ทำไม Toyota รอด ไม่ขาดทุนเพราะโควิด
ตลอดช่วงไตรมาสสองปี 2020 ที่ผ่านมานี้ สถานการณ์เศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโรคโควิดทั่วโลก และความผันผวนของอัตราการแลกเปลี่ยน ทำให้ผู้ผลิตยานยนต์หลายรายประสบความยากลำบาก แต่โตโยต้า (Toyota) ประสบความสำเร็จในการทำกำไร พร้อมคาดการณ์ว่าจะสามารถฟื้นฟูยอดขายของปีงบประมาณนี้ได้เป็นอย่างดี
ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ผ่านมา โตโยต้าสามารถทำกำไรได้ 7.34 หมื่นล้านเยน หรือราว 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าจะมียอดขายลดลง 8.1 แสนล้านเยนก็ตามที โดยมียอดขายขาดทุนในตลาดยุโรป และอเมริกาเหนือ ในขณะที่สามารถทำกำไรได้ในตลาดอื่น ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนเพื่อปรับลด Fixed Cost ด้วยเม็ดเงินถึง 1 หมื่นล้านเยน
ตลาดที่น่าสนใจคือจีน ซึ่งมีกำไรเพิ่มขึ้นถึง 44.1% ในไตรมาสสองนี้ ส่งผลให้บริษัทคาดการณ์ว่ากำไรจากจีนประเทศเดียว จะช่วยดึงกำไรตลอดปี 2020 ให้เพิ่มขึ้นถึง 9%
ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นผลมาจากการร่วมส่งเสริมศักยภาพของซัพพลายเออร์ และตัวแทนจำหน่ายมาเป็นเวลากว่า 10 ปี และงบประมาณราวครึ่งหนึ่งจาก 1 หมื่นล้านเยนซึ่งถูกวางไว้สำหรับลด Fixed Cost ได้ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาโรงงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งทางบริษัทมั่นใจว่า การปรับปรุงโรงงานให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องจะส่งผลดีให้เห็นมากขึ้นในอนาคต
I แม้ฟื้นตัวก็ยังต้องระวัง
ในส่วนของยอดขายที่มีการฟื้นตัวนั้น โตโยต้ายอมรับว่า ความต้องการยานยนต์ทั่วโลกลดลงเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในจีนซึ่งหมดช่วงล็อคดาวน์แล้วกำลังมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ตลาดอเมริกาเหนือแม้จะยังไม่ดีนักแต่ก็เริ่มปรากฎสัญญาณบวกให้เห็น โดยเมื่อสิ้นสุดไตรมาส ยอดขายรวมทั่วโลกของโตโยต้าลดลงจากปีก่อน 31% ซึ่งน้อยกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ที่ 40% เมื่อเดือนพฤษภาคม
การกลับมาเริ่มขายยานยนต์อย่างรวดเร็วในจีนนับตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้ช่วยกระตุ้นยอดขายให้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยอาศัยการจัดอีเวนต์ออนไลน์เพื่อส่งเสริมการขาย เนื่องจากเล็งเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดจากจุดต่ำสุดซึ่งผู้บริโภคจะมีความต้องการกลับมา และตลาดสหรัฐฯ เองก็กำลังจะเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนในญี่ปุ่นนั้นยอดขายของโตโยต้าในเดือนกรกฎาคมลดลง 16.1% เริ่มฟื้นตัวจากตัวเลขในเดือนมิถุนายนเล็กน้อย โดยมียอดขายหลักมาจาก SUV RAV 4 และ All NEW Toyota Harrier ซึ่งมียอดสั่งจองเข้ามามากกว่าที่คาดการณ์ถึง 14 เท่า
ในอีกด้านหนึ่ง โตโยต้ายอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการระบาดระลอกที่สอง สิ่งที่จำเป็นที่สุดในขณะนี้จึงเป็นการฟื้นฟูธุรกิจโดยสังเกตแนวโน้มต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด และรับฟังซัพพลายเออร์อย่างทั่วถึง ซึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ของโตโยต้าแสดงความเห็นว่า การเพิ่มกำลังผลิตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่มีความไม่แน่นอนเป็นอย่างมากเช่นนี้เองจะเป็นประโยชน์ต่อซัพพลายเออร์เป็นอย่างยิ่ง
I ร่วมแบ่งปันข้อมูล
อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือซัพพลายเชน โดยการวางโครงสร้างซัพพลายเชนไว้หลายแห่งทั่วโลก ซึ่งเป็นบทเรียนที่ได้จากครั้งแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น ทำให้โตโยต้าไม่ประสบปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน และมีการหยุดการผลิตในโรงงานเพียงบางแห่งเท่านั้น โดยสิ่งสำคัญก็คือ การวาง BCP ให้พร้อมรับวิกฤตเสมอ และมีแนวทางการจัดหาชิ้นส่วนทดแทนยามจำเป็นเตรียมเอาไว้
ซึ่งแนวทางของ Toyota คือการพัฒนาแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างซัพพลายเชน ซึ่งสามารถเข้าถึงได้จากทั้งโรงงานประกอบยานยนต์และโรงงานผลิตชิ้นส่วน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนที่ใช้ในยานยนต์แต่ละรุ่น, วัสดุที่ใช้ในการผลิต, และอื่น ๆ กว่าแสนรายการจะช่วยให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และสามารถลด Lead Time ได้เป็นอย่างมาก ซึ่งระบบของ Toyota ช่วยลดระยะเวลาการจัดหาชิ้นส่วนทดแทน ซึ่งจากเดิมใช้เวลาราว 2 สัปดาห์เหลือเพียงครึ่งวันเท่านั้น
ซัพพลายเออร์รายย่อยที่ได้รับการสนับสนุน
ในช่วงวิกฤตโควิดนี้เอง โตโยต้าได้เปิดรับฟังความเห็นและปัญหาจากซัพพลายเออร์ผ่านเว็บไซต์เพื่อหาแนวทางให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนต่อไป ซึ่งไม่เพียงแต่ซัพพลายเออร์ Tier 1 เท่านั้น แต่ Tier 2 ก็สามารถปรึกษาหาทางออกร่วมกันได้อีกด้วย โดยมีตั้งแต่การให้คำปรึกษาด้านการเงิน, การลดค่าใช้จ่าย, โลจิสติกส์, ไปจนถึงการผลิตเครื่องมือแพทย์ชั่วคราว
นับตั้งแต่เดือนเมษยน 2019 ผู้ผลิต Tier 1 ได้แสดงความต้องการให้โตโยต้าเข้าสนับสนุน Tier 2 และ Tier 3 เพื่อให้ซัพพลายเชนมีประสิทธิภาพมากขึ้นและร่วมฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ในอนาคต เช่น ปัญหาการขาดแคลนแรงงานไปด้วยกันอีกด้วย จึงเป็นแนวทางความร่วมมือกันของทั้งซัพพลายเชนที่จะทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพและลดต้นทุนลงได้แม้ว่าสถานการณ์โควิดจะผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม