Manufacturing, Digitalization

อุตสาหกรรมการผลิตหลังโควิด Digitalization คือ จุดสตาร์ท

อัปเดตล่าสุด 14 ก.ค. 2563
  • Share :
  • 1,276 Reads   

ก้าวแรกที่ผู้ผลิตสามารถเริ่มได้เลย และควรเริ่มในตอนนี้ คือ “Digitization” เพราะการระบาดของโควิดในครั้งนี้ นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมที่มากเกินกว่าการลดต้นทุนจะสามารถแก้ปัญหาได้ 

อาจเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งของอุตสาหกรรมการผลิต คือ การตื่นรู้ต่อยุคอุตสาหกรรม 4.0 ทำให้มีผู้ประกอบการโรงงานบางส่วนปรับตัว พยายามพัฒนาโรงงานและซัพพลายเชน ด้วยเทคโนโลยี IoT, ดิจิทัล, และระบบอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม World Economic Forum (WEF) พบว่าการระบาดของโควิดในครั้งนี้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งวิธีการดั้งเดิมที่มักนำมาใช้คือการลดต้นทุนไม่สามารถแก้ปัญหา หรือทำให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นได้อีกต่อไป

จากการรวบรวมข้อมูลในอุตสาหกรรมการผลิตของ WEF มีสองปัญหาใหญ่ที่ผู้ผลิตประสบอยู่ คือ ไม่มียอดสั่งซื้อเข้ามา หรือ มียอดสั่งซื้อเข้ามามากเกินไป ซึ่ง เป็นปัญหาที่หลายฝ่ายไม่เคยคาดการณ์มาก่อน โดยผู้ประกอบการแต่ละรายมีการปรับตัวด้วยแนวทางแตกต่างกัน อาทิ การลดต้นทุน การย้ายฐานการผลิต หรือการเพิ่มและเปลี่ยนซัพพลายเออร์ 

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ประกอบการที่เลือกปรับเปลี่ยนรูปแบบทำงานเองก็มีจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนมาทำงานทางไกล ปรับโครงสร้างธุรกิจและการทำงาน และอื่น ๆ ซึ่งในท้ายสุด เมื่อวิกฤตผ่านพ้นไป องค์กรเหล่านี้จะต้องตัดสินใจว่า จะกลับไปประกอบธุรกิจรูปแบบเดิมเหมือนก่อนวิกฤต หรือเลือกจะดำเนินธุรกิจต่อไปหลังผ่านการปรับเปลี่ยนไปตาม New Normal ที่เกิดขึ้น โดย WEF ได้คาดการณ์ถึงความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทางธุรกิจไว้ใน “Winning the race for survival” และแนะนำว่า ก้าวแรกที่ผู้ผลิตสามารถเริ่มได้เลย และควรเริ่มในตอนนี้ คือ “Digitization”

l Digitization คือก้าวแรกของความเปลี่ยนแปลง

Digitalization เป็นคลื่นที่มาแรงในช่วงหลายปีมานี้ และการมาของโควิด-19 เป็นเพียงการเร่งให้แนวโน้มนี้เป็นจริงเร็วขึ้นเท่านั้น โดย WEF รายงานว่าองค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลก เช่น Alibaba, Amazon, Google, Tencent, และอื่น ๆ ต่างมีการเติบโตรวดเร็วกว่าธุรกิจบริการด้านการเงิน และพลังงาน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นธุรกิจที่มีเงินทุนไหลเวียนมากทั่วโลก ซึ่งการเติบโตของธุรกิจเหล่านี้ เป็นผลจากความต้องการเทคโนโลยีสารสนเทศน์ที่พุ่งทะยาน และความต้องการรับส่งข้อมูล รวมไปถึงขีดความสามารถในการรวบรวม และนำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์

อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องเป็นธุรกิจในแวดวง IT เท่านั้น แต่ผู้ผลิตหลายรายที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ต่างล้วนมีจุดร่วมคือสามารถเปลี่ยนข้อมูลที่มีอยู่มาเป็นสินค้าและบริการได้ทั้งสิ้น ซึ่งจุดเด่นของสินค้าและบริการเหล่านี้ คือ การผลิตสินค้าด้านสารสนเทศน์มีต้นทุนที่ต่ำกว่าการผลิตสินค้าอื่น

l การปรับตัวของผู้ผลิต

สำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตเอง Digitalization ก็เป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ที่สำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน และมีการลงทุนโครงการต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งในบางรายก็ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว เช่น Siemens กลุ่มธุรกิจใหญ่ค่ายเยอรมัน ร่วมกับ John Deere ผู้ผลิตเครื่องจักรสำหรับการเกษตร และการก่อสร้าง จัดตั้งธุรกิจบริการด้านสารสนเทศน์ ด้วยการรวบรวมข้อมูลที่จำเป็น เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์และค่าบำรุงรักษา รวมถึงสามารถใช้เมล็ดพันธุ์และปุ๋ยได้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการนำข้อมูลมาใช้บริการลูกค้าแทนการลดต้นทุนของบริษัทตน หรือกรณีของ Healthineers Digital Ecosystem Platform จาก Siemens ซึ่งนำคุณสมบัติของ AI มาใช้ในการตรวจสอบสภาพเครื่องมือแพทย์ 

อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจตามเทรนด์ Digitalization ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หลายบริษัทสามารถนำข้อมูลมาใช้ได้จริง แต่ไม่สามารถพัฒนาต่อให้เป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ เนื่องจากการนำแนวโน้มนี้มาต่อยอดเป็นธุรกิจมักมาคู่กับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจเดิม องค์กร และกระทั่งช่องทางการขายที่มีอยู่

l ยิ่งปรับช้า ยิ่งถูกทิ้งห่าง

ในความเป็นจริง การผันตัวตามเทรนด์นี้ยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนมากนัก แต่ในช่วงวิกฤตที่ผ่านมานี้เองที่เข้ามาดิสรัปผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตอย่างรุนแรง ทำให้รายได้ของผู้ประกอบการลดลงจากเดิมเป็นอย่างมาก ผลจากความต้องการสินค้าและซัพพลายเชนที่หยุดชะงักไปในเวลาเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่า ธุรกิจที่สามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว ย่อมสามารถปรับตัวได้ดีกว่าธุรกิจที่ตอบสนองได้ช้า

อย่างไรก็ตาม ในวิกฤตครั้งนี้ หลายองค์กรจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อรักษาธุรกิจไว้ให้ดำเนินต่อไปได้ ด้วยเหตุนี้เอง WEF จึงเล็งเห็นว่า นี่เป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตจะสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจตนได้ในช่วงนี้ เพื่อเตรียมโครงสร้างที่สำคัญให้พร้อมสำหรับธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ในอนาคต ก่อนที่จะถูกทิ้งห่างในตลาดที่เต็มไปด้วยการแข่งขันเช่นนี้