เจาะธุรกิจ Panasonic ยุคอีวี
สำหรับ “พานาโซนิค” การยกให้ยานยนต์เป็นหนึ่งในเสาหลักที่ค้ำจุนการเติบโตของบริษัทไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า พานาโซนิคจะมีทิศทางนำพาธุรกิจยานยนต์อย่างไร
เมื่อกว่า 15 ปีที่แล้ว พานาโซนิคยังใช้ชื่อบริษัทว่า Matsushita Electric Industrial โดยนาย Fumio Otsubo ประธานบริษัท ได้ประกาศตั้งเป้ายอดขายจากธุรกิจยานยนต์ของปีงบประมาณ 2011 ไว้ที่ 1 ล้านล้านเยน หรือราว 7,570 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ถัดมาในปี 2012 นาย Kazuhiro Tsuga ผู้รับไม้ต่อ ได้วางเป้าหมายพลิกการขาดทุนในธุรกิจทีวีดิจิทัลให้กลับมาทำกำไรด้วย “ยานยนต์และที่อยู่อาศัย” พร้อมประกาศยกระดับเป้ายอดขายของปีงบประมาณ 2018 เป็น 2 ล้านล้านเยน หรือราว 15,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดิม 2 เท่า
Advertisement | |
มาถึงปัจจุบัน พานาโซนิคได้ปรับโครงสร้างองค์กรเป็น Panasonic Holdings Corporation ที่มีธุรกิจต่าง ๆ เป็นบริษัทในเครือ โดยกลุ่มธุรกิจยานยนต์นั้นประกอบด้วย 3 บริษัท คือ Panasonic Energy ที่ซัพพลายแบตเตอรี่อีวีให้เทสล่า (Tesla), Panasonic Industry ที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์ เช่น ตัวเก็บประจุชนิดฟิล์ม (Film Capacitor), และ Panasonic Automotive Systems ที่รับผิดชอบการผลิตระบบนำทาง กล้องยานยนต์ และอื่น ๆ
ซึ่งทั้งสามบริษัท มีรายได้รวมกันครบ 2 ล้านล้านเยนตามเป้าที่ตั้งไว้ ในปีงบประมาณล่าสุดซึ่งสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม 2022 ที่ผ่านมา
เร่งขยายตลาดลูกค้าใหม่นอกจากเทสล่า
อย่างไรก็ตาม แม้จะทำยอดขายได้ตามเป้าแต่ก็อาจจะยังไม่เพียงพอ เนื่องจากเมื่อเทียบกับปี 2006 ที่รายได้จากธุรกิจยานยนต์อยู่ที่ 6.9 แสนล้านเยน หรือราว 5,225 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น ปัจจุบันรายได้จากธุรกิจยานยนต์ได้เพิ่มขึ้นราว 3 เท่า แต่รายได้รวมของพานาโซนิคในปีงบประมาณล่าสุดซึ่งสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2022 กลับลดลงจาก 9 ล้านล้านเยน เหลือ 7.4 ล้านล้านเยน หรือราว 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่างกับ Nidec ซึ่งเป็นบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจยานยนต์เช่นกัน แต่มีการเติบโตในธุรกิจยานยนต์จาก 8.43 หมื่นล้านเยน หรือราว 6.38 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2012 เป็น 4.17 แสนล้านเยน หรือราว 3.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 เพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่า และยอดขายรวมเพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน
แบตเตอรี่อีวี พานาโซนิค
อันที่จริงแล้ว ศักยภาพในธุรกิจยานยนต์ของพานาโซนิคนั้นไม่ได้ด้อยไปกว่า Nidec เลย โดยเฉพาะแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจาก Panasonic Energy ซึ่งนาย Yuki Kusumi ประธาน Panasonic Holding คาดหวังว่าจะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่จะเติบโตในระยะยาว จึงเป็นผลให้บริษัทประกาศลงทุนสร้างโรงงานใหม่ในรัฐแคนซัส สหรัฐอเมริกา เป็นเงิน 4 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ และตั้งเป้าเริ่มเดินสายผลิตแบตเตอรี่ในปีงบประมาณ 2024
โรงงานที่แคนซัสแห่งนี้จะเป็นโรงงานแบตเตอรี่อีวีในสหรัฐแห่งที่ 2 ของพานาโซนิคต่อจาก Giga Factory ที่รัฐเนวาดา และมีจุดแข็งคือ การผลิตแบตเตอรี่ที่มีความจุและความปลอดภัยสูง โดยแบตเตอรี่จากโรงงานแห่งนี้จะถูกซัพพลายให้ลูกค้าอื่นที่ไม่ใช่เทสล่า เช่น Canoo และ Lucid Motor
บุคลากรคือกุญแจ
ปัจจุบันการแข่งขันในตลาดแบตเตอรี่ยานยนต์กับต่างประเทศรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการบุกตลาดอย่างหนักจาก CATL ผู้ผลิตจีน และ LG Energy Solution จากเกาหลีใต้ ทำให้ส่วนแบ่งตลาดของพานาโซนิคลดลงเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ กลยุทธ์การร่วมมือกับค่ายรถใหญ่ของพานาโซนิคยังดำเนินไปอย่างล่าช้ากว่า CATL อีกด้วย
ผู้เกี่ยวข้องในอุดตสาหกรรมรายหนึ่งแสดงความเห็นว่า บริษัท Sanyo ซึ่งถูกพานาโซนิคซื้อกิจการไปในปี 2009 มีประเด็นที่พานาโซนิคไม่ให้ความสำคัญกับวิศวกร สิ่งนี้จึงมีความไปได้ว่าจะกระทบกับการพัฒนาบุคลากรเพื่อแข่งขันในตลาดต่างประเทศ
นาย Masashi Nagayasu ประธานบริษัท Panasonic Automotive Systems ได้เน้นว่า “บริษัทจะมุ่งเน้นการจัดหาทรัพยากรบุคคลที่สำคัญ” ในขณะที่ Panasonic Energy และ Panasonic Industry ตัดสินใจสร้างสำนักงานใหม่ในใจกลางเมืองเพื่อดึงดูดบุคลากร ปฏิรูประบบจัดหาบุคลากรเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรบุคคลที่ยอดเยี่ยมจากภายนอก พร้อมสร้างแรงจูงใจให้พนักงานมากขึ้น จนเป็นที่น่าจับตาว่า การพัฒนาบุคลากรจะทำให้พานาโซนิคเติบโตได้จริงหรือไม่
สัมภาษณ์ Kazuo Tadanobu ประธานบริษัท Panasonic Energy
นาย Kazuo Tadanobu ประธานบริษัท Panasonic Energy ระบุ ปัจจุบันความต้องการแบตเตอรี่ ทั้งแบตเตอรี่ยานยนต์และแบตเตอรี่สำหรับผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดการณ์ในทุก ๆ ปี และคาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ความต้องการแบตเตอรี่ก็จะยังไม่ถูกเติมเต็ม แม้ LG และ CATL จะลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่อาจตอบสนองความต้องการจากผู้ผลิตยานยนต์ได้
Kazuo Tadanobu ประธานบริษัท Panasonic Energy
โรงงานที่รัฐเนวาดาซึ่งร่วมลงทุนกับเทสลานั้นมีไว้เพื่อซัพพลายให้รถอีวีของเทสลาเท่านั้น จึงไม่อาจตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ ทำให้พานาโซนิคตัดสินใจลงทุนโรงงานแห่งใหม่ในรัฐแคนซัสเพื่อเพิ่มตัวเลือกการซัพพลายให้มากขึ้น นอกจากนี้ โรงงานในจังหวัดวากายามะที่ญี่ปุ่นก็อยู่ระหว่างปรับปรุงเพื่อรองรับการผลิตแบตเตอรี่รุ่น 4680 ซึ่งมีความจุมากกว่ารุ่นก่อนถึง 5 เท่า และคาดว่าจะเริ่มผลิตจำนวนมากได้ในปีงบประมาณ 2023
โดยในเดือนเมษายนนี้ พานาโซนิคมีแผนเปิดสำนักงานใหม่ใจกลางเมือง เพื่อดึงดูดบุคลากรคุณภาพเข้ามาทำงาน เพิ่มตัวเลือกการทำงานจากบ้าน และเปลี่ยนแปลงระบบบุคลากรและกฎของบริษัทใหม่”
สัมภาษณ์ Shinji Sakamoto ประธานบริษัท Panasonic Industry
นาย Shinji Sakamoto ประธานบริษัท Panasonic Industry ระบุถึงการปรับพอร์ตโฟลิโอใหม่ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา และวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนแบ่งตลาด เช่น "EV Series Relays" อย่างไรก็ตาม บริษัทยังอยู่ในจุดที่มีความเสี่ยง และจำเป็นต้องสร้างผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น เหมือนตัวเก็บประจุเซรามิคแบบหลายชั้น (MultiLayer Ceramic Capacitors: MLCC) ของ Murata Manufacturing และมอเตอร์ของ Nidec ให้ได้
Shinji Sakamoto ประธานบริษัท Panasonic Industry
พานาโซนิคจะมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูง และผลิตภัณฑ์ที่คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มการเติบโตเฉลี่ยสูงกว่าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป เช่น ชิ้นส่วนสำหรับ CASE (Connected, Autonomous, Shared and Electric), อุปกรณ์ประหยัดพลังงานสำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล, และผลิตภัณท์ที่ทดแทนแรงงานในโรงงานได้
โดยบริษัทมีแผนลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตสำหรับ CASE เช่น ตัวเก็บประจุแบบฟิล์ม, ตัวเก็บประจุแบบไฮบริด, และอื่น ๆ เป็นเงินรวม 9 หมื่นล้านเยน หรือราว 6.8 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปีงบประมาณ 2024
นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งมั่นสร้างสภาพแวดล้อมที่พนักงานสามารถทำงานอย่างกระตือรือร้น หาประสบการณ์ และการเติบโตบนพื้นฐานการจัดการที่เน้นบุคลากรเป็นหลัก ส่งเสริม DE&I (Diversity, Equity & Inclusion) เช่น การทำงานทางไกล และอื่น ๆ”
สัมภาษณ์ Masashi Nagayasu ประธานบริษัท Panasonic Automotive Systems
นาย Masashi Nagayasu ประธานบริษัท Panasonic Automotive Systems เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนเมษายน - กันยายน 2022 บริษัทได้รับคำสั่งซื้อแล้ว 60% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการมั่นคง เช่น ระบบ In-Vehicle Infotainment (IVI), กล้องยานยนต์, Head Up Display (HUD) และอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม วิกฤตชิปขาดตลาดได้ส่งผลกระทบ ทำให้มีสินค้าคงคลังมากขึ้น การบริหารจัดการคลังสินค้ามีความสำคัญมากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทได้ทุ่มเทให้กับการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารซัพพลายเชนเป็นอย่างมาก เช่น ลด Lead Time ในกระบวนการผลิตลงครึ่งหนึ่ง และตั้งเป้ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานสะสม 200 พันล้านเยน และผลตอบแทนจากการลงทุน 8.5% ภายในปีงบประมาณ 2024
Masashi Nagayasu ประธานบริษัท Panasonic Automotive Systems
นอกจากนี้ การเปลี่ยนจากธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตไปเป็นธุรกิจใหม่ที่เน้นสร้างโซลูชันและบริการภายในยานยนต์นั้น การมีบุคลากรที่มีวิสัยทัศน์แตกต่างจากที่แล้วมาจึงมีความจำเป็นอย่างมาก ทำให้มีการจัดตั้งองค์กรด้าน BTC (Business, Technology, Creative) เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ภายใต้ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี
นอกเหนือจากการเพิ่มธุรกิจที่มีความต้องการของตลาดอย่างมั่นคงแล้ว บริษัทยังมีเป้าหมายในการปลูกฝังผู้จัดการโครงการที่สามารถมองเห็นภาพรวมของธุรกิจ BTC ทั้งหมดและดำเนินธุรกิจได้อีกด้วย”
#Panasonic #รถยนต์ไฟฟ้า #แบตเตอรี่ยานยนต์ #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent
ที่มา: Nikkan Kogyo Shimbun
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ ครึ่งปีแรก 2022
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- สถานการณ์ชิปขาดตลาด 2022 จะสิ้นสุดเมื่อไหร่?
- 12 เทรนด์เทคโนโลยีมาแรงแห่งปี 2022
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH