรงจะยิ่งเป็นปฏิกิริยาเร่งให้ผู้ประกอบการมีการแสดงออกและเรียกร้องถึงการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมที่เข้มแข็งมากขึ้น
 
 
แนวโน้มที่ 3 : รูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบดิจิทัล (XaaS) 
 
สาเหตุหรือแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดแนวโน้มนี้มาจากความสามารถของ Quantum Computing ที่ประมวลผลเร็วกว่าคอมพิวเตอร์ที่เราใช้ในปัจจุบัน 100 ล้านเท่า (Computing Power) เทคโนโลยีการสื่อสาร 5 G (Communication Technology) ที่จะเข้ามาบริหารจัดการ IoT อย่างมีประสิทธิภาพเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ Advanced Machine Learning ที่เพิ่มศักยภาพให้ IoT ในอุตสาหกรรม (Industrial IoT) รวมถึงความกังวลในเรื่องของการขาดแคลนทรัพยากร (Resource Scarcity) ที่ทำให้เกิดรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ที่เรียกว่า Everything as a Service ที่สามารถขายผลิตภัณฑ์จากความฉลาดของบริการแบบดิจิทัลและสามารถสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า มีการประมาณการจากนักพัฒนาระบบเครือข่าย (Network Developer) ว่ามูลค่าของแพลตฟอร์มรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบดิจิทัล (XaaS) นี้จะมีมูลค่าสูงถึง 46 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2030 หรืออีก 10 ปีต่อจากนี้
 
 
แนวโน้มที่ 4 : ช่องทางการให้บริการแบบดิจิทัล (Digital Touchpoint) 
 
สาเหตุหรือแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดแนวโน้มนี้มาจากความเป็นปัจเจกชนของผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าเฉพาะตนและมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น (Individualization) ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทำให้การเข้าถึงข้อมูลลูกค้าเชิงลึกจาก On-line Platform ในรูปแบบต่าง ๆ เป็นเรื่องง่าย ทำให้ธุรกิจมีข้อมูลมากพอในการวิเคราะห์เพื่อออกแบบสินค้าและบริการที่ตรงความคาดหมายของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว (Customer Insight) ธุรกิจจะต้องค้นหาความต้องการในการหาตลาดใหม่ การสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ (New Experiences) รวมถึงช่องทางการเข้าถึงสินค้าและบริการโดยปราศจากข้อจำกัดในเรื่องของเวลาและสถานที่ (Accessibility) ทำให้ผู้ประกอบการสามารถติดต่อลูกค้าและขายสินค้าและบริการได้ตลอดเวลา โดยผู้นำทางด้านเทคโนโลยีโลกมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2021 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า ช่องทางการให้บริการแบบดิจิทัลนี้จะสร้างรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ ๆ เป็นจำนวนมาก

แนวโน้มที่ 5 : การเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานโลก (Micro Supply Chain) 
 
สาเหตุหรือแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดแนวโน้มนี้มาจากความก้าวหน้าของเครือข่ายดิจิทัล (Digital Network) ที่ทำให้การสื่อสารและการขนส่งทั่วโลกไร้รอยต่อ (Borderless Logistics) รวมถึงความพยายามในการใช้ทรัพยากรอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด (Resource Utilization) ทำให้เกิดรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่สามารถจัดหาสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องการไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรือปริมาณเท่าใดบนโลกใบนี้ได้โดยง่าย การผลิตในอนาคตจะสามารถปรับเปลี่ยนสายการผลิตได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการของลูกค้าและสามารถผลิต small lot และสามารถหาวัตถุดิบได้จากซัพพลายเออร์ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะมาขัดขวางการเกิดรูปแบบการดำเนินธุรกิจนี้คือการที่ระบบขนส่งเติบโตไม่ทันกับความก้าวหน้าของเครือข่ายดิจิทัล
 
 
แนวโน้มที่ 6 : กระบวนการผลิตอัจฉริยะ (Smart Production) 
 
สาเหตุหรือแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดแนวโน้มนี้มาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) มีการศึกษาที่ระบุว่าการปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรม 4.0 จะช่วยเพิ่มรายได้ 23% และเพิ่มผลิตภาพ 26% การผลิตที่มุ่งประสิทธิภาพหรือประโยชน์สูงสุด (Efficiency/Optimization) ความก้าวหน้าและความสามารถในการเข้าถึงดิจิทัลเทคโนโลยี (Digital Technology) การผลิตขนาดใหญ่สำหรับลูกค้าเฉพาะราย (Mass Customization) ความพยายามในการลดต้นทุน (Minimize Cost) และการขาดแคลนแรงงาน (Labor Shortage) ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุหรือแรงขับเคลื่อนที่ทำให้แนวโน้มกระบวนการผลิตอัจฉริยะมีความชัดเจนมากขึ้นในอนาคต
 
 
แนวโน้มที่ 7 : การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่และปัญญาประดิษฐ์ในการดำเนินธุรกิจ (Big Data Analytics and AI) 
 
สาเหตุหรือแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดแนวโน้มนี้มาจากความพร้อมของเทคโนโลยี (Technology Readiness) ที่พร้อมทั้งความสามารถในการเก็บข้อมูล ประมวลผล ต้นทุนที่ต่ำและสามารถเข้าถึงได้ การใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์ลูกค้าเชิงลึก (Customer Preference) ความพยายามในการลดต้นทุน (Minimize Cost) การใช้ข้อมูลในการจัดการกระบวนการอย่างมีประสิทธิภาพ (Process Efficiency) และการใช้ข้อมูลเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดในการแสวงหาตลาดใหม่ ๆ (New Market Opportunities)
 
 
แนวโน้มที่ 8 : การปรับเปลี่ยนการจ้างงานตามความต้องการ (On-Demand Workforce) 
 
สาเหตุหรือแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดแนวโน้มนี้มาจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ (Economic Uncertainty) ประสิทธิภาพการบริหารต้นทุน (Cost Efficiency) การผลิตหน่วยเล็ก ๆ (Small Lot) ทำให้ธุรกิจมีการปรับการจ้างงานตามคำสั่งการผลิตหรือเรียกใช้แรงงานตามความต้องการในแต่ละช่วงเวลา ทำให้ระบบการจ้างงานมีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์หรือสามารถรับมือกับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นได้ไม่คาดคิด
 
 
แนวโน้มหลักทั้งหมดข้างต้นเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นและมีผลต่อเศรษฐกิจ การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรม การเตรียมพร้อมกับแนวโน้มดังกล่าวเป็นการตั้งรับซึ่งก็ต้องดำเนินการเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ใช่วิสัยของผู้นำ ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงได้พยายามค้นหาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปข้างหน้า (Next Event) เพื่อค้นหาแนวโน้มในอนาคต (Next Trend) เพื่อสร้างโอกาสที่ทำให้เราได้เปรียบก่อนคนอื่นและเป็นโอกาสที่ยังไม่มีใครมองเห็นต่อไป 

 

อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ :  https://www.ftpi.or.th/ 

 

อ่านเพิ่มเติม: