เงินเยนอ่อน วัตถุดิบแพง ผลกระทบอุตสาหกรรมญี่ปุ่น

เงินเยนอ่อน วัตถุดิบแพง อุตสาหกรรมญี่ปุ่นกระทบอย่างไร?

อัปเดตล่าสุด 15 ธ.ค. 2565
  • Share :

‘การอ่อนค่าของเงินเยน’ ทำให้บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูง ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก และปัญหาอื่น ๆ ยังไม่มีท่าทีสิ้นสุด ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ ของญี่ปุ่น ติดตามได้ในบทความนี้

Advertisement

อุตสาหกรรมยานยนต์

การอ่อนค่าของเงินเยนส่งผลต่อรายได้ของค่ายรถญี่ปุ่นอย่างมาก โดยในช่วงไตรมาสสองและสามของปี 2022 ผู้ผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทุกค่ายยกเว้นโตโยต้ามีรายได้เพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากโตโยต้าประสบปัญหาราคาวัตถุดิบ อีกทั้งมีการเดินหน้าสนับสนุนซัพพลายเออร์ในช่วงเวลานี้

โดยค่ายรถญี่ปุ่นต่างประกาศปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์รายได้ปีงบประมาณปัจจุบัน ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม 2023 

นาย Tomomi Nakamura  ประธานบริษัทซูบารุ แสดงความกังวลว่าเงินเยนอาจแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินเยนยังเริ่มทำให้สินค้าต่าง ๆ ในญี่ปุ่นมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนาย Toshihiro Suzuki ประธานบริษัทซูซูกิแสดงความเห็นว่าสถานการณ์เช่นนี้อาจทำให้ผู้บริโภคยกเลิกคำสั่งซื้อได้

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณายอดขายตามจำนวนคัน ค่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทุกค่ายยกเว้นซูซูกิคาดการณ์ว่าจะขายยานยนต์ได้น้อยลง เนื่องจากวิกฤตชิปขาดตลาดที่ยืดเยื้อกว่าคาดการณ์ โดยนาย Kohei Takeuchi รองประธานฮอนด้า แสดงความเห็นว่าเซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลนอย่างกะทันหัน และอาจจะเป็นเช่นนี้ไปตลอดครึ่งแรกของปี 2023

ส่วนนาย Ashwani Gupta COO บริษัทนิสสัน ได้คาดการณ์ถึงสถานการณ์ราคาวัตถุดิบว่า วัตถุดิบต่าง ๆ จะมีราคาแพงต่อไปในปีงบประมาณหน้า จากนั้นจึงจะเริ่มคลี่คลาย

นาย Jun Nagata เจ้าหน้าที่บริหารโตโยต้า คาดการณ์ว่าในปี 2023 โลกจะฟื้นตัวจากโควิดแล้ว 80 - 90% เอย่างไรก็ตาม ราคาพลังงานที่พุ่งสูงและสภาวะเศรษฐกิจทำให้บริษัทจำเป็นต้องเฝ้าระวังเป็นอย่างมาก ซึ่งนาย Toshihiro Suzuki ประธานบริษัทซูซูกิได้เห็นพ้องกัน โดยในช่วงปี 2023 - 2034 เป็นช่วงเวลาที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และหากไม่มีมาตรการรับมือแล้วจะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของทุกตลาด

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

การอ่อนค่าของเงินเยนทำให้ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ญี่ปุ่น ทั้ง Sony, Hitachi, Panasonic, Mitsubishi Electric, และ Toshiba ต่างปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ผลประกอบการปีนี้ ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อและการล็อกดาวน์ในจีนทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ลดลง อีกทั้งผู้ผลิตยังประสบปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน และชิ้นส่วนขึ้นราคา 

โดย Panasonic เผยว่า ผลกำไรของบริษัทลูกในสหรัฐฯ กำลังลดลงเนื่องจากการลงทุนหดตัว และแสดงความเห็นว่าตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กำลังย่ำแย่ ในขณะที่ Toshiba แสดงความเห็นใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจฮาร์ดดิสก์ ซึ่งทั้งสองบริษัทได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ในปีงบประมาณปัจจุบันลงจากเดิม

ทางด้าน Mitsubishi Electric แสดงความเห็นว่า นอกจากราคาวัตถุดิบที่แพงขึ้นแล้ว ค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ก็สูงขึ้นเช่นกัน ขณะที่ความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ลดลง แต่บริษัทฯ ยังคงตัวเลขคาดการณ์เดิมเอาไว้อยู่

นาย Yoshihiko Kawamura รองประธานฝ่ายบริหาร บริษัท Hitachi แสดงความเห็นว่า บริษัทฯ จำเป็นต้องติดตามผลกระทบของเศรษฐกิจมหภาค เช่น การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และยุโรป และคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีงบประมาณปัจจุบันยังต้องระมัดระวังผลกระทบเหล่านี้เป็นอย่างมาก

ปัจจุบันสถานการณ์ล็อกดาวน์ในจีนคลี่คลายลงแล้ว และความต้องการยานยนต์กำลังฟื้นตัว ซึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่จากญี่ปุ่น อย่าง TDK และ Alps Electric ต่างมียอดขายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์และรายได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ตลาดสมาร์ทโฟนในจีนกลับมีความไม่แน่นอน และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในหลายประเทศอาจกลายเป็นอุปสรรคถัดไป

อุตสาหกรรมเครื่องจักรก่อสร้าง

การอ่อนค่าของเงินเยินทำให้ยอดขายเครื่องจักรก่อสร้างแบรนด์ญี่ปุ่นในต่างประเทศพุ่งสูง อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตกลับมีกำไรน้อยกว่าที่ควรเนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง Hitachi Construction Machinery และ Komatsu ต่างมีทิศทางเดียวกันนี้

โดย Komatsu รายงานว่า ยอดขายเครื่องจักรก่อสร้างเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคยกเว้นประเทศจีน โดยในช่วงเดือนเมษายน - กันยายน 2022 ยอดขายในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 45.3% ยุโรปเพิ่มขึ้น 15.8% ซึ่งเป็นผลจากความต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งการขึ้นราคารถขุดยังทำให้รายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ในเอเชียมีความต้องการลงทุนเหมืองถ่านหินและโครงสร้างที่เกี่ยวข้อง

ด้วยเหตุนี้ ยอดขายในภูมิภาคอื่น ๆ จึงชดเชยการหดตัวของยอดขายในจีนได้ อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ และความต้องการที่อยู่อาศัยที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อยอดขาย แต่ก็คาดว่าจะมีผลกระทบไม่มากนัก

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

สถานการณ์ในช่วงนี้มีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ประสบกับความยากลำบาก โดยผู้เล่นรายใหญ่ในญี่ปุ่นต่างคาดการณ์ว่ากำไรจะลดลงจากปีก่อนหน้า สืบเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อความต้องการผลิตภัณฑ์หลายชนิด และมีแนวโน้มที่ตลาดจะเกิดการชะลอตัว อีกทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มวัตถุดิบสำหรับเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งมีการเติบโตมาตลอดก็เริ่มมีแนวโน้มจะชอลอตัวลงแล้ว

ในช่วงไตรมาสสองและสามของปี 2022 ภาวะเศรษฐกิฐโลกและการที่ผู้คนอยู่บ้านมากขึ้นทำให้ความต้องการเคมีภัณฑ์สำหรับผลิตเครื่องนุ่งหุ่มลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในตลาดใหญ่อย่างจีนที่ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าและสมาร์ทโฟนลดลงด้วย ส่งผลให้ผู้ผลิตหลายรายต้องลดกำลังการผลิต อีกทั้งความต้องการวัสดุหลายชนิดยังลดลงในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวัสดุในการผลิตจอภาพ ซึ่งแต่เดิมเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีกำไรมากกลับมีความต้องการลดลงอย่างรุนแรง

ส่วนในช่วงไตรมาสที่ 4 และต้นปี 2023 การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์จะกระตุ้นให้ความต้องการเคมีภัณฑ์เริ่มฟื้นตัว แต่ก็ยังคงอยู่ในช่วงที่ยากลำบาก เนื่องจากผลิตภัณฑ์ในกลุ่มแนฟทา (Naphtha) มีราคาลดลงอย่างมาก และยังต้องเฝ้าระวังทิศทางของมาตรการล็อกดาวน์ในจีนต่อไป

 

#ญี่ปุ่น #อุตสาหกรรม #บริษัทญี่ปุ่น #เงินเยน #เงินเยนอ่อนค่า #รัสเซียยูเครน #เศรษฐกิจญี่ปุ่น #อุตสาหกรรมญี่ปุ่น #อุตสาหกรรมยานยนต์ #อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล #อุตสาหกรรมเครื่องจักรก่อสร้าง #โลหะ #พลังงาน #M Report #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent

 

ที่มา: Nikkan Kogyo Shimbun

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH