แรงงานญี่ปุ่นสร้างมูลค่าต่อเศรษฐกิจต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศ G7

ทำไม “แรงงานญี่ปุ่น” สร้างมูลค่าต่อเศรษฐกิจต่ำที่สุดในกลุ่ม G7

อัปเดตล่าสุด 24 ม.ค. 2565
  • Share :

แรงงานญี่ปุ่นสร้างมูลค่าต่อเศรษฐกิจ 49.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง ตัวเลขนี้ต่ำสุดในกลุ่มประเทศ G7 และมีสัดส่วนเพียง 60% ของแรงงานสหรัฐฯ เท่านั้น นี่เป็นข้อมูลจากรายงาน “การเปรียบเทียบผลิตภาพแรงงาน ฉบับปี 2021” โดย Japan Productivity Center (JPC) 

Labour Productivity หรือ ผลิตภาพแรงงานของประเทศญี่่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรม เมื่อปี 2020 ญี่ปุ่นตกมาอยู่อันดับที่ 23 ของ OECD ซึ่งเป็นอันดับต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 1970 

Advertisement

3 สาเหตุหลักที่ทำให้ผลิตภาพแรงงานของประเทศอยู่ในระดับต่ำ 

JPC อธิบายว่า สาเหตุหลักมาจากชั่วโมงการทำงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศที่มีโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตใกล้เคียงกันอย่างเยอรมนีแล้ว พบว่าเยอรมนีมีผลิตภาพแรงงานสูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก ในขณะที่ญี่ปุ่นอยู่อันดับที่ 23 อีกทั้งแรงงานเยอรมันยังมีชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยต่ำกว่าอีกด้วย โดยอยู่ที่ปีละ 1,332 ชั่วโมง ในขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ที่ 1,598 ชั่วโมง มากกว่าถึง 266 ชั้วโมง

นอกจากนี้ ค่าตอบแทนยังเป็นอีกสาเหตุสำคัญ ซึ่งพบว่าในประเทศที่มีผลิตภาพแรงงานต่ำนั้น พนักงานที่จบจากมหาวิทยาลัยมีค่าแรงเทียบเท่า หรือสูงกว่าแรงงานที่ไม่จบมหาวิทยาลัยเพียงเล็กน้อย ต่างจากประเทศที่มีผลิตภาพแรงงานสูง เช่น สหรัฐฯ ซึ่งสูงเป็นอันดับ 4 

เมื่อค่าตอบแทนไม่ต่างกันมากแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือ ตลาดแรงงานไม่มีแรงจูงใจในการศึกษาต่อ ส่งผลให้ทักษะและประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรลดลงไปอีก

และสำหรับญี่ปุ่น ปัญหานี้ดูเหมือนจะรุนแรงกว่าในหลายประเทศ เนื่องจากหลายองค์กรยังมีการกีดกันผู้หญิง และจ่ายค่าตอบแทนไม่เหมาะสมกับทักษะและชั่วโมงทำงาน ส่งผลให้ตลาดแรงงานญี่ปุ่นในช่วงหลังเกิดการเรียกร้องขอลดชั่วโมงการทำงานกันอย่างแพร่หลาย

อีกปัจจัยสำคัญ คือ การลงทุนด้าน IT ทั้งการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะมากขึ้น ไปจนถึงการลงทุนเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการทำงานในยุคสมัยใหม่ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก แต่ในญี่ปุ่นยังคงให้ความสำคัญในส่วนนี้ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว

 

Advertisement

ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญต่อ “ผลิตภาพแรงงานของญี่่ปุ่น” 

นาย Hisashi Yamada รองประธาน Japan Research Institute แสดงความเห็นว่า ตัวเลขผลิตภาพแรงงานไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ญี่ปุ่น และมีหลายฝ่ายแสดงความเห็นในทางตรงกันข้ามว่าการเปรียบเทียบกับนานาชาติเป็นเรื่องยาก กระทั่งผู้เชี่ยวชาญบางส่วนยกประสบการณ์มาเทียบว่าสินค้าและบริการของญี่ปุ่นดีกว่าสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้ โดยเฉพาะในยุคที่ญี่ปุ่นและหลายประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้จำนวนแรงงานลดลง สิ่งนี้จะกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง

ในภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นนั้น การลงทุนพัฒนาบุคลากรมักมุ่งไปที่อุตสาหกรรมที่มีอยู่แต่เดิม ซึ่งแม้จะพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านั้นได้ แต่ก็ไม่ทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมากในยุคที่อุตสาหกรรมการผลิตแข่งขันกันลดต้นทุนทำให้สินค้ามีราคาถูกลงหรือเท่าเดิม

แน่นอนว่าการลดต้นทุนเป็นสิ่งจำเป็น แต่การแข่งขันด้านราคาในอุตสาหกรรมเดิม ๆ โดยไม่สร้างอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นทำให้เสียโอกาสเป็นอย่างมาก และมองว่าสำหรับประเทศญี่ปุ่นซึ่งที่แล้วมามีจุดเด่นในด้านคุณภาพสินค้านั้น หากไม่อาจผลิตสินค้าใหม่ที่แตกต่างจากเดิมได้ ในท้ายสุดแรงงานก็จะไม่เกิดการพัฒนา ทำให้การสร้างมูลค่าต่อเศรษฐกิจลดลงไปอีก

สิ่งที่ทำได้นั้น นอกจากการหวังพึ่งภาครัฐแล้ว SME เองก็สามารถเริ่มได้เลยด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทอื่น ๆ เพื่อสร้างสินค้าและบริการใหม่ ๆ ในขณะที่ในระยะยาวนั้นยังคงจำเป็นต้องพึ่งพานโยบายภาครัฐว่าจะให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมใด ยุคดิจิทัลและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสามารถทำให้เกิดสินค้าและบริการใหม่ ๆ ได้หรือไม่ หากเห็นภาพชัดเจนแล้วก็จะทำให้การลงทุนพัฒนาบุคลากรเป็นไปได้ง่ายขึ้น

อีกสิ่งที่ควรพึงระวัง คือ องค์กรขนาดใหญ่ที่เน้นแข่งขันทางด้านราคานั้นอาจมีการลดต้นทุนในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งหนึ่งในต้นทุนที่ลดได้คือค่าตอบแทนแรงงาน และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเข้ามาดูแลเพื่อป้องกันปัญหานี้ให้ได้มากที่สุด สอดส่องให้บริษัทต่าง ๆ ปรับค่าแรงตามความเหมาะสมและเป็นธรรมต่อพนักงาน 

ด้านนาย Hideo Kumano หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ DAI-ICHI Life Research Institute แสดงความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า สาเหตุที่ผลิตภาพแรงงานของญี่ปุ่นต่ำเกิดจากค่าแรง โดยหลายองค์กรพิจารณาให้พนักงานใหม่ที่มีอายุมาก หรือพนักงานหญิงที่ลาออกจากงานเพื่อดูแลบุตรแล้วกลับมาสมัครงานได้รับค่าตอบแทนเทียบเท่าพนักงานจบใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติเป็นอย่างยิ่ง เพราะค่าตอบแทนควรพิจารณาจากทักษะและประสบการณ์มากกว่าอายุงาน ซึ่งหากค่าตอบแทนเหมาะสม แรงงานก็จะทำงานได้ดีขึ้น แต่ญี่ปุ่นไม่ใช่เช่นนั้น

แน่นอนว่าในความเป็นจริงแล้ว หากองค์กรไม่มีกำไรมากพอ การเพิ่มค่าตอบแทนให้พนักงานย่อมเป็นไปได้ยาก แต่หากองค์กรมาถึงจุดที่ผลประกอบการในแต่ละปีไม่เพิ่มขึ้นมากนักแล้ว นั่นหมายความว่าถึงเวลาขยับขยายไปยังอุตสาหกรรมอื่น หรือส่งออกสินค้าและบริการไปยังต่างประเทศ

ในช่วงปี 1990 ผู้ประกอบการSME ญี่ปุ่นหลายรายมีการส่งออกและขยายกิจการไปยังจีน เมียนมา เวียดนาม และประเทศอื่น ๆ ผ่านความร่วมมือกับบริษัทใหญ่ แต่ในปัจจุบันการส่งออกและขยายกิจการไปยังต่างประเทศเป็นเรื่องยากกว่าที่ผ่านมา

ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือ รัฐบาลและสถาบันการเงินควรมีส่วนสนับสนุนธุรกิจเหล่านี้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม SME ที่การลงทุนมีความยากลำบากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในยุคที่ต้นทุนการผลิตแพงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากราคาวัสดุต่าง ๆ และหากรัฐไม่ให้การสนับสนุน SME แล้ว ในท้ายสุดก็จะมีแต่องค์กรขนาดใหญ่เท่านั้นที่ได้กำไรจากการส่งออก ในขณะที่ธุรกิจรายย่อยไม่อาจก้าวหน้าไปมากกว่าการเป็น Subcontract ของธุรกิจขนาดใหญ่ได้

 

 

#แรงงานญี่ปุ่น #Productivity #ผลิตภาพแรงงาน #พัฒนาบุคลากร #อุตสาหกรรมการผลิต #M Report #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH