เงินเยนร่วงต่ำสุดในรอบ 20 ปี ส่งผลกระทบอย่างไร
ปรากฏการณ์เงินเยนร่วงต่ำสุดในรอบ 20 ปีเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2022 เกิดอะไรขึ้น และส่งผลกระทบอย่างไรต่อภาคอุตสาหกรรม
เงินเยนร่วงหนักกลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในขณะนี้ โดยตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศโตเกียวรายงานว่า อัตราการแลกเปลี่ยนเงินเยนเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2022 อยู่ที่ 126 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบเกือบ 20 ปี ก่อนขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในวันที่ 14 มาอยู่ที่ 125 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
Advertisement | |
แม้ว่าการอ่อนค่าของเงินมักเป็นผลดีต่อการส่งออกของประเทศ แต่ในปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตวัตถุดิบราคาแพง ซึ่งหมายความว่า ญี่ปุ่นจะต้องจ่ายค่านำเข้าวัตถุดิบมากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศอย่างแน่นอน
โดยธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น คาดการณ์ว่า เงินเยนจะอ่อนตัวลงไปอยู่ 130 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งธนาคารจะยังคงดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่องพร้อมกับนโยบายต่าง ๆ ที่จะกระตุ้นให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง Shunichi Suzuki ได้พูดในที่ประชุมเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2022 ไว้ว่าเสถียรภาพทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญ และไม่มีใครต้องการความผันผวน อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐอเมริกาจะทำให้ค่าเงินเยนยังลดลงอย่างต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคม 2020 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยจาก 0.25% เป็น 0.25 - 0.5% ซึ่งนาย Christopher Waller คณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้แสดงความเห็นไว้เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2022 ว่าอาจต้องมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นไปอีก
เงินเยนยังอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา (ภาพวันที่ 14 เมษายน 2022)
ปัจจุบันการเสื่อมค่าของเงินเยนเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น อัตราการเติบโตของญี่ปุ่นที่ลดลง และแม้ว่าจะมีการดำเนินการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน แต่ก็คาดว่าจะส่งผลไม่มากนัก โดยภายในประเทศนั้นธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นยังสามารถดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อได้ แต่สำหรับต่างประเทศก็เป็นเรื่องยากที่รัฐบาลที่จะเข้าไปแทรกแซงในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา
ในช่วง 20 ปีหลังนี้ แม้ญี่ปุ่นจะมีการขยับขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนมากแล้วก็เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้ SME และบริษัทในญี่ปุ่นไม่ได้รับผลประโยชน์จากการขยายธุรกิจนี้มากนัก ดังนั้น การอ่อนค่าของเงินเยนจะส่งผลดีในวงจำกัด
อีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลให้กำไรของบริษัทญี่ปุ่นลดลง คือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าสินค้าเป็นอย่างมาก อีกทั้งทำให้ราคาวัตถุดิบหลายชนิดพุ่งสูง จึงไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าค่าเงินของญี่ปุ่นที่ต่ำสุดในรอบ 20 ปีจะมีทิศทางอย่างไรต่อไป
อุตสาหกรรมยานยนต์ กระทบทั้งค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วน
เรือขนส่งสินค้าลำหนึ่งสามารถขนส่งยานยนต์ได้ราว 3,000 คัน
ปัจจุบัน ค่ายรถญี่ปุ่นได้กำหนดอัตราการแลกเปลี่ยนสำหรับปีงบประมาณ 2021 ซึ่งสิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2022 ไว้ที่ 111 - 112 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากเงินเยนมีการเปลี่ยนแปลง 1 เยน จะทำให้แต่ละบริษัทเกิดความคลาดเคลื่อนของตัวเลขผลประกอบการ รายละเอียดดังนี้
- โตโยต้า อาจคาดเคลื่อน 4 หมื่นล้านเยน หรือราว 311 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ฮอนด้า อาจคาดเคลื่อน 1.2 หมื่นล้านเยน หรือราว 93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- นิสสัน อาจคาดเคลื่อน 1.2 หมื่นล้านเยน หรือราว 93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งสามบริษัทคาดการณ์ว่า หากสถานการณ์เงินเยนอ่อนค่ายังไม่สิ้นสุด จะทำให้ปีงบประมาณ 2022 อาจได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงส่งผลให้ค่ายรถต้องแบกรับต้นทุนมากขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2021 ค่ายรถญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าจะมีกำไรลดลง ดังนี้
- โตโยต้า คาดการณ์ว่าจะมีกำไรลดลง 6.5 แสนล้านเยน หรือราว 5,054 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ฮอนด้า คาดการณ์ว่าจะมีกำไรลดลง 2.9 แสนล้านเยน หรือราว 2,254 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- นิสสัน คาดการณ์ว่าจะมีกำไรลดลง 1.7 แสนล้านเยน หรือราว 1,322 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อประเมินการอ่อนค่าของเงินเยนร่วมกับปัญหาราคาวัตถุดิบที่ไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้นแล้ว ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ในปีงบประมาณ 2022 ค่ายรถญี่ปุ่นอาจจะมีกำไรลดลงเป็นอย่างมาก อีกทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนเองก็จะได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน เนื่องจากการขึ้นราคาสินค้าให้สอดคล้องกับวัตถุดิบนั้นไม่สามารถทำได้ในทันที ซึ่งผู้บริหารบริษัทชิ้นส่วนยานยนต์รายหนึ่งแสดงความเห็นว่า ผู้ส่งออกจะได้รับผลประโยชน์จากการอ่อนตัวของเงินเยนในระยะสั้น แต่ในระยะยาวนั้นผลกระทบนี้จะแพร่ไปทั่วทั้งซัพพลายเชน
อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและเครื่องจักรก่อสร้าง รับอานิสงส์
สำหรับผู้ผลิตเครื่องจักรกลนั้น การอ่อนค่าของเงินเยนจะเป็นผลดีต่อผู้ผลิต โดยบริษัท Amada แสดงความเห็นว่า ทางบริษัทมีฐานการผลิตนอกญี่ปุ่นจำนวนมาก และการอ่อนตัวของเงินเยนจะเป็นผลดีต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าเป็นอย่างยิ่ง
ทางด้าน Makino มีความเห็นตรงกัน โดยแสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมานั้นเครื่องจักรกลญี่ปุ่นมีราคาเป็นหนึ่งในจุดแข็ง ซึ่งค่าเงินที่อ่อนลงก็จะทำให้เครื่องจักรกลญี่ปุ่นยิ่งได้เปรียบมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าภาคอุตสาหกรรมเครื่องจักรจะมีแต่ผลพลอยได้ ยกตัวอย่างเช่น การสั่งซื้อจากต่างชาติเข้ามาในญี่ปุ่นจะมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น และต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการส่งออกและการเช่าตู้คอนเทนเนอร์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม Amada แสดงความเห็นว่า ในส่วนนี้ไม่ใช่ผลกระทบโดยตรงจากการอ่อนตัวของเงินเยน
ส่วนทางด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักรก่อสร้างเองก็มีทิศทางคล้ายคลึงกัน คือ เงินเยนที่อ่อนลงทำให้การตัดสินใจสั่งซื้อเป็นไปได้ง่ายขึ้น แต่ต้องเฝ้าระวังปัจจัยด้านราคาวัตถุดิบและราคาพลังงานทำให้ผู้ผลิตต้องแบกรับต้นทุนมากขึ้น แต่ SUMITOMO CONSTRUCTION MACHINERY แสดงความเห็นว่า สิ่งที่ต้องระวังที่สุดคือความผันผวนอย่างกะทันหัน
อุตสาหกรรมโลหะคาด ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจรุนแรง
ผู้ผลิตเหล็กและเหล็กกล้ารายใหญ่ในญี่ปุ่นเป็นกลุ่มที่มีการนำเข้าปริมาณมหาศาล (เตาหลอมของ JFE Steel East จังหวัดชิบะ บริษัท JFE Steel )
ผู้ผลิตเหล็กและเหล็กกล้ารายใหญ่ในญี่ปุ่นเป็นกลุ่มที่มีการนำเข้าปริมาณมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเหล็กดิบ ถ่านหิน และอื่น ๆ โดยนาย Eiji Hashimoto ประธานสหพันธ์เหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศญี่ปุ่น แสดงความเห็นว่าค่าเงินเยนที่อ่อนลงสะท้อนให้เห็นถึงความสูญเสียของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ควรยอมให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะในสภาวะที่ญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาเงินฝืด และเรียกร้องให้เร่งหาทางแก้ไข
โดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโลหะแสดงความเห็นพ้องกันว่า การอ่อนค่าของเงินเยนมีทั้งข้อดีข้อเสียซึ่งสามารถหักล้างกันได้ อย่างไรก็ตาม JFE Steel เสริมว่า ปัจจุบันกำลังกรผลิตโลหะในประเทศญี่ปุ่นกำลังเปลี่ยนแปลง และกังวลว่าหากค่าเงินเยนอ่อนตัวลงอย่างกะทันหันก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ
นาย Toshikazu Nishimoto ประธาน Tokyo Steel เสริมว่า แม้การอ่อนค่าของเงินเยนจะกระตุ้นให้การส่งออกดีขึ้น แต่สำหรับบริษัทที่มีสัดส่วนการขายในประเทศสูงนั้นย่อมมีผลดีมากกว่าผลเสีย และในท้ายสุดจะต้องผลักภาระด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้ซื้อต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีหลายฝ่ายแสดงความกังวลว่า ราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นจะทำให้ญี่ปุ่นสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันในยุค Decarbonization อีกด้วย
อุตสาหกรรมพลังงาน รับต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้น
การอ่อนค่าของเงินเยนนั้น เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่ราคาน้ำมันกำลังพุ่งสูงจากสถานการณ์ต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานแล้ว สิ่งนี้จะสร้างผลกระทบเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากปัจจุบัน ถ่านหินที่ญี่ปุ่นใช้ในการผลิตพลังงานมากถึง 90% ถูกนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งนาย Kazuhiro Ikebe ประธานบริษัท Kyushu Electric Power แสดงความเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง โดยค่าไฟและค่าก๊าซจะปรับตัวตามต้นทุนล่าช้าไปราว 3 เดือน ซึ่งบริษัทพลังงานในญี่ปุ่นยังไม่สามารถจัดหาเชื้อเพลิงมากกว่านี้ได้ และแบกรับต้นทุนการผลิตจนถึงขีดสุดแล้ว
ทางด้าน INPEX บริษัทน้ำมันรายใหญ่อีกราย แสดงความเห็นว่า ในระยะสั้นบริษัทจะมีกำไรมากขึ้น แต่ในระยะยาวเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะประสบปัญหาจากสภาวะพลังงานแพง แต่ในทางกลับกัน นาย Shunichi Kito ประธานบริษัท Idemitsu Kosan แสดงความเห็นว่า เมื่อค่าเงินเยนแข็งขึ้น ผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่นจะมีการใช้จ่ายลดลง การอ่อนตัวของค่าเงินเยนจึงไม่ได้มีเพียงข้อเสียอย่างเดียว
ผลกระทบเชิงลบจะเกิดขึ้นก่อน
นาย Tomoyuki Ota หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ Mizuho Information & Research Institute วิเคราะห์ว่า การอ่อนค่าของเงินเยนทำให้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินเยนและเงินดอลลาร์มีส่วนต่างมากยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มพุ่งสูงถึง 120 - 130 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่คาดการณ์ว่าจะไม่ขึ้นไปที่ 140 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
นาย Tomoyuki Ota หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ Mizuho Information & Research Institute
ในความเป็นจริงการอ่อนค่าของเงินเยนเป็นผลดีต่อประเทศที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล หรือมีมูลค่าส่งออกมากกว่านำเข้า ทำให้การอ่อนค่าของเงินเยนเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันญี่ปุ่นจะขาดดุลการค้า แต่แนวโน้มนี้ก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากเป็นผลกระทบจาก Greenflation หรือสภาวะเงินเฟ้อจากกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับในการเปลี่ยนผ่านประเทศเข้าสู่ยุค Decarbonization
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้การอ่อนค่าของเงินเยนในครั้งนี้จะไม่ส่งผลร้ายแรงเท่าครั้งก่อน ๆ ในอดีต อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น ผลกระทบเชิงลบจะปรากฎให้เห็นก่อนจะเป็นผลกระทบเชิงบวก ต้นทุนต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้น ทั้งการนำเข้า ค่าพลังงาน ค่าอาหาร และจะทำให้บริษัทต่าง ๆ มีกำไรลดลง ตามด้วยกำลังซื้อของครัวเรือนที่จะลดลง
โดยนาย Tomoyuki Ota คาดการณ์ว่า ในอนาคตเงินเยนจะแข็งค่าขึ้น เนื่องจากการป้องกันเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา และมาตรการของธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น และเมื่อประเทศสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับเข้ามาได้หลังพ้นวิกฤตโควิดแล้ว เงินเยนจะฟื้นตัวอย่างแน่นอน
#เงินเยน #เงินเยนอ่อนค่า #รัสเซียยูเครน #เศรษฐกิจญี่ปุ่น #อุตสาหกรรมญี่ปุ่น #อุตสาหกรรมยานยนต์ #อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล #อุตสาหกรรมเครื่องจักรก่อสร้าง #โลหะ #พลังงาน #M Report #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent
ที่มา: Nikkan Kogyo Shimbun
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH