การจัดการโลจิสติกส์ มีอะไรบ้าง, ประโยชน์ของการจัดการโลจิสติกส์ มีอะไรบ้าง, การจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มีองค์ประกอบอะไรบ้าง, สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

สู่ยุคใหม่ด้วย Logistics and Supply Chain ที่ทันสมัย

อัปเดตล่าสุด 4 ก.พ. 2565
  • Share :
  • 5,544 Reads   

เราจะมีวิธีการจัดการระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน (Logistics and Supply Chain Management) อย่างไรที่ไม่ใช่แค่ Standard แต่ต้อง Smart ให้ได้ในยุค New Normal นี้ ยิ่งการค้าผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เติบโตมากขึ้นเท่าใด การส่งมอบยิ่งต้องพัฒนาเติบโตและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น

เพราะหนึ่งในความต้องการที่เหมือนกันของลูกค้าคือ การจัดส่งที่รวดเร็ว จากเดิมที่เป็น 7 วัน 14 วัน หรือยาวนานเป็นเดือน ปัจจุบันตัวชี้วัดเหล่านี้สั้นลง เราจึงมักได้ยินคำว่า next day คือสั่งวันนี้ พรุ่งนี้ได้รับของ หรือ same day คือสั่งวันนี้ ได้รับของวันนี้ นี่ยังไม่นับรวมถึง Food Delivery ที่เฟื่องฟูขึ้นอย่างมากในยุคไวรัส Covid-19 แพร่ระบาด นับตั้งแต่ต้นปี 2020 จนถึงปัจจุบัน ที่ร้านอาหารแทบทุกประเภทและทุกขนาด (ตั้งแต่ร้านอาหารดัง ร้านอาหารสาขา จนถึงร้านรถเข็น) ที่มีบริการส่งอาหารแบบรวดเร็วในเวลาไม่เกิน 30 นาที (สำหรับระยะใกล้ ไม่เกิน 10 กิโลเมตร) หรือไม่เกิน 1 ชั่วโมง (สำหรับระยะไกล เกิน 10 กิโลเมตร)

การแข่งขันในการส่งมอบอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง ถูกที่ ถูกเวลานี้ มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดอย่างมากจากพลังความสามารถของเทคโนโลยีดิจิทัลและการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data analytics) ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดจุดพิกัดสถานที่จัดส่ง การสืบค้นตำแหน่งที่แสดงออกมาในรูปของแผนที่เพื่อระบุจุดพิกัดของสถานที่จัดส่ง การคำนวณเส้นทางการขนส่งไปในหลายๆจุดของรถขนส่งแต่ละคันได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน ตลอดจนการตรวจติดตามการเคลื่อนที่ของยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งแต่ละคันทั้งที่ผ่านเครือข่ายสัญญาณดาวเทียมและเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ (Truck) รถบรรทุกขนาดเล็ก (One-Ton pickup) จนถึงการส่งด้วยจักรยานยนต์ (Auto-Bike) เพื่อเฝ้าดูพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ตำแหน่งตามเส้นทาง เป็นต้น

ทั้งหมดนี้คือพัฒนาการของระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานแบบใหม่ ที่ทลายกรอบความคิดแบบเดิมที่มองแบบแยกส่วน สู่มุมมองใหม่ที่เปิดกว้างมากขึ้น (Paradigm shift) จากการมุ่งเน้น Function (แผนกใครแผนกมันแยกการทำงานจากกัน) เป็น Process (เน้นการบูรณาการส่งต่องานกันเป็นทอด ๆ จากต้นจนถึงปลาย) จาก Profit (ที่เน้นกำไรจากสินค้าและบริการ โดยให้มีต้นทุนต่ำสุด) เป็น Performance (ให้ความสำคัญกับสมรรถนะโดยรวม และถือว่าผลประกอบการจะต้องมาจากทุกส่วนช่วยกัน) จาก Product (มุ่งเน้นที่ตัวสินค้า) เป็น Customer (ตอบสนองทุกความต้องการ และพยายามจะเติมเต็มความคาดหวังใหม่ๆให้ได้มากที่สุด) จาก Inventory (ต่างฝ่ายต่างจัดเก็บสินค้า โดยไม่รู้สถานะซึ่งกันและกัน) เป็น Information (การแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ระหว่างกัน) และจาก Transaction (เน้นที่รายการสั่งซื้อแต่ละครั้ง) เป็น Relationship (มุ่งเน้นความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่างผู้ส่งมอบและผู้รับมอบเป็นทอดๆ)

จากคำอธิบายที่ว่า

Supply Chain Management is a set of approaches utilized to efficiently integrate suppliers, manufacturers, warehouses, and stores, so that merchandise is produced and distributed at the right quantities, right locations, and at the right time, in order to minimize systemwide costs while satisfying service level requirements.

 

ทำให้การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานมีความสำคัญและต้องมีวิธีปฏิบัติที่นอกจากเป็นมาตรฐานสากลแล้ว ยังต้องพัฒนาให้เป็นเลิศ ซึ่งแต่ละองค์กรสามารถเรียนรู้โมเดลต่าง ๆได้ อาทิ ตัวแบบ SCOR (Supply Chain Operations Reference Model) ที่พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 และได้รับการยอมรับโดยสภาซัพพลายเชน (Supply-Chain Council) ให้เป็นโมเดลที่ใช้อ้างอิงเป็นมาตรฐานหนึ่งในระดับสากล มีองค์ประกอบสำคัญ 6 ส่วนคือ การวางแผน (Plan) การจัดหาวัตถุดิบ (Source) การผลิต (Make) การส่งมอบ (Deliver) การส่งคืน (Return) และการสนับสนุนแผนงานและการดำเนินงาน (Enable) โดยมีตัวชี้วัดที่สำคัญคือ ต้นทุน (cost) การส่งมอบ (delivery) ความน่าเชื่อถือ (reliability) และความยืดหยุ่น (flexibility)

นอกจากเหตุผลดังกล่าวที่ว่ามาแล้ว ยังมีการนำวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านการผลิตและการจัดส่งซึ่งพัฒนาต่อมาจาก Toyota Production System ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีการประยุกต์ใช้งานกันอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมยานยนต์ และแพร่กระจายความรู้ดังกล่าวไปในอุตสาหกรรมอื่นๆในชื่อ Lean ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดแบบลีน (Lean Thinking) การพัฒนาปรับปรุงระบบการผลิตให้มีประสิทธิภาพ (Lean Manufacturing) และการยกระดับบริการให้มีประสิทธิผล (Lean in Service) จนถึงการสร้างสมดุลในระบบการจัดส่งทั้งฝั่ง Suppliers และ Customer ที่เรียกว่า Lean Supply Chain

สำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทย สามารถเรียนรู้แนวคิด วิธีปฏิบัติ และตัวชี้วัด ซึ่งพัฒนาและเผยแพร่โดยกองโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และได้นำกรอบการจัดการดังกล่าวมาใช้ในการตรวจประเมินองค์กรที่สมัครเพื่อขอเข้ารับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ด้านการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ซึ่งผมได้พัฒนากรอบการทำงานขึ้นมาให้เห็นเป็นภาพเชิงระบบที่ผู้ประกอบการ ผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานได้ศึกษาและนำไปปรับใช้ รวมไปถึงองค์กรที่ต้องการสมัครรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นด้านการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย

จากแผนภาพดังกล่าว จะช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถบริหารจัดการโซ่อุปทานได้ดี โดยในยุคสมัยปัจจุบันควรคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ดังนี้

1. ความยืดหยุ่นในระบบ

ได้แก่ ความมุ่งมั่นของผู้บริหารในการปรับปรุง การใช้พนักงานชั่วคราว การใช้อุปกรณ์ที่ทำงานได้หลากหลาย การจ้างหน่วยงานภายนอกทำงานให้ และการปรับปรุงกระบวนการเพื่อลดรอบเวลาซึ่งจะส่งผลต่อการลดเวลานำ (Lead time) ในที่สุด

2. การออกแบบระบบให้เหมาะสม 

ได้แก่ คุณสมบัติของตัวสินค้า ช่องทาง หรือตลาดที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า

3. การจัดแบ่งลูกค้าและสินค้า 

ได้แก่ การปฏิบัติต่อลูกค้าแต่ละรายตามระดับประโยชน์ที่ได้รับจากลูกค้า และการแยกประเภทลูกค้าอย่างเหมาะสม

4. การมองภาพรวมทั้งโลก (ทั้งประเทศ หรือทั้งภูมิภาค)

ได้แก่ การกำหนดมาตรฐานกระบวนการ ข้อมูล วัตถุดิบ และปัจจัยพื้นฐาน และการใช้ระบบงานร่วมกันทั่วโลก
อาทิ การใช้แหล่งผลิตร่วมกัน การใช้ชิ้นส่วนร่วมกัน

5. การบริหารการพัฒนาสินค้า

ได้แก่ การบริหารต้นทุนเป้าหมายของสินค้า และการบริหารต้นทุนของสินค้าตลอดช่วงอายุ (Life Cycle Cost)

6. การผลิตสินค้า/บริการเฉพาะลูกค้า

ได้แก่ การสร้างความแตกต่างของสินค้า/บริการใกล้จุดส่งมอบมากที่สุด การผลักภาระให้ลูกค้าทำให้สินค้า/บริการเหมาะสมกับความต้องการมากที่สุด และการออกแบบให้สินค้า/บริการใช้วัสดุหรือชิ้นส่วนร่วมกัน

7. การใช้ข้อมูลอย่างเหมาะสม

ได้แก่ การปรับระบบให้ส่งเสริมการลดต้นทุน การสร้างความยืดหยุ่น การเชื่อมโยงกับระบบคู่ค้า การลดรอบเวลาในการจัดหาข้อมูลจนถึงการใช้ประโยชน์ การปรับปรุงคุณภาพของข้อมูลให้เน้นที่ลูกค้า การใช้ข้อมูลลดปริมาณสินค้าคงคลัง การสร้างสมดุลระหว่างความต้องการและการตอบสนองโดยหลีกเลี่ยงการพยากรณ์ และการใช้ระบบหน่วยชี้วัดที่ครบวงจร

8. การลดความสูญเสีย

ได้แก่ การใช้มาตรฐานข้อมูลหรือรหัสสากล การลดความซับซ้อนของสินค้า กระบวนการผลิต และการส่งมอบ การลดจำนวนผู้ส่งมอบ การบริหารความต้องการและการตอบสนองสินค้าให้เกิดการหมุนเวียนสินค้าคงคลังมากที่สุด

9. การสร้างพันธมิตร

ได้แก่ การใช้หน่วยงานอื่นทำงานแทนบางอย่าง การประสานงานระหว่างคู่ค้า ผู้ส่งมอบ ผู้ให้บริการและลูกค้า
และการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน

10. การใช้ประโยชน์จาก E-Commerce

ได้แก่ การพัฒนาเครือข่ายผู้ส่งมอบ เพื่อร่วมจัดทำแผนการผลิตและส่งมอบอย่างทันเวลา

11. การพัฒนาบุคลากร

ได้แก่ การมีมุมมองหลากหลายบนพื้นฐานของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การทำงานหลากหลายเพื่อสร้างความเข้าใจในงานทุกระบบ การพัฒนาให้มีความสามารถหลากหลายถึงระดับปฏิบัติการ ความสามารถในการแก้ไขปัญหา และความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

นี่เป็นเพียงกรอบแนวคิดและวิธีปฏิบัติที่จะทำให้การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานมีมาตรฐานสากล และชาญฉลาดมากขึ้นด้วยการนำแนวคิดใหม่และเทคโนโลยีทันสมัย ขอให้องค์กรต่างๆ เรียนรู้และลองปรับใช้ เพื่อยกระดับไปสู่การจัดการโซ่อุปทานในยุค 4.0 ต่อไป

 

สนับสนุนบทความโดย: สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH