Green Productivity and the Circular Economy กลไกสำคัญนำโลกสู่ความยั่งยืน สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ FTPI

Green Productivity and the Circular Economy กลไกสำคัญนำโลกสู่ความยั่งยืน

อัปเดตล่าสุด 14 เม.ย. 2566
  • Share :
  • 1,340 Reads   

Green Productivity คือ แนวคิดที่ให้ความสำคัญกับเพิ่มผลิตภาพเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยคำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยกรอบแนวคิดของ Green Productivity นั้น ครอบคลุมทั้งเครื่องมือ เทคนิค ระบบการบริหารจัดการ และแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักการ PDCA เหมาะสมต่อการเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับกระบวนการผลิตสินค้าและบริการให้มีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างกำไรและเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกัน Circular Economy หรือ แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน นั้นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะเข้ามาสนับสนุนให้ธุรกิจสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเปลี่ยนจากการผลิตแบบใช้แล้วทิ้ง (Take-Make-Waste) เป็นแบบหมุนเวียนผลิตภัณฑ์หรือนำวัสดุมาใช้ซ้ำ หรือนำเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ ซึ่งถือเป็นแนวคิดเศรษฐกิจที่ยั่งยืนต่างจากแนวคิดเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) รูปแบบเดิม

การประชุมนานาชาติ “International Conference on Green Economy Growth: Synergizing Green Productivity and the Circular Economy” ที่จัดขึ้นโดยองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมา จึงกำหนดให้ ‘Green Productivity’ และ ‘Circular Economy’ เป็นวาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ โดยได้รับเกียรติผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็น พร้อมกล่าวถึงทิศทางและความสำคัญต่อการสร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างยั่งยืนด้วยแนวคิดดังกล่าว

การขับเคลื่อน Bio-Circular-Green Productivity เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายวิจารณ์ สิมาฉายา ประธานกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้กล่าวถึง การขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้แก่ การลดการใช้ทรัพยากรในการพัฒนาเศรษฐกิจ (Closing the Loop) การสร้างการเจริญเติบโตด้วยเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ โดยมีส่วนในการเพิ่มขึ้นของ GDP ร้อยละ 1 ภายใน 10 ปี และการลดโลกร้อน โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2027 โดยมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อก้าวไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนี้

  • การสร้างโอกาสทางธุรกิจโมเดลและสร้างตลาดด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน
  • การส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการนำของเสียกลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่
  • การพัฒนาแพลตฟอร์มและโครงสร้างพื้นฐานในการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นระบบ
  • การสร้างกลไกการบริหารจัดการเพื่อก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
  • การสร้างบุคลากรที่มีความรู้ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน และเพิ่มความตระหนักเกี่ยวกับการผลิตและการบริโภคที่ยังยืนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

 

ทั้งนี้ การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนต้องครอบคลุมวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจนกระทั่งกลายเป็นขยะและนำกลับมาใช้ประโยชน์ เช่น การบริหารจัดการขยะพลาสติกประเภท PET และ PE ให้เป็นระบบปิดที่สามารถรีไซเคิลได้ร้อยละ 100 ภายในปี 2030 รวมถึงการลดขยะพลาสติกที่ทิ้งลงในทะเลร้อยละ 50 ภายในปี 2027 ที่มีเป้าหมายคือการลดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง และการรีไซเคิลพลาสติกตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดวงจนชีวิตของผลิตภัณฑ์ผ่านโครงการร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP)

 

เงินลงทุนไหลสู่กลุ่มธุรกิจ ESG มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้าน Dr. Kim SCHUMACHER – Associate Professor, Institute for Asian and Oceanian Studies Kyushu University, Japan ได้แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับ แผนการปฏิรูปสีเขียวของสหภาพยุโรป (European Green Deal) ในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับอาเซียน สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าลำดับที่ 3 รองจากประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา และมีสัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ถึงร้อยละ 10

ในปี 2564 ที่ผ่านมา กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืนมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และส่อแววที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย Dr. Kim SCHUMACHER ชี้แจงว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากกองทุนขนาดใหญ่ได้หันมาลงทุนตามแนวคิดในการลงทุนอย่างยั่งยืนมากขึ้น โดยเป็นการเลือกลงทุนที่คำนึงถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) กลุ่มที่ได้รับเงินลงทุนมากที่สุดคือกลุ่มสุขภาพ ตามมาด้วยกลุ่มพลังงานหมุนเวียน กลุ่มอาหารและการเกษตร กลุ่มน้ำและสุขาภิบาล กลุ่มระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง และกลุ่มการศึกษา ตามลำดับ สาเหตุหลักที่ทำให้มีการลงทุนในกลุ่ม ESG มากขึ้น เนื่องจากผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า บริษัทที่ดำเนินการโดยคำนึงถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล มีผลประกอบการที่ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

Green Productivity and the Circular Economy กลไกสำคัญนำโลกสู่ความยั่งยืน สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

กฎระเบียบในการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG จาก ESMA

Dr. Kim SCHUMACHER เผยว่า เพื่อรับมือกับการฟอกเขียว (Greenwashing) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ยุโรป (European Securities and Markets Authority: ESMA) ออกกฎระเบียบในการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG โดยกำหนดให้บริษัทในตลาดการเงินและที่ปรึกษาทางการเงินต้องเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ลงทุนเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านความยั่งยืน การคำนึงถึงผลกระทบด้านความยั่งยืน เป้าหมายการลงทุนด้านความยั่งยืน และการตัดสินใจลงทุนและกระบวนการให้คำปรึกษาในการสร้างภาพลักษณ์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ESMA จัดลำดับความสำคัญของแผนงานด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) โดยเริ่มจากการรับมือกับการฟอกเขียวและส่งเสริมให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส ก่อนจะเพิ่มความสามารถให้กับ ESMA และหน่วยงานภายในประเทศ รวมถึงตรวจสอบ ประเมินและวิเคราะห์ตลาดและความเสี่ยงด้าน ESG พร้อมทั้งกำหนดกฎเกณฑ์ของกิจกรรมและรายการที่เข้าข่ายการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รายการที่นอกเหนือจากนั้นไม่สามารถกล่าวอ้างว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการประชาสัมพันธ์และรายงานที่เปิดเผยต่อสาธารณชนได้ โดยกิจกรรมที่เข้าข่ายเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต้องมีลักษณะอย่างน้อย 1 ข้อ ได้แก่

  • การลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • การปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • การปกป้องแหล่งน้ำและทรัพยากรทางทะเลเพื่อความยั่งยืน
  • การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
  • การป้องกันและควบคุมมลพิษ
  • การปกป้องและฟื้นฟูความหลากลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ และต้องไม่เป็นกิจกรรมที่ส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายอย่างมีนัยต่อข้ออื่น ๆ

คะแนนรายงานประเทศไทยสูงกว่า สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลี

อย่างไรก็ตาม ความเข้มงวดของการรายงานในแต่ละประเทศมีความต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับกฎระเบียบและข้อบังคับ กรณีที่ออกเป็นข้อบังคับส่วนมากจะมีรายงานที่สมบูรณ์กว่ากรณีสมัครใจ สำหรับประเทศไทย ได้มีการกำหนดให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานที่ครอบคลุมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในปี 2022 ส่งผลให้ประเทศไทยมีคะแนนด้านความครอบคลุมของเนื้อหาการรายงานความยั่งยืนเทียบเคียงตามกฎระเบียบของ EU สูงกว่าสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลี

'SCG' นำร่อง ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

พร้อมกันนี้ นายวิสุทธิ์ จงเจริญกิจ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจทรัพยากรหมุนเวียน บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ตัวแทนจากภาคธุรกิจ เผยว่า ทาง SCG ได้มีการประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในการดำเนินการและประกาศแนวปฏิบัติ SCG Circular Way ตั้งแต่ปี 2019 ภายใต้ความตระหนักถึงปัญหาการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากร และความต้องการในการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น และเกิดความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนของ SCG ด้วย 8 หลักการ

  • ทนทาน ใช้งานได้นานขึ้น (durability) โดย SCG ได้ออกแบบซีเมนต์ชนิดพิเศษที่สามารถใช้งานได้นานขึ้นสำหรับดินที่มีความเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • เปลี่ยนแทน (replacement) มีการเปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่นแทนแร่ใยหินในหลังคาและฝ้าเพดาน เนื่องจากมีผลกระทบต่อสุขภาพ
  • ลดการใช้วัสดุ (reduce material use) โดยการพัฒนานวัตกรรมคอนกรีตสมรรถนะสูง (Ultra High Performance Concrete: UHPC) เพื่อลดปริมาณการใช้คอนกรีตและเหล็กเสริมคอนกรีต
  • เพิ่มประสิทธิภาพ (upgrades) โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
  • ปรับปรุงเป็นของใหม่ (refurbishment)
  • ซ่อมให้ใช้งานได้ (repair)
  • ใช้ซ้ำ (reuse)
  • สามารถใช้หมุนเวียน (renewability)

นอกจากนี้ SCG ยังตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2525 จะมีการรีไซเคิลและนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ร้อยละ 100 และสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนมีรายได้ร้อยละ 66.7 ส่วนภายในปี 2030 จะสามารถลดการทิ้งขยะจากกระบวนการผลิตลงร้อยละ 70 ภายในปี 2025 ลดการดึงน้ำมาใช้ลงร้อยละ 23 ภายในปี 2025 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยยละ 20 และภายในปี 2025 คือ ลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของพนักงานให้เป็น 0

ททท. ชูวิสัยทัศน์ 'การท่องเที่ยวสีเขียว' พร้อมรับผิดชอบต่อโลกมากขึ้น

ด้าน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดย นายนรินทร์ ทิจะยัง ผู้อำนวยการฝ่ายดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้เผยให้เห็นถึงมุมมองการปรับตัวในภาคการท่องเที่ยว โดยมุ่งมั่นสร้างวิถีการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Tourism) และการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Tourism) มากขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ททท. จึงได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาใช้อำนวยความสะดวก และแก้ไขปัญหาจากการท่องเที่ยวที่อาจกระทบต่อความยั่งยืน อาทิ การติดตั้งหลังคาพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับอาคารสำนักงานของ ททท. และจะขยายไปสู่โรงแรมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอนาคต รวมถึงการดำเนินการคำนวณคาร์บอนเครดิตในอนาคตเพื่อเตรียมรับมือกับกฎระเบียบของ EU

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การจะขับเคลื่อนโลกไปสู่ความยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องอาศัยความตระหนัก และการร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่าย แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่หากเราร่วมกันผลักดันก็จะสามารถฟื้นฟู และพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างสมดุลในทุกด้าน พร้อมเอาชนะทุกวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

ที่มา :“International Conference on Green Economy Growth: Synergizing Green Productivity and the Circular Economy” วันที่ 20 ตุลาคม 2565 โดยองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ 

 

สนับสนุนบทความโดย: สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH