Toyota แต่งตั้ง CEO คนใหม่ พลิกบท ‘Mobility Company’
‘โคจิ ซาโตะ’ ประธาน Lexus ขึ้นนั่งเก้าอี้ CEO คนใหม่ Toyota พร้อมภารกิจสำคัญเปลี่ยนผ่านสู่ Mobility Company ตามเทรนด์โลกยุคยานยนต์ไฟฟ้าและดิจิทัล
พลิกบทใหม่ของ Toyota ก้าวสู่ ‘Mobility Company’
เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมา Toyota Motor เปิดเผยถึงการแต่งตั้ง นายโคจิ ซาโตะ ขึ้นนั่งเก้าอี้ CEO คนใหม่แทน นายอากิโอะ โทโยดะ ประธานบริษัท และ CEO คนปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2023 เป็นต้นไป นับเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปีสำหรับการเปลี่ยนหัวเรือใหญ่ของโตโยต้า พร้อมกับภารกิจใหม่ในการเปลี่ยนผ่านสู่ Mobility Company เพื่อตอบรับการแข่งขันของโลกยานยนต์สมัยใหม่ ไปจนถึงการบุกตลาดของจีนที่รุนแรง จึงเป็นที่น่าจับตาว่านายโคจิจะพาโตโยต้าไปในทิศทางใด
สำหรับนายอากิโอะ โทโยดะ จะรับตำแหน่งใหม่ในฐานะประธานกรรมการบริหารแทน นายทาเคชิ อุจิยามาดะ
ด้านนายโคจิ ซาโตะ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาแบรนด์ และประธานของแบรนด์รถยนต์เลกซัส (Lexus)
Advertisement | |
โจทย์แรก “จะทำกำไรอย่างไร?”
นายโคจิ ซาโตะ กล่าวว่า “จากนี้ไป ยานยนต์จะกลายเป็น Mobility และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและโครงสร้างพื้นฐาน” และยกให้การเปลี่ยนจากจากชิ้นส่วนยานยนต์แบบที่ผ่านมาเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยกให้การขับขี่อัตโนมัติ ความบันเทิงในรถยนต์ และประสบการณ์ในการขับขี่ เป็น Core Value ใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้า
แต่คำถามที่เกิดขึ้น คือ จะสร้างรายได้จากรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ต้นทุนการผลิตแบตเตอรี่อีวีพุ่งสูง ซึ่งผู้เกี่ยวข้องกับค่ายรถรายหนึ่ง แสดงความเห็นว่า “ปัจจุบัน หลายค่ายยิ่งขายก็ยิ่งขาดทุน และน่าจะมีแค่เทสล่า (Tesla) เท่านั้นที่ทำกำไรได้”
ผู้เกี่ยวข้องจากโตโยต้าอีกราย เผยว่า มีคำสั่งจากระดับท็อปลงมาว่าให้ทำกำไรให้ได้ อย่างไรก็ตาม การจะสร้างกำไรได้นั้นอาจจะต้องพิจารณาตั้งแต่แพลตฟอร์มยานยนต์ที่ใช้ ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตใหม่ทั้งหมด ซึ่งโตโยต้ากำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาทิศทางต่าง ๆ ในขณะนี้
นอกจากนี้ ที่แล้วมา นายอากิโอะ โทโยดะ ได้บริหารโตโยต้าจนบริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานในปีงบประมาณสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2022 มากถึง 9.5% ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นระดับแถวหน้าของโลก อย่างไรก็ตาม แนวทางของโตโยต้าที่ตั้งใจมุ่งพัฒนาทั้งรถอีวี รถไฮบริด และรถยนต์เซลล์พลังงานเชื้อเพลิง (FCV) ในฐานะโซลูชันเพื่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ควบคู่กัน ทำให้เกิดข้อกังขาว่า โตโยต้าจะยังสามารถทำกำไรในระดับนี้ต่อไปได้หรือไม่
นายโคจิ ซาโตะ กล่าวว่า อยากยกระดับการบริหารจัดการของโตโยต้าให้รวดเร็วยิ่งขึ้นร่วมกับสมาชิกที่มีแนวทางร่วมกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ส่วนทางด้านนายอากิโอะ โทโยดะ ได้กล่าวต่อการเปลี่ยนตำแหน่งในครั้งนี้ว่า “ผมเป็นคนขายรถ ซึ่งเป็นคนยุคเก่าแล้ว จึงจำเป็นต้องถอยออกมา เพื่อให้ก้าวสู่บทใหม่ที่ว่า Mobility ในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป”
Toyota ได้เริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค Mobility ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ปี 2016
- ร่วมลงทุนในบริษัท Uber Technologies
ปี 2018
- ประกาศจะผันตัวเป็นบริษัท Mobility ภายในงาน CES
- ร่วมลงทุนก่อตั้ง Toyota Research Institute - Advanced Development (TRI-AD) กับ Denso และ Aisin Seiki (Aisin)
- ร่วมลงทุนก่อตั้ง MONET Technologies กับ SoftBank Group
- ลงทุนใน Grab Holdings
ปี 2019
- ลงทุนใน Beijing Didi Chuxing Technology
ปี 2020
- เปิดตัวคอนเซปต์เมืองไฮโดรเจน “Woven City”
- ประกาศเป็นพันธมิตรกับ NTT
- ลงทุนเพิ่มเติมในบริษัท KDDI
ปี 2021
- พัฒนา TRI-AD เป็น Woven Planet Holdings
- เผยแผนสร้างโรงงานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ
- เผยแผนกลยุทธ์ด้านรถยนต์ไฟฟ้า
ปี 2022
- “bZ4X” รถอีวีรุ่นแรกของค่ายเข้าสู่ตลาด
นายโคจิ ซาโตะ ขณะกล่าวเปิดตัว Lexus LC Series (มีนาคม 2017)
นายโคจิ ซาโตะ เผยว่า ประธานอากิโอะ โตโยดะ เชิญให้ขึ้นเป็นประธานโตโยต้าระหว่างการสนทนาที่สนามแข่งรถในไทย เมื่อเดือนธันวาคม 2022 ซึ่งในช่วงแรก นายโคจิคิดว่าเป็นเรื่องล้อเล่น ก่อนพบว่าเป็นการชักชวนอย่างไม่เป็นทางการ
นายโคจิ จบการศึกษาด้านวิศวกรรมเครื่องกลจากมหาวิทยาลัยวาเซดะในปี 1992 และมีผลงานโดดเด่นในฐานะวิศวกร คือ การร่วมพัฒนาชิ้นส่วนของโคโรลล่า (Corolla) และพริอุส (Prius) และยานยนต์รุ่นอื่น ๆ ก่อนได้รับผิดชอบการพัฒนา “Lexus LC” เลกซัสโมเดลคูเป้ซึ่งออกสู่ตลาดในปี 2017 โดยผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยานยนต์แสดงความเห็นว่า “เป็นโมเดลที่วางรากฐานให้เลกซัสรุ่นถัด ๆ มา”
หลังจากนั้น นายโคจิยังมีส่วนร่วมกับธุรกิจการแข่งรถ ไปจนถึงเป็นหัวหอกการพัฒนาเครื่องยนต์ไฮโดรเจน จนกระทั่งได้รับมอบหมายตำแหน่ง Chief Brand Officer (CBO) ในปี 2021 ต่อจากนายอากิโอะ
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ นายอากิโอะ โตโยดะ (คนที่ 2 จากขวา) และนายโคจิ ซาโตะ (คนที่ 2 จากซ้าย) มักได้นั่งติดกันในงานแถลงข่าว การบรรยายสรุปกลยุทธ์ทางธุรกิจ และในสนามแข่งรถเป็นประจำ
ซึ่งนายอากิโอะ อธิบายถึงสาเหตุที่เลือกนายโคจิเป็นประธานคนถัดไปว่า “เป็นคนหนุ่มที่รักรถ มีความทุ่มเทมาก และซึมซับปรัชญา ทักษะ และพฤติกรรมของโตโยต้าผ่านการผลิตรถในไซต์งานจริง”
นายอากิโอะเล่าว่า เมื่อปี 2021 ตนได้แนะนำนายโคจิให้ “เป็นตัวของตัวเอง” เมื่อครั้งขึ้นเวทีบรรยายสรุปนโยบายสำหรับตัวแทนจำหน่ายแบรนด์เลกซัสเป็นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งในครั้งนั้น นายโคจิได้กล่าวว่า “สิ่งที่ผมชอบ คือ การสร้างรถที่ทำให้ผู้ขับมีรอยยิ้มได้”
ซึ่งความประทับใจที่นายอากิโอะมีต่อนายโคจิ คือ การพูดคุยเรื่อง “การพัฒนายานยนต์ที่ดี” อย่างสนุกสนานที่สนามแข่งรถ ซึ่งนายอากิโอะกล่าวว่า “อยากให้นำความหลงใหลเช่นนี้ไปใช้ในการพัฒนาบริษัท Mobility ที่มีความเป็นโตโยต้าต่อไป”
‘ทาเคชิ อุจิยามาดะ’ ส่งไม้ต่อให้ ‘อากิโอะ โตโยดะ’ นั่งประธานบอร์ดบริหาร
นายทาเคชิ อุจิยามาดะ ประธานกรรมการบริหารของโตโยต้า เผย การให้นายอากิโอะรับช่วงจำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมญี่ปุ่น และคาดหวังว่าจะได้เห็นทักษะความเป็นผู้นำของนายอากิโอะต่อไป
อีกบทบาทหนึ่งที่ญี่ปุ่นจับตามอง คือ บทบาทในฐานะของแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งนายทาเคชิได้แสดงความเห็นว่า การจะผลักดันสิ่งเหล่านี้ บทบาทของนายอากิโอะในฐานะประธานคณะกรรมการบริษัทเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมญี่ปุ่น
นายทาเคชิ อุจิยามาดะ ผู้จะก้าวลงจากจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท
นอกจากตำแหน่งในโตโยต้าแล้ว นายอากิโอะ จะดำรงตำแหน่งประธานสมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น (JAMA) เป็นสมัยที่ 3 อีกทั้งยังรับตำแหน่งประธานร่วมของคณะกรรมการด้าน Mobility ของ Keidanren (Japan Business Federation) อีกด้วย
นายอากิโอะได้แสดงความเห็นว่า อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมการผลิต เปรียบได้กับแกนกลางของขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติ และแสดงความต้องการที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล่านี้
โดยการโยกย้ายตำแหน่งในครั้งนี้ นายอากิโอะกล่าวว่า สาเหตุหลักคือการที่นายทาเคชิ อุจิยามาดะ ประธานกรรมการบริหารของโตโยต้า ได้ก้าวลงจากจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท และกล่าวว่านายทาเคชิก็เปรียบได้กับพี่ชายที่คอยสนับสนุนน้องชายจอมซนอย่างใจเย็น และในบางครั้งก็เหมือนพี่ชายที่เข้มงวด ซึ่งผลงานที่โดดเด่นของนายทาเคชิ อุจิยามาดะ คือการเป็นหัวหน้าทีมวิศวกรผู้พัฒนาพริอุส (Prius) และวางรากฐานในอุตสาหกรรมรถไฮบริดที่มั่นคงให้กับโตโยต้า
ที่มา: Nikkan Kogyo Shimbun
#Toyota #โตโยต้า #โคจิซาโตะ #อุตสาหกรรมยานยนต์ #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ ครึ่งปีแรก 2022
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- สถานการณ์ชิปขาดตลาด 2022 จะสิ้นสุดเมื่อไหร่?
- 12 เทรนด์เทคโนโลยีมาแรงแห่งปี 2022
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH