เปิดใจ “กุลโชค โพธิ์พัฒนชัย” หัวเรือใหญ่ A.I. Group ฝ่ามรสุมโควิด-19 ที่ยาวนานเกินคาด

เปิดใจ “กุลโชค โพธิ์พัฒนชัย” หัวเรือใหญ่ A.I. Group ฝ่ามรสุมโควิด-19 ที่ยาวนานเกินคาด

อัปเดตล่าสุด 27 ต.ค. 2563
  • Share :
  • 3,944 Reads   

เพราะโควิดกระทบทุกภาคส่วนและกินเวลายาวนานเกินกว่ามรสุมลูกใด  A.I. Group จึงมองวิกฤตครั้งนี้เป็นความท้าทายและเป็นโอกาสพัฒนาองค์กร เสริมความเข้มแข็ง และกระจายรายรับในหลายกลุ่มธุรกิจ

นายกุลโชค โพธิ์พัฒนชัย กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เอ.ไอ. (A.I. Group) และ บริษัท เอ.ไอ. เทคโนโลยี จำกัด (A.I.Technology) กล่าวกับ “M Report” ถึงผลกระทบจากโควิดต่อภาคอุตสาหกรรม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในกลุ่มลูกค้า ไปจนถึงแนวโน้มในอนาคต

ผลกระทบจากโควิด-19

A.I.Group ธุรกิจ 1,300 ล้านบาทในปี 2019 ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้เช่นเดียวกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายอื่น แต่สิ่งที่อาจได้เปรียบกว่าคือการกระจายรายรับอยู่ในหลายธุรกิจและหลายกลุ่มลูกค้า ทำให้ประเมินตัวเลขปิดปี 2020 นี้ลดลงเพียงเล็กน้อย โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 1,200 ล้านบาท มี Automation และ Gauge เป็นสองกลุ่มธุรกิจดาวเด่นที่จะรักษายอดขายเท่าเดิมไว้ได้ ในขณะที่รายได้จากฝั่ง Mass Production ซึ่งผลิตงานประเภท Casting และ Machining สำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เป็นฐานหลักนั้นได้ซบเซาลงพร้อม ๆ กับกลุ่มย่อยอื่น เช่น พลาสติก และชิ้นส่วนอะไหล่  

อย่างไรก็ตาม แม้งานชิ้นส่วนพลาสติกจะลดลง แต่กลุ่มพลาสติกได้รับออร์เดอร์งานบรรจุภัณฑ์อาหารเข้ามาทดแทน โดยมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น 2.5 เท่านับตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโควิดในไทย การกักตัวอยู่บ้าน และ Work From Home ทำให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จนกระทั่งปัจจุบันออร์เดอร์เหล่านี้ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างมั่นคง

วิกฤตครั้งนี้ทำให้ A.I.Group ได้หันกลับมามององค์กรและโมเดลธุรกิจ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และเตรียมความพร้อม ธุรกิจที่ไปได้ก็ต้องไปต่อ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบก็ต้องหาทางปรับแก้เกมส์กัน ซึ่งโชคดีที่บริษัทฯ มีทีมเวิร์คที่แข็งแรง มีทัศนคติเชิงบวก มีศักยภาพ และมีความพร้อมในทุกสถานการณ์  วิกฤตครั้งนี้จึงเป็นความท้าทาย และเป็นโอกาสพัฒนาองค์กรสู่ธุรกิจใหม่ ๆ

“พอเราเริ่มตั้งหลักรับผลกระทบจากโควิด-19 ได้  และจัดการระบบภายใน พร้อมกับเงินทุนหมุนเวียนให้ปลอดภัย  เราก็มามองว่า มีอะไรที่เราจะช่วยสังคมได้บ้าง”

ในช่วงที่สถานการณ์โควิดเข้าสู่ภาวะวิกฤต อุปกรณ์การแพทย์หลายอย่างเป็นที่ต้องการอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ ห้องแรงดันลบ ทางบริษัทฯ จึงนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ในสายงานการผลิตเข้าร่วมกับบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. สผ., บริษัท โอสถสภา จำกัด, และทีมแพทย์จากวชิรพยาบาล พัฒนาต้นแบบและผลิตอุปกรณ์การแพทย์เหล่านี้ซึ่งช่วยสร้างความปลอดภัยให้บุคลากรแพทย์ ส่งไปยังโรงพยาบาลกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ และนี่เองเป็นจุดเริ่มต้นให้ A.I.Technology เข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมด้านการแพทย์อีกหลายอย่าง เช่น หน้ากากแรงดันบวก, อุปกรณ์แรงดันลบครอบศีรษะคนไข้เพื่อทันตแพทย์ ซึ่งอาจสามารถนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจได้ในอนาคต

ทำไม Automation และ Gauge จึงเป็นสองกลุ่มธุรกิจดาวเด่น

สถานการณ์โควิด-19 ได้กระตุ้นให้เกิดความต้องการระบบ Automation และปรับเปลี่ยนการทำงานต่าง ๆ ให้เป็นระบบอัตโนมัติมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ Gauge หนึ่งในอุปกรณ์สำคัญในการวัดเพื่อควบคุมคุณภาพ ซึ่งเดินเคียงข้างสนับสนุนการทำงานของระบบ Automation สู่ปลายทางของโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) ทำให้ระบบผลิตมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ด้วยการระบาดของโรคทำให้การทำงานหลายด้านมีข้อจำกัด ผู้ประกอบการไม่สามารถให้พนักงานจำนวนมากทำงานรวมกัน จำเป็นต้องมีการเว้นระยะห่างตามแนวทาง Social Distancing เพื่อความปลอดภัยในสุขภาพของทุกคน รวมไปถึงการขาดแคลนแรงงานในบางส่วน ด้วยเหตุนี้เอง แม้จะมีการลงทุนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจากกลุ่มยานยนต์ลดน้อยลง แต่มีความต้องการจากกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ เข้ามาทดแทน และ A.I.Technology เองก็มีความพร้อม ด้วยโซลูชันต่าง ๆ ที่บริษัทฯ มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญทำให้สามารถคว้าโอกาสใหม่ ๆ เหล่านี้ไว้ได้ จึงเป็นอีกหนึ่งความเข้มแข็งขององค์กรที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพแวดล้อมสูง และมองเป็นสัญญาณบวกของกลุ่มธุรกิจ Automation และ Gauge ที่จะเอาตัวรอดไม่ถูกแรงกระแทกจากโควิด

ในด้านการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในไทย ซึ่ง A.I.Technology ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (CoRE) และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ทำให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของภาครัฐที่จะผลักดันและพัฒนาให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทยเติบโต แต่ในระยะเริ่มต้นนั้นยังมีความล่าช้าอยู่บ้างในบางเรื่อง เช่น การอนุมัติขอส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากบีโอไอ ในช่วงแรกที่หน่วยงานยังไม่มีความพร้อม ขาดบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ทำให้การประเมินโครงการมีความล่าช้า ซึ่งภาคเอกชนที่ไม่สามารถรอได้ก็ต้องพิจารณาทางเลือกอื่นไป แต่อุปสรรคเหล่านี้ก็ทำให้เกิดการหาแนวทางสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ มีหลายหน่วยงานเกิดขึ้น เช่น ศูนย์ CoRE, สมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) เพื่อเข้ามาสนับสนุนการทำงานของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐอย่างกระทรวงอุตสาหกรรม ภาคการศึกษาและมหาวิทยาลัย องค์กรสมาคม และภาคเอกชน 

“หากเรายังพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทิศที่ถูกต้อง เชื่อว่าอนาคตของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในไทยจะดีขึ้นอย่างแน่นอน”

แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม และการเอาตัวให้รอดของ A.I. Group

ปัจจุบัน ภาวะเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยภายนอกประเทศ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีน - สหรัฐฯ และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สองปัจจัยหลักนี้กระทบโดยตรงต่อภาคการส่งออกของไทย สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่กระทบต่อภาคการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ปัจจัยภายในประเทศ ทั้งความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งและความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ก็จะส่งผลถึงรายได้ของประชาชนซึ่งมีผลต่อกำลังซื้อ ความต้องการสินค้าภาคอุตสาหกรรมก็ลดน้อยถอยลงตามกันไปด้วย ทำให้ภาคการผลิตในอุตสาหกรรมหดตัวลง  ซึ่งยังไม่รวมถึงการแข่งขันเพื่อความอยู่รอดของผู้เล่นในตลาดที่บางครั้งพยายามใช้กลยุทธ์ด้านราคาเข้ามาเป็นอุปสรรคเพิ่มเติมขึ้นอีก

การระบาดของโควิดทำให้ยอดสั่งซื้อจากกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์หายไปถึง 40% ซึ่งแม้ว่าในช่วงเดือนสิงหาคมจะมีการฟื้นตัวของยอดสั่งซื้อจนเกือบเทียบเท่าปกติ แต่ก็เป็นไปได้ว่าตัวเลขที่มากขึ้นนี้เป็นผลจากการปิดโรงงานและหยุดการผลิตเป็นระยะเวลานาน ทำให้ยังมีความกังวลว่าจะเกิดการชะลอตัวของตลาดในระยะถัดไปหรือไม่ ซึ่งก็ต้องพิจารณาจากความเคลื่อนไหวในไตรมาสที่ 4 นี้ว่ายอดสั่งซื้อจะชะลอตัว หรือจะเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งหากมีสัญญาณเป็นบวกแล้วก็จะเป็นไปได้ว่ายอดขายจะฟื้นตัวต่อเนื่องแม้อาจมีขึ้นลงบ้าง อย่างไรก็ตาม เป็นที่แน่ชัดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ผ่านพ้นช่วงก้นเหวมาแล้ว และอาจจะต้องใช้เวลา 3-5 ปีจึงจะฟื้นตัวกลับขึ้นมาเต็มกำลัง ดังนั้นจึงเป็นจังหวะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ต้องควบคุมต้นทุน และมีการปรับเปลี่ยนงบการลงทุนพอสมควร ปัจจัยนี้ทำให้ A.I. Technology ต้องช่วยหาโซลูชันที่ตอบสนองต่อโจทย์ของลูกค้าและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้ดียิ่งขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ใช่ยานยนต์ ได้หันมาให้ความสนใจระบบอัตโนมัติมากยิ่งขึ้น ทำให้บริษัทฯ มียอดสั่งซื้อจากกลุ่มลูกค้าใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่ไม่เคยใช้ระบบอัตโนมัติมาก่อน เช่น กลุ่มอาหาร, บรรจุภัณฑ์, ปุ๋ย, และเกษตร รวมไปถึงกลุ่มปัจจัยห้าที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากนักเข้ามาทดแทน และคาดการณ์ว่า ในท้ายสุดแล้วสัดส่วนความต้องการระบบ Automation ในอุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ใช่ยานยนต์จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 30% ขึ้นมาที่ 50% 

ตลาดที่น่าสนใจสำหรับ A.I. Technology คือ อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดครั้งนี้น้อยมาก และเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ มีความกว้างพอสมควร แนวโน้มตลาดยังขยายตัวได้อีกมาก จึงมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคตสดใส ประกอบกับเทรนด์การลงทุนด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของกลุ่มอาหารมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางบริษัทฯ จึงมีแผนเจาะตลาดอุตสาหกรรมอาหารในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาตลาดและโซลูชันให้หลากหลายสำหรับอุตสาหกรรมนี้

อย่างไรก็ตาม การลงทุนใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเมื่อมองในมุมของขนาดธุรกิจ มีภาพที่ชัดเจนว่า การลงทุนเรื่องนี้ส่วนมากแล้วจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีกำลังซื้อสูง และมีความพร้อมที่จะติดตั้งระบบอัตโนมัติให้เป็นส่วนหนึ่งของโรงงาน แตกต่างจากผู้ประกอบการรายย่อยที่แม้จะมีความสนใจ แต่ก็อาจยังไม่พร้อมทั้งในด้านเงินทุนและความเข้าใจในการนำออโตเมชั่นไปใช้งาน ทำให้คาดการณ์ว่า การเติบโตของผู้ประกอบการรายย่อยที่ปรับใช้ระบบอัตโนมัติในสายการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้โรงงานนั้น ยังต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะเห็นการปรับตัวอย่างชัดเจน และฝั่งสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีอย่าง A.I.Technology ซึ่งเป็นผู้ผลิตและพัฒนาโซลูชัน ก็มีส่วนช่วยเร่งการปรับตัวนี้ได้ ด้วยเทคโนโลยีและโซลูชันที่เหมาะสมกับความต้องการ ตอบโจทย์ลูกค้า ทำให้ลูกค้าเข้าใจและเห็นชัดว่า การลงทุนจะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และช่วยในเรื่องสุขอนามัย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ และประสบการณ์ทั้งสิ้น

มุมมองต่อเทรนด์เทคโนโลยีในอนาคต

แม้ว่าเทรนด์ของเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรมอาจไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก แต่สิ่งที่สร้างประสิทธิภาพและทดแทนแรงงานได้ โซลูชันเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติ รวมถึงในรูปแบบ Non-Contact จะถูกนำไปใช้มากขึ้น เนื่องจากโควิดทำให้ความต้องการแรงงานลดลง 

จากนั้นจึงเป็นในส่วนของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการรับส่งข้อมูล ซึ่งระบบวิชั่น (Vision) และเซนเซอร์ (Sensor) จะเข้ามาแทนคนในงานประเภทคัดเลือกและแยกแยะชิ้นงาน จึงคาดการณ์ได้ว่าระบบเหล่านี้ พร้อมด้วย Information Management จะมีการเติบโตอย่างโดดเด่น 

โดยในช่วงต้นปีนี้ ทาง A.I. Technology ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ตามเทรนด์เทคโนโลยีที่กล่าวมา โดยเสนอ CNC Smart Offset ระบบ Auto Offset สำหรับปรับตั้งเครื่อง CNC ซึ่งเป็นเครื่องมือวัดเทคโนโลยี 4.0 ที่ประสานรวม Data System, Real Time Management, และ Zero Defect Dimension เพื่อแก้ปัญหาชิ้นงานเสียที่เกิดจากขนาดชิ้นงานที่ไม่ได้มาตรฐาน ด้วยการตรวจวัดชิ้นงานทุกชิ้นและทำการปรับตั้งเครื่อง CNC อัตโนมัติ ทำให้ทุกชิ้นงานที่ผลิตออกมาได้ขนาดตามมาตรฐาน 100%

นอกจากนี้ ด้วยเทคโนโลยี 5G สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ การพัฒนาเทคโนโลยีก็จะยิ่งไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นไปอีก ซึ่ง 5G จะช่วยบูรณาการใช้ Device ให้เชื่อมต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและปลอดภัยมากขึ้น ดังนั้น สำหรับงานด้านระบบอัตโนมัติแล้ว ทาง A.I.Technology ก็เริ่มเห็นถึงความซับซ้อนในการสร้างและออกแบบโซลูชันที่ประสานรวมเทคโนโลยีหลาย ๆ ส่วนเข้าด้วยกัน

จากสภาพแวดล้อมทั้งหลายที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ A.I. Group ต้องปรับตัว องค์ความรู้ ความเข้าใจ และการปรับผลิตภัณฑ์จึงมีความสำคัญ ตลอดจนการเข้าสู่กลุ่มลูกค้าขนาดเล็กลงที่เริ่มมีความต้องการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนแต่ขาดประสบการณ์ในการใช้เทคโนโลยี จึงเป็นความท้าทายที่ต้องยกระดับความสามารถในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ขององค์กรให้ยืดหยุ่นและตอบสนองได้หลากหลายกลุ่มธุรกิจ โดยมีเป้าหมายเติบโตในกลุ่มที่ต้องใช้ Solution และ Integrate หลายส่วนเข้าด้วยกัน โดยเริ่มต้นจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้ Knowledge และ Technical Base ซึ่งเป็นพื้นฐานอันแข็งแรงของบริษัทฯ สู่การรุกคืบในธุรกิจใหม่