ออโตเมชั่น ช่วย ลดต้นทุน ได้

ออโตเมชั่น “ลดต้นทุน” ได้จริงหรือ?

อัปเดตล่าสุด 31 ม.ค. 2565
  • Share :
  • 4,365 Reads   

ผู้ประกอบการไทยหลายรายตั้งเป้านำ “ออโตเมชั่น” หรือ “ระบบอัตโนมัติ” มาใช้เพื่อมุ่งหวัง “ลดต้นทุน” เป็นสำคัญ 

นายวิเชษฐ์ เมืองจันทร์ Group CEO ยูเรกาออโตเมชั่น (Eureka Automation) สะท้อนมุมมองจากประสบการณ์ที่คร่ำหวอดในแวดวงนี้มานานกว่า 20 ปี ในฐานะบริษัทด้าน SI ที่รับออกแบบไลน์การผลิตอัตโนมัติ เครื่องจักรอัตโนมัติประเภทต่าง ๆ และหุ่นยนต์ AGV ภายใต้แบรนด์ Geek+ 

“ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการตัดสินใจว่า จะลงทุนออโตเมชั่นหรือไม่ คือ ลงทุนแล้วจะลด Cost ได้หรือไม่”

มองหา “จุดคุ้มทุน” 

ที่ผ่านมา อุปสรรคของการลงทุนระบบอัตโนมัติ คือเม็ดเงินที่ต้องใช้ในการลงทุนค่อนข้างมาก ทำให้จุดคุ้มทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs ซึ่งหาจุดคุ้มทุนไม่ได้ภายในระยะเวลาที่ต้องการ 

หลายบริษัทในไทยมีความต้องการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ แต่บริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านออโตเมชั่นมาก่อน จึงไม่สามารถประเมินงบประมาณที่ต้องใช้ลงทุนได้เหมาะสมและถูกต้อง และส่วนมากก็มักคิดว่าใช้เงินทุนไม่มาก ซึ่งเมื่อเริ่มหาข้อมูลจาก System Integrator (SI) ก็พบว่าจำเป็นต้องใช้งบประมาณสูง ทำให้หลายบริษัทตัดสินใจไม่ลงทุน หรือเลื่อนการลงทุนออกไปก่อน

ด้วยเหตุนี้เอง ทางฝั่งของ SI ซึ่งเป็นผู้จัดหาระบบอัตโนมัติ จึงเป็นอีกส่วนสำคัญที่เป็นตัวช่วยผู้ประกอบการในการตัดสินใจ ทั้งในด้าน Solution และ งบประมาณ ว่าควรลงทุนหรือไม่

นายวิเชษฐ์ แสดงความเห็นว่า อุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติควรมีการเติบโตควบคู่ไปด้วยกัน เนื่องจาก SI ก็อาจไม่มีความรู้มากพอเกี่ยวกับวิธีการผลิตในแต่ละผลิตภัณฑ์ และต้องเรียนรู้เพิ่มเติมจากข้อมูลของฝ่ายผู้ผลิตในลักษณะ Co-Design ในขณะที่ภาคการผลิตเองอาจยังไม่เข้าใจเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้ จึงอาจมองเห็นภาพไม่ชัดว่าจะลงทุนใช้ระบบอัตโนมัติอย่างไรดี และควรเริ่มจากส่วนใดก่อนจึงจะสามารถเกิดประโยชน์และลดต้นทุนการดำเนินการ เพื่อปรับเปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติได้อย่างเหมาะสม

โดยส่วนใหญ่แล้ว เมื่อภาคอุตสาหกรรมพิจารณาลงทุนระบบอัตโนมัติมักจะโฟกัสไปที่การทดแทนแรงงาน แต่ทว่าค่าจ้างแรงงานในไทยยังไม่สูงมากนัก และมีการใช้แรงงานต่างชาติจำนวนมาก ทำให้ยังสามารถหาแรงงานทดแทนได้ เมื่อคำนวณผลตอบแทนการลงทุนจากระบบอัตโนมัติที่ช่วยลดจำนวนแรงงานเพียงอย่างเดียวจึงมักไม่คุ้มค่าการลงทุน ผู้ประกอบการลืมคิดถึงสิ่งอื่นนอกเหนือจากนี้ คือระบบอัตโนมัติไม่ได้มีประโยชน์แค่การลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานเท่านั้น แต่ยังช่วยในการเพิ่มผลผลิตและลดการสูญเสียอีกด้วย ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ไม่มีข้อมูลนี้มาประกอบการพิจารณา

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมไทยยังมีความซับซ้อนของกระบวนการสูง ถึงแม้ Volume ไม่สูง ทำให้การปรับเปลี่ยนโรงงานที่มีอยู่แต่เดิมเป็นระบบอัตโนมัติทำได้ค่อนข้างยากจาก Economy of scale แต่อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วเทคโนโลยีและเทรนด์ของระบบอัตโนมัติจะเข้ามาอย่างแน่นอน

การเติบโตของอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัตินั้นขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจ หากภาคการผลิตมีการเติบโตและมีการลงทุนมากขึ้น SI และออโตเมชั่นก็จะโตตาม ปัจจุบันประเทศไทยมีการตื่นตัวในด้านระบบอัตโนมัติเพื่อแทนที่ระบบการผลิตเดิมอยู่แล้ว หากในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีการเติบโตด้วยดี ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการตัดสินใจลงทุนได้ง่ายขึ้น

จะแข่งขันได้ ต้องมี Success Case

จากนโยบายของรัฐที่ปักหมุดให้ “อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไทย” ขึ้นเป็นผู้นำอาเซียนภายในปี 2569 นั้น 

นายวิเชษฐ์ แสดงความเห็นว่า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่เราพูดกันนี้จะมุ่งไปที่หุ่นยนต์อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นตลาดที่มีผู้เล่นระดับโลกอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก ทำให้โอกาสที่หุ่นยนต์ไทยจะเทียบชั้นในตลาดนี้เป็นไปได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคการแข่งขันด้านเทคโนโลยีหรือราคาก็ตาม และที่สำคัญยิ่งกว่าคือ การยอมรับในตลาด ซึ่งก็คือ “แบรนด์” แม้ว่าในปัจจุบันจะมีความพยายามผลิตแขนกลอุตสาหกรรมโดยคนไทยแล้ว แต่ผลตอบรับก็ยังไม่ค่อยดีนัก

“ผมคิดว่าไม่ต่างกับที่บ้านเรามีศักยภาพในการผลิตรถยนต์แต่ไม่มีรถแบรนด์ไทย ไม่ใช่เพราะเราไม่มีความสามารถ แต่เพราะเราไม่สามารถสร้างการยอมรับในตลาดได้”

ออโตเมชั่น ช่วย ลดต้นทุน ได้

ส่วนในด้านออโตเมชั่นนั้น ประเทศไทยมีความเป็นไปได้ในการแข่งขัน โดยเฉพาะการส่งออกเครื่องจักรอัตโนมัติซึ่งเป็น Special Machines อย่างไรก็ตาม ไทยจะขึ้นเป็นผู้นำได้หรือไม่เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก และต้องพิจารณาอุตสาหกรรมในประเทศอาเซียนอื่น ๆ เสียก่อน 

เนื่องจาก SI ไทยมีความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ แต่หากต่างชาติมีความต้องการระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมนอกเหนือจากนี้ ไทยก็จะเสียเปรียบ SI ในประเทศเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่นมาเลเซียที่มีองค์ความรู้ด้านอิเล็กทรอนิกส์และยาง ซึ่งเป็นคนละส่วนกับความเชี่ยวชาญของ SI ไทย 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากการลงทุนในอาเซียนส่วนใหญ่เป็นการร่วมลงทุนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเขาก็มักจะนำเข้าเทคโนโลยีจากประเทศต้นทางเข้ามาร่วมทุนด้วย

“ถ้าเราจะส่งออกระบบอัตโนมัติเป็นฮับของอาเซียน เราต้องมีจุดแข็งบางอย่างที่เขายอมรับ ต้องมี Success Case ให้เห็น”

กรณี Eureka Automation ปัจจุบันส่งออกเครื่องจักรอัตโนมัติไปยัง 13 ประเทศทั่วโลก ซึ่งงานที่ส่งออกเหล่านี้ล้วนได้รับการพิสูจน์และยอมรับจากบริษัทข้ามชาติที่มีฐานผลิตในไทยมาก่อนแล้วทั้งสิ้น

ออโตเมชั่น ช่วย ลดต้นทุน ได้

“ติดปีก” ระบบอัตโนมัติไทยให้เข้มแข็ง

นายวิเชษฐ์ แสดงความเห็นว่า นโยบายส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอมีส่วนช่วยในการผลักดันอุตสาหกรรม 4.0 เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของบริษัทพบว่า ลูกค้าส่วนใหญ่โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่จะให้ความสนใจในมาตรการส่งเสริมฯ จากบีโอไอ แต่ในลูกค้ากลุ่ม SMEs นั้นเมื่อพิจารณาในรายละเอียดโครงการก็จะพบปัญหาจนสุดท้ายก็ตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากระยะเวลาการขอคืนภาษีที่กำหนดไว้ 3 ปีนั้น ในความเป็นจริงแล้วเป็นเงื่อนไขที่ทำได้ยาก เพราะผู้ประกอบการอาจไม่สามารถทำกำไรเพื่อมาขอคืนภาษีได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ หากเป็นบริษัทขนาดเล็กก็มักมีปัญหาเรื่องโครงสร้างบัญชีที่ไม่รองรับกับเงื่อนไขโครงการ หากต้องจัดทำโครงสร้างบัญชีใหม่ก้อาจเป็นเรื่องยาก

สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการยกระดับไปสู่ Industry 4.0 ซึ่งประกาศออกมาช่วงเดือนตุลาคม 2564 ไม่มีการบังคับใช้ local content นั้น นายวิเชษฐ์แสดงความเห็นว่า local content ก็เหมือนสิ่งที่ทำให้ SI ไทยมีแต้มต่อที่จะสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการ SI ต่างชาติที่เข้ามาในไทย

ในโครงการลงทุนขนาดใหญ่มักเป็นบริษัทข้ามชาติ ซึ่งจะนำเข้าเทคโนโลยี เครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งระบบเข้ามาอยู่แล้ว หากรัฐมีการบังคับใช้  local content ก็จะสร้างแรงจูงใจให้บริษัทเหล่านี้พิจารณาผู้ประกอบการ SI ไทยได้บ้าง การใช้ Local content ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ 100% เพราะอุปกรณ์ยังต้องนำเข้า แต่อย่างน้อย SI ไทยก็ยังได้ในส่วนของค่าแรง ค่าความคิด เพราะสิ่งที่ SI เราทำให้นั้นแท้จริงแล้วก็คือการสร้าง Value Added หรือ มูลค่าเพิ่ม จากความคิดและความเชี่ยวชาญในการออกแบบและติดตั้ง

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ SI ไทยเองยังมีความเสียเปรียบด้านต้นทุนของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในระบบอัตโนมัติล้วนต้องนำเข้าทั้งสิ้น ซึ่งก็มีภาษีนำเข้าบวกเข้าไปอีก ดังนั้น เราจึงเสียเปรียบเมื่อแข่งขันกับผู้ประกอบการ SI ต่างชาติแม้จะเป็นการแข่งขันในโปรเจกต์บ้านเราเองก็ตาม เมื่อเราแข่งขันไม่ได้ก็ทำให้อ่อนแอลง ไม่ว่าจะเป็นด้านเงินทุน ความรู้และประสบการณ์ ไปจนถึง Success Case ที่จะเป็นเหมือนใบเบิกทางให้เราได้รับความสนใจจากลูกค้า การจะออกไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศก็จะเป็นเรื่องยากลำบากขึ้น

หากจะเพิ่มโอกาสในการผลักดันอุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติให้ยืนหนึ่งในอาเซียน ก็จำเป็นต้องมีหลายปัจจัยมาช่วย ทั้งการสร้างดีมานด์ให้ผู้ประกอบการ SI ไทยมากพอจนเกิด Success Case จำนวนมาก การสร้างคนเก่งมากเพียงพอและทันต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ ไปจนถึงต้นทุนฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ถูกลง ไม่ว่าจะมาจากเรื่องภาษีหรือสร้างผลิตภัณฑ์แบรนด์ไทยที่มีคุณภาพเทียบเท่า