'ฟอร์ด' ลงทุน 3.5 พันล้านเหรียญ สร้างโรงงานแบตเตอรี่ LFP ในสหรัฐฯ ท่ามกลางข่าวปลดพนักงานในยุโรป
‘ฟอร์ด’ บริษัทอีวีอันดับ 2 ของสหรัฐฯ เผยแผนลงทุน 3.5 พันล้านเหรียญ สร้างโรงงานแบตเตอรี่ LFP (Lithium iron phosphate battery) แห่งแรก ท่ามกลางกระแสข่าวปลดพนักงาน 3,800 คนในยุโรป
นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2022 ฟอร์ด มอเตอร์ ปลดพนักงานอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลายสื่อระบุว่าฟอร์ดมีแผนปลดพนักงานในยุโรปรวม 3,800 ตำแหน่ง คิดเป็นสัดส่วน 11% ของพนักงานทั้งหมดในยุโรปเพื่อลดต้นทุน และรวมศูนย์องค์ความรู้ต่าง ๆ ไว้ในสหรัฐฯ มากขึ้น
Advertisement | |
นาย Martin Sander หัวหน้าแผนกรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของฟอร์ดกล่าวว่า เมื่อระบบขับเคลื่อนยานยนต์เปลี่ยนไปจากการใช้เครื่องยนต์สันดาปแล้ว งานที่ต้องทำก็จะน้อยลงมาก ซึ่งเป็นเหตุให้ฟอร์ดตัดสินใจปลดพนักงานในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม การปลดพนักงานไม่ใช่ความเคลื่อนไหวเพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2023 ฟอร์ดได้ประกาศลงทุนมูลค่า 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่แบบ LFP แห่งแรกในสหรัฐอเมริกา เพื่อเพิ่มตัวเลือกเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ใช้ในไลน์อัพรถยนต์ไฟฟ้า
แบตเตอรี่แบบ LFP (Lithium iron phosphate battery) คือ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนชนิดหนึ่ง ใช้ lithium iron phosphate (LiFePO4) เป็นวัสดุแคโทด และอิเล็กโทรดคาร์บอนกราไฟต์ที่มีแผ่นรองโลหะ (graphitic carbon electrode with a metallic backing) เป็นแอโนด ได้เป็นแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่มีต้นทุนต่ำกว่า ความปลอดภัยสูง ความเป็นพิษต่ำ และอายุการใช้งานยาวนาน
นาย Charles Poon ผู้อำนวยการด้านวิศวกรรมระบบไฟฟ้าอธิบายว่า ที่ผ่านมารถอีวีของฟอร์ดใช้แบตเตอรี่แบบ Nickel Cobalt Manganese (NCM) อย่างไรก็ตาม นิกเกิลและโคบอลต์ซึ่งเป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ NCM มีความต้องการสูง มีราคาแพง แต่แบตเตอรี่แบบ LFP มีความทนทานเป็นพิเศษ และใช้วัสดุที่มีต้นทุนสูงน้อยลง ซึ่งแม้จะมีความจุแบตเตอรี่และให้กำลังเครื่องต่ำกว่า แต่ได้คุณสมบัติการชาร์จไฟที่เร็วขึ้น ราคาที่ถูกลง และมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าแบตเตอรี่แบบ NCM
Image Credit: Ford Motor Company
โรงงานแห่งใหม่นี้จะใช้ชื่อว่า “BlueOval Battery Park Michigan” เริ่มผลิตแบตเตอรี่ LFP ภายในปี 2026 โดยในช่วงแรกจะมีกำลังการผลิตปีละ 35 gigawatt hours (GWh) และมีการจ้างงาน 2,500 ตำแหน่ง ซึ่งในอนาคตโรงงานแห่งนี้จะมีกำลังการผลิตแบตเตอรี่ให้กับรถอีวีของฟอร์ดถึง 400,000 คัน
โดยแบตเตอรี่ LFP จะถูกนำไปใช้ในรถอีวีรุ่น Mustang Mach-E และ F-150 Lightning รวมถึงรถอีวีรุ่นใหม่และรถกระบะของฟอร์ดซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา
นับตั้งแต่ปี 2019 ฟอร์ดและพันธมิตรได้ลงทุนด้านรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่เป็นมูลค่ารวม 1.76 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และสร้างการจ้างงานในสหรัฐอเมริกามากกว่า 18,000 ตำแหน่ง และงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า 100,000 ตำแหน่ง
การเพิ่มตัวเลือกแบตเตอรี่ในครั้งนี้จะช่วยผลักดันให้รถอีวีของฟอร์ดเข้าถึงง่ายขึ้น กระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผน “ Ford+” ที่ประกาศไว้ในปีที่ผ่านมา เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายรถยนต์ไฟฟ้าปีละ 600,000 คันภายในสิ้นปี 2023 และปีละ 2,000,000 คันภายในปี
เป็นที่คาดการณ์ว่า แบตเตอรี่แบบ LFP จะช่วยให้ฟอร์ดผลิตรถอีวีได้มากขึ้น และเพิ่มกำไรจากการดำเนินงานของ Model e ขึ้นไปอยู่ที่ 8% ในปี 2026
ฟอร์ดรายงานว่าเทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบ LFP นี้จะมีส่วนช่วยลดปริมาณการใช้ธาตุหายากอย่างนิกเกิลและโคบอลต์ สอดคล้องกับแนวทางของฟอร์ดที่ต้องการพัฒนาซัพพลายเชนอีวีให้มีความยั่งยืนและให้ความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนยิ่งขึ้น
โดยฟอร์ดได้ตั้งเป้ามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตลอดภายในปี 2050 ผ่านยานยนต์ การปฏิบัติการ และซัพพลายเชน เป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์อเมริกันรายแรก ๆ ที่ร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศเพื่อจำกัดผลกระทบของภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงปารีส
นอกจากนี้ ฟอร์ดยังเข้าเข้าร่วมกับ “RouteZero” กลุ่มความร่วมมือระดับโลกที่งสู่การพัฒนารถยนต์และรถตู้ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ในภูมิภาคหลักภายในปี 2035 และทั่วโลกภายในปี 2040 อีกทั้งเป็นผู้ผลิตยานยนต์อเมริกันรายแรกที่เผยแพร่รายงานสิทธิมนุษยชนอีกด้วย
#Ford #ลงทุน #โรงงานแบตเตอรี่ #รถยนต์ไฟฟ้า #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ ครึ่งปีแรก 2022
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- สถานการณ์ชิปขาดตลาด 2022 จะสิ้นสุดเมื่อไหร่?
- 12 เทรนด์เทคโนโลยีมาแรงแห่งปี 2022
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH