โมเดลเศรษฐกิจ BCG กับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

โมเดลเศรษฐกิจ BCG กับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย

อัปเดตล่าสุด 8 ส.ค. 2564
  • Share :

บทความพิเศษ: โมเดลเศรษฐกิจ BCG กับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย โดย: สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI)

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีมติเห็นชอบและกำหนดให้ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วยโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) พร้อมทั้งผลักดันให้โมเดลเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
 

ทั้งนี้ แนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG นี้เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่พัฒนาต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศไทย คือ ความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจทั้ง 3 ด้านพร้อมกัน ได้แก่

 
1. B (Bio Economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เป็นการใช้ทรัพยากรทางชีวภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตรที่ต้องใช้องค์ความรู้ที่มีผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิต
 
2. C (Circular Economy) หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้มุ่งเน้นให้อุตสาหกรรมมีการออกแบบวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่สามารถคืนสภาพและนำเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ได้หลังจากที่ผ่านการใช้งานแล้ว ทั้งนี้ เศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยสร้างคุณค่าแก่วัสดุและผลิตภัณฑ์ให้สามารถหมุนเวียนเป็นวงจรต่อเนื่อง ลดปริมาณขยะ รวมถึงสร้างการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ
 
3. G (Green Economy) หรือเศรษฐกิจสีเขียว เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมุ่งสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
 
BCG MODEL
 
Bio Economy               Circular Economy          Green Economy
เศรษฐกิจชีวภาพ        เศรษฐกิจหมุนเวียน               เศรษฐกิจสีเขียว
 

แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG ปี พ.ศ. 2564-2569

 
คณะกรรมการบริหารโมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG ปี พ.ศ. 2564-2569 ซึ่งประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 
 
ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ที่ 4 เสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก
 
รวมถึงยังให้ความสำคัญกับ อุตสาหกรรม 4 สาขา ดังนี้ 1) เกษตรและอาหาร 2) สุขภาพและการแพทย์ 3) พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4) การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 
โดยคาดว่า โมเดลเศรษฐกิจ BCG จะสามารถเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของ GDP ในอีก 6 ปีข้างหน้า
 

ความเกี่ยวข้องของโมเดลเศรษฐกิจ BCG กับยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ของไทย

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการบรรจุประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ BCG ไว้ในแผนยุทธศาสตร์สำหรับการขับเคลื่อนประเทศ ตัวอย่างเช่น
 
  • ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) 
ได้ให้ความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับสิ่งแวดล้อม เช่น ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันได้มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าทางการเกษตรด้วยการทำเกษตรอัจฉริยะ หรือภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มุ่งเน้นการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น
  • แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) 
ได้มีการบรรจุหลักการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับสิ่งแวดล้อมไว้ในยุทธศาสตร์การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีแนวทางการพัฒนาสำคัญ คือ ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2565-2570)
จากเอกสารประกอบการระดมความเห็นกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ได้แสดงให้เห็นถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ BCG เช่นกัน ได้แก่ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Value-added Economy) เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
 
และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยี การสร้างศักยภาพการผลิตและส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น และการพัฒนาด้านวิถีชีวิตที่ยั่งยืน (Eco-friendly Living) เช่น การนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์และพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานหลัก เป็นต้น ทั้งนี้ แผนฯ 13 ดังกล่าว จะถูกนำเสนอไปยังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และครม. ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2565 ต่อไป
 
นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ยังได้นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาเป็นแนวทางในการจัดทำนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ตัวอย่างเช่น
 
- กระทรวงอุตสาหกรรม
 
ได้นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นไปที่ 4 เป้าหมายหลัก ได้แก่ 1) สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ เน้นเพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างโมเดลธุรกิจและผู้ประกอบการใหม่ 2) สร้างความยั่งยืนทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน ลดของเสียและมลพิษสิ่งแวดล้อม 3) สร้างความยั่งยืนให้ภาคอุตสาหกรรมตามนโยบายตลาดและนวัตกรรมนำอุตสาหกรรมไทย และ 4) ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs)
 
- สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม
 
ได้จัดทำแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยเน้นการปรับโครงสร้างการผลิตสู่รูปแบบใหม่ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การบริโภค 
การจัดการของเสีย ไปจนถึงการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับรูปแบบธุรกิจสู่โมเดลธุรกิจหมุนเวียนและการสร้าง Circular Startup
 
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 
 
แนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วย BCG Model มีเป้าหมาย คือ เพื่อปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยสู่ 3 สูง คือ 1) ประสิทธิภาพสูง ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญา 2) มุ่งยกระดับผลผลิตเกษตรสู่มาตรฐานสูงครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพ โภชนาการและความปลอดภัย 3) ระบบการผลิตที่ยั่งยืน เพื่อเป้าหมายให้การทําการเกษตรเป็นอาชีพที่สร้างรายได้สูงด้วยการผลิตสินค้าเกษตรที่เน้นความเป็นพรีเมี่ยม มีความหลากหลาย และกําหนดราคาขายได้ตามคุณภาพของผลผลิตเกษตร
 
- สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
 
ยังได้ให้การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมตามแนวคิด BCG แบบครบวงจรตั้งแต่เกษตรต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมา การยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่ม BCG มีมูลค่ารวม 1.14 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 และมีจำนวนโครงการทั้งสิ้น 494 โครงการ
 

โมเดลเศรษฐกิจ BCG กับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย

 

โมเดลเศรษฐกิจ BCG อย่างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1) เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) อาจไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย อย่างไรก็ตาม ภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของภาคการเกษตรจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการประยุกต์ใช้กับองค์ความรู้ดั้งเดิมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ซึ่งการทำการเกษตรอัจฉริยะนี้ต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนประกอบสำคัญ
 
ตัวอย่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้อง เช่น
 
- อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (Data Storage Device) อย่าง Solid State Drive และ Hard Disk Drive ที่เป็นตัวช่วยสำคัญในการสร้างแพลตฟอร์มกลางสำหรับการเพาะปลูก (Cloud Platform) และการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบ Big Data 
- วงจรรวม (Integrated Circuits) สำหรับควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เซ็นเซอร์ในการวัดอุณหภูมิ ควบคุมพลังงาน เป็นต้น 
- เซ็นเซอร์ (Sensor) สำหรับตรวจวัดค่าต่างๆ เช่น เซ็นเซอร์วัดสภาพอากาศ เซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณสมบัติของวัสดุปลูกและสภาพดินที่ใช้สำหรับเพาะปลูก เป็นต้น 
 
จะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศโดยใช้เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ได้ ซึ่งโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าวจะทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
 
2) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ให้ความสำคัญกับการผลิตโดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและการนำวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานแล้วกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับเปลี่ยนตามเทรนด์เทคโนโลยีมากขึ้นและมีวงจรผลิตภัณฑ์ (Life Cycle) ที่สั้นลง ทำให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน ดังนั้น การปรับใช้โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เกิดการนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยจึงควรปรับรูปแบบการผลิตสินค้าโดยออกแบบวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่สามารถคืนสภาพและนำเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ได้หลังจากที่ผ่านการใช้งานแล้ว รวมถึงนำเอา Raw materials ในขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) กลับมาใช้งานใหม่ เช่น ทองคำ ทองแดง เหล็ก เป็นต้น
 
ทั้งนี้ รายงาน The Global E-waste Monitor 2020 โดย UNU, UNITAR และ ITU เผยว่า ในปี 2019 ทั่วโลกมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) มากถึง 53.6 ล้านตัน ในขณะที่ไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) 621 กิโลตัน
3) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่คำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) นี้ มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) กล่าวคือ จะให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
 
ดังนั้น เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ควรมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตตั้งแต่กระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต การขนส่งสินค้าและการจัดการซากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์หลังจากที่ใช้งานแล้วด้วยกรรมวิธีที่ถูกต้องเพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้ฉลากเพื่อรับรองผลิตภัณฑ์สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น “ฉลากเขียว” โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ที่รับรองว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าประเภทเดียวกัน หรือ “ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5” (แบบใหม่มีดาว) โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เป็นการการันตีว่าผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อนั้น จะช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ เป็นต้น
 
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ยังสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้อีกด้วย ซึ่งยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแทนพลังงานฟอสซิลถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยการผลิตยานยนต์ไฟฟ้านี้จำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนประกอบสำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ แผงวงจรรวม แผงวงจรพิมพ์ มอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
 
 

สรุปบทความ

 
โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า BCG หรือเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) นั้น มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งผู้ประกอบการควรจะปรับตัวให้เข้ากับโมเดลเศรษฐกิจดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การปรับกระบวนการผลิตเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปจนถึงการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสนับสนุนการทำการเกษตรอัจฉริยะ นอกจากนี้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในรูปแบบ BCG ยังทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ตามมาด้วย เช่น ธุรกิจรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์คุณภาพสูง ธุรกิจ Re-Manufacturing ธุรกิจการให้เช่าผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรออกนโยบายหรือมาตรการที่ส่งเสริมให้ภาคเอกชนปรับตัวเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลเศรษฐกิจ BCG ด้วย เช่น การให้การรับรองผลิตภัณฑ์ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนทางด้านเงินทุนในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมตามแนวคิด BCG เพิ่มเติม เป็นต้น รวมไปจนถึงภาคประชาชนที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคโดยหันมาใช้ผลิตภัณฑ์สีเขียวมากขึ้น เพื่อให้ไทยสามารถมุ่งสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน
 
 

เอกสารอ้างอิง

UNU, UNITAR and ITU.(2020).The Global E-waste Monitor 2020. Retrieved from https://www.itu.int/en/ITU-D/Environment/Pages/Spotlight/Global-Ewaste-Monitor-2020.aspx

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ .(2021).กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าขับเคลื่อน BCG Model ภาคเกษตร ผลักดันเกษตรไทยสู่ 3 สูง “ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง รายได้สูง”.สืบค้นจาก  https://www.moac.go.th/news-preview-431391792045

กระทรวงอุตสาหกรรม.(2021).BCG Model ของกระทรวงอุตสาหกรรม.สืบค้นจากhttps://www.industry.go.th/th/industrial-economy/7775

กระทรวงอุตสาหกรรม.(2021).ก.อุตฯ ขานรับนโยบาย“BCG Model”ตั้งคณะกก.ขับเคลื่อนฯ ล็อค 4 เป้าหมาย สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน! สืบค้นจาก https://www.industry.go.th/th/secretary-of-industry/7643

กระทรวงอุตสาหกรรม.(2021).สศอ.ตั้งเป้าพัฒนาอุตสาหกรรมไทยตามแผน BCG โมเดลวาระแห่งชาติ ภายใต้แนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy).สืบค้นจาก https://www.industry.go.th/th/secretary-of-industry/7665

บีโอไอ.(2021).เผยยอดขอส่งเสริมลงทุน BCG ปี 63 มูลค่ากว่า 1.14 แสนล้านบาท.สืบค้นจาก https://www.thansettakij.com/content/470732

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.(2021).แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13.สืบค้นจาก https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=plan13

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี.(2021).นายกฯ ดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทย เพิ่ม GDP อีก 1 ล้านล้านบาท ใน 6 ปี.สืบค้นจาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/ministry_details/38369

 

#bcg model คืออะไร #โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG # BCG โมเดล #bcg model รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ #โมเดลเศรษฐกิจ BCG #เศรษฐกิจ BCG #อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย 2021 #BCG Model #Bio Economy #Circular Economy #Green Economy #เศรษฐกิจชีวภาพ #เศรษฐกิจหมุนเวียน #เศรษฐกิจสีเขียว #อุตสาหกรรมไทยตามแผน BCG #อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย #ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม #Mreport #M Report #เอ็มรีพอร์ต #mreportth

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไฟฟาและอิเล็กทรอนิกส์ไทย: 

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH