สมุดปกขาว Monodzukuri 2022 รัฐบาลญี่ปุ่น
‘Monodzukuri’ คำที่ภาคการผลิตไทยคุ้นเคยและเรียนรู้ผ่านการส่งเสริมกิจกรรมการผลิตในสไตล์ญี่ปุ่นจากการเข้ามาตั้งโรงงานของบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากในไทย
“Monodzukuri (โมโนซึกุริ) หมายถึง การผลิตสิ่งของโดยช่างผู้ชำนาญ บนรากฐานการใช้เทคโนโลยีในระดับสูง และความมีคุณภาพของญี่ปุ่น”
บทความนี้นำเสนอสมุดปกขาว Monodzukuri 2022 เผยแพร่โดยรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งพูดถึงความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ ความท้าทายจากปัญหาต่าง ๆ อาทิ วิกฤตชิปขาดตตลาด การขาดแคลนชิ้นส่วนและวัตถุดิบ ไปจนถึงการโจมตีทางไซเบอร์ เนื้อหาสำคัญดังนี้
Advertisement | |
เพิ่มกำลังการผลิตในประเทศ เพื่อซัพพลายเชนที่มั่นคง
ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตกำลังฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนกลับมีมากขึ้น สืบเนื่องจากวิกฤตชิปขาดตลาด การขาดแคลนชิ้นส่วน การขาดแคลนวัตถุดิบ อีกทั้งปัญหาราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูง ทำให้แม้เงินเยนจะอ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 20 ปี แต่ก็มีผู้ที่แสดงความกังวลว่าอุตสาหกรรมญี่ปุ่นจะไม่ได้รับประโยชน์เทียบเท่าแต่ก่อนเนื่องจากการนำเข้าที่มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น
ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่จะทำอย่างไรให้ซัพพลายเชนมีความมั่นคง ซึ่งหลายองค์กรได้หันมามุ่งเน้นการกระจายแหล่งที่มาสินค้า เพิ่มการจัดซื้อในประเทศ ขณะที่สมุดปกข่าวฉบับนี้ระบุว่า ธุรกิจที่ลงทุนให้กับบริษัทจัดการทรัพยากรกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ที่แล้วมา ภาคการผลิตญี่ปุ่นเน้นหนักไปที่การลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้เกิดคำถามว่า ธุรกิจญี่ปุ่นจะสามารถสร้างสมดุลระหว่างการผลิตในประเทศและการผลิตนอกประเทศในยุคที่ซัพพลายเชนและโลจิสติกส์มีความปั่นป่วนเช่นนี้ได้หรือไม่ ซึ่งนาย Akimasa Ishikawa ประธานคณะอนุกรรมการเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของพรรคเสรีประชาธิปไตย แสดงความเห็นว่า “ภาคการผลิตญี่ปุ่นส่วนหนึ่งจำเป็นต้องกลับเข้ามาผลิตในประเทศ”
นอกจากนี้ นโยบายทางด้านเศรษฐกิจก็อาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมการผลิตได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากการยกให้การพัฒนาซัพพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์ และซัพพลายอื่น ๆ เป็นหนึ่งในเสาหลัก ซึ่งเมื่อคำนึงถึงภัยคุกคามต่าง ๆ เช่นจีนแล้ว พบว่า อุตสาหกรรมการผลิตญี่ปุ่นมีการจัดหาสินค้าสำคัญต่าง ๆ จากประเทศอื่น ๆ อย่างมาก ทำให้การรักษาไว้ซึ่งกำลังการผลิตในญี่ปุ่นจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ซึ่งสิ่งนี้เอง นำไปสู่การออกนโยบายสนับสนุนทางการเงินจนทำให้คาดการณ์ได้ว่า การผลิตในประเทศญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นในอนาคต
‘ภัยคุกคามทางไซเบอร์’ เป็นเรื่องเร่งด่วน
ในยุคที่โรงงานกำลังก้าวหน้าจาก Digital Transformation (DX) นั้น ทำให้ภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นพบว่าบริษัทเอสเอ็มอีถูกโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานว่า บริษัทที่ถูกโจมตีด้วยมัลแวร์เรียกค่าไถ่ หรือ “Ransomware” (แรนซัมแวร์) ในปี 2021 ส่วนใหญ่แล้วเป็นบริษัทเอสเอ็มอี ซึ่งหากบริษัทมีมาตรการป้องกันการโจมตีที่ไม่เพียงพอแล้ว ความเสียอาจอาจลุกลามไปถึงคู่ค้าได้
นอกจากนี้ นับตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซียยูเครนทำให้ความเสี่ยงจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นตามมา ดังนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงต้องการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนโดยเฉพาะในหมู่เอสเอ็มอีที่มีข้อจำกัดทั้งด้านการจัดหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญระบบไอที อีกทั้งยังมีเงินลงทุนจำกัดในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์
นาย Naoto Yokoyama ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์รักษาความปลอดภัย สำนักงานส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศ (IPA) แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันเอสเอ็มอีญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับข้อมูลภายในบริษัทไม่มากนัก แม้จะมีบางส่วนที่มีความตระหนักมากขึ้น แต่ก็พบว่ายังมีอีกส่วนหนึ่งที่ไม่มีมาตรการรับมือ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องหาทางแก้ไข เช่น ส่งเสริมให้มีการแบ่งปันข้อมูลของการโจมตีประเภทเดียวกันให้บริษัทที่เกี่ยวข้องโดยไม่เกี่ยงขนาดธุรกิจ
สัดส่วนการลงทุนและสินทรัพย์ไม่มีตัวตน
รายได้ของธุรกิจในอุตสาหกรรมการผลิต เป็นอีกหัวข้อที่ถูกยกมาให้ความสำคัญในสมุดปกขาวฉบับนี้ โดยเมื่อเทียบกับยุโรปและอเมริกาแล้วพบว่า ญี่ปุ่นมีสัดส่วนรายได้จากการดำเนินงานต่ำกว่าอย่างมาก โดยเฉพาะสัดส่วนสินทรัพย์ไม่มีตัวตนต่อรายได้ ซึ่งระบุว่า “บริษัทญี่ปุ่นมีการลงทุนในสินทรัพย์ไม่มีตัวตนน้อยกว่าสหรัฐอเมริกาและอียูเป็นอย่างมาก”
สำหรับภาคการผลิต สินทรัพย์ไม่มีตัวตนยังรวมไปถึงซอฟต์แวร์และทรัพย์สินทางปัญญาอีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันนั้น การลงทุนสินทรัพย์มีตัวตน เครื่องจักร และอุปกรณ์การผลิตเป็นสิ่งจำเป็น แต่ปัจจุบันสินทรัพย์ไม่มีตัวตนมีความสำคัญมากกว่าที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น General Electric และ Siemens ซึ่งในช่วงหลังได้หันมาให้ความสำคัญกับการต่อยอด IoT ไปเป็นธุรกิจต่าง ๆ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มนอกจากการผลิตสินค้าเพียงอย่างเดียว และเป็นไปได้มากว่าในอนาคตหลังจากนี้ไป การใช้สินทรัพย์ไม่มีตัวตนมาผลักดันการเติบโตของธุรกิจจะเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น
และสำหรับประเทศญี่ปุ่นแล้ว แน่นอนว่าภาคการผลิตจะยังคงอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีและคุณภาพชั้นสูงต่อไป หากการลงทุนสินทรัพย์ไม่ผ่านการประเมินที่ดีแล้วย่อมทำให้การสร้างรายได้จากบริการและข้อมูลต่าง ๆ เป็นเรื่องยากในยุคดิจิทัลเช่นนี้ จึงเป็นไปได้ว่า อุตสาหกรรมการผลิตกำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่ต้องพิจารณาจุดยืนทางการลงทุนอย่างจริงจัง
สถานการณ์ในอุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่น
นาย Toshimitsu Fujiki ผู้อำนวยการสำนักอุตสาหกรรมการผลิต กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) แสดงความเห็นต่อสถานการณ์ในอุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นไว้ดังนี้
นาย Toshimitsu Fujiki ผู้อำนวยการสำนักอุตสาหกรรมการผลิต
กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI)
ความเห็นต่อการลงทุนของญี่ปุ่น
บริษัทที่มีรายได้มากนั้นมักเกิดจากการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิต การวิจัยและพัฒนา และสินทรัพย์ไม่มีตัวตน ซึ่งเมื่อเทียบบริษัทญี่ปุ่นกับบริษัทในยุโรปและอเมริกาแล้ว พบว่า ญี่ปุ่นมีการลงทุนเพื่ออนาคตน้อยกว่าอย่างมาก โดยส่วนที่แตกต่างอย่างเด่นชัด คือ การลงทุนในสินทรัพย์ไม่มีตัวตน ซึ่งปัจจุบัน ซอฟต์แวร์และการสร้างมูลค่าทางดิจิทัลนั้นเปรียบได้กับที่มาของการเพิ่มรายได้ อุตสาหกรรมการผลิตญี่ปุ่น จึงไม่ควรยึดติดกับสินทรัพย์มีตัวตนเพียงอย่างเดียว
การผลิตในประเทศสำคัญขึ้นมากเพื่อป้องกันการดิสรัปของซัพพลายเชน
ตัวเลือกไม่ได้มีแค่สองตัวเลือกระหว่างผลิตในประเทศและนอกประเทศ แต่สิ่งสำคัญคือการหาจุดสมดุลให้เจอ ซึ่งจุดพอดี คือ จุดที่บริษัทสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างยืดหยุ่น อย่างไรก็ตาม กรระบาดของโควิด และสงครามรัสเซียยูเครน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้การมองหาจุดสมดุลตรงนี้อาจต้องเกิดขึ้นเร็วกว่าเดิม
สถานการณ์โลกในตอนนี้เป็นบทเรียนที่สอนว่า เราต้องการซํพพลายเชนที่มั่นคงยิ่งขึ้น การลงทุนในต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนการผลิตสินค้าให้ถูกลงจึงไม่ใช่ตัวเลือกที่ถูกที่สุดเสมอไป ซึ่ง METI เองก็จะทางสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตญี่ปุ่นให้ดีที่สุด
ความต้องการความมั่นคงทางเศรษฐกิจกำลังเพิ่มขึ้น
หากการซัพพลายสินค้าสำคัญติดขัด เศรษฐกิจก็ย่อมปั่นป่วน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น ดังนั้น การที่ประเทศสามารถผลิตสินค้าได้เอง มีการสต็อกสินค้าในประเทศ ไปจนถึงการทุ่มเทเวลาเพื่อพัฒนาวัสดุทดแทนการสั่งซื้อจากต่างประเทศ ไปจนถึงการลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากประเทศใดประเทศหนึ่งแห่งเดียวจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้บริษัทมีตัวเลือกที่หลากหลายขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีคำตอบไหนถูกต้องที่สุด แต่จากสถานการณ์โลกขณะนี้ รัฐและเอกชนควรร่วมมือกันเพื่อทำให้สถานการณ์ดีขึ้นให้ได้”
ที่มา: Nikkan Kogyo Shimbun
#ญี่ปุ่น #Monodzukuri #อุตสาหกรรมการผลิต #Japan #Mreport #onlinecontent #ข่าวอุตสาหกรรม
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH