China, Supply Chain, Trade War, Manufacturing

เพราะเหตุใด “การย้ายฐานการผลิตออกจากจีน” จึงเป็นเรื่องยาก?

อัปเดตล่าสุด 28 มิ.ย. 2566
  • Share :
  • 31,760 Reads   

ความขัดแย้งระหว่างจีนสหรัฐฯ ที่รุนแรงขึ้น จนขยายวงสู่การกีดกันทางเทคโนโลยีจากชาติตะวันตกได้สร้างความโกลาหลในซัพพลายเชน นำสู่การพิจารณาย้ายฐานการผลิตออกจากจีน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2022 พบว่าการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะเหตุใด หาคำตอบในบทความนี้

วันที่ 16 มิถุนายน 2023 World Economic Forum (WEF) เผยแพร่บทความในหัวข้อ “อะไรทำให้จีนดึงดูดผู้ผลิต?” มีเนื้อหาสำคัญว่า ปัจจุบันความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา รวมถึงปัญหาด้านซัพพลายเชน ทำให้เกิดประเด็นการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมา การค้าระหว่างสองประเทศได้แตะระดับสูงสุด ซึ่งไม่มีสัญญาณว่าจะชะลอตัวลงในอนาคตอันใกล้

สหรัฐฯ ได้ให้สถานะ Permanent Normal Trade Relations แก่จีนเมื่อปี 2000 ส่งผลให้จีนได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับสมาชิกอื่น ๆ ขององค์การการค้าโลก ความเคลื่อนไหวนี้ได้ตอกย้ำบทบาทที่เพิ่มขึ้นของจีน ฐานการผลิตส่วนใหญ่ของโลกได้ย้ายเข้าไปอยู่ในประเทศจีน ด้วยแรงงานต้นทุนต่ำ นโยบายที่เอื้ออำนวยจากรัฐบาล รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและขีดความสามารถทางการค้า

อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ได้สร้างความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นอย่างมาก นำมาซึ่งสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งในปี 2018 อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ใช้มาตรา 301 แห่งพระราชบัญญัติการค้าสหรัฐฯ ปี 1974 ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ส่งผลให้หลายบริษัทย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ๆ ในเอเชียที่มีต้นทุนต่ำกว่า เช่น เวียดนาม บังคลาเทศ และอินเดีย

Advertisement

นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังทำให้เกิดความวุ่นวายในซัพพลายเชนทั่วโลก มีการเรียกร้องให้นำฐานการผลิตกลับสู่ประเทศ รวมถึงการย้ายฐานการผลิตกลับมาใกล้ ๆ ประเทศของตนเอง (Nearshoring) เช่น การสร้างโรงงานในเม็กซิโกสำหรับตลาดสหรัฐฯ 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแรงกดดันทางการเงินและการเมือง แต่หลายบริษัทยังคงไม่ย้ายการผลิตออกจากจีน

WEF ได้ทำการวิจัยด้านความสามารถในการแข่งขันระดับโลกอย่างต่อเนื่อง พร้อมตรวจสอบข้อมูลที่เป็นความลับจากผู้ผลิตส่วนหนึ่ง ได้บ่งชี้ว่าแม้ต้นทุนแรงงานด้านการผลิตในตลาดอื่น ๆ อย่างบังกลาเทศที่มีค่าแรงจะต่ำกว่าจีน แต่ผลผลิตก็ต่ำกว่าเช่นเดียวกัน

แรงงานจีนมีราคาแพงกว่าและให้ผลผลิตมากกว่าแรงงานในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่น ๆ ในเอเชีย ด้วยเหตุนี้ ผู้ผลิตจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยทั้งสองในการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ซึ่งเป็นเพียงเหตุผลหนึ่งเท่านั้น

บทความระบุถึงข้อมูลจากการสัมภาษณ์ Joseph Eiger อดีตนักเรียนและผู้บริหารของบริษัทจัดหาระดับโลกที่ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งนาย Eiger ได้ยกตัวอย่างว่า การผลิตหมวกเบสบอลนั้น หมวกบางรุ่นเป็นแบบพื้น ๆ ในขณะที่บางรุ่นมีความซับซ้อน มีงานปัก และใช้ผ้าราคาแพงกว่า โดยกล่าวไว้ว่าแม้การผลิตหมวกเบสบอลจะไม่เหมือนกับการผลิตโทรศัพท์มือถือ แต่ก็ยังมีความซับซ้อน

อุตสาหกรรมการผลิตของจีนสามารถเข้าถึงอีโคซิสเต็มทีมีการรวมตัวกันในระดับสูงได้ โดยยกตัวอย่างการผลิตเสื้อฮู้ดที่จีนมีความสามารถเข้าถึงสิ่งทอที่จำเป็น ไปจนถึงส่วนตกแต่ง สีย้อม ซิป เชือก และชิ้นส่วนอื่น ๆ ในการผลิต ซึ่งกลยุทธ์ของจีนนี้เองที่ทำให้มั่นใจว่าซัพพลายเชนทั้งหมดอยู่ที่จีน อีกทั้งภาคการผลิตมีความเชี่ยวชาญในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการอีกด้วย  

จากตัวอย่างข้างต้น จีนได้นำเข้าฝ้ายจากสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 35% ของฝ้ายทั่วโลกนำมาแปรรูปเป็นผ้า ย้อมสี ผลิตเป็นเสื้อผ้าหรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ และส่งออกไปยังทั่วโลก ซึ่งไม่เพียงแต่ฝ้ายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสินค้าอื่นอีกด้วย หากผู้ผลิตต้องการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนก็จำเป็นต้องย้ายทั้งอีโคซิสเต็ม หรือจัดหาจากจีนเพื่อไปผลิตขั้นตอนสุดท้ายในประเทศอื่น 

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนนั้นสูงเกินไป ตราบใดที่ระบบนิเวศสำหรับสินค้าที่ผลิตยังคงอยู่ในจีน ส่วนแบ่งที่สำคัญในการผลิตของโลกก็จะอยู่ในจีนเช่นกัน

WEF คาดการณ์ว่า ไม่น่าเป็นไปได้ที่ในอนาคตจะมีจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผู้ผลิตย้ายออกจากจีนอย่างกะทันหัน แม้ภาคการผลิตและอีโคซิสเต็มในประเทศอื่น ๆ ในเอเชียจะมีการเติบโต แต่ก็เป็นเรื่องที่ห่างออกไปอีกหลายปี

 

#จีน #จีนสหรัฐ #สงครามการค้า #ย้ายฐานการผลิต #ซัพพลายเชน#Mreport #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH