ประธานบริษัท A.I. Technology ยก Digital และ Automation รหัสเปิด Green Manufacturing
เปิดวิสัยทัศน์ประธานบริษัท เอ.ไอ. เทคโนโลยี จำกัด ที่แบ่งปันความคิดเห็นที่มีค่าเกี่ยวกับ Digital และ Automation ซึ่งเป็นกุญแจดอกสำคัญของ Green Manufacturing
นายกุลโชค โพธิ์พัฒนชัย กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เอ.ไอ. (A.I. Group) และบริษัท เอ.ไอ. เทคโนโลยี จำกัด (A.I. Technology) ผู้ผลิตและออกแบบเครื่องจักรอัตโนมัติและ Automation Solution ระดับแนวหน้าของไทย ให้สัมภาษณ์ไว้ดังนี้
ความเห็นต่อ Digital Transformation ในภาคอุตสาหกรรมไทย
นายกุลโชค เผยถึงความชัดเจนของ Digital Transformation ว่าเกิดขึ้นไปแล้วและยังคงดำเนินอยู่ โดยเฉพาะช่วงโควิดทำให้เกิดการขยายตัวของอีวอลเล็ตและบริการเดลิเวอรี่ ซึ่งเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่อย่างเป็นธรรมชาติเพื่อการเอาตัวรอดของทุกคน
ภาครัฐตระหนักเรื่องนี้สะท้อนผ่านการผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี ส่วนภาคเอกชนมีการใช้งบประมาณที่เกี่ยวกับดิจิทัลเยอะมาก โดยเฉพาะการทำการตลาดโดยใช้ประโยชน์จากขุมข้อมูล (Big data) ในส่วนภาคอุตสาหกรรมก็มุ่งหน้าเรื่อง Industry 4.0 ใช้ Big data ทั้งจากภายในภายนอกนำมาวิเคราะห์วางแผนการทำงานในด้านต่าง ๆ ทั้งการวิเคราะห์ผู้บริโภค พัฒนาผลิตภัณฑ์ วางแผนผลิต ควบคุมเครื่องจักร ไปจนถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพของผลผลิต
ทำไมต้อง Automation ทำอย่างไร และใครต้องทำ
ภาคอุตสาหกรรมไทยเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ปัจจุบันความต้องการด้านออโตเมชันมาจากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อาหาร กระดาษ ปุ๋ย และอื่น ๆ ไม่ใช่แค่กลุ่มยานยนต์เหมือนสมัยก่อน ที่สำคัญคืออุตสาหกรรมส่งออกของไทยซึ่งมีความเข้มแข็ง แข่งขันในตลาดโลกได้ กลุ่มเหล่านี้มีความชัดเจนมากที่เร่งปรับเปลี่ยนและลงทุนออโตเมชัน หุ่นยนต์ ใช้ดิจิทัล
“สิ่งสำคัญที่สุดคือ วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร และตามมาด้วยคนที่มีความสามารถด้านดิจิทัล ซึ่งประเทศไทยขาดแคลน จากนั้นก็ตามมาในเรื่องของเงิน เพราะการเปลี่ยนผ่านต้องลงทุน และปัจจัยสุดท้ายคือ โครงสร้างเดิมที่มีอยู่มีอะไรบ้าง และปัญหาสำคัญคือ ความร่วมมือของคน เมื่อมีการปรับเปลี่ยนจะเกิดแรงต้าน เพราะดิจิทัลจะทำให้โปร่งใสและกระบวนการต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เรื่องที่เคยซ่อนเร้น ผิดกฎระเบียบ การคอรัปชัน ถูกขจัดไป 5 ปัจจัยนี้จึงเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคที่ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อปรับสู่ Digitalization”
นี่คือคำแนะนำที่เผยความจริงตรงหน้าได้ตอกย้ำขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่ดิทัลของนายกุลโชค
สำหรับกลุ่มบริษัท เอ.ไอ. ได้ลงทุนยกระดับ skill set ด้านดิจิทัลแก่บุคลากรให้เก่งขึ้น มีคนเก่งมากขึ้น นำดิจิทัลมาใช้ประโยช์เพิ่มขึ้น ทั้งการทำงานบนแพลตฟอร์ม การเชื่อมโยงกันของแพลตฟอร์ม นายกุลโชคยกตัวอย่าง Generative AI ซึ่งอยู่ในกระแสนิยมปัจจุบัน ซึ่งเปรียบได้กับ “ที่ปรึกษาระดับโลก” จึงมีการส่งเสริมให้พนักงานนำไปใช้ให้มาก ทำให้เป็นเยอะ ๆ ก็เหมือนมีที่ปรึกษาระดับโลก
องค์ความรู้และประสบการณ์จากการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรภายในได้นำไปสู่การต่อยอดธุรกิจ ทำให้เกิดการพัฒนาโซลูชันด้าน Robotics & Automation ที่ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพให้แก่ลูกค้า ตั้งแต่เริ่มกระบวนการทีต้องการข้อมูลนำไปวิเคราะห์ผ่านการติดตั้งเซนเซอร์ ที่ช่วยติดตามการทำงานในส่วนต่าง ๆ ของเครื่องจักร และนำข้อมูลมาเก็บบันทึก ถัดมาเรานำข้อมูลมากมายเหล่านี้ซึ่งก็คือ Big data มาผนวกกับแนวคิด Industry 4.0 นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น Machine Learning มาทำฟังก์ชันต่าง ๆ อย่างวิเคราะห์ ตรวจสอบ คาดการณ์ และพัฒนาออกมาเป็นโซลูชันอัตโนมัติที่ยกระดับประสิทธิภาพให้โรงงานของลูกค้า
ในขณะเดียวกัน ถ้ามองไปยังผู้ประกอบการ SMEs จะพบว่าเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ นายกุลโชค เน้นย้ำว่า ที่สำคัญคือผู้ประกอบการต้องถามตัวเองว่า สินค้าของเรายังเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่ ซึ่งเป็นวิถีทางที่ใช้ความต้องการของตลาดนำทางธุรกิจ ถ้ายังแข่งขันได้ก็หันมาปรับเรื่องประสิทธิภาพต่อ ซึ่งอาจเริ่มจากง่าย ๆ เช่น นำหลักการของ Lean มาใช้ และใช้เครื่องมือดิจิทัลต่าง ๆ อาจเริ่มจาก ChatGPT หรือเครื่องมือง่าย ๆ ก่อน
“อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีแพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์ฟรีมากมายให้ใช้ แต่คนที่จะใช้เป็นอาจจะไม่มี หรือมีน้อย ตรงนี้ก็วนกลับไปสู่ปัญหาของประเทศว่า จะมีคนเก่ง หรือมี skill set ที่ตอบโจทย์อนาคตประเทศได้อย่างเพียงพอและทันต่อสถานการณ์ด้วยวิธิใด” นายกุลโชค ทิ้งประเด็นไว้ให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายได้ขบคิด
โดยกลุ่มบริษัท เอ.ไอ. ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคการศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ต้องการเข้ามาศึกษาดูงาน และขอรับข้อมูลของภาคอุตสาหกรรมว่ามีทิศทางอย่างไร และกำลังดำเนินการเรื่องใด รวมถึงความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเปิดหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันการพัฒนาบุคลากรด้านออโตเมชัน
ความเห็นต่อ Green Manufacturing
นายกุลโชคมองเรื่อง Green Manufacturing เป็นอีกมิติของแนวคิด ESG ( Environment, Social, และ Governance) สำหรับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ที่อยู่ในกระแสความสนใจของนักลงทุนทั่วโลก
Green Manufacturing หรือ “การผลิตสีเขียว” ที่ภาคอุตสาหกรรมจะร่วมรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งประเทศไทยประกาศความมุ่งมั่นที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และจะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero GHG Emissions) ภายในปี 2065 โดยปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
วันนี้ความพร้อมของประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำ เราพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมากเพื่อการผลิตพลังงาน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภาคเอกชนกำลังต่อสู้กับกระบวนทัศน์ใหม่นี้ซึ่งเป็น Global Trend มีคำถามมากมายเกิดขึ้น เช่น เราต้องปลูกต้นไม้กี่ต้นเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอน คาร์บอนเครดิตคืออะไร นับอย่างไร การซื้อขายคาร์บอนเครดิตทำอย่างไร
ขบวนการที่จะใช้วัสดุทดแทน รวมถึงพลังงานทดแทน การรีไซเคิลไปจนถึงการเปลี่ยนกระบวนการและเทคโนโลยีการผลิตเพื่อลดคาร์บอน มีทางเลือกอะไรบ้าง ที่สำคัญเทคโนโลยีและกระบวนการเหล่านี้ยังเป็นเรื่องใหม่และมีราคาสูง นั่นหมายถึง “ยิ่งทำยิ่งแพง” และยังไม่มีกฎหมายรองรับ คนไม่ทำสบายกว่าในแง่ของต้นทุน
จากเรื่องนี้ทำให้มีการพูดถึง “EPR” (Extended Producer Responsibility) ซึ่งเป็นหลักการในการขยายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิตให้ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ (ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต ไปจนถึงการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วให้ถูกต้องตามหลักการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม)
“ที่ผ่านมา เราจะคุ้นเคยกับการทำ CSR แต่วันนี้หาก CSR เป็นแค่เพียง greenwashing ก็ไม่ตอบโจทย์ เพราะมันต้องทำให้จบวงจรจนถึง recycle loop สุดท้ายนั่นคือทุกคนต้องทำจริง” นายกุลโชคกล่าว
ท้ายที่สุดแล้ว กฎหมายจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีการนำหลักปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้อย่างกว้างขวาง สิ่งจูงใจและบทลงโทษจะกำหนดวิธีการตอบสนองของบริษัทต่าง ๆ รวมถึงจัดการกับการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากบางคนอาจพยายามหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามข้อกำหนด
การเปลี่ยนแปลงไปสู่แนวปฏิบัติที่ยั่งยืนนี้เป็นความพยายามระดับโลก ดังนั้น ประเทศที่ไม่สามารถปรับตัวจะต้องเผชิญกับความเสียเปรียบทางเศรษฐกิจและข้อจำกัดทางการค้า เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดอาจต้องเสียภาษีคาร์บอนที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านของ Net Zero Emissions คือ “โอกาส” ทั้งสำหรับประเทศไทยซึ่งมีภาคเกษตรกรรมจำนวนมากทำให้มีศักยภาพในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และผู้ที่มีเทคโนโลยีและแนวคิดทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับทิศทางดังกล่าว
ภาพรวมของกลุ่มบริษัท เอ.ไอ. ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
นายกุลโชค ย้ำว่า Digital และ Automation ทำให้เกิด Green manufacturing ได้ง่ายขึ้น ทำให้ใช้พลังงานและวัตถุดิบน้อยลง มีของเสีย (NG) น้อยลง แต่ได้ผลผลิตมากขึ้น สามารถวางแผนเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธภาพมากขึ้น
ภาพรวมธุรกิจในปีนี้ กลุ่มบริษัท เอ.ไอ. วางยุทธศาสตร์ขยายธุรกิจผ่านกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ร่วมกับการพัฒนาบุคลากรให้เก่งขึ้น มีความสามารถมากขึ้น มีการใช้ออโตเมชันและดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตถึง 20% เมื่อเทียบกับปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนเกิดโรคโควิด
ความคืบหน้าของสี่บริษัทภายใต้กลุ่มบริษัท เอ.ไอ. มีดังนี้
1. A.I.Technology ซึ่งอยู่ในธุรกิจออกแบบและผลิตเครื่องจักรและโซลูชันอัตโนมัติ ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันที่รองรับงานออโตเมชันที่หลากหลาย ตอบโจทย์สถานการณ์ที่ต้องประหยัดแรงงาน ขณะเดียวกันก็ให้ผลผลิตมากขึ้น และยกระดับประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น Robot Palletizing, AGV, ASRS, WMS (Warehouse Management System)
กลุ่มเป้าหมายทั้ง Automotive และ Non-automotive ซึ่งปีนี้มีการขยับมากกว่าในด้านการลงทุนออโตเมชัน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าส่งออกของไทย เช่น ปุ๋ย อาหาร กระดาษ ส่วน Automotive ปีนี้ยังรอจังหวะการลงทุนของอีวี และอื่น ๆ อยู่
2.Tokai Gauge ผลิตเกจอุตสาหกรรมสำหรับการวัด ได้มีการพัฒนา Digital Gauge ที่สามารถวัดค่าได้หลายค่าหลายตำแหน่งในตัวเดียว และเก็บบันทึกข้อมูลชิ้นต่อชิ้น นำไปสู่การเก็บสถิติที่สามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์และวางแผนการผลิตต่อไป
3. A.I. Foundry อยู่ในธุรกิจโรงหล่อ แม้อุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลง แต่ก็มีรถโมเดลใหม่ออกมา ทำให้มีออร์เดอร์หล่อชิ้นส่วนสำหรับแคมชาฟท์, ระบบเบรก, ระบบเกียร์ ซึ่งบริษัทได้พัฒนาเทคโนโลยีหล่อวัสดุคุณภาพสูงอย่างการหล่อเหล็กเกรด FCD700 ให้มีกระบวนการที่ใช้พลังงานน้อยลง ใช้วัสดุน้อยลง และมีของเสียน้อยลง
4. A.I. Innovative Plus เดิมทีบริษัทผลิต Kitchen ware ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ง่าย ๆ ไม่มีนวัตกรรม แต่ในช่วงของ Industry 4.0 และ Digitalization ทำให้มีพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ สำหรับอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ โดยใช้องค์ความรู้ด้านพลาสติกมารวมกับอิเล็กทรอนิกส์ อย่างเช่น Ionizer ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยและเปิดตัวในช่วงโควิด ผลิตภัณฑ์นี้ใช้เคสพลาสติกและนำวงจรอิเล็กทรอนิกส์ใส่เข้าไป เพื่อสร้างประจุลบผ่านสายสร้อยโลหะเมื่อสัมผัสกับร่างกายมนุษย์ ช่วยลดความเสี่ยงจากอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้ยังตอบโจทย์ PM2.5 ผู้ที่ใส่ใจสุขภาพ รวมถึงผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจอีกด้วย
ด้วยการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน การนำ Digital และ Automation เข้ามาใช้ในการผลิตนั้นจะสร้าง Green Manufacturing ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ใช้พลังงานและวัตถุดิบน้อยลง มีของเสียน้อยลง และผลผลิตมากขึ้น ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีโอกาสในการพัฒนาและปรับตัวต่ออนาคตไปอย่างแข็งแรง